AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อาหารเสริมทารก เริ่มอย่างไร ให้ลูกกินเก่งแถมกินง่าย!

อาหารเสริมทารก

ช่วงเวลาที่คุณแม่รอคอยมาถึงแล้วค่ะ ที่เมื่อลูกเข้าสู่วัยเริ่มอาหารเสริมที่หลังจากทานนมแม่มาอย่างเดียว 6 เดือนแล้ว ก็ถึงเวาป้อน อาหารเสริมทารก ให้ลูกกันแล้วค่ะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids ได้รับคำถามจากแม่ๆ เยอะมากว่าจะเริ่มให้ลูกกินอะไรก่อนดี? เอาเป็นว่ามาดูหลักการเริ่มป้อนอาหารเสริมให้ลูกวัยทารก และวิธีเสริมให้ลูกมีพฤติกรรมการกินที่ดีกันค่ะ

 

อาหารเสริมทารก เริ่มอย่างไร?

มีคำถามจากคุณแม่ถามมาเกี่ยวกับการให้ อาหารเสริมทารก ดังนี้

Q: “ตอนนี้น้องวัย 5 เดือนค่ะ กำลังเตรียมจะเริ่มอาหารตามวัย ไปพบข้อมูลว่าให้เริ่มจากข้าวบด แต่บางข้อมูลก็ว่าให้เริ่ม จากกล้วยน้ำว้าขูด ควรเริ่มจากอะไร และเริ่มกินอย่างไรดีคะ?

การเริ่มอาหารเสริมจะให้หลังลูกอายุได้ 6 เดือนไปแล้ว เพราะในช่วงแรกเกิด – 6 เดือน น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับ ลูก น้ำนมแม่เต็มไปด้วยคุณค่าสารอาหารและสารภูมิต้านทานโรคที่ดีต่อสุขภาพลูกอีกด้วยค่ะ

ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาหารหลักคือ นมแม่ ข้าวคืออาหารเสริม แต่เมื่อลูกอายุหลัง 1 ปี การทานข้าวคืออาหารหลัก และการทานนมคืออาหารเสริมค่ะ

การให้อาหารตามวัยกับลูกน้อยก็เพราะเขาโตขึ้น ร่างกายต้องการสารอาหารและพลังงานมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่ม ให้อาหารเสริมลูกราวอายุหลัง 6 เดือนขึ้นไป (องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า สามารถให้อาหารเสริมได้เมื่อทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป)

ส่วนที่คุณแม่ถามมาว่าเริ่มด้วยข้าวบด หรือกล้วยน้ำว้าสุก มีคำตอบให้ตามนี้ค่ะ

“ชนิดอาหารเสริมทารกที่เริ่มให้ลูกนั้นไม่จำกัดค่ะ แต่ควรเริ่มด้วยข้าวสวยบดเพราะเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย แต่มีหลักที่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจนั่นคือ ควรเริ่มอาหารเสริมตามวัยลูก ด้วยอาหารที่ย่อยง่ายและควรเริ่มให้ลูกกินอาหารทีละอย่าง” รศ.ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านต่อ การป้อนอาหารเสริม ควรให้ป้อนทีละอย่าง หรือไม่? คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อาหารเสริมทารก ควร “ให้ทีละอย่าง” คืออย่างไร?

ระยะแรกเริ่มจาก 1 มื้อ โดยอาจเป็นมื้อกลางวัน เช่น เป็นข้าวบด 1 มื้อ 1 สัปดาห์ จากนั้นก็ค่อยปรับเปลี่ยนเป็นอาหารชนิดอื่น การให้ลูกน้อยได้รู้จักอาหารทีละชนิดก็เพื่อสังเกตระบบย่อยระบบขับถ่าย หรือผิวหนังของลูกว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร เช่น จากการแพ้อาหารบางชนิด เป็นต้น

เมื่อดูแล้วว่าร่างกายลูกรับกล้วยหรือข้าวได้แล้ว จึงค่อยเพิ่มชนิดอาหารไปพร้อมกับกล้วยขูดหรือข้าวบดทีละชนิด และสังเกตความเปลี่ยนแปลงอีก เช่น ข้าวบดกับตับจะเติมน้ำซุปก็ได้ ข้าวบดกับไข่แดง หรือข้าวบดกับเต้าหู้หลอด ต่อเมื่อลูกเริ่มกินอาหารได้ดี จึงมีการเติมผักเพิ่มเติม เช่น ตำลึง ฟักทอง ผักหวานเสริมเข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้ครบ 5 หมู่

ตัวอย่างเมนู อาหารเสริมทารก สำหรับอายุ 6-8 เดือน

Credit Photo : คู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก

ข้าวบดไข่แดง ตำลึง

ข้าวสวย 4 ช้อนกินข้าว
น้ำแกงจืด 10 ช้อนกินข้าว
ไข่แดง ½ ฟอง
นำวัตถุดิบทั้งหมดบดให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน เท่านี้ก็ป้อนเสริม 1 มื้อให้ลูกได้แล้วค่ะ

ตัวอย่างเมนู อาหารเสริมทารก สำหรับอายุ 9-11 เดือน

Credit Photo : คู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก

ข้าวต้มปลา แครอท

ข้าวสวย 4 ช้อนกินข้าว
น้ำแกงจืด 10 ช้อนกินข้าว
เนื้อปลาทะเลที่ไม่มีก้างบด 1 ½ ช้อนกินข้าว
แครอทต้มหั่นเต๋าเล็กๆ  2 ช้อนกินข้าว
นำวัตถุดิบทั้งหมดมาปรุงผสมเข้าด้วยกัน เท่านี้ก็ได้อาหารเสริมป้อนให้ลูกได้แล้วค่ะ

ตัวอย่างเมนู อาหารเสริมทารก สำหรับอายุ 12-23 เดือน

Credit Photo : คู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก

ข้าวผัดไข่ แกงจืดผักหวาน ฟักทอง

ข้าวสวย 5 ช้อนกินข้าว
น้ำมันพืช 1 ช้อนชา
ไข่ไก่ 1/3  ฟอง
น้ำแกงจืด 10 ช้อนกินข้าว
เนื้อไก่ 1 ช้อนกินข้าว
ตับไก่ ¼ ช้อนกินข้าว
ฟักทอง 2 ช้อนกินข้าว
ผักหวาน 2 ช้อนกินข้าว
ให้นำเอาข้าวสวยผัดกับไข่ โดยไม่ต้องปรุงรสเพิ่มเติมนะคะ จากนั้นให้ทำแกงจืดตามส่วนผสมที่ให้ไว้ทั้หมดค่ะ เท่านี้ก็ได้อาหารไว้ป้อนลูกแล้วค่ะ อาหารของลูกวัย 1 ปีขึ้นไปจะเป็นการให้อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ แล้วนมจะเป็นการให้กินเสริมแทนค่ะ

อ่านต่อ 4 ข้อควรทำ เริ่มถูก จุดเริ่มต้นนิสัยกินดี คลิกหน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

4 ข้อควรทำ เริ่มถูก จุดเริ่มต้นนิสัย “กินดี”

1. เนื้ออาหารเสริมค่อนข้างละเอียด ด้วยวิธีบด แต่ไม่ปั่น

แม้จะเป็นทารกแต่ลูกน้อยก็มีความพร้อมกินอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวที่เนื้ออาหารค่อนข้างละเอียด ด้วยวิธีการบด เพื่อให้กลืนได้ง่าย และลูกจะได้ฝึกทักษะการเคี้ยวและการกลืน ไม่ควรใช้วิธีปั่นอาหารเสริมทารก เพราะอาหารจะละเอียดเกินไป ลูกไม่ได้ฝึกการเคี้ยว การกลืน จะส่งผลให้เมื่อโตขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกกินอาหารยากขึ้น

2. คอยปรับเนื้ออาหารให้เหมาะสม

พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตว่าลูกสามารถเคี้ยวและกลืนได้ดีขึ้นหรือยัง และค่อยๆ ปรับเนื้ออาหารหยาบขึ้น เป็นชิ้นเล็กๆ เนื้ออาหารที่เหมาะสมจะช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับอาหาร ได้สัมผัสรสอาหารมากขึ้น รู้สึกว่าอาหารนี้กินแล้วอร่อย กินแล้วสนุก และมีทัศนคติที่ดีกับอาหาร ส่วนเด็กที่กินแต่อาหารเนื้อละเอียดมาก ทำให้เขาไม่ได้รับสัมผัสและรสชาติของอาหาร เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กินยากเมื่อโตขึ้น

3. ค่อยๆ เพิ่มจำนวนมื้ออาหารเสริม

ตามช่วงวัย เช่น

4. จำกัดเวลาการป้อน

ควรอยู่ที่ประมาณ 15-20 นาที แต่ไม่ควรเกิน 30 นาที และเมื่ออายุได้ราว 9 เดือนลูกน้อยจะเริ่มใช้นิ้วหยิบอาหารได้ ควรเปิดโอกาสให้ลูกหยิบอาหารกินเอง หรือมีช้อนส้อมให้ลูกถือ เป็นการเริ่มฝึกกินด้วยตัวเองค่ะ

การเริ่มอาหารเสริมที่ถูกต้องเหมาะสมกับช่วงวัย จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้นก่อนเริ่มอาหารเสริมให้ลูก คุณแม่อย่าลืมศึกษาหาข้อมูลอาหารสำหรับเด็กเตรียมกันไว้ด้วยนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย 

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ลูกไม่กินผัก วิธีสอนลูกกินผัก ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง
ลูกเตาะแตะกินน้อย แก้อย่างไรดี?
มื้อแรกของลูกอาหารเสริมตามวัย เริ่มอย่างไรจึงจะดี?


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
รศ.ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
และกองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
เมนูเด็กจาก หนังสือคู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก