ลูกถูกทำร้าย

3 วิธีดูแลและรับมือ เมื่อ ลูกถูกทำร้าย (ทั้งร่างกาย-จิตใจ) พ่อแม่คือคนสำคัญ!

event
ลูกถูกทำร้าย
ลูกถูกทำร้าย

หากรู้ว่า ลูกถูกทำร้าย จากโรงเรียน! ไม่ว่าจะกับเพื่อนกันหรือคุณครู พ่อแม่จะวิธีรับมือและดูแลจิตใจของลูกอย่างไร? เพื่อไม่ให้กระทบต่อชีวิตของลูกในอนาคต ตามมาดูกันค่ะ

3 วิธีดูแลและรับมือ เมื่อ “ลูกถูกทำร้าย” (ทั้งร่างกายจิตใจ)

จากกรณีข่าว ครูโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์  ทําร้ายร่างกายเด็กอนุบาลอย่างรุนแรง และพฤติกรรมต่างๆ นานาที่เข้าข่ายทำร้ายเด็กทั้งทางร่างกาย ทางคำพูด และทางจิตใจ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแค่เกิดผลกระทบทางร่างกาย แต่ยังส่งผลเป็นบาดแผลทางจิตใจของเด็กๆ ได้ด้วย

ซึ่งการกระทำต่างๆ เด็กบางคนอาจจะเลียนแบบความก้าวร้าวใช้ความรุนแรงเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ เด็กบางคนอาจจะมีบาดแผลทางจิตใจทั้งเป็นโรควิตกกังวล ซึมเศร้า หวาดผวากลัวการถูกกระทำซ้ำ

อย่างไรก็ตามหากเด็กถูกกระทำรุนแรงบ่อยๆ เป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ก็อาจจะมีผลกระทบที่มากขึ้น เป็นบาดแผลจิตใจในระยะยาว ทำให้เด็กรู้สึกตนเองมีคุณค่าต่ำ มีความคิดลบต่อตัวเอง อาจจะมีปัญหาทางสุขภาพจิตต่างๆ ทั้ง โรควิตกกังวล โรค phobia เช่น กลัวครู โรคหวาดผวาหลังจากเจอเหตุการณ์รุนแรงทั้ง acute stress disorder,post traumatic stress disorder รวมไปถึงโรคซึมเศร้า ซึ่งการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขอย่างแน่นอน

สัญญาณซึ่งอาจบ่งบอกถึงการถูกรังแก มีดังต่อไปนี้

  • ลูกกลับมาจากโรงเรียนโดยเสื้อผ้า สมุดหนังสือหรือข้าวของฉีกขาด ชำรุด หรือสูญหายเป็นบางส่วน
  • ร่างกายมีรอยบาดแผล ฟกช้ำ หรือถลอกที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
  • มีเพื่อนน้อย หรือไม่มีเลย
  • มีอาการกลัวการไปโรงเรียน กลัวการเดินไป-กลับโรงเรียน การขึ้นรถรับส่งนักเรียน หรือการเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ (เช่น ชมรมต่างๆ)
  • ไป-กลับโรงเรียนโดยใช้ทางอ้อม ซึ่งดูแล้วไม่มีเหตุผลสมควร
  • ไม่สนใจทำการบ้านและผลการเรียนตกต่ำอย่างกะทันหัน
  • มีท่าทางเศร้า หงุดหงิดง่าย น้ำตาคลอ หรือหดหู่ หลังกลับมาจากโรงเรียน
  • บ่นว่าปวดหัว ปวดท้อง หรือมีความเจ็บป่วยด้านอื่นอยู่บ่อยๆ
  • มีปัญหานอนไม่หลับ หรือฝันร้ายบ่อยๆ
  • ไม่เจริญอาหาร
  • มีท่าทางกังวลหรือน้อยเนื้อต่ำใจ

ลูกถูกทำร้าย

หากลูกถูกรังแก ลูกถูกทำร้าย พ่อแม่จะทำอย่างไร?

1.ให้กำลังใจ สนใจดูแลลูกเป็นพิเศษ และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรังแกกันที่เกิดขึ้น 

  • อย่าตำหนิหรือกล่าวโทษลูกที่ถูกรังแก อย่าสันนิษฐานว่าลูกอาจไปทำอะไรให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อนที่เป็นการยั่วยุให้เขามารังแกเอา (ลูกไปทำอะไรเขาก่อนหรือเปล่า เขาถึงได้รังแกลูก?)
  • ฟังรายละเอียดจากลูกว่า การรังแกนั้นเกิดขึ้นอย่างไร ซักถามหรือขอให้ลูกเล่าว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง และการรังแกแต่ละครั้งมีพฤติกรรมอะไรเกี่ยวข้อง
  • แสดงความเห็นอกเห็นใจลูก บอกเขาว่าการรังแกเป็นสิ่งที่ผิดและดีใจที่ลูกกล้าเล่าให้ฟัง ถามความเห็นว่าควรดำเนินการอย่างไรจึงจะช่วยได้ ให้คำมั่นกับลูกว่าจะคิดดูให้ดี ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร และจะบอกลูกทุกครั้งก่อนที่จะทำอะไรต่อไป
  • อย่าสนับสนุนการตอบโต้ทางกาย (ใส่มันสักหมัดเลยสิ) เพื่อเป็นทางออก การชกต่อยคนอื่นมักจะไม่ทำให้ปัญหายุติลงและอาจทำให้ลูกถูกพักการเรียนหรือไล่ออกได้

2.ติดต่อครูหรือครูใหญ่

  • พยายามควบคุมอารมณ์ แล้วให้ข้อมูลเฉพาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถูกรังแกของลูก ลูกถูกทำร้าย เป็นใคร อะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร
  • ย้ำความตั้งใจ ว่าตัวคุณพ่อคุณแม่ต้องการร่วมมือกับบุคลากรของโรงเรียนหาทางออกเพื่อยุติการรังแกกัน
  • หากลูกถูกเพื่อนนักเรียนด้วยกันรังแก อย่าติดต่อกับผู้ปกครองของนักเรียนผู้ลงมือรังแกลูกก่อน การกระทำเช่นนี้มักเป็นการโต้ตอบอันดับแรกของผู้ปกครอง แต่บางครั้งมันอาจทำให้เหตุการณ์รุนแรงกว่าเดิม  บุคลากรของโรงเรียนควรเป็นผู้ติดต่อไปทางผู้ปกครองของนักเรียนผู้ลงมือรังแก
  • มีความคาดหวังให้เรื่องที่ ลูกถูกทำร้าย หรือการรังแกในโรงเรียนยุติลงเสมอ พูดคุยกับลูกและบุคลากรของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามดูว่าการรังแกได้หยุดลงหรือไม่ หากยังไม่ยุติ ติดต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ในโรงเรียนอีกที

3.ช่วยลูกให้มีการปรับตัวรับมือกับการถูกรังแก

  • ช่วยพัฒนาความสามารถพิเศษหรือพรสวรรค์ที่เขามีอยู่ให้เต็มที่ การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่ออยู่ท่ามกลางหมู่เพื่อน (เพราะคนที่มั่นใจในตนเอง จะมีท่าทางที่ทำให้คนอื่นๆไม่อยากหรือไม่กล้ารังแก)
  • สนับสนุนให้ลูกติดต่อคบหากับเพื่อนนักเรียนที่เป็นมิตรในห้องเรียน ครูของลูกอาจแนะนำได้ว่านักเรียนคนไหนน่าคบเป็นเพื่อน น่าใช้เวลาด้วยหรือทำงานร่วมด้วย
  • สอนวิธีการสร้างความปลอดภัยให้ลูก สอนให้ลูกรู้วิธีขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อเขารู้สึกว่าถูกคุกคาม พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับบุคคลที่สามารถขอความช่วยเหลือได้และซ้อมบทสนทนาว่าควรพูดอย่างไร ยืนยันกับลูกว่า การแจ้งเหตุรังแกกันนั้นไม่เหมือนกับการ ‘ขี้ฟ้อง’

ทั้งนี้หัวใจสำคัญ คือ บ้าน  พ่อแม่ต้องทำให้ลูกแน่ใจว่าได้รับบรรยากาศในบ้านที่เปี่ยมด้วยความรักและความปลอดภัย ซึ่งสามารถเป็นที่หลบภัยของเขาได้ทั้งทางกายและใจ  สื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ


ขอบคุณข้อมูลจาก : คู่มือรับสถานการณ์เด็กรังแกกันในโรงเรียน สำหรับพ่อแม่ที่ลูกถูกรังแก : ลูกฉันถูกรังแก ทำอย่างไรดี  ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ผู้จัดทำ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(มสช.) www.thaichildrights.orgwww.phyathai.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓

7 วิธีสร้างเกราะป้องกัน ลูกถูกบูลลี่ และไม่ให้ลูกบูลลี่คนอื่น

9 วิธีสอนลูกไม่ให้แกล้งเพื่อน หรือไปทำร้ายคนอื่น

ความสัมพันธ์ในครอบครัว สำคัญมากต่ออนาคตลูก

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up