ให้นมลูกกิน กาแฟ ชา น้ำอัดลมได้ไหม

หมอตอบชัด!!แม่ให้นมกินน้ำอัดลม ชา กาแฟ คาเฟอีนส่งถึงลูกไหม

event
ให้นมลูกกิน กาแฟ ชา น้ำอัดลมได้ไหม
ให้นมลูกกิน กาแฟ ชา น้ำอัดลมได้ไหม

กาแฟ กับแม่ท้องเป็นสิ่งไม่คู่กัน แต่แม่จ๋าเตรียมเฮได้ หมอแนะวิธีทานกาแฟสำหรับแม่ให้นมลูก ว่าทานอย่างไรไม่ทำให้คาเฟอีนตกค้างในน้ำนมแม่ ลูกปลอดภัย แม่ได้ฟิน

หมอตอบชัด!!แม่ให้นมกินน้ำอัดลม ชา กาแฟ คาเฟอีนส่งถึงลูกไหม

ไหนจะคาเฟ่เปิดใหม่ ไหนจะกลิ่นหอมของกาแฟเตะจมูกแทบทนไม่ไหว แบบนี้คุณแม่จึงเกิดคำถามในใจกันใช่ไหมละว่า แม่ให้นมลูกจะกินกาแฟได้ไหม? ทีมแม่ ABK เรารู้ใจแม่ทุกคน วันนี้จึงได้หาคำตอบ มาตอบคำถามที่แม่หลาย ๆ คนเรียกร้องกันมาให้หายข้องใจกันเสียทีว่า แม่ให้นมลูกอย่างเราจะฟินกับกาแฟหอม ๆ รสละมุนได้หรือไม่

กาแฟ กับการให้นมลูกทำได้จริงหรือ?
กาแฟ กับการให้นมลูกทำได้จริงหรือ?

คาเฟอีน (caffeine) เป็นสารที่พบได้ใน เมล็ด ผล และใบจากพืชบางชนิด โดยพบมากในเมล็ดกาแฟ และเป็นที่นิยมกันอย่างมากในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการสังเคราะห์ขึ้นมาได้อีกด้วย คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง จึงมีการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว ตลอดจนใช้รักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคปวดศีรษะ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดบางรายอาจได้รับคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นการหายใจ ดังนั้นคาเฟอีนจึงไม่ได้เป็นเพียงสารที่ให้แต่โทษอย่างที่เข้าใจกัน หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็สามารถใช้ประโยชน์จากสารคาเฟอีนนี้ได้เช่นกัน

ส่วนด้านเครื่องดื่มเราจะพบคาเฟอีนในเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง คาเฟอีนจึงไม่ได้มีแต่เพียงในกาแฟแก้วโปรดของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น การได้รับคาเฟอีนเป็นประจำโดยเฉพาะในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ และการที่สารคาเฟอีนมีอยู่ในเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ นอกจากกาแฟด้วยแล้ว การที่เราจะคำนวณปริมาณสารคาเฟอีนจึงต้องรู้ปริมาณของมันในเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่เรารับประทานในแต่ละวันรวมด้วย

จำกัดปริมาณคาเฟอีนได้ด้วยการนับ

ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของเครื่องดื่ม และความนิยมในการบริโภคของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละคน กล่าวคือ ในเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนปริมาณเท่ากันของแต่ละคน อาจมีปริมาณคาเฟอีนไม่เท่ากัน เช่น ในกาแฟหนึ่งแก้ว บางคนชอบเข้มข้นใส่กาแฟ 2 ช็อต ก็ย่อมมีปริมาณคาเฟอีนมากกว่ากาแฟแบบบาง ๆ อ่อน ๆ

ดังนั้นจะขอกล่าวถึงปริมาณของคาเฟอีนโดยทั่วไปในรูปแบบที่เตรียมเสร็จแล้วและพร้อมสำหรับดื่มนั้น ในกาแฟจะมีปริมาณคาเฟอีนมากกว่าชาและมากกว่าช็อกโกแลต ตามลำดับ เครื่องดื่มปริมาตร 1 แก้ว (ขนาด 240-250 มิลลิลิตร)

  • กาแฟ                  มีปริมาณคาเฟอีน 60-200 มิลลิกรัม
  • ชา                       มีปริมาณคาเฟอีน 10-50 มิลลิกรัม
  • ช็อกโกแลต        มีปริมาณคาเฟอีน 2-5 มิลลิกรัม
  • กาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออก (decaffeinated coffee) ยังคงมีคาเฟอีนหลงเหลืออยู่เล็กน้อย โดยในเครื่องดื่ม 1 แก้วอาจมีปริมาณ  คาเฟอีนราว 3 มิลลิกรัม
กาแฟช่วยแม่กระปี้กระเป่า แต่ไม่ควรกินมากเพื่อลูก
กาแฟช่วยแม่กระปี้กระเป่า แต่ไม่ควรกินมากเพื่อลูก

จะเห็นได้ว่าปริมาณคาเฟอีนมีอยู่ในเครื่องดื่มหลายชนิด ดังนั้นเราจึงควรระวังและจำกัดปริมาณคาเฟอีนที่ร่างกายจะได้รับในแต่ละวัน สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูก คาเฟอีนสามารถขับออกทางน้ำนมได้ดังนั้นแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองหากดื่มกาแฟปริมาณมากอาจส่งผลถึงปริมาณคาเฟอีนแก่ลูกได้

อ่านต่อ ดื่มกาแฟขณะตั้งครรภ์ แม้ในปริมาณพอดีก็มีผลให้ลูกตัวเล็กได้

กาแฟในน้ำนมแม่

คุณเป็นคนหนึ่งที่ติดกาแฟหรือเปล่า? แม่ที่ให้นมลูกจำนวนไม่น้อยติดกาแฟ หากสามารถเลิกดื่มได้ควรเลิกดื่มกาแฟในช่วงให้นมลูกนี้ไปก่อนเพื่อความสบายใจ และปลอดภัยของลูกน้อย แต่หากไม่สามารถเลิกได้ หรือต้องการความฟินจากรสชาติของกาแฟให้ชีวิตได้มีรสชาติกันสักหน่อยก็มิได้เป็นเรื่องที่ผิดแต่อย่างใด แต่คุณแม่อาจต้องรับประทานให้น้อยที่สุด แม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อลูก แต่อาจมีผลรบกวนพฤติกรรมบางอย่างของลูกได้ โดยเฉพาะเมื่อให้นมแก่ทารกแรกคลอด ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน โดยทั่วไปการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณน้อยกว่า 200 มิลลิกรัม หรือดื่มกาแฟ 1-2 แก้ว (บางแหล่งข้อมูลอาจกำหนดไว้มากกว่านี้) มักไม่ส่งผล กระทบต่อทารก อย่างไรก็ตามไม่มีการศึกษาที่สนับสนุนอย่างชัดเจนว่าแม่ที่ให้นมลูกควรกำหนดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนไว้ไม่เกินเท่าใด ในบางประเทศเคยกำหนดปริมาณไว้ที่ 300 มิลลิกรัม แต่ต่อมาลดเหลือ 200 มิลลิกรัม

ปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณที่แม่บริโภค คาเฟอีนถูกขับออกทางน้ำนมได้ดีและรวดเร็ว พบระดับคาเฟอีนสูงสุดในน้ำนมที่เวลา 1-2 ชั่วโมงหลังจากแม่ดื่มกาแฟ ปริมาณคาเฟอีนออกมาในน้ำนม 0.06-1.5% ของขนาดที่แม่ได้รับ หรือประมาณได้ว่าทารกที่ดื่มนมแม่น่าจะได้รับคาเฟอีนราว 7-10% ของปริมาณที่มารดาได้รับเมื่อปรับค่าตามน้ำหนักตัว หากแม่ได้รับคาเฟอีนน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม จะมีคาเฟอีนในน้ำนมต่ำมากจนวัดไม่ได้ (ต่ำกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร) คาเฟอีนมีค่าครึ่งชีวิตในน้ำนม 4-6 ชั่วโมง (หมายความว่าทุก ๆ ช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง)

ให้นมลูก กินกาแฟได้ไหม?
ให้นมลูก กินกาแฟได้ไหม?

สังเกตอาการลูก วิธีง่าย ๆ ก่อนดื่มกาแฟ

ถึงแม้จะไม่มีผลการวิจัยที่ชัดเจนว่าแม่ที่ให้นมลูกสามารถดื่มกาแฟในปริมาณเท่าใดที่จะไม่เป็นอันตรายต่อการให้นมลูกก็ตาม แต่ขึ้นชื่อว่าคนเป็นแม่แล้ว ก็คงต้องคำนึงถึงลูกเป็นอันดับแรกกันใช่ไหม วันนี้จึงมีคำแนะนำดี ๆ จากคุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ที่ได้ให้คำแนะนำไว้ในเพจเฟสบุ๊กของคุณหมอว่า

สำหรับคุณแม่ให้นมลูกนั้น ###ไม่เหมือนกับคุณแม่ตั้งครรภ์ค่ะ คุณแม่ให้นมลูกสามารถกินกาแฟได้ค่ะ
แหม… ก็เลี้ยงลูก เหนื่อยและอดนอนมากมาย การกินกาแฟให้พอชื่นใจ วันละ 1-2 แก้ว หรืออาจได้ถึง 3 แก้ว ย่อมทำได้ค่ะ ถ้าสังเกตอาการลูก ไม่มีความผิดปกติ ไม่งอแง ไม่ยอมดูดนม ไม่หลับไม่นอน ก็แสดงว่ากินได้ แต่ถ้ามีอาการ ก็แสดงว่าคุณแม่กินเยอะเกินไป ให้ลดปริมาณลงมาค่ะ และควรกินกาแฟที่ไม่ผสมนมวัว เพื่อลดความเสี่ยงที่ลูกจะแพ้นมวัวแล้วทำให้ป่วยบ่อยๆค่ะ หรือถ้าแม่มีกินนมวัวบ้างเล็กน้อย ให้สังเกตอาการแพ้ของลูกด้วยค่ะ เช่น อาการงอแงมากกว่าปกติ ผื่นผิวหนังอักเสบ คันตามตัว อาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก หายใจครืดคราด คันตา เลือดกำเดาไหล และ อาการเจ็บป่วยบ่อยๆ ถ้ามีก็ลองหยุดดูว่าดีขึ้นไหม ถ้าไม่ดีขึ้น ก็แสดงว่าน่าจะเป็นจากสาเหตุอื่นค่ะ แต่ถ้าดีขึ้น ก็ควรงดกินนมวัวเพื่อไม่ให้ลูกต้องป่วยบ่อยๆ
คาเฟอีนในกาแฟมากไปมีโทษ
คาเฟอีนในกาแฟมากไปมีโทษ
ขอสรุปวิธีการทานกาแฟในช่วงที่ต้องให้นมลูกไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
  1. สังเกตอาการลูกว่าปริมาณกาแฟที่แม่ทานเยอะไปหรือยัง หากลูกทานนมแม่แล้วมีอาการผิดปกติ งอแง ไม่หลับไม่นอน ไม่ยอมดูดนม นั่นเป็นอาการแสดงว่า เขาได้รับปริมาณคาเฟอีน คุณแม่ควรลดปริมาณกาแฟลง อาการผิดปกติดังกล่าวก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะฤทธิ์คาเฟอีนในตัวลูกจะลดลงอย่างชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์หรือเร็วกว่านี้
  2. ควรกินกาแฟที่ไม่ผสมนมวัว เพื่อลดความเสี่ยงที่ลูกจะเกิดอาการแพ้นมวัว ซึ่งจะมีอาการดังต่อไปนี้ ผื่นผิวหนังอักเสบ คันตามตัว อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว คัดจมูก หายใจครืดคราด คันตา เลือดกำเดาไหล เป็นต้น
  3. สำหรับคุณแม่ที่ลูกเล็กกว่า 6 เดือน คาเฟอีนที่ถูกส่งผ่านไปถึงทารกจะอยู่ในตัวลูกนานกว่า เพราะตับที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ จึงควรระวังการสะสมของคาเฟอีนในร่างกายลูก และเด็กในช่วงวัยนี้ มีโอกาสในการแพ้อาหารสูง หากคุณแม่ทานกาแฟที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ ก็อาจทำให้ลูกเสี่ยงแพ้นมวัวมากยิ่งขี้นไปอีก จึงอยากแนะนำว่าให้อดใจรอไม่ทานกาแฟเลยจนลูกโตเกิน 6 เดือนขึ้นไปจะดีกว่า
  4. ถ้าเป็นห่วงเรื่องคาเฟอีนในน้ำนม เพื่อเพิ่มความมั่นใจก็สามารถให้ลูกกินนมแม่ก่อนแม่ทานกาแฟ หรือเลือกเว้นระยะการให้นมหรือปั๊มนม 2 ชม.หลังจากที่ได้ดื่มกาแฟ เพราะหลังทานกาแฟจะเป็นช่วงที่วัดระดับคาเฟอีนได้สูงที่สุด หลังจากนั้นระดับคาเฟอีนจะลดลงเอง โดยจะปั๊มหรือไม่ปั๊มนมทิ้งก่อนก็ได้

    ปั๊มนมหลังกิน กาแฟ 2 ชั่วโมงลดคาเฟอีนในนม
    ปั๊มนมหลังกิน กาแฟ 2 ชั่วโมงลดคาเฟอีนในนม
  5. การกินกาแฟที่เข้มข้น หรือปริมาณมากกว่า 3 แก้วต่อวัน ทำให้ระดับธาตุเหล็กในนมแม่ลดลงถึง 30% แม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารก อย่างไรก็ตามหากแม่ที่บริโภคคาเฟอีนปริมาณสูงเป็นประจำ เช่น วันละ 750 มิลลิกรัมหรือมากกว่านี้ อาจส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่างของทารกอันเกิดจากฤทธิ์คาเฟอีนที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น นอนน้อยลง ตื่นง่าย กระสับกระส่าย งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี นอกจากนี้แม่ที่ดื่มกาแฟเกินกว่าวันละ 450 มิลลิลิตร (หรือ 2 แก้ว) เป็นประจำ อาจทำให้ธาตุเหล็กในน้ำนมลดลง ในระยะยาวอาจทำให้ทารกที่บริโภคนมแม่เพียงอย่างเดียวเกิดภาวะโลหิตจางได้เล็กน้อยจากการขาดเหล็ก
  6. สรรพคุณของคาเฟอีนในชา กาแฟ โคล่า โกโก้ ทำให้กระปรี้กระเปร่า แต่มันมีสรรพคุณในการขับน้ำและลดการดูดซึมของสารอาหารต่างๆ ดังนั้นถ้าจะทานก็ไม่ควรทานพร้อมกับวิตามิน (ลดการดูดซึม ประสิทธิภาพของวิตามินจะต่ำลง) และควรทานน้ำให้มากขึ้นเพื่อทดแทนน้ำนมที่ถูกขับออกมา และควรทานกาแฟพร้อมนมถั่วเหลืองที่มีแคลเซี่ยม เพื่อลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนได้

อ่านต่อ ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก ส่งผลไอคิวลดลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น

อย่างที่คุณหมอได้แนะนำกันไปว่า การทานกาแฟกับการให้นมลูกสามารถทำได้เพียงแต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้ดี เพราะคาเฟอีนก็มีผลต่อเจ้าตัวน้อยของคุณแม่ โดยได้รับผ่านทางน้ำนม และที่สำคัญนอกจากต้องระวังในเรื่องปริมาณของกาแฟต่อวันแล้ว แม่ยังต้องคำนึงถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนชนิดอื่นด้วย เพราะไม่ได้มีเพียงแค่กาแฟเท่านั้น ทั้งชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และช็อกโกแลต  ก็ล้วนแล้วแต่มีคาเฟอีนทั้งสิ้น แม้จะตามใจปากอย่างไรก็อย่าลืมนึกถึงผลกระทบต่อลูกน้อยให้มากกว่ารสชาติที่ถูกปากก็แล้วกัน

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง FB:นมแม่แฮปปี้ / คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล / FB:สุธีรา เอืื้อไพโรจน์กิจ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

8 ตัวการทำ “น้ำนมหด น้ำนมน้อย” แม่ลูกอ่อนอย่าหาทำ!!

เทคนิค 5 ดูดให้ทารก ดูดนม จากเต้าได้ดี ลูกแข็งแรง แม่น้ำนมเยอะ

Magic hold อุ้มท่านี้ลูกชอบ..ไม่ต้องห่วง กระดูกสันหลังคด

เลิกเต้าไม่เศร้าใจ เผยเทคนิค หย่านม ทำได้ใน 10 วัน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up