AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

“ น้ำนมแม่ ” นั้นดีและแน่ที่สุดแล้ว

น้ำนมแม่ นั้นดีและแน่ที่สุดแล้ว คนส่วนใหญ่พอจะทราบอยู่แล้วว่านมแม่มีประโยชน์กับลูก แต่ พญ.ปวินทรา หะริณสุต สมนึก กุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ จะมาบอกเล่ามากขึ้น ในแง่ของทางการแพทย์ว่า นมแม่สําคัญอย่างไร ทําไมถึงต้องมีการรณรงค์ให้นมแม่กันมากมายทั่วโลก อย่างเช่น องค์การอนามัยโลก กําหนดไว้ว่า ควรให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือนในขณะที่ American Academy of Pediatrics แนะนําว่าควรให้นมแม่อย่างน้อย 1 ปี แต่โดยทั่วไปคือ ให้นมแม่จนกว่าลูกจะมีน้ำหนักตัว 4 เท่า ของแรกคลอด เช่น แรกคลอดมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม 4 เท่าก็คือ 12 กิโลกรัม ซึ่งเฉลี่ยแล้วเท่ากับอายุ 2 ขวบ

 “ น้ำนมแม่ ” นั้นดีและแน่ที่สุดแล้ว

ประโยชน์ของ นมแม่ มีดีมากกว่าที่คิด

ด้วยความที่นมแม่ มีลักษณะใสกว่านมอื่นๆ คนสมัยก่อนจึงคิดว่านมแม่ไม่ค่อยมีสารอาหารมากนัก แต่ความจริงแล้วนมแม่มีสารอาหารมากถึง 200 กว่าชนิด ในขณะที่นมประเภทอื่นมีไม่ถึงครึ่งของนมแม่เลย แค่สารอาหารหลักๆ ก็ยังมีได้ไม่เท่า ได้แก่

กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ในนมแม่จะมีน้ำตาลแล็กโทส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ช่วยพัฒนาสมองของลูก แม้ว่าในน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดจะมีน้ำตาลชนิดนี้ด้วยก็ตาม แต่ในน้ำนมของมนุษย์มีสูงที่สุด

น้ำนมแม่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว มี ดีเอชเอและเอเอ ซึ่งก็คือ โอเมก้า 3 และ 6 เซลล์ประสาทของสมอง เป็นสารอาหารจากธรรมชาติที่มีในน้ำนมแม่ ไม่สามารถสกัดออกมาใส่เสริมในนมอื่นได้ นอกจากนี้ โปรตีนในนมแม่ยังมีส่วนประกอบของ เวย์ 80% และเคซีน 20% โดย เวย์ในนมแม่ยังเป็นแอลฟาแลคตัลบูมิน ช่วยลดภาวะเสี่ยงของการเป็นภูมิแพ้ต่างๆ

ในขณะที่นมอื่นนั้นเป็น เบต้าแลคตัลบูมิน ตัวเบต้านี้จะกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ต่างๆ ส่วนเคซีนในนมแม่เป็นเบต้าเคซีน ซึ่งย่อยง่าย ดูดซึมง่าย ช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก สังกะสี และแคลเซียมได้ดี ทั้งสองตัวนี้ไม่สามารถเติมหรือผลิตได้จากโรงงาน นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ที่ในนมอื่นไม่มี จึงเรียกได้ว่า นมแม่มีสารอาหารที่ครบถ้วนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ในน้ำนมแม่ยังอุดมไปด้วย ภูมิคุ้มกันสำคัญที่ไม่สามารถหาได้จากนมอื่นๆ เช่น Secretary IgA (เป็นหน้าด่านช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ), เม็ดเลือดขาว,ไลโซไซม์ (เอนไซม์ที่ช่วยให้เชื้อแบคทีเรียตายได้), แล็กโตเฟอร์ริน (โปรตีนช่วยต่อต้านเชื้อโรค), Bifidus Growth Factor (สารที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของแล็กโตบาซิลลัส ช่วยให้แบคทีเรียไม่สามารถอาศัยอยู่ในลําไส้ได้) เป็นต้น เพราะนมแม่มีสารต่างๆ ซับซ้อนมากมายที่จะช่วยให้ลูกเรามีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์

การเข้าเต้า

การเข้าเต้ามีความสําคัญมาก ถ้าคุณแม่ใช้ท่าที่ถูกต้อง ลูกก็จะดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำนมที่ออกจากเต้าก็จะเกลี้ยงเต้าได้ไว ความเสี่ยงเรื่องการเจ็บหัวนม หัวนมแตก เต้านมคัดก็จะลดลงไปมาก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม  น้ำนมแม่นั้นดีและแน่ที่สุดแล้ว คลิกต่อหน้า 2

 วิธีเข้าเต้าแบบง่ายๆ

  1. อุ้มลูกตะแคง ท้องลูกแนบท้องแม่ วางลูกบนท่อนแขน พยายามให้จมูกของลูกตรงกับหัวนมแม่

2. ใช้หัวนมเขี่ยริมฝีปากลูกจากริมฝีปากบนลงล่าง จะช่วยให้ปากของลูกเปิดแบะบานออก

3. เมื่อลูกอ้าปากแล้ว ค่อยๆ ใช้มือ หรือข้อศอกประคองส่งตัวลูกให้เข้าอมหัวนมของคุณแม่ในจังหวะที่ยังอ้าปากกว้างอยู่ (ลูกจะอ้าประมาณ 20-30 วินาที) ข้อสำคัญที่ห้ามลืม คือ ต้องให้ลูกอมลึกที่สุดถึงลานนมของคุณแม่ สังเกตเวลาลูกดูดนม ริมฝีปากของเขาต้องบานบน บานล่าง ระหว่างนั้นจับเต้าประคองไว้จนมั่นใจว่าลูกอมได้ลึกแล้ว จึงปล่อยมือที่ประคองเต้านมออก

4. อย่าลืมหาหมอนมารองแขนให้มั่นคง กระชับเพราะหากหมอนที่มารองไม่กระชับพอ เมื่อคุณแม่เมื่อยจะเผลอผ่อนมือลง ทำให้ปากลูกรูดลงมา ลูกก็จะอมได้ไม่ดี อาจเกิดอาการเจ็บหัวนมตามมา

รู้ได้อย่างไรว่าลูกอิ่ม

เริ่มแรกให้ดูว่าเขาได้น้ำนมหรือเปล่า โดยดูว่าเขาดูดนมอย่างต่อเนื่องหรือไม่ คล้ายกับเวลาเรา ดื่มน้ำ พอเขาดูดสัก 20-30 นาทีก็มักจะอิ่มแล้ว ซึ่งธรรมชาติของเด็กเวลาอิ่มเขาจะปล่อยเอง แต่บางคนจะชอบดูดแช่ไม่ยอมปล่อย วิธีคือ ให้ใช้นิ้วก้อยค่อยๆ แซะข้างมุมปากของลูก แต่หากลูกร้องไห้หลังเอาออกจากเต้าให้คุณแม่อุ้มโอ๋ต่อสักครู่ เขาก็จะหลับต่อได้เอง

การเก็บน้ำนม

น้ำนมแม่ หากตั้งไว้ในอุณหภูมิห้องที่มีแอร์ไม่ร้อนมาก จะเก็บได้ 2-4ชั่วโมง ในตู้เย็นช่องธรรมดาเก็บได้ประมาณ 2-3วัน ช่องฟรีซเก็บได้ประมาณ 3 เดือน และตู้แช่ที่มีอุณหภูมิ-18 องศาเซลเซียสจะเก็บได้นาน 6 เดือน – 1 ปี แต่คำแนะนำคือ ไม่ควรเก็บสต๊อกไว้นานจนเกินไป อย่างแรก เพราะนมแม่ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งมีกลิ่น เด็กบางคนไม่ชอบกลิ่นก็จะไม่ยอมกินนมแม่ที่สต๊อกไว้เลย อย่างที่สอง หากไฟดับนมแม่ที่แช่ไว้ก็จะเสีย ดังนั้น ควรสต๊อกพอประมาณให้มีหมุนเวียนใช้ระยะหนึ่งก็พอ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

นมสดจากเต้า กับนมแม่ที่สต๊อกไว้ มีคุณค่าสารอาหารเท่ากันหรือไม่

นมสดๆ จากเต้ามีคุณค่าสารอาหารมากกว่าน้ำนมที่แช่แข็งไว้ แต่แบบแช่แข็งก็ยังมีประโยชน์มากกว่านมชนิดอื่นๆ หลายเท่า แม้น้ำนมที่แช่ฟรีซไว้จะมีปริมาณเม็ดเลือดขาวและไลโซไซม์น้อยกว่านมสดๆ จากเต้า แต่ก็ไม่ได้ลดลงมากนัก

ใช้เครื่องปั๊มน้ำนมแบบไหนดีสําหรับคุณแม่ที่ต้องไปทํางาน

แนะนำให้เลือกเครื่องปั๊มนมที่มีราคาปานกลาง ไม่ต้องแพงมาก และเลือกแบบปั๊มคู่จะสะดวกกว่า นอกจากนี้ เครื่องปั๊มควรมีรอบของการปั๊มอยู่ที่ 40-60 ครั้ง ต่อนาที ความดันที่ 200 มิลลิเมตรของปรอท และอย่าซื้อเครื่องใหญ่มากเพราะพกพาลำบาก

นมแม่นำมาทำอาหารได้หรือไม่

น้ำนมแม่ สามารถทำอาหารได้ แต่ไม่ควรนำไปต้มจนเดือด และห้ามใส่ ไมโครเวฟ เพราะจะทำให้คุณค่าทางอาหารเสียไปหมด วิธีคือ ให้นำนม ที่ต้องการใช้จากช่องฟรีซ มาตั้งในช่อง ธรรมดาให้ละลาย จากนั้นนำไปแกว่งใน น้ำอุ่นอุณหภูมิไม่เกิน 60องศาเซลเซียส แล้วนำมาคลุกกับอาหาร

ติดตาม  น้ำนมแม่นั้นดีและแน่ที่สุดแล้ว คลิกต่อหน้า 3

ถ้ามีลูกแฝด น้ำนมจะมาเพิ่มเป็นสองเท่าหรือไม่

เป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติ ร่างกายจะเรียนรู้เองว่ามีน้ำนมพอสำหรับลูกหนึ่ง หรือสองคน แต่หากเป็นแฝดสาม สี่ หรือห้าอาจต้องปรึกษาศูนย์น้ำนมแม่ตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อขอคำแนะนำการให้น้ำนมให้เพียงพอต่อลูกแต่ละคน

นมแม่ คือ วัคซีนตัวแรกของลูก

วัคซีนแรกของลูกไม่ใช่วัคซีนจากไหน แต่เป็นน้ำนมเหลืองที่หลั่งออกมาในช่วงแรกหลังคลอด มีลักษณะสีเหลืองข้น ซึ่งเด็กทุกคนควรจะได้รับน้ำนมนี้ เพราะเป็นน้ำนมที่มีภูมิต้านทานสูงมากๆ มีงานวิจัยพบว่า น้ำนมเหลืองช่วยให้เด็กคลอดก่อนกำหนดหายป่วยเร็วขึ้น แข็งแรงเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดลำไส้เน่าในเด็กได้ดีอีกด้วย

รู้หรือไม่

การดูดนมจากเต้าช่วยลดการเกิดภาวะฟันสบกันไม่ดีของลูก และการใส่เหล็กดัดเพื่อจัดฟันใหม่ในเด็กโต

อาการจี๊ดที่เต้านมตอนลูกดูดนมในช่วงแรกเกิดจากอะไร

อาการจี๊ดที่เต้านมเกิดจากฮอร์โมนหลังคลอด ที่ชื่อว่า โปรแล็กติน ซึ่งจะผลิตออกมามากในช่วงเดือนแรกหลังคลอด เพราะร่างกายไม่รู้ว่าลูกต้องการนมในปริมาณมากน้อยแค่ไหน จึงผลิตน้ำนมออกมามาก เมื่อน้ำนมวิ่งผ่านท่อน้ำนมจึงเกิดการพุ่งออกมา ทำให้เกิดอาการเจ็บจี๊ดนั่นเอง อาการนี้จะค่อยๆ หายไปเอง

ปัญหาจากการให้นมลูกมีอะไรบ้าง

เวลาให้นมลูกอาจมีปัญหา เช่น เต้านมคัด ท่อน้ำนมอุดตัน เต้านมอักเสบ หัวนมแตก สาเหตุส่วนมากเกิดจากการให้นมไม่ถูกท่า หรือปล่อยให้น้ำนมค้างอยู่ในเต้านานเกินไป

วิธีป้องกัน คือ ควรปั๊มนมทุก 2-3 ชั่วโมง ต้องมีวินัย อย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด หากมีอาการไม่มาก แพทย์มักแนะนำให้ประคบร้อน และนวดบ่อยๆ แต่หากเป็นมากก็อาจต้องใช้คลื่นความถี่ที่ทำให้เกิดความร้อนประมาณ 42 องศาเซลเซียส จากเครื่องอัลตราซาวนด์เพื่อช่วยรักษาร่วมกับการนวด

อีกอาการที่คุณแม่เป็นกันมากคือ White Dot ซึ่งก็คือการมีน้ำนมอุดคาอยู่ตรงหัวนม ทำให้น้ำนมไม่ไหล และจับตัวเป็นก้อน ต้องใช้การสะกิดออกจึงจะหาย แต่ทั้งนี้ควรไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องจะดีที่สุด


ข้อมูลจาก พญ.ปวินทรา หะริณสุต สมนึก กุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์

บทความโดย กองบรรณาธิการ นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับเดือนธันวาคม 2559

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ

เตรียมสุขภาพแม่ ให้ดี เมื่อถึงทีต้อง ให้นมลูก

10 สุดยอด “อาหารบำรุงสมอง” ลูกน้อย

6 เคล็ดลับ สร้างความสุขให้ลูกรัก สมองเติบโต

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids