น้ำนมน้อย อยากให้มาบ่อยๆ ต้องทำแบบนี้ ในช่วงแรกน้ำนมยังมาไม่มาก คุณแม่หลายท่านก็ถอดใจ ยิ่งหันไปเห็นแม่คนนั้น คนนี้ มีน้ำนมเยอะแยะ ใจเลยท้อแท้หนัก ยอมยกธงขาวโบกมือลา แล้วหันไปหานมผงก็มี ทั้งที่จริงๆ แล้ว น้ำนมของแม่น่ะมีเพียงพอสำหรับลูกเสมอ ฉะนั้นอย่าเครียด อย่าถอดใจ แล้วหันมาทำความเข้าใจในกระบวนการของมันกันดีกว่าค่ะ
น้ำนมน้อย อยากให้มาบ่อยๆ ต้องทำแบบนี้
น้ำนมน้อย ทำอย่างไรให้มีน้ำนม
-
การให้นมแม่ช่วง 2-3 วันหลังคลอด
ระยะนี้แม่อาจยังมี น้ำนมน้อย แต่ควรให้เด็กได้ดูดเพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนม และลดปัญหาเต้านมคัด การให้เด็กอยู่ห้องเดียวกันกับแม่ช่วยให้เด็กได้ดูดนมบ่อยเท่าที่ต้องการ เด็กบางคนยอมดูดตามเวลาที่โรงพยาบาลกำหนด แต่บางคนก็ไม่ เวลาพามาดูดมักเอาแต่หลับ พอพากลับไปที่ห้องเด็กอ่อนมักตื่น ก็ต้องพากลับไปกลับมาหลายเที่ยวกว่าจะได้ดูดนมแม่
หากโรงพยาบาลไหนสนับสนุนการให้นมแม่จะให้ลูกดูดนมแม่ทันทีในห้องคลอด เพราะเป็นเวลาที่ลูกตื่นตัวดีที่สุด ทารกส่วนใหญ่ที่ถูกวางไว้บนหน้าท้อง หรือ หน้าอกแม่ จะหันไปหาหัวนมแม่ได้เองโดยไม่ต้องช่วย หลังคลอด 1 ชั่วโมง เด็กจะเริ่มง่วง และไม่ค่อยหิวในระยะ 2-3 วันแรก ยิ่งถ้าแม่รับยาสลบ หรือยาแก้ปวดอาจผ่านมาทางน้ำนมได้ ทำให้ลูกหลับมากผิดปกติ แต่หลัง 3 วันไปแล้ว เขาจะตื่นบ่อยๆทุกๆ 1-2 ชั่วโมง เป็นอย่างนี้ประมาณ 2-3 วัน ซึ่งทารกบางคนดูดเก่งมาก ต้องดูดวันละ 10-12 ครั้ง ใน 1-2 สัปดาห์แรก แล้วลดเหลือ 8-10 ครั้ง จนอายุประมาณ 1 เดือน
-
น้ำนมช่วงแรก
ระยะแรกเต้านมจะสร้างสารที่เรียกว่า คอลอสตรัม (Colostrum) เป็นสารเหลวสีเหลืองใสกว่าน้ำนม อุดมด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าและสามารถต้านเชื้อโรคได้ โดยมากน้ำนมแม่จะเริ่มมาในวันที่ 3-4 หลังคลอด ถ้าเป็นการตั้งครรภ์ครั้งที่สอง หรือสามจะมาเร็วขึ้น หากเด็กแรกเกิดที่ได้อยู่ห้องเดียวกันกับแม่จะทำให้น้ำนมแม่มาเร็วกว่าการแยกห้อง แต่แม่ที่ยังไม่มีน้ำนมหลังคลอดก็ไม่ต้องกังวล เพราะเด็กไม่ค่อยเดือดร้อน โดยมากเด็กจะเริ่มดูดนมในช่วงหลังของสัปดาห์แรก และจะดูดบ่อยมากถึงวันละ 10-12 ครั้ง จนทำให้แม่บางคนคิดไปเองว่า น้ำนมน้อย กลัวตัวเองจะมีน้ำนมไม่พอ ความจริงเด็กได้รับนมมากแล้ว สังเกตจากอุจจาระปัสสาวะบ่อย
บทความแนะนำ น้ำนมเหลือง สิ่งมหัศจรรย์ปกป้องลูกจากโรคร้าย
ยิ่งทารกดูดบ่อยจะกระตุ้นให้น้ำนมผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการ แม่บางคนอาจเคยได้ยินว่าอย่าให้เด็กดูดนมนาน เพราะจะทำให้แม่เจ็บหัวนม แต่ปัจจุบันมีคำแนะนำว่า ควรให้เด็กดูดนานเท่าที่ต้องการ เพราะการที่เด็กดูดนานไม่ได้เป็นสาเหตุของอาการหัวนมแตก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม ลูกควรดูดบ่อยแค่ไหน คลิกต่อหน้า 2
-
ลูกควรดูดบ่อยแค่ไหน
บ่อยเท่าที่เขารู้สึกหิว บางครั้งอาจทุกครึ่ง ถึงหนึ่งชั่วโมง เพราะดูดไม่นานก็เคลิ้มหลับไปเสียก่อน จึงทำให้ตื่นบ่อย แม่จึงควรกระตุ้นหรือปลุกให้ลูกดูดให้นานกว่าที่เขาต้องการ คอยจับเรอ ไล่ลมแล้วกลับมาดูดใหม่ แต่บางครั้งการร้องของเด็กก็ไม่ได้เกิดจากความหิวทุกครั้งไป
แม่จึงควรมีประสบการณ์ในการแยกแยะสาเหตุของการร้องด้วย รวมถึงสังเกตอาการขยายตัวของหน้าท้องว่า ท้องแฟบ หรือ ท้องอืด การช่วยให้เด็กหยุดร้องไม่ได้มีเพียงแต่การให้ดูดเท่านั้น บางครั้งการอุ้ม การห่อตัวให้แน่นๆ การโยกไปมา การให้ยาช่วยขับลม อาจช่วยให้ลูกสงบได้
แต่หากเด็กได้นมไม่พอจริงๆ ไม่เรอ อุจจาระปัสสาวะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อดูว่าน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์หรือไม่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
-
ดูดนมทีละข้าง หรือ ทั้งสองข้าง
ขึ้นอยู่กับความต้องการของแม่และเด็กเอง เด็กบางคนดูดได้มาก แต่นานๆ ครั้ง หรือบางครั้งดูดบ่อย แต่ทีละน้อย สำหรับแม่บางคนมีน้ำนมมาก เวลาที่ลูกดูดข้างเดียวก็อิ่มแล้ว ขอแนะนำให้ดูดเกลี้ยงเต้าหนึ่งข้างไปเลย เพื่อให้ได้รับน้ำนมส่วนท้าย ซึ่งมีไขมันมากกว่า และน้ำตาลแล็กโทสน้อยกว่าน้ำนมส่วนต้น นอกจากนี้ยังทำให้เด็กหลับได้ดี ไม่มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ และเด็กจะมีการถ่ายกะปริบกะปรอยน้อยกว่าการได้รับแต่น้ำนมส่วนต้นเท่านั้น
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนอยู่ดี เด็กทารกบางคนต้องดูดสองข้างจึงจะอิ่ม ฉะนั้นให้สลับเต้าดูด เช่น ครั้งนี้ดูดข้างซ้ายก่อน ครั้งหน้าให้ดูดข้างขวาก่อน เป็นต้น เพราะข้างที่ถูกดูดก่อนจะได้รับการกระตุ้นที่ดีกว่า เพราะดูดได้เกลี้ยงเต้า
ติดตาม รู้จักนิสัยลูก สู่ความสำเร็จในการให้นม คลิกต่อหน้า 3
วิธีการดูดของลูกน้อย
คุณหมอเคยศึกษาพฤติกรรมการดูดนมของทารกจำนวนหลายร้อยคน แล้วสรุปท่าทางการดูดได้ดังนี้
- บีเวอร์แสนขยันขันแข็ง งับลานหัวนมได้เอง และดูดไม่หยุดจนกว่าจะพอใจ
- ทารกขี้ตื่น ลุกลี้ลุกลนเวลาดูดนม ทำให้หลุดออกจากเต้าได้ง่าย แล้วแทนที่จะกลับไปดูดต่อ กลับร้องไห้โวยวาย วิธีแก้ ให้อุ้มปลอบจนเงียบ แล้วค่อยกลับไปดูดใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะชำนาญมากขึ้น ไม่โวยวายอีกต่อไป
- ทารกขี้เกียจ สองสามวันแรกที่น้ำนมยังมีน้อยจะไม่ยอมดูด หากถูกตื๊อให้ดูดจะหงุดหงิดโมโห แต่ถ้าน้ำนมมากถึงจะยอมดูดโดยดี
- นักชิม ตอนแรกจะยังไม่ดู แค่อมๆ จนกว่าน้ำนมจะไหลเข้าปากนั่นแหละถึงจะยอมดูด หากไปกระตุ้นให้ดูดตอนที่ยังไม่อยากดูดจะโกรธมาก
- นักหลับ ดูดแบบไม่หิวจัด หลับภายใน 5 นาทีหลังเริ่มดูด พอจะวางให้นอนก็ตื่นร้องทันที อาจะเป็นเพราะความอบอุ่นของอ้อมแขนแม่ทำให้หลับไปก่อนที่จะอิ่ม วิธีแก้ไข ถ้าหลับให้เปลี่ยนมาดูดอีกข้างหนึ่งสลับไปสลับมา เมื่อทารกอายุมากขึ้นมักจะดูดต่อเนื่องได้ดีขึ้น
- ขี้หงุดหงิด ทารกบางคนเวลาหิวจะหงุดหงิด พอน้ำนมไหลช้าลงจะโวยวาย เอามือผลักตัวออกจากเต้าแม่ แม่จะรู้สึกเครียด คิดว่าน้ำนมน้อย และเมื่อเครียดจะทำให้ปฏิกิริยาไหลพุ่งของน้ำนมหายไป ลูกจะโวยวายมากขึ้นเป็นวงจรไม่สิ้นสุด วิธีแก้ไข ให้แม่หาวิธีไม่ให้ตัวเองเครียด เช่น ดูทีวี ฟังเพลง หรือ อ่านหนังสือขณะให้นมลูก เชื่อเถอะว่าไม่นานปฏิกิริยาไหลพุ่งของน้ำนมจะได้กลับมาใหม่
บทความจาก คัมภีร์เลี้ยงลูก วัยแรกเกิด-วัยรุ่นตอนปลาย นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก เขียน แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ แปล สำนักพิมพ์ Amarin Health
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
แม่มือใหม่ ให้นมลูก อย่างไร ถึงจะเวิร์ค?
เคล็ดลับ! เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไรให้สำเร็จ
ระวังอ่างอาบน้ำ ลูกน้อยเสี่ยงถูกดูดอาการโคม่า
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่