AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ยาแก้หวัด แก้ไข้ ที่แม่ให้นมกินแล้ว นมไม่หด ไม่ส่งถึงลูก

แม้ว่ายาจำนวนไม่น้อยสามารถละลายน้ำแล้วขับออกทางน้ำนม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกที่ดื่มนมแม่อยู่ได้ แต่ไม่ใช่ยาทุกตัวที่จะส่งผลต่อลูกน้อย ดังนั้น คุณแม่จึงควรทราบว่า เมื่อคุณแม่ไม่สบาย เป็นหวัด หรือเป็นไข้ ยาที่แม่ให้นมกินได้มีอะไรบ้าง ยาที่ไม่มีผลต่อน้ำนม ยาที่กินแล้วน้ำนมไม่หด ไม่ส่งถึงลูก และยาอะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง

แม่เป็นหวัดให้นมลูกได้ไหม

หากคุณแม่เจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ท้องเสีย เช่นนี้ เชื้อโรคไม่ออกทางน้ำนมค่ะ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องหยุดให้นมลูก ตรงกันข้าม แม่เป็นหวัดยิ่งต้องให้ลูกกินนมแม่นะคะ เพราะหากลูกยังดูดนมแม่อยู่ เขาจะได้รับภูมิคุ้มกันเข้าไปด้วยทำให้บางครั้งลูกไม่ติดหวัดอยู่คนเดียวในบ้าน หรือถ้าเป็นก็จะแสดงอาการไม่รุนแรง หายได้เร็ว

แม่ไม่สบายลูกจะติดโรคจากนมแม่หรือไม่

หากคุณแม่ป่วยหนัก เช่น เป็นไข้หวัดใหญ่ ภาวะกรวยไตอักเสบ ทำให้ไข้สูงหนาวสั่นจากการที่เชื้อเข้ากระแสเลือด น้ำนมที่คุณแม่ผลิตไม่ได้มีเชื้อออกมาด้วย จึงให้นมต่อได้ ไม่จำเป็นต้องปั๊มนมทิ้งค่ะ

หากคุณแม่เต้านมอักเสบ หรือเป็นฝีที่เต้านม เกิดจากการคัดเต้านม แล้วติดเชื้อ เป็นหนอง ยังสามารถให้ลูกดูดนมได้ ไม่ต้องหยุดให้นมลูกค่ะ ถึงมีเลือดปนออกมากับน้ำนม ก็ไม่เป็นไร การรักษา คือ ให้นวด ประคบอุ่น ให้ดูดหรือปั๊มออกบ่อยขึ้น ทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ถ้า 24 ชม.ไม่ดีขึ้น ต้องพบแพทย์เพื่อได้รับยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อ

ห้ามให้นมแม่ในกรณีที่คุณแม่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากเอดส์ เพราะเชื้อออกทางน้ำนมทำให้ติดโรคได้ค่ะ หรือแม่เป็นวัณโรคปอดที่กำลังไอแพร่เชื้อ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

แม่เป็นหวัด ป้องกันอย่างไรไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ลูกน้อย

เพราะโรคหวัดไม่แพร่เชื้อผ่านน้ำนม แต่แพร่ได้ง่ายทางน้ำมูกน้ำลาย ถ้าไม่ป้องกันให้ดี อาจติดโรคกันทั้งครอบครัวเลยก็ได้

เมื่อคุณแม่เป็นหวัด ควรป้องกันการแพร่เชื้อดังนี้

อ่านต่อ>> ยาที่กินแล้วน้ำนมไม่หด ไม่ส่งถึงลูก คลิกหน้า 2

ยาที่กินแล้วน้ำนมไม่หด น้ำนมไม่ลด ไม่ส่งถึงลูก

ยาส่วนใหญ่ออกทางน้ำนมน้อยมาก เพียงไม่ถึง 1% ของปริมาณยาที่แม่ได้รับ ยาพื้นฐานที่ใช้กันส่วนใหญ่ เช่น ยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ เป็นต้น สามารถใช้ได้ มีเพียงไม่กี่ชนิดที่มีข้อห้าม

  1. ยาแก้หวัด แก้แพ้ ลดน้ำมูก

ยาลดน้ำมูกที่ใช้ได้ ไม่มีผลกับน้ำนม ได้แก่ ยาลดน้ำมูกชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง คือ ยา Cetirizine  และ Loratadine

ไม่แนะนำยาลดน้ำมูกชนิดง่วงเพราะทำให้เด็กง่วงซึมได้ และควรหลีกเลี่ยงยาผสมที่มีตัวยาหลายๆ อย่างในเม็ดเดียวกัน หรือที่ออกฤทธิ์นานๆ เพราะจะส่งผลต่อลูกเป็นเวลานานด้วย

ยาที่ไม่แนะนำ ได้แก่ ยาแก้แพ้กลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน เช่น บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) เพราะจะทำให้ลูกร้องกวน นอนไม่หลับ

ยาที่มีผลต่อน้ำนม กินแล้วน้ำนมลด

– คลอเฟนนิรามิน (chlorpheniramine) เป็นยาลดน้ำมูก ใช้ได้ แต่คุณแม่จะง่วงนอนบ้าง น้ำนมอาจลดได้บ้าง

– Actifed มียาลดน้ำมูกรวมกับยาแก้คัดจมูก อาจจะง่วง และเสมหะจะเหนียว ต้องดื่มน้ำมากๆ ในบางคนที่ไวต่อยานี้มาก อาจมีผลกดการสร้างน้ำนมได้ ทำให้น้ำนมน้อยลง ให้ลองสังเกตอาการดู ถ้ามีปัญหาน้ำนมลดลง ให้หยุดยา ก็จะดีขึ้น

– Pseudoephedrine เป็นยาแก้อาการคัดจมูก ไม่แนะนำให้ใช้ในระยะยาวเพราะอาจมีผลยับยั้งการหลั่งน้ำนม อาจใช้ยาแก้คัดจมูกในรูปแบบพ่นแทน เช่น ยา Oxymetazoline

  1. ยาแก้ปวด ลดไข้

ยาแก้ปวดลดไข้ ยาระงับปวดลดไข้ที่ใช้ได้ ไม่มีผลต่อลูก ได้แก่ ยา paracetamol ,ibuprofen

กลุ่มยาแก้อักเสบ แก้ปวดกล้ามเนื้อที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่แนะนำ เช่น ยา Ibuprofen , Mefenamic Acid, Diclofenec

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

  1. ยาแก้ไอ ขับเสมหะ

– Dextromethorphan เป็นยากดอาการไอ ใช้ได้ ไม่มีผลต่อลูก

– Diphenhydramine ยานี้อาจทำให้ลูกง่วงซึมได้

  1. ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ)

– กลุ่มที่ใช้ได้ คือ กลุ่ม Penicillin  เช่น  Amoxicillin ,Cloxacillin, Amoxicillin&Clavuranic acid, Ampicillin  เป็นต้น และ กลุ่ม Cephalosporin’s เช่น Ceftazidime,Ceftriaxone

– กลุ่มที่ไม่ควรใช้ คือ Metronidazole, Chloramphenicol, Ciprofloxacin,Tetracycline หรือ Doxycycline ซึ่งจะทำให้ลูกมีปัญหาฟันดำในระยะยาว

  1. ยาระบาย

ที่ใช้ได้โดยไม่มีอันตรายต่อลูก คือ ยาที่มีคุณสมบัติพองตัวในน้ำ เพิ่มกากอาหาร เช่นยา Mucillin หรือ ยากลุ่มที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม เช่น Docusate

  1. ยาลดกรด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

ควรใช้ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมและแมกนีเซียม เพราะซึมผ่านน้ำนมได้น้อย คุณ แม่จึงใช้ได้อย่างสบายใจ ส่วนยารักษาแผลในกระเพาะแนะนำให้ใช้ Sucrafate ซึ่งซึมผ่านไปยังน้ำนมได้น้อย หรือ ranitidine

7. ยาฆ่าเชื้อรา

แนะนำให้ใช้ยาฆ่าเชื้อราชนิดสอด แทนการใช้ยารับประทาน เช่น ยา clotrimazole ชนิดเหน็บช่องคลอด

กรณีใช้ยารับประทานแนะนำ Fluconazole ชนิดรับประทานครั้งเดียว

แม้ยาเหล่านี้เป็นกลุ่มยาที่ใช้บ่อย สำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการใช้ยาในในคุณแม่ที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรประจำร้านยา และต้องไม่ลืมแจ้งว่า “กำลังให้นมบุตร” ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และลูกน้อยนะคะ

กรณีคุณแม่มีข้อสงสัยในการใช้ยาระหว่างให้นมบุตร สามารถเข้าไปตรวจสอบว่ายานั้นมีผลกับน้ำนมหรือไม่ 
ได้ที่ www.e-lactancia.org หากเป็นยาในกลุ่มสีเขียว และสีเหลือง ถือว่าปลอดภัยสามารถใช้ได้ค่ะ

อ่านต่อ>> 10 ข้อควรรู้ก่อนแม่ต้องกินยา เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยที่กินนมแม่ คลิกหน้า 3

10 ข้อควรรู้ก่อนแม่ต้องกินยา เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยที่กินนมแม่

กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาจริงๆ คุณแม่ควรทราบวิธีใช้ยาอย่างถูกต้องเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอันตรายของยาแก่ลูกน้อยให้ลดน้อยลงที่สุด ดังนี้

  1. แม่ที่ให้นมลูกควรเลือกใช้ยาเท่าที่จำเป็น หรือถ้าเป็นไปได้ให้เลื่อนการใช้ยาไปจนกว่าจะถึงเวลาที่ลูกหย่านม
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาสูตรผสม ควรเลือกยาที่ประกอบด้วยตัวยาสำคัญเพียงชนิดเดียว
  3. ควรเลือกใช้ยาที่มีขนาดต่ำที่สุด เลือกยาที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นที่สุด หรือใช้ยาในช่วงระยะเวลาสั้นที่สุด เท่าที่จะทำได้
  4. ควรเลือกใช้ยาที่มีรูปแบบสูดพ่นหรือใช้ภายนอก แทนการใช้ยาแบบรับประทานหรือฉีด เช่น ยาบรรเทาอาการคัดจมูก แบบสูตรพ่นแทนยาบรรเทาอาการคัดจมูกแบบรับประทาน
  5. ให้ลูกดูดนมก่อนให้ยามื้อถัดไป หรือรอมากกว่า 2-3 ชั่วโมง หลังจากรับประทานยาจึงให้นมบุตร
  6. ในกรณีที่ต้องรับประทานยาวันละหลายครั้ง คุณแม่สามารถบีบน้ำนมเก็บไว้ก่อนที่คุณแม่จะรับประทานยา
  7. หยุดให้นมลูกในกรณีที่เป็นยาที่ห้ามใช้ในหญิงให้นมบุตร
  8. ควรเลือกใช้ยาที่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าปลอดภัยสำหรับแม่และทารก
  9. ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งว่า กำลังให้นมบุตร
  10. คอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลูก ว่ามีอาการผิดปกติอย่างไร เพื่อที่จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

คำถามที่คุณแม่ควรถามคุณหมอก่อนกินยา

หากคุณแม่ไม่สบายด้วยโรคอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจาก เป็นหวัด หรือเป็นไข้แล้ว นอกจากแจ้งคุณหมอว่า คุณแม่กำลังให้นมบุตร ควรถามคุณหมอด้วยว่า ยาที่คุณหมอจ่ายนั้นจะมีผลต่อทารกอย่างไรบ้าง เพื่อทราบถึงอาการปกติ และอาการไม่ปกติที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น

  1. ถามคุณหมอว่า จำเป็นต้องใช้ยานานแค่ไหน และยานั้นจะมีผลต่อลูกอย่างไรบ้าง เพราะยาบางตัว ใช้เพียงไม่กี่วัน ไม่เป็นอันตราย แต่หากใช้ติดต่อกันนานๆ อาจสะสมในร่างกายของทารกที่กินนมแม่ จนเป็นอันตรายได้
  2. ถามคุณหมอว่า ยามีผลทำให้ลูกเกิดอาการอย่างไรได้บ้าง และอาการแบบไหนที่ไม่ปกติ เช่น ง่วงซึม ร้องงอแงผิดปกติ อาเจียน ท้องเสีย เป็นผื่น หากพบอาการเหล่านี้จะได้หยุดยาทันเวลา
  3. ขอคำแนะนำจากคุณหมอว่า ควรกินยาเวลาไหน เพื่อให้ยาส่งผ่านถึงลูกน้อยที่สุด เช่น การให้ทิ้งช่วงการให้นมไป โดยให้กินยาหลังให้ลูกดูดนมอิ่ม หรือกินในช่วงที่ลูกจะหลับยาว เพื่อให้ระดับยาในเลือดและในน้ำนมแม่ลดลงจนไม่เป็นอันตรายต่อลูก เนื่องจากยาส่วนใหญ่จะเข้าสู่กระแสเลือดสูงสุด 1-3 ชั่วโมงหลังจากกินยา

เพราะน้ำนมแม่เป็นสุดยอดอาหารใน 6 เดือนแรกของชีวิตลูกน้อย แม้คุณแม่จะไม่สบายก็ยังสามารถให้นมลูกได้ โดยไม่ต้องงดนมแม่ เพราะยาที่ปลอดภัย ไม่ทำให้น้ำนมหด และไม่ส่งผลต่อลูกน้อยนั้นมีอยู่หลายตัว เพียงแต่คุณแม่ต้องแจ้งคุณหมอและเภสัชกรให้ทราบ เพื่อจะได้จ่ายยาที่ปลอดภัยให้แก่คุณแม่ค่ะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

การใช้ยาในคุณแม่ตั้งครรภ์ และให้นมลูกน้อย

แม่ให้นมลูก ดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น ได้ไหม ?

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ : 10 เรื่องอะไร ควรทำ ไม่ควรทำ ช่วงให้นมลูก


ขอบคุณข้อมูลจาก thaibreastfeeding.org , breastfeedingthai.com , healthymax.co.th , เพจนมแม่ , pharmacy.mahidol.ac.th