AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิตามิน – อาหารเสริม ของดีที่เพิ่มอันตราย แก่ลูกน้อย

ให้ลูกกินอาหารเสริม

เมื่อลูกน้อยผ่านพ้นวัยขวบปีแรก จะมีพัฒนาการต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในเรื่องอาหารการกินของลูกก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เพื่อให้เหมาะกับร่างกายของเขา โดยอาหารหลักที่ลูกควรจะได้รับก็ต้องให้ครบทั้ง 3 มื้อ และครบทั้ง 5หมู่ ส่วนนมที่เคยคุ้นก็จะแปรสภาพเป็นเพียง อาหารเสริม 

ซึ่ง เด็กๆ บางคน ก็เจริญอาหาร กินได้กินดี ไม่มีปัญหา แต่ก้ยังมีพ่อแม่หลายคน ที่ยังคงกังวลใจกับพฤติกรรมการกินของลูกรักที่กินน้อยบ้าง ไม่กินบ้าง หรือเลือกกินบ้าง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านมองหาตัวช่วยจำพวก ‘วิตามิน- อาหารเสริม’ ด้วยหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกรักเจริญอาหารมากขึ้น และทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นกับร่างกายอย่างครบถ้วน แต่คุณพ่อคุณแม่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า วิตามิน หรืออาหารเสริมที่ป้อนให้ลูกนั้นคือ สิ่งที่ร่างกายเขาต้องการจริงๆ

วิตามิน – อาหารเสริม คืออะไร

ให้ลูกกินอาหารเสริม

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้งรู้ก่อนว่า “วิตามิน – อาหารเสริม” ไม่ใช่ยา แต่ วิตามิน คือสารอาหารและสารอินทรีย์ที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย แม้ว่าจะทำหน้าที่ช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการทำงานร่างกาย เพิ่มภูมิป้องกัน ลดไขมันความดันต่างๆ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ได้บอกถึง ความหมายของ วิตามิน กับเรื่องข้อ“จริง-เท็จ” ไว้ดังนี้

“วิตามิน จากธรรมชาติ คือ สารอาหารที่ได้จากอาหาร ผัก ผลไม้ ซึ่งจะไม่มีอันตรายใด ๆ ไม่มีคำว่าเกิน เพราะร่างกายสามารถขับออกได้ตามธรามชาติ แต่ถ้าเราได้รับวิตามินจากอาหารเสริม ไม่ว่าจะเข้าสู่ร่างกายทางใด กินหรือฉีด ถ้ามากเกินไป มันอาจจะอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งนั้นสง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ชี้แจงรายละเอียดในประเด็นนี้ ก่อนอธิบายถึงสาเหตุที่มาของข่าวในโลกออนไลน์ว่าถ้ากินวิตามินมากๆ อาจทำให้ตายเร็ว

“เหตุผลที่มีข่าวการเข้าใจผิดอย่างนี้ออกมา ก็เพราะคนปัจจุบันนี้ ไม่ได้รับวิตามินจากธรรมชาติ แต่ชอบนิยมซื้อวิตามินในรูปของอาหารเสริมมากิน พอกินแล้วก็กินในจำนวนที่มากจนเกินไป มันก็มีอันตราย”

“ทั้งนี้อยากให้เข้าใจว่าการรับประทานวิตามินที่ถูกต้อง คือต้องอยู่ภายใต้การสั่งการยินยอมจากแพทย์ คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการทานเอง หรือให้ลูกทาน นั้นไม่สามารถรู้เองได้ว่าต้องได้รับวิตามิน หรืออาหารเสริม อื่นๆ หรือไม่ จำเป็นต้องไปตรวจ ไม่ใช่ว่าเราสังเกตเห็นตัวเองเหนื่อยง่าย เพลียง่าย หรือหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกรักเจริญอาหารมากขึ้น จึงต้องเติมวิตามินเสริมให้ร่างกาย แต่ความจริงคือ ไม่ใช่ มันผิด คุณต้องให้หมอเจาะเลือดตรวจก่อนถึงจะทราบได้ว่าลูก หรือตัวคุณพ่อคุณแม่เองนั้น ขาดหรือไม่ขาดอะไรอย่างไรบ้าง

ซึ่งนักโภชนาการ ได้ส่งเสริมให้รับวิตามินจากอาหารธรรมชาติที่ได้จากผักและผลไม้ เพราะแค่เรารับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ใน 1 มื้อ ใน 1 วัน ทุกมื้ออาหารคุณต้องมีผัก แล้วอาหารว่างก็ต้องมีผลไม้ เพียงเท่านี้ลูกของคุณก็จะได้วิตามินครบถ้วนแน่นอน เพราะวิตามินมันจะอยู่ในผักและผลไม้มากที่สุด ลูกก็จะได้วิตามินอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ดังนั้น ถ้ารับประทานอย่างนี้ต่อเนื่อง ก็ไม่จำเป็นเลยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหา วิตามิน หรืออาหารเสริมให้กับลูกน้อย

ยกเว้นผู้ที่มีความบกพร่องในการรับสารอาหารหรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น

1.หญิงตั้งครรภ์ เพราะหญิงตั้งครรภ์ต้องการวิตามินบางตัว เช่น โฟเลท ไอโอดีน ธาตุเหล็ก สูงกว่าปกติ สูงกว่าคนธรรมดา ซึ่งแน่นอนว่าอาหารจากธรรมชาตินั้นไม่พอต่อร่างกาย ก็เลยต้องรับจากอาหารเสริมเข้าไป

2.ผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะขาดสารอาหารหรือรับประทานสารอาหารไม่เพียงพอ เพราะระบบการย่อยและดูดซึมไม่ดี

3.เด็กเล็ก ที่ไม่เจริญอาหาร หรือได้รีบน้ำนมคุณแม่ไม่เพียงพอพอ อันนี้คุณหมดเขาก็จะสั่งวิตามินเสริมให้ทาน ก็ต้องอยู่ในการควบคุมการดูแลของแพทย์ ไปซื้อมากินเองสุมสี่สุมห้า ไม่ได้

ทั้งนี้นอกจากวิตามินในรูปแบบอาหารเสริม หากรับประทานในปริมาณมากๆ ติดต่อกันจะเป็นอันตรายเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตแล้ว จากคำโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องการรับประทานวิตามินแล้วจะสวยงามตามราคาที่สูงริบยังไม่เป็นความจริงอีกด้วย

อ่านต่อ >> “ความจำเป็นของวิตามินเสริมในเด็ก” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อาหารเสริมวิตามินสำหรับลูกน้อย

โดยปกติแล้วการให้วิตามินเสริมของแพทย์จะพิจารณาในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความผิดปกติของกระบวนการสร้างและสลาย (Metabolism) พบได้ตั้งแต่แรกเกิด และมักจะขาดวิตามินหลายตัว โรคตับเรื้อรังที่เกิดจากการขาดวิตามินเค หรือผู้ป่วยเด็กที่ผ่าตัดลำไส้อาจพบว่ามีการขาดวิตามินบี 12 และดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง

หรือการรับประทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาที่ใช้ในการรักษาวัณโรคในเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กขาดวิตามินบี 6 ได้ เป็นต้น แต่ในกรณีที่เด็กมีสุขภาพร่างกายปกติ การรับประทานวิตามินเสริมก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่อย่างใด เพราะนอกจากร่างกายจะขับวิตามินส่วนเกินออกมาในรูปแบบของปัสสาวะแล้ว การรับประทานวิตามินบางชนิดในปริมาณที่มากจนเกินไป จะทำให้เกิดการสะสมในร่างกายและเกิดอาการข้างเคียงได้เช่นกัน

อีกทั้งจากข้อมูลในปี 2012 พบว่า ในประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคขาดสารอาหารน้อยลงในทุกๆ ปี โดยพบว่ามีเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี มีความชุกของการขาดสารอาหารเพียงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปี 1987 ที่พบร้อยละ 17 แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กไทยทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ด้านของการรับประทนอาหารที่จำเป็นและเพียงพอ

ดังนั้น การรับประทานวิตามินเสริมจึงขึ้นอยู่กับสุขภาพและความจำเป็นของร่างกายเด็กแต่ละคนเป็นสำคัญ ทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับความเห็นแพทย์ร่วมด้วย ซึ่งบางครั้งแพทย์จะถูกพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กขอให้สั่งวิตามิน และแร่ธาตุให้ลูกโดยไม่จำเป็น แพทย์จึงควรตระหนักเสมอว่า วิตามินและแร่ธาตุเหล่านั้นมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติอยู่แล้ว

เด็กแต่ละช่วงวัยต้องการวิตามินอะไรบ้าง

ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การที่แพทย์จะเริ่มให้วิตามินกับเด็ก แพทย์ต้องประเมินภาวะทางโภชนาการของทารกและเด็กก่อน โดยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย BMI โดยเอาน้ำหนัก (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หายด้วย ส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง) ได้ค่ามาตรฐาน ดังนี้

ค่าดัชนีมวลกายสำหรับเด็กอายุ 1-7 ปี

โดยเด็กที่มีเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐาน แพทย์อาจให้วิตามินเสริมเพื่อใช้ในการบำรุงทดแทนสารอาหารที่ร่างกายขาดแคลนไป รวมถึงกรณีเด็กที่ผอมอย่างรุนแรง (Severs Malnutrition) ที่มักจะมีการขาดวิตามินและแร่ธาตุเกือบทุกตัว แพทย์ก็จะทำการให้วิตามินเสริมเพื่อบำรุงสุขภาพร่างกายแก่เด็กเช่นกัน

1. การรับประทานวิตามินเสริมในทารกแรกเกิดยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นนมแม่ และนมผงดัดแปลงสำหรับทารกนั้น มีวิตามินและแร่ธาตุเพียงพอต่อความต้องการของทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนอยู่แล้ว

เมื่อทารกอายุครบ 6 เดือนเป็นต้นไป ก็จะเริ่มรับประทานอาหารเสริมร่วมกับนมแม่ หรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารกได้ ซึ่งควรมีวิตามินซี วิตามินดี โฟลิกแอซิด และธาตุเหล็ก ให้เพียงพอต่อความต้องการในช่วงวัยนั้นด้วย รวมถึงการฝึกทักษะ เช่น ฟัง พูด อ่าน เขียน หรือการฝึกให้เด็กออกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน ยังเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ได้เป็นอย่างดี

2. เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ในเด็กที่แข็งแรงดี หากมีการรับประทานอาหารได้ดี มักไม่ค่อยพบการขาดวิตามินและแร่ธาตุ แต่ยังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสขาดธาตุเหล็กสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กจนถึงช่วงอายุ 10 ปี

โดยอาจตรวจพบว่ามีอาการซีด เหลือง เจาะเลือดพบจำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าเกณฑ์ตามอายุนั้นๆ อาจพบได้ในเด็กที่รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ และชอบดื่มแต่นมเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้ควรเสริมวิตามินซี และธาตุเหล็ก ซึ่งวิตามินซีพบได้มากใน ฝรั่ง กีวี มะละกอสุก บร็อกโคลี่และผักโขม เป็นต้น ส่วนธาตุเหล็กพบได้ในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเล เช่น ตับหมู และอาจพบในพืช เช่น ผักกูด ถั่วฝักยาว เห็ดฟาง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

วิตามิน หรืออาหารเสริม ช่วยให้เด็กรับประทานอาหารได้มากขึ้นหรือไม่

การที่เด็กไม่ยอมรับประทานอาหารมักเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่พบว่าเกิดจากการขาดวิตามินและแร่ธาตุเป็นหลัก หากแต่เกิดจากพฤติกรรมของเด็ก การเลี้ยงดูของพ่อแม่ การตามใจให้นมก่อนการรับประทานอาหาร ทำให้เด็กอิ่มและไม่อยากรับประทานข้าว รวมถึงรสชาติอาหารที่ไม่ถูกปาก ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างพฤติกรรมรับประทานอาหารยาก

ส่งผลให้เกิดอาการขาดวิตามินและแร่ธาตุตามมาได้ในที่สุด ซึ่งการขาดวิตามินและแร่ธาตุในบางกรณี เช่น การขาดธาตุเหล็กและสังกะสี จนทำให้เด็กมีอาการเบื่ออาหาร ลิ้นเลี่ยน การรับรสชาติที่ลิ้นทำงานได้ไม่ดี กลายเป็นรับประทานอาหารไม่อร่อย หากแพทย์ตรวจเลือดพบว่ามีอาการซีด และระดับสังกะสีในร่างกายต่ำ อาจมีการเสริมธาตุเหล็กและสังกะสีให้ในรูปแบบของยา พร้อมวัดระดับให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

กรณีเช่นนี้อาจทำให้อาการเบื่ออาหารจางหายไปได้ โดยเฉพาะการฝึกให้เด็กปรับเปลี่ยนวินัยการรับประทานจากพ่อแม่เป็นสำคัญ เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอของร่างกาย การรับประทานให้หลากหลาย การออกกำลังกายให้สมวัย เหล่านี้ก็เพียงพอต่อความต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารเสริมจากภายนอกแต่อย่างใด

รับประทานวิตามินเสริมเพื่อบรรเทาโรคได้หรือไม่?

พบว่าการเสริมวิตามินในเด็กสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้บางกรณี เช่น การให้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็กทีป่วยเป็นลำไส้อักเสบ ถ่ายเหลว จะช่วยให้ระยะเวลาความเจ็บป่วยนั้นสั้นลง และลดความรุนแรงของโรคลงได้ แต่อะไรที่มากไปอาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีกลับมาได้เสมอ วิตามินที่ควรให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ได้แก่

• วิตามินเอ เนื่องจากทารกและเด็กรับประทานมากเกินไป จะทำให้ร่างกายเกิดการสะสมและอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Pseudotumor Cerebri) และชัก เป็นต้น

• เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) เมื่อรับประทานเข้าไปมันจะถูกเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ เท่าที่ร่างกายต้องการ ที่เหลือจะยังคงเป็นเบต้าแคโรทีนลอยอยู่ในกระแสโลหิต ดังนั้น ถ้ารับประทานเบต้าแคโรทีนมากจนเกินไป จะทำให้ผิวหนังมีสีเหลืองแต่ตาจะไม่เหลือง ซึ่งยังไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เมื่อลดปริมาณที่รับประทานลงอาการผิวหนังสีเหลืองจะหายไป เบต้าแคโรทีนมักจะอยู่ในอาหารที่มาจากพืช ส่วนวิตามินเอมักจะอยู่ในอาหารที่มาจากสัตว์

และปัจจุบันพบว่าเด็กไทยยังได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ ดังนั้น การเสริมดื่มนมเพิ่มขึ้น (นมวัว 1 ซีซี มีแคลเซียม 1.2 มิลลิกรัม) หรือเสริมด้วยยาเม็ดแคลเซียม จะช่วยให้เด็กมีมวลกระดูกสะสมเพิ่มขึ้นได้ เมื่อเด็กอายุประมาณ 13-14 ปี จะทำให้เด็กมีโอกาสสูงขึ้นได้ง่าย เพราะมีมวลกระดูกสะสมไว้มากเพียงพอ อย่างไรก็ตามการดื่มนมดีกว่าการรับประทานแคลเซียมเม็ด เนื่องจากได้สารอาหารอื่นๆ จากนมอย่างครบถ้วนกว่าการรับประทานแคลเซียมเม็ดเพียงอย่างเดียว

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

อาหารเสริมทารก เริ่มอย่างไร ให้ลูกกินเก่งแถมกินง่าย!

Kid safety – อาหารเสริม โปรตีนเม็ด ควรให้ลูกวัยรุ่นกินหรือเปล่า?


บทความโดย : กองบรรณาธิการเว็บไซต์ Amarin Baby & Kids

ภาพโดย : Shutterstock

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.manager.co.th , child.haijai.com