ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท

ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท หรือไม่ ทำไมไม่ควรอุ้มเด็กนั่งในรถระหว่างเดินทาง

account_circle
event
ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท
ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท

จำเป็นไหม? ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท แม่อุ้มขึ้นรถเลยได้ไหม อันตรายหรือเปล่า

ไขข้อข้องใจทำไม ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท

การให้ทารกแรกเกิดหรือเด็กเล็ก นั่งคาร์ซีทตั้งแต่ยังเล็กเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความปลอดภัยของทารกเอง เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน คาร์ซีทจะช่วยลดอันตรายต่อทารกได้ แต่แม้จะมีการรณรงค์ใช้คาร์ซีทกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีบางความเชื่อที่ว่า ให้แม่อุ้มไว้ในรถก็ปลอดภัยได้เหมือนกัน โดยคุณพ่อท่านหนึ่งได้โพสต์กระทู้พันทิป หัวข้อ “เด็กแรกเกิดไม่ควรนั่งคาร์ซีท เพราะไม่ปลอดภัย ให้แม่อุ้มปลอดภัยกว่า / พยาบาลบอกแบบนี้ เครียดมาก” เนื้อหาว่า

สวัสดีครับ พ่อ ๆ แม่ ๆ Pantip ผมมีเรื่องอัดอั้นตันใจอยากมาเล่าให้ฟังครับ พึ่งไปรับลูกกลับบ้านมาครับจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง น้องผ่าคลอดตามเกณฑ์ ไม่ได้คลอดก่อนกำหนด น้องแข็งแรงดีครับ ก่อนพาน้องกลับ ผมได้เตรียมคาร์ซีทแบบกระเช้า รุ่นสำหรับเด็กอ่อน (0-9 เดือน) เอาไว้ ซื้อมา 3 หมื่นกว่าบาทครับ (เป็นเซ็ตพร้อมรถเข็น)

ทุกอย่างราบรื่นดีมากครับ จนกระทั่งถึงเวลากลับ ผมจะเอาน้องลงคาร์ซีท (ที่ประกอบกับรถเข็นไว้แล้ว) แต่พยาบาลไม่ยอมครับ เขาบอกว่าขอลงไปส่งน้องที่รถ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเป็นระเบียบของโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ ที่ต้องไปส่งคนไข้ให้ถึงหน้าประตู ก็ไม่ได้ติดใจอะไรในจุดนี้ครับ เป็นบริการที่ดี ที่เอาใจใส่ลูกค้านะครับ พออะไรเรียบร้อยแล้ว พยาบาลของเนิร์สเซอรีก็เข็นแม่และน้องลงมาส่ง (รถเข็นของโรงพยาบาล สำหรับเด็กเล็ก เป็นที่นอนแบบเข็นได้)

พอมาถึงหน้าประตู ผมก็จะเตรียมน้องลงคาร์ซีท ก็เกิดเรื่องครับ พยาบาลเนิร์สเซอรีไม่ยอมให้ผมเอาน้องลงคาร์ซีทครับ ผมก็บอกว่า “ให้น้องนั่งคาร์ซีทดีกว่าครับ อันนี้เป็นรุ่นสำหรับเด็กแรกเกิด ปลอดภัยกว่าเวลาอยู่บนรถ” คราวนี้เวรเปลก็เสริมขึ้นมาว่า “อย่าเลยครับ น้องยังเล็กอยู่เลย” แม่ยายก็ไม่ยอมให้ผมเอาลูกลงคาร์ซีท เพราะคิดว่ามันอันตรายกับเด็ก ผมไม่ยอม ผมจะเอาลูกลงคาร์ซีท เพราะอยากให้ลูกได้รับการป้องกันเหตุไม่คาดฝันอย่างดีที่สุด ก็ถกเถียงกันอยู่เล็กน้อย

พยาบาลก็พูดขึ้นมาว่า “คุณพ่อคะน้องยังเล็กมากอย่าพึ่งให้น้องนั่งคาร์ซีทเลยมันไม่ปลอดภัย ให้คุณแม่อุ้มไปเถอะนะคะปลอดภัยกว่าค่ะ ให้คุณแม่อุ้มน้องเถอะนะคะ”

ผมนี่เงิบไปพักนึงเลย ทุกคนในที่นั้นก็พยายามทัดทานผม พอได้สติผมก็เริ่มเสียงแข็งใส่ทุกคนในที่นั้นว่า “ไม่ได้ครับ แล้วถ้าเกิดรถชนล่ะ” แม่ยายก็บอกให้ผมขับรถดี ๆ สิ พอถึงตรงนี้ ภรรยาผมก็ร้องไห้ ผมจำต้องหยุดทุกอย่างแล้วเดินไปเอารถ ผมพยายามติดต่อหมอเด็กทางโทรศัพท์ในระหว่างเดินไปที่รถ แต่เนื่องจากคุณหมอขึ้นเยี่ยมคนไข้ที่วอร์ด จึงมีพยาบาลรับเรื่องจะให้คุณหมอโทรกลับ สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ แล้วขับรถมารับลูกขึ้นรถทั้งอย่างนั้น

พอถึงหน้าประตู ภรรยาก็อุ้มลูกขึ้นมานั่งเบาะหน้า ผมจึงไล่ให้ภรรยาย้ายไปนั่งเบาะหลัง แล้วชี้ป้ายเตือนที่ติดตรงแผ่นบังแดดให้ดูว่าเด็กเล็กห้ามมาอยู่เบาะหน้า ระหว่างทางที่ขับกลับบ้าน ผมเครียดไปหมด กังวลไปทุกสิ่งอย่าง แล้วน้ำตามันก็ไหลออกมา มันเป็นความรู้สึกที่เจ็บใจมาก ว่าลูกเราแค่คนเดียวเรายังไม่มีปัญญาต่อสู้เพื่อมอบความปลอดภัยในการเดินทางให้กับเขาได้ วันนั้นผมขับรถกลับบ้านด้วยความเร็วไม่ถึง 40 คลานกลับไปจนถึงบ้าน

ผมโกรธมาก ๆ ครับ ผมอยากจะถามพยาบาลคนนั้นมาก ว่าคุณเป็นถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กแรกเกิด ทำไมคุณถึงกล้าพูดอะไรแบบนั้นออกมา คุณไม่ศีกษา ไม่เรียนรู้หรอว่า สถิติสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เด็กตายบนท้องถนน เพราะให้แม่อุ้ม/ไม่นั่งคาร์ซีท คุณพูดแบบนั้นออกมาได้ยังไง ใช่ครับ อุบัติเหตุมันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ แต่ถ้ามันเกิดล่ะ?

เราถึงบ้านกันอย่างปลอดภัยครับ แต่พอถึงบ้าน ผมต้องมาเจอปัญหาครอบครัว เถียงกันเรื่องนี้กับแม่ยายและภรรยา ผมผิดมากไหม ที่ปกป้องลูกไม่ได้ นึกขึ้นมาทีไร ผมยังน้ำตาไหลอยู่เลย โชคดีที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้ามันเกิดล่ะ แค่คิดผมก็จะขาดใจตายแล้ว

ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท
ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท

เป็นความโชคดีของครอบครัว ที่ขับรถกลับบ้านมาได้อย่างปลอดภัย แต่การอุ้มเด็กระหว่างนั่งรถยนต์นั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพราะถึงแม้เราจะระมัดระวังในการขับรถมากแค่ไหน แต่ถ้ารถคันอื่นบนท้องถนนขับมาเร็ว หรือเกิดข้อผิดพลาด อุบัติเหตุก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

เด็กแรกเกิดและทารกต้องนั่งคาร์ซีททุกครั้ง

สำหรับการให้ทารกแรกเกิดนั่งคาร์ซีทนั้น ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือ หมอวิน เจ้าของเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ ได้ออกมายืนยันว่า คาร์ซีทเป็นอุปกรณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยชีวิตเด็กยามที่เกิดอุบัติเหตุได้จริง ช่วยเซฟคอของเด็กเล็กได้เป็นอย่างดีเมื่อมีแรงกระชากจากการลดความเร็วอย่างกะทันหันตอนรถชน และที่สำคัญที่สุดคือ คาร์ซีทช่วยยึดไม่ให้เด็กกระเด็นออกจากตัวรถ คาร์ซีทจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีและต้องใช้อย่างเคร่งครัดในประเทศที่พัฒนาแล้ว และคนที่ใช้คาร์ซีทก็คงรู้ว่ามันดี สำหรับลูกและสำหรับคนขับรถที่ไม่ต้องกังวลตอนขับไปไหนมาไหน

3 เรื่องสำคัญ เมื่อจับลูกนั่งคาร์ซีท

เพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ ยังได้ย้ำถึง 3 เรื่องที่สำคัญ ดังนี้

  1. Back is Best หันหลังจนอายุ 2 ขวบ หรือจนลูกขาล้นนั่งหันหลังไม่ได้ หรือทำตามอายุที่ระบุไว้ในคู่มือของคาร์ซีทรุ่นที่ใช้
  2. รัดสายเข็มขัดให้กระชับเสมอ ศีรษะของลูกหันซ้ายขวาได้ ไม่มีปัญหากับคอลูก แต่ถ้าขณะรถขับ ลูกหัวกระเด้งไปกับคาร์ซีทจะอันตรายกับคอเด็ก ย้ำ! หัวต้องไม่กระเด้ง หากเด้งแสดงว่าเข็มขัดรัดไม่กระชับ
  3. นั่งคาร์ซีทจนกระทั่งนั่งไม่ได้ แล้วเปลี่ยนมาใช้ Booster Seat เพื่อให้เด็กนั่งสูงขึ้นมาคาดเข็มขัดนิรภัยได้ และต้องนั่งที่เบาะหลังจะปลอดภัยที่สุดไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งอายุ 9 ขวบหรือไม่ต้องใช้ Booster Seat แล้ว จึงคาดเข็มขัดนิรภัยเหมือนผู้ใหญ่ และอาจย้ายมานั่งหน้าได้ เพราะเด็กเล็กถ้าเกิด Airbag กางขึ้นมาจะอุดและกระแทกให้เด็กเล็กเกิดอันตรายได้ อย่าเอาลูกมานั่งข้างคนขับโดยเด็ดขาด
ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท
ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท

วิธีนั่งและติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกต้อง

สำหรับวิธีติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกต้อง พญ.ภณิดา แสวงศักดิ์ ศูนย์สุขภาพเด็ก รพ.พญาไท 3 แนะนำดังนี้

  • ทารกแรกเกิด – 2 ปี

การติดตั้งคาร์ซีทต้องติดตั้งบนที่นั่งด้านหลังและหันหน้าเด็กไปทางด้านหลังรถ สำหรับรถกระบะหรือปิกอัพที่ไม่มีที่นั่งด้านหลัง ให้ติดตั้งด้านหน้าข้างคนขับ แต่ห้ามใช้ถุงลมนิรภัย หากถุงลมกางออกขณะเกิดอุบัติเหตุจะทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ห้ามทิ้งเด็กไว้ในรถคนเดียว เพราะอาจเกิดอันตรายจากความร้อนภายในรถได้

  • วัย 2 – 5 ปี
  1. ใช้ที่นั่งนิรภัยที่เบาะหลัง หันหน้าไปทางด้านหลังรถหากตัวเด็กไม่สูงเกินที่นั่งนิรภัย หรือน้ำหนักไม่เกินตามที่คู่มือคาร์ซีทกำหนดไว้
  2. หากเด็กตัวโตให้เปลี่ยนเป็นที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็ก หันหน้าไปทางด้านหน้ารถตามปกติ (Forward Facing Child Seat) แต่ยังคงใช้ที่เบาะหลังเท่านั้น
  • 5 ปีขึ้นไป
  1. เด็กอายุ 4-7 ปี ใช้ที่นั่งสำหรับเด็กเล็กต่อไปจนตัวสูงหรือน้ำหนักเกิน จากนั้นเปลี่ยนมาใช้ที่นั่งเสริม (Booster Seat) ที่นั่งยกระดับตัวเด็กให้สูงขึ้น เพื่อใช้เข็มขัดนิรภัยรถยนต์ แต่ยังต้องนั่งเบาะหลัง
  2. ที่นั่งเสริม (Booster Seat) ควรใช้จนกว่าสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี หรือมีอายุมากกว่า 9 ปีขึ้นไป หรือสูงกว่า 140 ซม.

ข้อควรระวัง

อย่างไรก็ดี เพจ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว เตือนว่า ไม่ควรให้เด็กใช้ Car seat แทนที่นอน เพราะเสี่ยงต่ออันตราย และย้ำพ่อแม่ที่ใช้คาร์ซีทให้ระมัดระวังเพิ่มขึ้น เช่น

ห้ามใช้คาร์ซีทให้ลูกนอนหลับเป็นเวลานาน ๆ โดยปล่อยลูกหลับทิ้งไว้บนคาร์ซีทในรถยนต์ เพราะทารกที่หลับจะเสี่ยงต่อการหยุดหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากศีรษะโต ยังช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ดีพอ เมื่อขาดอากาศหายใจก็มีแรงดิ้นหรือขยับได้น้อย และรูปแบบทางเดินหายใจก็ยังไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ เมื่อที่นั่งคาร์ซีทยกหัวสูงขึ้น พอทารกหลับคอก็พับอุดทางเดินหายใจได้ เวลาคอพับหน้าจะไปซุกกับขอบข้างกันกระแทก อุดจมูกได้เช่นกัน

ส่วนคาร์ซีทที่มีแผ่นโฟมกันคอพับก็มีโอกาสที่เด็กจะหันหน้าด้านข้างแล้วไปอุดจมูก เพราะคาร์ซีทออกแบบมาเพื่อห่อหุ้มตัวเด็กให้ดภัยจากแรงเหวี่ยงแรงกระแทก จึงจำกัดการเคลื่อนไหวของเด็ก ทำให้ขยับเปลี่ยนท่าหายใจได้ไม่ดี หากต้องเดินทางและใช้คาร์ซีทให้ลูกนั่งระหว่างเดินทาง ไม่ควรให้เด็กหลับในคาร์ซีทนาน ๆ ควรตรวจเช็คเด็กเป็นระยะทุก 30-60 นาที และไม่ควรนำคาร์ซีทมาใช้แทนเปลให้เด็กนอน

ทารกทุกคนควรนั่งคาร์ซีทระหว่างเดินทาง เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยเสมอ เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แม้จะระวังมากแค่ไหนก็ยังอาจเกิดขึ้นได้

อ้างอิงข้อมูล : pantipfacebook.com/SpoiledPediatrician, facebook.com/HmxMaew และ phyathai

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

8 วิธี “กระตุ้นสมอง” ทารกแรกเกิด ยิ่งทำลูกยิ่งฉลาด

โรค G6PD คือ อะไร อันตรายกับลูกแค่ไหน พ่อแม่ควรรู้!

ผื่นแพ้นมวัว จากโรคแพ้นมวัว ในทารกหรือเด็กเล็ก อาการเป็นอย่างไร

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up