AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลำไส้อักเสบ เพราะกินอาหารเสริมก่อนวัยอันควร

จากประสบการณ์ของคุณแม่ ที่ออกมาเล่าประสบการณ์ เมื่อลูกน้อยวัย 3 เดือนกว่า ต้องนอนโรงพยาบาลตั้งแต่ยังเล็ก คนเป็นแม่แทบใจสลาย เมื่อเห็นลูกร้องไห้ อาเจียน ท้องแข็ง เพราะคุณแม่บังคับให้ลูกรับประทานอาหารเสริม ตั้งแต่ 3 เดือน ป้อนมาเป็นเดือน จนลูกน้อย ลำไส้อักเสบ

ลำไส้อักเสบ เพราะอาหารเสริม

มาเล่าประสบการณ์ค่ะ เคยอ่านเจอแต่ในเน็ต

ไม่คิดว่าจะเกิดกับลูกชายตัวเองค่ะ น้องได้ 3 เดือนกว่า

อีก 4วันจะถึง 4 เดือนค่ะ น้องต้องนอนโรงพยาบาลตั้งแต่เล็กเลยค่ะ คนเป็นแม่แทบใจสลายเห็นน้องร้องไห้ อาเจียน ท้องแข็ง น้องไม่เคยเป็นแบบนี้เลยค่ะ เรื่องมีอยู่ว่าคุณแม่บังคับให้ป้อนซีรีแล็คน้องค่ะ ป้อนตั้งแต่ 3เดือน 2 วันค่ะ ป้อนมาจะเป็นเดือนแล้วค่ะ น้องก็กินดีนะค่ะ แต่มาวันนี้ตอน 4 โมงเย็น น้องตื่นนอน น้องร้องไห้ใหญ่เลย ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อาเจียนด้วย เพราะปกติน้องไม่เคยเป็นแบบนี้ ตื่นขึ้นมาเค้าจะยิ้มร่าเริงทุกครั้ง แต่มาครั้งนี้เค้าร้องไห้ไม่หยุดเลย ร้องประมาณ 30 นาทีได้ ตัวน้องก็ร้อน จับน้องอุ้มน้องก็อาเจียน น้องจะเกร็งตัวและบิดตัวตลอดเลยค่ะ ท้องเสียด้วย อึกระปิดกระปอยด้วยค่ะ

เห็นท่าไม่ดีแหละ เลยรีบพาน้องมาหาหมอที่คลินิกเด็ก หมอตรวจดูน้อง ถามว่าให้ลูกทานอะไร แม่เลยบอกว่า กินนมกับซีรีแล็ค เท่านั้นแหละ หมอด่าเลย รีบส่งตัวน้องมาโรงพยาบาลทันทีเลย และบอกว่าน้องได้นอนโรงบาล

เลยถามหมอว่า เค้าเป็นอะไร หมอบอกว่า (ลำไส้อักเสบ)

คนเป็นแม่ใจแทบสลาย เห็นลูกร้องไห้ เห็นลูกเจ็บ อยากเจ็บแทนลูกเลยค่ะ แต่ตอนนี้น้องดีขึ้นบ้างแล้วล่ะ อยากฝากเป็นอุทาหรณ์นะค่ะ คนที่คิดจะป้อนข้าวเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน คิดดีๆ นี่ถือว่าเป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่เลยค่ะ สงสารลูกมาก มองหน้าลูกทีไรน้ำตาไหลทุกที แบบคนเป็นแม่รู้สึกผิดขึ้นมาทันทีเลย

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “ผลเสียของการให้อาหารเสริมก่อนวัยอันควร” คลิกหน้า 2

ผลเสียของการให้อาหารเสริมก่อนวัยอันควร

การให้อาหารเสริมลูกน้อยเร็วเกินไป จะส่งผลเสียให้กับลูกน้อยได้ เพราะอาหารที่มีอยู่ในอาหารเสริมนั้นไม่เหมาะสม หรือเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนี้

1.เด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน ลำไส้ยังพัฒนาไม่เต็มที่ สามารถดูดซึมเอาโปรตีนที่มีโมเลกุลใหญ่เข้าไป แล้วกระตุ้นทำให้เกิดภูมิแพ้ต่อโปรตีนชนิดนั้นได้

2.ทารกแรกเกิดไปจนถึง 3 เดือน มีความจำกัดในการย่อยแป้ง การให้อาหารเสริมกับเด็กในวัยนี้ จะทำให้เกิดผลเสียเนื่องจากการไม่ย่อย ทำให้ทารกเป็นโรคขาดอาหาร ท้องร่วง และการดูดซึมอาหารบกพร่อง แป้งบางชนิดอาจถูกดัดแปลงให้ข้น ขุ่น เหนียว เพื่อให้ทารกรับประทานได้ง่าย แต่อาจมีสารเคมีที่เป็นอันตราย ตกค้างอยู่ในอาหารเสริม แป้งที่ถูกดัดแปลงจะทำปฏิกิริยากับเกลือแร่ ทำให้ลำไส้ดูดซึมเกลือแร่น้อยลง

3.ทารกแรกเกิดจะมีเอนไซม์ที่ย่อยไขมันต่ำ ทำให้ดูดซึมไขมันได้ไม่ดี การให้อาหารเสริมที่มีไขมันมาก หรือน้อยเกินไป จะทำให้เกิดปัญหา เช่น ทำให้เกิดการถ่ายเป็นไขมัน ถ้าได้รับมากจนเกินไป

4.ทารกที่ยังไม่สามารถชันคอได้ ระบบการกลืนจะยังทำงานไม่สัมพันธ์ดี ทำให้มีโอกาสสำลักอาหารที่ไม่ได้บดละเอียด เข้าไปในหลอดลมได้

5.อาหารเสริมที่มีพลังงานสูง จะทำให้ทารกเสี่ยงเป็นโรคอ้วน เนื่องจากมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพราะมีการเพิ่มของจำนวนเซลล์ไขมัน ทำให้มีไขมันจำนวนมาก จนกลายเป็นโรคอ้วน

6.อาหารเสริมบางชนิด มีการเติมเกลือลงไป ทำให้ทารกมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูง

7.อาหารเสริมที่มีน้ำตาล ปรุงรสให้หวาน อาจส่งผลต่อนิสัยการรับประทาน ทำให้ทารกติดหวาน และมีโอกาสฟันผุ

8.ทารกอาจย่อย และดูดซึมสารอาหารบางชนิดที่มีอยู่ในอาหารเสริมไม่ได้ ทำให้เกิดโรคท้องร่วง และภาวะดูดซึมบกพร่อง

9.อาหารเสริมบางชนิด มีคุณค่าทางโภชนาการไม่ครบถ้วน ทำให้ไตทำงานหนัก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “วิธีให้อาหารเสริมที่ถูกต้อง” คลิกหน้า 3

วิธีให้อาหารเสริมที่ถูกต้อง

คุณพ่อ คุณแม่สามารถให้อาหารเสริมกับลูกน้อยได้ เมื่อถึงวัย 6 เดือนขึ้นไป มีคำแนะนำจากเพจของคุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ เอาไว้ดังนี้

ลูกน้อยวัย 6 เดือน

เริ่มต้นด้วยการให้รับประทานข้าวกล้อง ถ้าลูกแพ้ข้าวกล้องให้เปลี่ยนเป็นข้าวขาว หุงรวมกับถั่ว แล้วค่อยๆ ใส่ผักไปทีละอย่าง ใช้ซ้ำ 1 เมนู นาน 4-5 วัน เพื่อตรวจดูว่าไม่มีอาการแพ้ ส่วนผลไม้ค่อยๆ เริ่มในเดือนถัดไป เพื่อให้ลูกน้อยได้รู้จักรสชาติของผักก่อน ป้องกันไม่ให้ลูกน้อยติดหวาน

ผักที่ใช้มีดังนี้ แครอท ไชเท้า มันเทศ มันฝรั่ง มันม่วง มันญี่ปุ่น ถั่วลันเตา ถั่วแขก ถั่วฟักยาว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วชิกพี ถั่วสปลิท ลูกเดือย ลูกบัว ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลี ตำลึง ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักโขม ปวยเล้ง บ็อคชอย มะรุม ยอดมะระ ผักหวาน ข้าวโพดอ่อน เห็ด หัวหอมใหญ่ บล็อกโครี่ กะหล่ำดอก ฟักขาว แตงกวา แตงร้าน ฟักทอง ฟักเขียว อโวคาโด เมล็ดพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดงา เมล็ดแฟล็กซ์ ควรเลือกผักออร์แกนิกที่มีสารพิษน้อย แช่น้ำยาล้างสารพิษ เช่น เบคกิ้งโซดา หรือ น้ำเกลือ หรือ น้ำยาแช่ผัก

ข้าวกล้องและถั่วควรแช่น้ำทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จึงค่อยต้มด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำซุปผัก ไม่แนะนำน้ำต้มกระดูกหมู เพราะจะมีไขมันจากสัตว์ ห้ามปรุงด้วยซีอิ๊ว น้ำปลา น้ำตาล น้ำผึ่ง เพราะจะทำให้ลูกติดรสชาติ ไม่ดีต่อสุขภาพ ใส่เกลือไอโอดีนได้เล็กน้อย เพื่อให้มีไอโอดีน ไม่ใช้เพื่อรสชาติ

ภาชนะควรล้างให้สะอาด ด้วยน้ำยาทำความสะอาดขวดนมและน้ำเปล่า

บดอาหารให้ละเอียดโดยการปั่น หรือครูดผ่านกระชอน วันละ 1 มื้อ หัดให้ลูกดื่มน้ำจากถ้วย หรือหลอดดูด หรือช้อน วันแรกป้อนเพียง 1 ช้อนโต๊ะแล้วตามด้วยนม และค่อยๆ เพิ่มวันละ 1 ช้อนโต๊ะ ถ้าลูกไม่อยากกินอย่าบังคับ ให้หยุดป้อนแล้วค่อยลองใหม่ ให้น้ำไม่เกิน 5-8 ช้อนโต๊ะ

ถ้ายังไม่ทราบว่าลูกแพ้อาหารหรือไม่ ให้อาหารเสริมลูกน้อยเป็นมื้อเช้า หรือมื้อกลางวัน จะได้สังเกตอาการผิดปกติได้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “วิธีให้อาหารเสริมที่ถูกต้อง” คลิกหน้า 4

ลูกน้อยวัย 7 เดือน

เริ่มใส่เนื้อสัตว์ลงไป ได้แก่ ไก่ หมู ปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ปลาสวาย ปลาคัง ปลาตะเพียน (ระวังก้าง) ตับไก่ ตับหมู ไข่แดง (ต้องต้มให้สุกเต็มที่ เพราะถ้าเป็นยางมะตูม หรือไข่ลวก หรือไข่ที่ตอกลงไปในโจ๊ก ซึ่งสุกไม่เต็มที่ เชื้อโรคจะไม่ถูกทำลาย จะทำให้ถ่ายเป็นมูกเลือดได้) ปริมาณที่ใส่ต่ออาหาร 1 มื้อ คือ 1 ช้อนโต๊ะพูน ไม่ควรมากกว่านี้ เพราะไตจะทำงานหนัก บดให้ละเอียด ของใหม่ใช้ทีละอย่าง ใช้ซ้ำ 4-5 วัน เพื่อตรวจสอบอาการแพ้ ส่วนไข่ขาว และอาหารทะเลให้เริ่มหลังจากอายุ 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย หากเริ่มเร็วเกินไป อาจไปกระตุ้นทำให้เกิดปัญหาแพ้ภายหลังได้

เริ่มผลไม้ปั่นละเอียด และเติมน้ำลงไปด้วย จะได้ไม่ฝืดคอ และไม่หวานเกินไป เป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ ปริมาณ 3-4 ช้อนโต๊ะ เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ แคนตาลูป ชมพู่ แตงไทย แตงญี่ปุ่น ลูกพลับ ลูกพีช ลูกแพร์ พุทรา กล้วย มะม่วงสุก มะละกอสุก (หากกินผักผลไม้ สีเหลือง สีส้มมากๆ อาจทำให้ผิวมีสีเหลือง ไม่อันตราย กินต่อไปได้ ถ้าหยุดกินแล้ว กว่าจะหายเหลือง จะใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน) ส่วนผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว กีวี สัปปะรด มะเขือเทศ บลูเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ ให้เริ่มหลัง 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย

ไม่แนะนำให้ขนมทุกชนิดใน 2 ขวบแรก แม้แต่ขนมปัง หรือ ที่เขาว่าเป็นขนมสำหรับเด็กฝึกถือกินเองก็ตาม เพราะจะทำให้ลูกติดใจรสชาติ ไม่ชอบกินข้าว ฟันผุ เป็นโรคอ้วน และขนมปังก็มีสารอาหารน้อยกว่าข้าว จึงไม่ควรให้รู้จัก ถ้าลูกเป็นเด็กมีปัญหากินข้าวยาก นอกจากนี้ขนมปังเป็นอาหารแปรรูป มีการปรุงแต่งใส่รสชาติ สารกันบูด นมเนยชีส และตัวแป้งสาลีก็ถือเป็นอาหารก่อภูมิแพ้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “วิธีให้อาหารเสริมที่ถูกต้อง” คลิกหน้า 5

ลูกน้อยวัย 8-9 เดือน

ให้เพิ่มข้าวเป็น สองมื้อ เริ่มป้อนอาหารเนื้อหยาบขึ้น คือ ไม่บดละเอียด แต่ตุ๋นให้นุ่ม เวลาป้อนให้ใช้หลังช้อนบด แต่ต้องดูด้วยว่า ลูกสามารถกินได้หรือไม่ ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนได้ ไม่ติดคอ ไม่คายออกมา ไม่อมเอาไว้ในปากโดยไม่กลืน แสดงว่ากินได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้กลับไปบดละเอียดเหมือนเดิม แต่ทำให้ข้นมากขึ้นเล็กน้อย แล้วเดือนหน้าค่อยลองป้อนใหม่

ลูกน้อยวัย 9-10 เดือน

ฝึกให้ลูกตักอาหารกินเองตั้งแต่ 9 เดือน ไม่ต้องกลัวเลอะเทอะ โดยนั่งในเก้าอี้เด็ก และนั่งรับประทานอาหารพร้อมกับผู้ใหญ่ จะได้เลียนแบบท่าทาง ไม่ควรกินข้าวไปเล่นไป หรือดูทีวี หรือเดินตามป้อนอาหารทั่วบ้าน เพราะจะทำให้ติดนิสัย ไม่มีสมาธิในการรับประทานอาหาร อมข้าว และใช้เวลานาน ไม่แนะนำผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น เนย มาการีน ชีส หรือนมวัว หรือนมผง ลงไปในอาหาร เพราะเป็นสารก่อภูมิแพ้

ลูกน้อยวัย 11-12 เดือน

ให้เริ่มมื้อที่สาม ทำอาหารแบบไม่ต้องตุ๋น เพียงแค่ต้ม แล้วดูว่าลูกรับประทานได้หรือไม่ เด็กหลายคนเริ่มรับประทานข้าวสวย และข้าวเหนียวได้ตั้งแต่ 1 ขวบ ปรุงรสอ่อนๆ และดูว่าไม่มีปัญหาท้องผูก เพราะกินอาหารหยาบมากขึ้น

เครดิต: นมแม่, พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

อ่านเพิ่มเติม คลิก!!

กล้วยบด รับประทานก่อน 6 เดือน เสี่ยงติดเชื้อ

สุดเศร้า ทารกวัย 1 เดือนเศษ ตายเพราะป้อน “กล้วยบด”

“มื้อแรกของลูก” อาหารเสริมตามวัย เริ่มอย่างไรจึงจะดี?

Save

Save