แม่ท้อง แพ้อาหารทะเล ส่งผลต่อลูกยังไงมาหาคำตอบกัน - Amarin Baby & Kids
เมื่อแม่ท้อง แพ้อาหารทะเล

แม่ท้อง แพ้อาหารทะเล ส่งผลต่อลูกยังไงมาหาคำตอบกัน

event
เมื่อแม่ท้อง แพ้อาหารทะเล
เมื่อแม่ท้อง แพ้อาหารทะเล

โรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะแพ้อากาศ แพ้อาหารทะเล ย่อมทำให้ผู้ที่แพ้เกิดความเสี่ยงอยู่แล้ว หากเป็นคนท้องละ จะส่งผลอย่างไรต่อลูก แล้วควรทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการมาดูกัน

เมื่อแม่ท้อง แพ้อาหารทะเล ส่งผลต่อลูกยังไงมาหาคำตอบกัน

สำหรับคนเป็นโรคภูมิแพ้เรามักจะระมัดระวังต่อสิ่งที่แพ้กันเป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่าเราจะสามารถควบคุมไม่ให้อาการแพ้กำเริบได้ 100% ยาบรรเทาอาการ ยาแก้แพ้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คนเป็นโรคภูมิแพ้ต้องมีติดตัวเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแพ้กำเริบจนเป็นอาการแพ้ที่รุนแรงได้ แล้วจะเป็นอย่างไรหากผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้เป็นแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ คงเกิดคำถาม และความกังวลมากมายเกิดขึ้นในใจกันใช่ไหม ลองมาดูกันว่าเมื่อแม่ท้องเกิดอาการแพ้ขึ้นจะเป็นอย่างไร ส่งผลต่อลูกในท้องหรือไม่ แล้วควรปฎิบัติอย่างไรดี

โรคภูมิแพ้คืออะไร?

Allergy เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูก น้ำตาไหล คันรอบดวงตา ระคายเคืองทั่วใบหน้า มีผดผื่นคันแดงตามผิวหนัง ผิวหนังลอกอักเสบ หรืออาจแพ้รุนแรงถึงขั้นท้องร่วง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหลังจากที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีอาการแพ้ต่อสารแตกต่างกันไป อาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีปฏิกิริยาต่อสารที่เรียกว่าสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนส่วนใหญ่ สารเหล่านี้พบได้ในหลายสถานที่ เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง ละอองเกสร แมลง เห็บ รา อาหาร อาหารทะเล และยาบางชนิด

ส่วนอาการแพ้ต่อสารที่พบมากในปัจจุบัน ได้แก่ ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้อาหาร ภูมิแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย อาการแพ้อาหารทะเลก็เป็นส่วนหนึ่งในการแพ้ในรูปแบบภูมิแพ้อาหาร

แพ้อาหารทะเล พบได้บ่อยกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้
แพ้อาหารทะเล พบได้บ่อยกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้

  ภูมิแพ้อาหาร 

อาการสำคัญของผู้ที่แพ้อาหาร มักจะเกิดขึ้นกับระบบหายใจและระบบทางเดินอาหาร เช่น ไอ จาม น้ำตาไหล คัดจมูก มีอาการบวมแดงหรือคันบริเวณปาก ลิ้น ลำคอ หน้าซีด ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว รู้สึกอ่อนล้า หมดแรง หายใจลำบาก ความดันลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นลมพิษ มีผื่นแดงคันขึ้นทั่วตัว ปวดท้อง ท้องเสีย ขับถ่ายเป็นมูกหรือมีเลือดปน

แม้จะมีอาการแสดงบางอย่างที่ใกล้เคียงกับโรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  แต่การแพ้อาหารจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ร่างกายแพ้สารก่อภูมิแพ้ในอาหารชนิดนั้นเท่านั้น คนทั่วไปจะไม่ปรากฏอาการดังกล่าว ในขณะที่โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากอาหารที่เจือปนเชื้อโรคหรือสารพิษ และทำปฏิกิริยาต่อร่างกายคนทั่วไปด้วย ทั้งนี้ การวินิจฉัยจะเป็นไปตามขั้นตอน เช่น การตรวจสอบประวัติการแพ้ของผู้ป่วย และตรวจสอบว่าผู้ที่รับประทานอาหารชนิดเดียวกันเกิดอาการเดียวกันหรือไม่

การตั้งครรภ์และภูมิแพ้เป็นอย่างไร?

แม่ท้องที่เป็นโรคภูมิแพ้อาจพบว่าในขณะท้องโรคภูมิแพ้จะเป็นไปได้อยู่ 3 แบบ คือ

  1. รู้สึกอาการจะดีขึ้น อาจเป็นเพราะคนท้องมักจะเพิ่มความระมัดระวัง และลดความเสี่ยงมากกว่าเดิม เมื่อไม่ได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้จึงทำให้รู้สึกมีอาการดีขึ้นกว่าตอนก่อนตั้งครรภ์
  2. อยู่เหมือนเดิม
  3. รู้สึกแย่ลงในการตั้งครรภ์

    แม่ท้อง แพ้อาหารทะเล โอกาสที่ลูกออกมาจะแพ้สูง
    แม่ท้อง แพ้อาหารทะเล โอกาสที่ลูกออกมาจะแพ้สูง

การตอบสนองของแต่ละคนแตกต่างกัน หากมีอาการแพ้ที่ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่มันก็อาจรบกวนการนอนหลับ และทำให้คุณแม่รู้สึกแย่ หรืออาการแพ้หนักขึ้น หากคุณรู้ว่าคุณแพ้อะไร และกำลังตั้งครรภ์ควรพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น แทนการพึ่งการใช้ยาบรรเทาอาการ หรือยาแก้แพ้ต่าง ๆ เพราะในขณะตั้งครรภ์ควรทานยาแค่ที่จำเป็นเท่านั้น เนื่องจากอาจทำให้ลูกในท้องอยู่ภาวะเสี่ยงได้ สำหรับอาการคัดจมูกขณะตั้งครรภ์เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้ทางเดินจมูกบวม และเพิ่มการผลิตน้ำมูก ทำให้มีอาการคล้ายผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ แต่อาการดังกล่าวมักจะแย่ที่สุดในไตรมาสที่สอง และจะหายไปภายในสองสามวันหลังคลอดได้เอง

โรคภูมิแพ้มีผลต่อทารกหรือไม่?

หากคุณแม่ท้องมีอาการแพ้ที่ส่งผลต่อผิวหนัง เช่น ผื่น หรือลมพิษสิ่งนี้จะไม่มีผลต่อลูกในครรภ์ โดยปกติคุณแม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยยาแก้แพ้ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้ออกให้ ในทางกลับกันหากคุณมีอาการแพ้ที่ส่งผลต่อการหายใจ เช่น หายใจถี่หอบ หรือคอบวม การขาดออกซิเจนอาจส่งผลร้ายแรงต่อลูกน้อยของคุณ ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่ท้องอาจจะเผชิญกับภาวะ Anaphylaxis หรือ การแพ้รุนแรง

การแพ้รุนแรง หรือ Anaphylaxis คืออะไร?

คือ การแพ้เฉียบพลันที่เกิดขึ้นมากกว่า 1 ระบบของร่างกายในเวลาเดียวกัน หรือเวลาไล่เลี่ยกัน และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการจะเกิดภายในเวลาไม่กี่นาที และไม่เกิน 2 ชั่วโมง หลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ ทำให้ร่างกายเกิดการกระตุ้นเม็ดเลือดขาวบางชนิดที่ผิวหนัง เยื่อบุ และตามอวัยวะภายในต่าง ๆ รวมถึงภายในหลอดเลือดปล่อยสารฮีสตามีนออกมา และทำให้เกิดอาการตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ เกิดจากการแพ้อาหาร รองลงมาคือ การแพ้ยา

ทารกมีเกราะป้องกัน อาการ แพ้อาหารทะเล จากแม่ได้
ทารกมีเกราะป้องกัน อาการ แพ้อาหารทะเล จากแม่ได้

น่าแปลกใจที่ทารกในครรภ์สามารถป้องกันตัวเองได้อย่างรวดเร็วจากภาวะ Anaphylaxis ของมารดา ซึ่งเป็นการปกป้องทารกตามกลไกธรรมชาติจากสารฮีลตามีนที่ถูกผลิตขึ้นของแม่ที่มีอาการแพ้ อย่างไรก็ตามหากคุณแม่รู้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงต่ออาหาร แพ้อาหารทะเล หรือวัสดุประเภทใด ๆ โปรดแจ้ง และปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยในระหว่างตั้งครรภ์ แม้ว่าอาการแพ้เล็ก ๆ น้อย ๆ จะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อทารกในครรภ์ แต่อาการที่รุนแรงอาจกลายเป็นเรื่องของการเสี่ยงชีวิตสำหรับคุณแม่เอง และลูกน้อยในครรภ์ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย แม้ว่าจะไม่สามารถหยุดอาการแพ้ได้ แต่การเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดอาการเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดอาการแพ้รุนแรง

กิจกรรมบางอย่างมีส่วนทำให้ร่างกายเกิดการดูดซึมสารก่อภูมิแพ้ของผู้ที่มีอาการแพ้ได้เพิ่มขึ้น และเร็วขึ้น เช่น การออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การติดเชื้อ การเดินทางไกล ความเครียด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน นำไปสู่การเกิดปฎิกิริยาแพ้ได้

วิธีปฐมพยาบาล และรับมือเมื่อเกิดอาการแพ้

หากเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หรือหน้ามืด ให้นอนราบลง ห้ามลุกยืนเร็ว ๆ นั่งเอนตั้งศีรษะให้สูงหากหายใจไม่สะดวก ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือรีบบอกคนที่อยู่รอบข้าง สำหรับคุณแม่ท้อง หญิงตั้งครรภ์ควรนอนตะแคงลงทางด้านซ้านหนุนขาสูง หากมียาแก้แพ้อยู่กับตัว สามารถรับประทานยาแก้แพ้นั้นได้ แต่ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานไม่สามารถแก้อาการของการแพ้รุนแรงได้ ต้องใช้ยาฉีด Adrenaline อดรีนาลิน หรือ Epipen ซึ่งหากคุณแม่รู้ตัวว่าเป็นผู้มีภาวะเสี่ยงต่ออาการแพ้รุนแรงจึงควรแจ้งแพทย์ประจำตัวให้ทราบก่อน คุณหมออาจจะให้คุณแม่พกยาฉีดดังกล่าวติดตัวไว้ในยามฉุกเฉิน แต่มิได้หมายความว่าเมื่อได้รับยาฉีดบรรเทาอาการแล้ว จะไม่ต้องไปพบแพทย์หลังจากนั้น เพราะการใช้ยาฉีดเป็นเพียงการช่วยบรรเทาอาการเฉพาะหน้า เพราะอาการอาจแย่ลงได้อีกรวดเร็ว หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นเกิดขึ้นจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

แจ้ง และปรึกษาสูตินารีแพทย์ของคุณเมื่อรู้ว่าเป็นภูมิแพ้
แจ้ง และปรึกษาสูตินารีแพทย์ของคุณเมื่อรู้ว่าเป็นภูมิแพ้

  แนวทางในการดูแลตนเองหากมีอาการแพ้รุนแรง  

  • หากคุณแม่ทราบว่าแพ้อาหาร หรือยาชนิดใด ควรหลีกเลี่ยงโดยเคร่งครัด
  • พกบัตรที่แจ้งอาการแพ้ยา โดยอาจให้แพทย์ออกใบแพ้ยาไว้ให้ และต้องแจ้งแก่แพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา
  • หากเป็นการแพ้อาหาร ตัวคุณแม่ที่มีอาการแพ้เอง หรือคน่ใกล้ชิดต้องรับทราบ และเลือกรับประทาน หากสงสัยในส่วนผสมของอาหารที่รับประทานในร้านอาหารควรสอบถามให้ละเอียด
  • อ่านฉลากอาหารบนอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เครื่องปรุงต่าง ๆ ให้ละเอียดว่ามีสารก่อภูมิแพ้ที่เราแพ้หรือไม่
  • ทางเลือกหนึ่งที่ดี คือ การใส่สายรัดข้อมือระบุสิ่งที่ตัวเองแพ้ไว้ ในกรณีที่หมดสติ และอยู่ตามลำพัง

บรรเทาอาการภูมิแพ้ตามธรรมชาติ

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่มีอาการไม่รุนแรง มีอาการภูมิแพ้เล็กน้อย ลองใช้วิธีธรรมชาติในการลดอาการภูมิแพ้ที่เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ทั้งตัวคุณแม่ปลอดภัย และตัวลูกน้อยในท้องจากยาแก้แพ้ต่าง ๆ ที่ต้องรับประทานเป็นประจำ

  • หลีกเลี่ยงสาเหตุของโรคภูมิแพ้ อาจพิจารณาใช้เวลาอยู่ในบ้านให้มากขึ้น การอยู่แต่ข้างในบ้านในช่วงที่เป็นโรคภูมิแพ้ขณะตั้งครรภ์อาจดูเหมือนไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าจะช่วยให้ลดอัตราเสี่ยงที่จะสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ได้ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีไม่ใช่เหรอ ยิ่งโดยเฉพาะแม่ผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้อากาศ ละอองเกสร เป็นต้น
  • ตุนสเปรย์น้ำเกลือ คุณแม่สามารถใช้สเปรย์น้ำเกลือในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อคลายอาการคัดจมูก นอกเหนือจากการทานยาแก้แพ้
  • พยายามขยับตัวระหว่างวันให้มากขึ้นอีกเล็กน้อย เชื่อหรือไม่ว่าการออกกำลังกายเป็นการบำบัดอาการคัดจมูก และอาการคัดจมูกโดยธรรมชาติ แต่ควรปรึกษากับสูติแพทย์ของคุณแม่ด้วยเกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายในระหว่างตั้งครรภ์ ว่าแบบไหนที่เหมาะกับแม่ท้อง  เพราะการออกกำลังกายบางชนิดก็ไม่ปลอดภัยในระหว่างตั้งครรภ์
  • ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงเองจะดีที่สุด ในรายที่มีอาการแพ้อาหาร เพราะคุณแม่จะได้ทราบถึงส่วนผสมต่าง ๆ ด้วยตนเอง และสามารถเลือกเครื่องปรุงที่มีส่วนผสมที่เราไม่แพ้ได้เองอีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์น้ำมีเปลือกที่จะทำให้เกิดอาการแพ้อาหารทะเล เป็นวิธีป้องกันการแพ้อาหารทะเลที่ดีที่สุด

    แม้เป็นภูมิแพ้ ก็สามารถตั้งครรภ์มีลูกน้อยน่ารักได้
    แม้เป็นภูมิแพ้ ก็สามารถตั้งครรภ์มีลูกน้อยน่ารักได้

อาการภูมิแพ้ในระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติ และยารักษาโรคภูมิแพ้บางชนิดมีความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์สำหรับใช้ในระหว่างตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามก็ยังคงต้องได้รับคำแนะนำในการทานยาจากแพทย์ของคุณแม่ก่อนรับประทานยาแก้แพ้หรือยาอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะมียาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ เลือกวิธีดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด และพยายามเลี่ยงการใช้ยาให้น้อยที่สุด รวมทั้งรู้วิธีปฎิบัติตัวหากเกิดอาการแพ้เฉียบพลันเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ที่มีอาการภูมิแพ้ สามารถดูแลลูกน้อยในครรภ์ให้แข็งแรง ปลอดภัยไม่แตกต่างจากผู้ที่ไม่แพ้เช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง จาก siphhospital.com/ Pobpad / www.babymed.com

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เตือนจากแม่ถึงแม่!! ลูกแพ้อาหาร เพราะแม่ท้องโด๊ปอาหารกลุ่มเสี่ยงมากเกินไป

คนท้องกินน้ำอัดลมได้ไหม กินมากไปเสี่ยง 7 โรคกระทบลูกในท้อง

หมอตอบชัด!!แม่ให้นมกินน้ำอัดลม ชา กาแฟ คาเฟอีนส่งถึงลูกไหม

อันตรายไหม?ลูก นอนหลับ แล้วทำไมตาปิดไม่สนิทกรอกไปมา

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up