ลูกอาเจียน

ระวัง! ลูกอาเจียน เสี่ยงเป็น 6 โรคร้าย

event
ลูกอาเจียน
ลูกอาเจียน

ลูกอาเจียน หรือ ลูกอ๊วก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะในการอาเจียนแต่ละครั้ง อาจเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่อลูกน้อยที่คุณคาดไม่ถึง

เชื่อได้เลยว่าคุณพ่อคุณแม่ และเด็กๆ แทบจะทุกคนคงเคยผ่านอาการคลื่นไส้อาเจียนมาบ้างไม่มากก็น้อย และคงทราบดีว่า การอาเจียนก็มีประโยชน์เช่นกัน คือ เมื่อได้คายของเก่าออกไปบ้าง ก็ทำให้รู้สึกโล่งสบายท้อง สบายกายสบายใจขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ที่เตือนให้รู้ว่า ตอนนี้ร่างกายของเรามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้รู้ตัว และสามารถป้องกัน และรักษาก่อนที่จะเกิดการลุกลามของโรคนั้นๆ ขึ้น

ระวัง ลูกอาเจียน ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงเป็น โรคร้าย

อาเจียน เป็นอาการอย่างหนึ่งที่พบร่วมในโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคของทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ลำไส้อุดตัน โรคของระบบประสาท เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำคั่งในสมอง หรืออาจเกิดจากรับประทานยาบางอย่างก็ได้

ทั้งนี้อาจเกิดได้โดยไม่มีโรคทางกายใดๆ กรณีเช่นนี้ก็พบได้บ่อย โดยเฉพาะในทารก หรือเด็กเล็กที่ดื่มนมมากไป แล้วไม่ได้อุ้มเด็กพาดบ่าทำให้เรอมากพอ หรือคุณแม่อาจจะให้นมไม่ถูกวิธี เช่นให้นอนดูดนม แทนที่จะอุ้มให้ดูดนม เป็นต้น

แต่ถ้าอาเจียนแบบรุนแรงไม่รู้จักหยุดหย่อนก็อาจจะมีผลทำให้เกิดการฉีกขาด ของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร มีเลือดออกมาก และยังทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกาย เกิดภาวะขาดน้ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลของเกลือแร่ภายในร่างกายดีไม่ดีถ้าอาเจียนจนเกิดการ สำลักเศษอาหารเข้าไปในหลอดลมอาจทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้

ลูกอาเจียน

อาการเมื่อลูกอาเจียน และท้องเสีย

อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางอย่างอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งในรายที่มีอาการอาเจียนหรือท้องเสียรุนแรงควรนำลูกมาพบแพทย์เสมอ เนื่องจากการอาเจียนนั้นอาจเป็นเพียงอาการนำของโรคอื่นๆ ที่อาจไม่ใช่จากโรคของระบบทางเดินอาหารก็ได้ เช่น อาการที่เด็กซึมลง ปวดหัว และมีอาเจียน อาจเกิดจากการที่มีความดันสูงในสมอง

ถ้าลูกมีอาการคอแข็ง และไข้สูงด้วย ให้นึกถึงการติดเชื้อของสมอง ไข้สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ หรืออาจเกิดจากการมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ หรือเส้นโลหิตแตกในสมอง ฯลฯ

ทั้งนี้หากลูกน้อยมีอาการปวดท้องร่วมกับการอาเจียนค่อนข้างมาก หรือจนบางครั้งเห็นสิ่งที่อาเจียนออกมาเป็นน้ำสีเหลืองๆ ซึ่งเป็นสีเหลืองของน้ำดีที่ออกมาจากถุงน้ำดี แสดงว่าอาการค่อนข้างรุนแรง อาจต้องนึกถึงเรื่องไส้ติ่งอักเสบ ภาวะลำไส้กลืนกัน หรือภาวะทางศัลยกรรมอื่นๆ ที่ต้องการการผ่าตัด

ลูกอาเจียน

ขั้นตอนการอาเจียน

ขั้นตอนการอาเจียนจะมีลักษณะประกอบด้วยอาการ 3 อย่าง

  • อาการแรกเป็นความรู้สึกคลื่นไส้ เรียกว่า nausea ความรู้สึกคลื่นไส้นี้มักจะมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย
  • ต่อมาร่างกายจะพยายามทำให้เกิดความดันที่เป็นลบภายในในช่องอก โดยกลไกทำให้กล่องเสียงปิด กล้ามเนื้อที่ใช้หายใจหดตัว และกระบังลมเลื่อนลงมาในช่องท้อง เรียกอาการดังกล่าวนี้ว่า retching
  • หลังจากนั้นจึงจะมีอาการอาเจียนพุ่งออกมาจากทางเดินอาหาร เรียกขั้นตอนสุดท้ายนี้ว่า emesis

ปกติอาหารที่กินเข้าไป จะเคลื่อนที่ไปตามทางเดินอาหาร ถูกย่อยและดูดซึมสารอาหารไปใช้ประโยชน์ แก่ร่างกาย บางส่วนก็จะถูกขับออก แต่ในภาวะที่เกิด “อาเจียน” แทนที่อาหารจะเคลื่อนที่ลงไปเป็นขั้นเป็นตอน กลับถูกผลักดันให้ไหลย้อนกลับจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหาร และขย้อนไหลออกทางปาก

ซึ่งส่วนใหญ่ก่อนที่จะมีอาการอาเจียนเกิดขึ้นนั้น จะมีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน ซึ่งจะทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวลดลง แต่ถ้าอาการคลื่นไส้ที่รุนแรงจะพบว่ามีอาการเหงื่อออก ผิวหนังซีด ตัวเย็น น้ำลายไหล และบางครั้งอาจทำให้ชีพจรช้าลงและความดันเลือดต่ำได้ หลังจากคลื่นไส้แล้ว ก็จะมีอาการขย้อนตามมา เป็นผลจากการที่มีการหายใจเข้า-ออกถี่ๆ เป็นจังหวะ เศษอาหารเกิดการไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหาร

ลูกอาเจียน

สาเหตุที่ลูกอาเจียน

1. สาเหตุที่ทำให้อาเจียนส่วนใหญ่เกิดจากโรค หรือความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร การอุดตันของกระเพาะ ลำไส้ หรือมีการอักเสบ ของทางเดินอาหาร

2. ภาวะการติดเชื้อในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย โรคติดเชื้อเฉียบพลันในเด็ก

3. โรคของสมองและระบบประสาทที่กระตุ้นศูนย์ควบคุมการอาเจียนโดยตรง อาการอาเจียนจากสมอง มักมีอาเจียนพุ่ง

4. สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ สาเหตุทางกายอื่นๆ เช่น ไข้สูง ไซนัสอักเสบ คออักเสบ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รับประทานอาหารมากเกินไป

5. สำหรับปัญหาทางศัลยกรรมที่ควรคิดถึง ได้แก่ โรคไส้ติ่งอักเสบ

6. ในกรณีที่อาเจียนติดต่อกันรุนแรงควรนึกถึงภาวะความดันในสมองสูง และโรคไมเกรนด้วยเสมอ ในผู้ป่วยที่มีอาเจียนพุ่ง โดยเฉพาะเวลาหลังตื่นนอน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ชัก กระหม่อมโป่งตึง หัวโต ให้คิดถึงโรคทางสมอง

หรืออาจเกิดจากยา สารพิษ หรืออาหารบางชนิดก็ทำให้อาเจียนได้ เช่น ยาสลบ ยารักษามะเร็ง

อาการเมื่อลูกอาเจียน

  1. คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลักษณะอาเจียนที่ออกมา ว่าเป็นเศษอาหาร เสมหะ สีอะไร อาเจียนแบบพุ่ง หรือไม่พุ่ง เนื่องจากลักษณะอาเจียนต่างๆ จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้
  2. เมื่ออาเจียนออกมาแล้วมักจะสบายขึ้น เมื่อลูกอาเจียนจึงควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และให้การรักษาต่อไป
  3. เมื่อเด็กมีอาการอาเจียน โดยเฉพาะถ้ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรพาเด็กไปปรึกษาแพทย์ไม่ควรซื้อยาให้รับประทานเองเด็ดขาด เพราะยาแก้อาเจียน ถ้ารับประทานเกินขนาด อาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้โรคบางอย่าง ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันการหรือถูกวิธี ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

อ่านต่อ >> “ลักษณะอาการขาดน้ำหลังลูกอาเจียนที่ควรรีบพาลูกไปหาหมอ” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up