ทำโทษลูก

หมอแนะ! ลูกทำผิดในที่สาธารณะ ควร ทำโทษลูก ทันทีหรือทีหลังได้?

event
ทำโทษลูก
ทำโทษลูก

ทำโทษลูก ต้องทันทีหรือทีหลังได้ หากลูกทำผิดขณะที่พ่อแม่กำลังทำธุระอยู่ ควรดุและทำโทษลูกตอนนั้นเลย หรือคุยธุระเสร็จแล้วค่อยไปทำโทษทีหลังได้ มาฟังคำชี้แนะจากจิตแพทย์กันค่ะ

หมอแนะ! ทำโทษลูก ต้องทันทีหรือทีหลัง?
(หากพ่อแม่กำลังทำธุระอยู่ตอนนั้น)

คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยหรือเกิดเหตุการณ์แบบนี้กันบ้างไหมคะ หากอยู่ในที่สาธารณะแล้วพ่อแม่กำลังทำธุระอยู่แต่ลูกวัยซนเกิดดื้อ อาละวาด หรือทำผิด ในช่วงเหตุการณ์แบบนี้คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรรีบดุ ทำโทษลูก หรือปล่อยไป พาไปในที่ไม่มีคนอยู่เยอะจึงค่อย ทำโทษลูก

หากใครเคยเป็นแบบนี้ ลองไปฟังคำแนะนำดีๆ จาก นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กันค่ะ โดยเรื่องนี้มีคุณพ่อท่านหนึ่งได้ถามว่า …

Q: ลูกอายุ 4 ขวบ ตะโกนเรียกพ่อแม่ ตวาด หรือตีพ่อแม่ต่อหน้าคนอื่น หรือขณะที่เรากำลังคุยธุระอยู่ เราควรดุและทำโทษเขาตอนนั้นเลย หรือให้คุยธุระเสร็จแล้ว ค่อยไปทำโทษทีหลังครับ

สำหรับเรื่องนี้คุณหมอประเสริฐได้ให้คำตอบว่า…

ขอให้ทราบว่าหากไม่ชอบคำตอบที่ผมให้ก็อย่าถือสา ลองถามผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ได้ครับ

พร้อมแนะนำเพิ่มเติมว่า..

แลกเปลี่ยนแบบคุณพ่อกับคุณพ่อกันก่อนนะครับ การสั่งสอนลูกเล็กเป็นเรื่องที่ผมทำทันทีทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในที่รโหฐานหรือที่สาธารณะ และไม่ขึ้นกับลักษณะความผิดด้วย เช่น นั่งกินข้าวไม่เป็นที่เป็นทางในร้านอาหารคอยแต่จะมุดใต้โต๊ะปีนป่ายเก้าอี้ ผมจะลุกจากโต๊ะเดินอ้อมไปหาลูก นั่งลงเสมอหน้าและพูดด้วยเสียงเอาจริงว่า ลูกต้องนั่งกินอยู่กับที่เหมือนพ่อแม่ แล้วเราจะกินเสร็จพร้อมกันไปเล่นด้วยกันต่อ เป็นต้น

ในความผิดร้ายแรง คือ ทำร้ายคน ทำลายข้าวของ พูดคำหยาบ ผมจะตีทันทีไม่ว่ารอบข้างจะมีใครก็ตาม แต่บังเอิญผมไม่เคยต้องทำอะไรเช่นนั้นเลย เลยรอดตัวไป

คราวนี้มาว่ากันเรื่องวิชาการกับการทำโทษลูก

1. ประเด็น ทำโทษลูก ทันทีหรือทีหลัง

ตอบว่า ทำโทษ ทันที เพราะทำทันทีจึงเกิดการเรียนรู้ว่าพ่อทำโทษเรื่องอะไร คำอธิบายคือ สมองเด็กไม่ได้ทำงานด้วยเหตุผลแบบของเรา สมองของเขาทำงานแบบจับคู่เหตุการณ์สองอย่างเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน (Phenomanalisticcausality) ยิ่งเหตุการณ์สองอย่างนั้นประชิดกันมากเท่าไรเขายิ่งจับคู่ง่ายขึ้นเท่านั้น ถ้าตีพ่อแม่ก็ต้องถูกตีทันที จึงจะเข้าใจว่าเขาถูกทำโทษเรื่องอะไร มิใช่รออีกหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงค่อยมา ทำโทษลูก แล้วตามด้วยคำอธิบายยืดยาวเหลวไหลไร้สาระ

เลี้ยงลูกอารมณ์ดี

2. ประเด็น ทำโทษลูก ต่อหน้าคนอื่นหรือในที่รโหฐาน

ตอบว่าทำโทษทันทีแม้ว่าจะเป็นที่สาธารณะ ที่จริงนี่เป็นประเด็นหน้าตาของพ่อแม่มากกว่าหน้าตาของเด็กๆ   พ่อแม่ส่วนใหญ่รักษาหน้าตัวเองโดยพร้อมจะปล่อยปละละเลยให้ลูกเสียคน หากจะเถียงว่าลูกเสียหน้าก็ต้องยอมให้เสียหน้า เพื่อจะได้รู้ว่านี่คือพฤติกรรมที่พ่อแม่จะไม่ยอมอ่อนข้อเป็นอันขาด ถึงลูกจะเสียหน้าก็จะทำโทษทันทีอยู่ดี แน่นอนว่าเราทำโทษลูกเพื่อให้เขาหลาบจำ เรามิได้จะ “ทำร้าย” ลูกด้วยอารมณ์โกรธ ขอให้แยกสองอย่างนี้ออกจากกัน อย่าเอามาปะปนกันเพื่ออ้างที่จะไม่ทำอะไร (แต่เราจะไม่ทำโทษลูก วัยรุ่นของเราต่อหน้าคนอื่นนะครับ)

3. ความผิดร้ายแรง

คือ ทำร้ายคน ทำลายข้าวของ พูดคำหยาบ นอกจากนี้เป็นความผิดไม่ร้ายแรงทั้งนั้นครับ อธิบายดังนี้ เด็กทุกคนพร้อมจะทดสอบกฎ กติกา มารยาทที่เรากำหนดให้อยู่แล้ว เขาแค่ทดสอบว่าเราเอาจริงไหม จะได้ทำตัวถูก

ดังนั้นเราไม่ควรจุกจิกทุกเรื่องห้ามหมดทุกอย่าง ปล่อยได้ก็ปล่อย พ่อแม่อย่าเอาแต่ใจตัวให้มากนัก มีเรื่องที่เราควรเอาจริงแต่ไม่ถึงกับต้องตีคือ เรื่องกติกาของส่วนรวม เช่น การกินที่โต๊ะอาหารในร้าน การใช้รถสาธารณะหรือรถไฟฟ้า การส่งเสียงดังในที่ที่ห้ามใช้เสียง การแซงคิวซื้อของหรือจ่ายเงิน การใช้สมาร์ทโฟนในที่สาธารณะ เป็นต้น กติกากลางเหล่านี้คนทุกคนต้องเคารพ เด็กทุกคนก็เช่นกัน หากเขาละเมิดเราต้องสั่งสอนอย่างจริงจัง หากเขาไม่ทำตามเราต้องเอาเขาออกจากสถานที่นั้นแล้วคาดโทษ สุดท้ายคือกรณีความผิดร้ายแรงที่พ่อแม่ควรหยุดเขาทันที ไม่ปล่อยปละละเลยจนทำอะไรไม่ได้ในอนาคต

สรุป คือพฤติกรรมของเด็กๆ มี 3 ระดับ ระดับปล่อยได้ขอให้ปล่อย ระดับที่เป็นกติกาสังคมต้องเอาจริงกับเด็ก ระดับร้ายแรงคือทำร้ายคน ทำลายข้าวของ พูดคำหยาบ ให้ ทำโทษลูก ในแบบจำเป็นต้องตีก็คือตี

4. พฤติกรรมของเด็กๆ จะได้ดั่งใจเราหรือเปล่า

ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมตนเองของเขา ความสามารถในการควบคุมตนเองเป็นเรื่องต้องฝึกตั้งแต่แรกๆ และผมยืนยันว่าการกินข้าวเป็นเรื่องแรกๆ เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการฝึกกินข้าวอยู่กับที่ให้เสร็จในเวลาที่กำหนด มิใช่เดินป้อนข้าวกันได้ครั้งละหลายสิบเมตรอย่างที่ทำๆ กัน ประเด็นมิได้อยู่ที่ข้าว ประเด็นอยู่ที่ความสามารถในการบังคับตัวเองให้นั่งกินข้าวให้เสร็จ หากเรื่องขี้ผงเท่านี้พ่อแม่สอนไม่ได้ ก็อย่าคาดหวังว่าเขาจะควบคุมตนเองในเรื่องอื่นๆ ได้เมื่อโตขึ้น

วิธีจัดการพฤติกรรมไม่น่ารักของลูก

1.ให้รางวัลวันที่เขาแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมถูกใจ = อย่าเฉยเมื่อมีวันที่เขาไม่ทำอย่างที่คุณแม่เล่ามา “เดี๋ยวนี้เวลาโมโหก็จะแสดงกิริยาไม่น่ารัก เช่น ปาข้าวของจนเสียหาย เดินกระแทกส้นเสียงดังใส่ ปิดประตูเสียงดัง หรือกรีดร้อง คำราม”กล่าวคือ “วันนี้ดูเหมือนลูกโมโห แต่ไม่ได้แสดงกิริยาไม่น่ารัก เช่น ปาข้าวของจนเสียหาย เดินกระแทกส้นเสียงดังใส่ ปิดประตูเสียงดัง หรือกรีดร้อง คำราม” เช่นนี้แม่ต้องรีบให้รางวัล เดี๋ยวนั้น ทันที ทิ้งทุกอย่างที่ทำอยู่มาให้รางวัล บอกเขาชัดๆ ว่า“เราชอบมากกกกก”

2. การเฉยเมย = การเฉยเมยอาจจะไม่เหมาะเมื่อลูกกำลังออกอาการ ที่ควรทำคือทิ้งงานทุกอย่าง เข้าไปหยุดเขาทันที เดี๋ยวนั้น ด้วยทีท่าที่เอาจริง ไม่เหยาะแหยะ และทำซ้ำๆ จนกว่าจะได้ผล แค่ 5 ขวบ แพ้ได้ไง

3. การทำโทษมักไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว = เมื่อเรื่องลุกลามมาถึงจุดนี้ หากฝืนทำต่อไปมีแต่จะทำให้เขาแย่ลงไปอีกเสียเปล่าๆ ถ้าเคยทำก็หยุดทำ บางครั้งเราพบว่าเด็กๆ กลับจะดีขึ้นได้เอง

อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะใช้จิตวิทยาเชิงบวกหรือการจัดการพฤติกรรมไม่น่ารักของลูกน้อยโดยตรง สิ่งที่พ่อแม่ต้องมี คือ ความสม่ำเสมอคงเส้นคงวา และความหนักแน่นเอาจริงไม่เหยาะแหยะ หากปราศจากสองอย่างนี้วิธีไหนก็ไม่ได้ผล เพราะเด็กจะไม่รู้ว่าท่านจะเอาอย่างไรกันแน่ บางวันท่านก็ดี บางวันท่านก็ร้าย สลับกันไปมาพอกันกับเขา ลองทบทวนดูนะคะ

บทความโดย: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความอื่นๆ น่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓

หมอเตือน!! อย่าเป็นพ่อแม่ที่ห่วงลูกมากเกินไปจนน่ารำคาญ

พ่อแม่ต้องรู้!! 3 สิ่งควรทำเมื่อ เลี้ยงลูกขวบปีแรก

หมอเตือน! พ่อแม่ทะเลาะกัน “ต่อหน้าลูก” เสี่ยงลูกพัฒนาการถดถอย สับสนทางเพศ

วิธีเลี้ยงลูก ให้มีอนาคตดี แม้ “เรียนไม่เก่ง”

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up