สอนให้ลูกหัดอ่านเขียนก่อนเข้าโรงเรียน ดีก็จริงแต่คุณคิดว่าถูกแล้วหรือ เพราะหากลูกอ่านเขียนได้ แต่หากลูก ขาดทักษะ EF พ่อแม่ไม่ใส่ใจสอน ทักษะ EF สมองลูกอาจอาจไม่พัฒนา ลูกไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม หรือประเมินตัวเองได้ก็อาจจะนำไปสู่การกระทำที่ไม่เหมาะสม และไม่รู้ว่าจะจัดการกับผลที่ตามมาได้อย่างไร
♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦
ทักษะ EF คือ “การคิดเชิงบริหาร” (Executive Functions) หรือที่เราเรียกสั้น ๆ กันว่า EF คือหน้าที่การทำงานของสมองระดับสูงในเชิงบริหาร ซึ่งเราอาจจะคิดว่าผู้บริหารเท่านั้นที่ต้องมี แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์เราทุกเพศทุกวัยจำเป็นต้องใช้ทักษะ EF กับการทำงานทุกเรื่องให้สำเร็จ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Goal-Directed Behavior” เป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่มีความยากและใช้ระยะเวลานานหลายเดือนหรือหลายปีกว่าจะสำเร็จ เช่น การเรียน การจะทำให้จิตใจของเราจดจ่อกับเป้าหมาย ไม่ยอมแพ้ ไม่ลืมหน้าที่รับผิดชอบ ไม่เบี่ยงเบนหาสิ่งที่ง่ายและสบายกว่าไปเสียก่อน รู้จักตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออก เลือกทำสิ่งที่สำคัญ และยึดมั่นจนกว่าจะถึงเป้าหมาย
ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยทักษะ EF อย่างมากจึงจะทำได้สำเร็จเพราะ ทักษะ EF จะช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ ความคิด และการกระทำ จนกว่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้
ทำไมต้อง ฝึกทักษะ EF ตั้งแต่เด็ก
จากผลการทดลองของศาสตราจารย์วอลเตอร์ มิสเชล (Walter Mischel) มหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ซึ่งทำการทดลองเรื่อง “มาร์ชแมลโลว์” กับเด็กวัย 4 ขวบตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว โดยให้เด็กอยู่ในห้องตามลำพังกับมาร์ชแมลโลว์ 1 ชิ้น และมีกฎว่า เด็กสามารถกินมาร์ชแมลโลว์ในขณะที่ผู้ใหญ่ไม่อยู่ได้ แต่ถ้าเด็กสามารถอดทนรอจนผู้ใหญ่กลับมาได้นาน 15 นาที เด็กจะได้รับมาร์ชแมลโลว์เพิ่มเป็นรางวัลอีก 2 ชิ้น ซึ่งเด็กต้องตัดสินใจว่าเขาจะรอหรือจะกินโดยไม่รอ
ผลจากการทดลองพบว่า มีทั้งเด็กที่รอได้ เด็กที่รอจนเกือบได้ และเด็กที่รอไม่ได้เลย แสดงว่าการชะลอความอยากของเด็กแต่ละคนมีไม่เท่ากัน หลังจากนั้นมิสเชลติดตามเด็กกลุ่มนี้จนกระทั่งพวกเขาเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เรียนจบ และทำงาน
ซึ่งพบว่าคะแนนสอบของเด็กที่ยิ่งรอได้นานยิ่งมีคะแนนสูง ยิ่งรอได้นานยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิต หมายความว่า ระดับความสามารถของ EF ในวัยเด็กมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในอนาคตของเขา
การฝึก EF ตั้งแต่เด็กจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าการเรียนวิชาการ และให้ผลยั่งยืนยิ่งกว่าการเรียนพิเศษ เนื่องจากวงจรสมองสำหรับการคิดทักษะ EF มีตั้งแต่ขวบปีแรก หากเราสอนเด็กให้รู้จักคิด ควบคุมอารมณ์ มีวินัยในตนเอง วงจรประสาทเหล่านี้จะถูกย้ำทำให้คงอยู่และแข็งแรงขึ้น แต่ถ้าเราไม่ใช้ไม่ว่าจะเป็นทักษะอะไรก็ตาม วงจรประสาทเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ อ่อนแอลงและหายไป เพราะฉะนั้นการฝึกเด็กให้มี ทักษะ EF ก็เพื่อรักษาวงจรประสาทหรือวงจรสมองให้คงอยู่ไปชั่วชีวิตนั่นเอง
นอกจากนี้ ทักษะ EF ส่วนใหญ่ต้องอาศัยความตั้งใจอย่างมาก จึงต้องใช้เวลาในการฝึกฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยับยั้งชั่งใจซึ่งต้องอาศัยสติในการควบคุมตนเองสูงเป็นพิเศษ เด็กไม่สามารถเรียนรู้และทำได้ในทันที หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ หากอาศัยเพียงบอกปากเปล่าให้รู้จักควบคุมตนเอง ก็ไม่มีผู้ใดสามารถทำได้ทันทีเช่นกัน จึงต้องมีการฝึกฝนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ซึ่งสิ่งที่ใช้ฝึกเด็กวัยเตาะแตะให้รู้จักควบคุมตนเองก็เป็นเรื่องง่าย ๆ เช่น การกินและการนอนให้เป็นเวลา เมื่อโตเข้าสู่ช่วงวัยเด็กตอนต้นก็ควรจะรู้ว่าเวลาไหนควรทำสิ่งใด สามารถช่วยเหลือตนเองได้บ้าง เช่น ติดกระดุมเสื้อ แปรงฟัน อาบน้ำ และช่วยเหลืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ หากแค่นี้ยังฝึกในวัยเด็กไม่ได้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยากที่จะรับมือกับความรับผิดชอบและปัญหาใหญ่ ๆ ได้
ชีวิตลูกติดลบเมื่อไม่มี ทักษะ EF
แล้วจะเป็นอย่างไร้าลูก ขาดทักษะ EF Amarin Baby & Kids จึงมี 9 ผลเสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่มีการ พัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับลูกน้อย ดังนี้…
1. ความจำไม่ดี เรียนรู้ไม่ได้ ทำผิดซ้ำซาก
2. หุนหันพลันแล่น อยู่นิ่งไม่ได้
3. ปรับตัวไม่ได้ อารมณ์เสียเมื่อต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม
4. อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง เศร้าเสียใจยาวนาน
5. จัดการหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองไม่ได้ ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน และข้าวของส่วนตัว
6. มีปัญหาในการเข้าสังคม
7. มีแนวโน้มเจ็บป่วยโรคจิตเภท เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ฯลฯ
8. มีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดในชีวิต เช่น เรียนไม่จบ ติดยาเสพติด หรือตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
9. เสี่ยงต่อภาวะบกพร่องทางสมอง เช่น สมาธิสั้น หรืออัลไซเมอร์
ชีวิตดี๊…ดีเมื่อ ลูกด้านพัฒนาทักษะสมอง EF
สำหรับทฤษฎี ทักษะ EF พัฒนาขึ้นเพื่อสอนเด็กให้มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับสังคมในอนาคต ซึ่งเมื่อคุณแม่ทราบแล้วว่าผลเสียจากการที่เอาแต่สอนลูกด้านการอ่านเขียนก่อนเข้าโรงเรียนแต่ไม่ ฝึกทักษะ EF จะเป็นอย่างไร …แต่ถ้าได้ฝึกทักษะ EF ให้ลูกด้วยแล้ว ก็จะมีผลดี ตามมาหลักๆ 4 ข้อด้วยกัน ดังนี้…⇓
ข้อดีของการให้ลูกพัฒนาทักษะสมอง EF
สร้างความพร้อมตลอดชีวิต
การหมั่นฝึกฝน EF ตั้งแต่เด็กคือการสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาท เพราะเส้นใยประสาทยิ่งใช้ก็ยิ่งแข็งแรง เมื่อลุกน้อยไปเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ เขาจะรู้ได้ว่าต้องตอบสนองอย่างไร เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้น
ทักษะนี้จะติดตัวไปด้วย ทำให้เขามีความคิดหลากหลาย ทั้งการคิดสร้างสรรค์ คิดยืดหยุ่น คิดแก้ไขปัญหา และไม่จนต่ออุปสรรคทั้งหลาย ทำให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ยากขึ้น พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา พร้อมสำหรับการทำงาน และพร้อมใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข เพื่อให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายในชีวิต ทักษะ EF จึงเป็นสิ่งที่พัฒนาคนได้ทั้งชีวิต
ชะลอความอยากและควบคุมความต้องการ
หรือ Delayed Gratification ซึ่งตรงตามสำนวนว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” เป็นอีกทักษะที่เกิดจากกระบวนการ EF ซึ่งเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกวัยรุ่นทุกคนมี เพราะลูกวัยรุ่นมักจะตัดสินใจตามอารมณ์หรือความต้องการ ส่งผลให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย แต่เด็กที่ได้รับ การพัฒนาทักษะ EF อย่างต่อเนื่อง จะเริ่มอดทนรอคอยและชะลอความอยากได้ ตั้งแต่ 4 ขวบ แม้จะเป็นการอดทนในช่วงเวลาสั้น ๆ ในเรื่องที่ไม่ยากนัก แต่เขาจะยิ่งทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีในช่วงวัยรุ่น
นอกจากนี้ทักษะ Delayed Gratification ยังช่วยให้เด็กเกิดความมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย เพราะสังคมปัจจุบันจะมีสิ่งที่มาล่อใจเขาตลอดเวลา การจะโฟกัสกับงานจนเสร็จทั้งที่อยากเล่น อยากอ่านการ์ตูน อยากเล่นเกม อยากดูทีวี ฯลฯ เป็นเรื่องยากมาก แต่ Delayed Gratification จะช่วยให้เขาระงับใจไว้ได้จนกว่าจะทำงานเสร็จจึงจะไปเล่นหรือทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
สร้างสำนึกที่ดีในจิตใจ
เนื่องจากทักษะ EF ทำให้เราเข้าใจตนเองรู้ว่าเราต้องการอะไร ต้องทำหน้าที่อย่างไรและเมื่อถึงจุดหนึ่งของการที่เรารู้จักตนเองจะเกิดการพัฒนาไปสู่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
เมื่อเด็กควบคุมตนเองได้ อดทน รอคอยได้ และเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เขาจะมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นดี และพัฒนาไปสู่การช่วยเหลือผู้อื่นหรือการมีจิตอาสานั่นเอง
ตอบโจทย์สังคมในอนาคต
สังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว สมัยคุณพ่อคุณแม่ยังเด็ก การสอบแข่งขันไม่ได้เข้มข้นเหมือนปัจจุบัน วิชาหรือเส้นทางให้เลือกเรียนก็มีไม่มากเท่าทุกวันนี้ จากที่เราเคยต้องการให้เด็กว่านอนสอนง่าย ยุคสมัยนี้กลับต้องการให้เด็กเรียนรู้และคิดแก้ปัญหาได้เอง การใช้คำสั่งหรือวิธีสอนแบบเดิม ๆ จึงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป
ทฤษฎีทักษะ EF จึงพัฒนาขึ้นเพื่อสอนเด็กให้มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับสังคมในอนาคต ซึ่งเด็กทุกคนต้องสามารถพึ่งพาตนเอง คิดวางแผน และแก้ไขปัญหาเองได้จึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต ทฤษฎีทักษะ EF ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสอนเด็กให้มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับสังคมในอนาคต
คุณลักษณะ 4 ประการที่ทำให้คนประสบความสำเร็จในชีวิต
1. มีความคิดสร้างสรรค์
2. มีความคิดยืดหยุ่นและประนีประนอม
3. ควบคุมตนเองได้
4. มีวินัย
หากว่าลูกน้อยมีคุณลักษณะ 4 ประการนี้ ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น สมมุติลูกจะควบคุมอารมณ์โกรธของตนเอง เด็กที่มีความคิดยืดหยุ่นก็จะพยายามไปหาอย่างอื่นที่จรรโลงใจหรือสร้างสรรค์ทำเพื่อให้หายโกรธได้ คือไม่ยึดติดกับความคิดของตนเอง หรือการทำงานร่วมกับผู้อื่น ก็ยอมรับได้ว่าไม่มีความคิดใครผิดหรือถูก คนอื่นมีสิทธิ์ที่คิดต่างได้ รวมถึงสามารถทำตามกฎระเบียบ และมีวินัยที่จะทำเป้าหมายให้บรรลุได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนใช้ทักษะสมอง EF ทั้งสิ้น
อ่านต่อ “บทความดีๆ น่าสนใจ” คลิก!
- พัฒนาทักษะสมอง EF ให้ลูกน้อย สร้างความสุขและความสำเร็จให้ลูกได้จริง
- เล่นทายปัญหากับลูก เสริมทักษะ สติปัญญารอบด้าน
- 10 ทักษะใหม่ ที่เด็กไทยควรมีติดตัว เพื่อการอยู่รอดในอนาคต
บทความจาก นิตยสาร Amarin Baby & Kids กันยายน 2559