อาหารทารก สำเร็จรูปต่าง ๆ ที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป หากสังเกตดี ๆ จะพบว่ามีน้ำตาลเป็นส่วนผสมในปริมาณที่สูงเกินไป องค์การอนามัยโลกจึงออกมาเตือนว่าอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้
WHO เตือน! อาหารทารก มีน้ำตาลสูงเกินไป เสี่ยงหลายโรคร้าย
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ ซึ่งระบุว่า อาหารทารก ตามท้องตลาดทั่วไปมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ข้อมูลดังกล่าวมาจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกราว 8,000 รายการ ที่วางจำหน่ายระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2017 ถึงมกราคม 2018 โดยสำนักงานภูมิภาคยุโรปขององค์การฯ
องค์การฯ ออกมาเตือนว่าระดับน้ำตาลที่สูงมากเกินไปในผลิตภัณฑ์อาหารเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพ โดยเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักเกินและฟันผุ รวมถึงก่อให้เกิดนิสัยชื่นชอบการรับประทานอาหารรสหวานจัดในอนาคต รายงานระบุว่าราวครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่ตรวจสอบ พบแคลอรี่มากกว่าร้อยละ 30 มาจากน้ำตาลทั้งหมด และประมาณ 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์เติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานอื่น ๆ เพิ่มอีก
การตรวจสอบดังกล่าวที่ครอบคลุมร้านค้ามากกว่า 500 แห่งในออสเตรีย บัลแกเรีย อิสราเอล และฮังการีนั้นยังพบว่าฉลากของผลิตภัณฑ์กว่าร้อยละ 60 อ้างว่าผลิตภัณฑ์เหมาะสมกับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภค องค์การฯ แนะนำว่าทารกควรบริโภคน้ำนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต
รายงานยังแนะนำให้แต่ละประเทศออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการควบคุมการบริโภคน้ำตาลปริมาณสูง ห้ามไม่ให้เติมน้ำตาลและสารให้ความหวานในอาหารทารก ยุติการส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์อื่น ๆ แทนน้ำนมแม่ รวมทั้งติดฉลากบนลูกอม เครื่องดื่มรสหวาน น้ำผลไม้ และนมข้นหวาน เพื่อระบุว่าไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ
ขณะเดียวกันองค์การฯ ชี้แนะว่าเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี ควรบริโภคอาหารปรุงเองที่บ้านที่อุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วน ซูซานนา จาแคป ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคยุโรปขององค์การฯ กล่าวว่าโภชนาการที่ดีในวัยทารกและวัยเด็กยังคงเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเติบโตและพัฒนาการของเด็กที่เหมาะสมและเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคต
ขอบคุณข่าวจาก : สำนักข่าวซินหัว
การฝึกหรือการจะปลูกฝังลักษณะนิสัย รวมไปถึงพฤติกรรมต่าง ๆ สามารถทำได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ลักษณะนิสัยการกินอาหารก็เช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกทานอาหารที่มีรสหวานเป็นประจำ ลูกก็จะไม่ชอบหรือคุ้นชินอาหารในรสชาติอื่น ๆ เพราะแน่นอนว่าอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม นั้นอร่อยกว่าอาหารที่มีรสชาติจืด ดังนั้น มาดูกันค่ะ ว่าหากลูกติดรสชาติหวานและทานอาหารมากเกินไป ไม่ว่าจะจากการกินขนมหรือ อาหารทารก ที่มีรสชาติหวานเกินไป อาจก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง (อ่านต่อหน้า 2)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ลูกติดหวานจาก อาหารทารก ที่มีรสหวานเกินไป เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง? และเทคนิคสอนลูกให้เลิกติดหวาน
ลูกติดหวานจาก อาหารทารก ที่มีรสหวานเกินไป เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง?
การที่ลูกติดหวาน บางทีอาจจะดูเหมือนไม่มีอะไรมาก เพราะลูกยังเล็ก ต้องการใช้พลังงานสูง แต่หากลูกยังติดหวานไปเรื่อย ๆ จนโตล่ะ? การที่ลูกมีพฤติกรรมการทานอาหารที่ผิด ๆ สามารถส่งผลให้ลูกเสี่ยงต่อโรคต่อไปนี้ได้เช่นกัน
- โรคเบาหวาน
เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลเข้ากระแสเลือดในปริมาณมากจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และแน่นอนว่าถ้าหากเราไม่สามารถหยุดทานหวานได้ ก็จะทำให้เกิดการต้านอินซูลินอย่างรุนแรง และนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานได้ และทราบหรือไม่คะว่าเด็กก็เป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน (อ่าน แม่แชร์! ลูกเกือบช็อคเพราะ เบาหวานในเด็ก)
2. โรคอ้วน
เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง แบบที่อินซูลินก็ช่วยอะไรไม่ได้ น้ำตาลจะมีการเปลี่ยนรูปไปเป็นไขมัน และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้กลายเป็นโรคอ้วน โรคที่เป็นจุดกำเนิดของโรคร้ายต่าง ๆ ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นโรคอ้วนและตามมาด้วยโรคอื่นๆ อีกมากมาย ก็ไม่ควรกินหวานมากเกินไปอย่างเด็ดขาด
(อ่าน โรคอ้วนในเด็ก พฤติกรรมแบบไหนทำลูกเสี่ยงอ้วน!!)
3. โรคหัวใจ
การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้ระบบสูบฉีดโลหิตของร่างกายมีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดคือการเพิ่มคอเลสเตอรอลเลว (LDL) เพิ่มไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงทำให้อินซูลินมีการหลั่งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจแบบโดยตรง (อ่าน 6 ผักก้นครัว! สกัดกั้น “โรคหัวใจ” ให้ครอบครัวแบบขั้นเทพ)
4. โรคกระดูกพรุน/กระดูกเปราะ
การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด ร่างกายจึงต้องทำการปรับสมดุลนี้ด้วยการไปดึงแร่ธาตุต่าง ๆ มาใช้งานไม่เว้นแม้กระทั่งแคลเซียม จึงส่งผลให้เกิดปัญหากระดูกพรุนตามมา
นอกจากโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการติดหวานแล้ว ลูกยังเสี่ยงต่อการฟันผุได้อีกด้วย ดังนั้น เรามาหาวิธีเปลี่ยนลูกให้เลิกติดหวานกันดีกว่าค่ะ
วิธีสอนลูกให้เลิกติดหวาน
แพทย์หญิงอนุตรา โพธิกำจร กุมารแพทย์โรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แนะนำว่า วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือ ต้องปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มีคุณภาพ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เอง เพราะการที่เด็กติดรสชาติหวาน มัน เค็ม หรือติดการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องของครอบครัว หลายบ้านเมื่อลูกโตขึ้นพอที่จะกินอะไรได้ คุณพ่อคุณแม่มักจะให้ลองชิมน้ำหวาน ขนม ไอศกรีม พอเด็กได้ลองก็กลายเป็นชอบและติดในที่สุด หรือบางบ้านผู้ใหญ่ในครอบครัวรับประทานฟาสต์ฟู้ดและขนมเป็นประจำอยู่แล้ว ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เด็กจะอยากรับประทานของเหล่านั้นด้วย ฉะนั้นการที่เขาจะติดรสอะไรหรือจะเลือกกินอาหารแบบไหน ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูมาเป็นหลัก
สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หากไม่อยากให้ลูกติดรสชาติที่ปรุงแต่งจนเยอะเกินไป แนะนำให้ดูแลเรื่องอาหารสำหรับเจ้าตัวเล็ก ดังนี้
- อายุแรกเกิดถึง 6 เดือน ให้กินแต่นมแม่ ในกรณีที่นมแม่ไม่พอหรือกินนมแม่ไม่ได้ ให้กินนมผงสำหรับทารกแรกเกิดแทน ซึ่งในนมแม่และนมผงประเภทนี้มีปริมาณสารอาหารที่เพียงพอสำหรับเด็ก ปริมาณของโซเดียม แคลอรี ไขมัน และโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกายกำลังดี
- อายุ 6 – 9 เดือน ให้กิน อาหารทารก เสริมวันละมื้อควบคู่กับนม โดยเน้นอาหารให้ครบ 5 หมู่ และต้องไม่ปรุงรสใดๆ เน้นรสธรรมชาติ
- 9 – 12 เดือน เพิ่ม อาหารทารก เสริมเป็น 2 มื้อ และกินผลไม้เป็นของว่างได้
- 1 ขวบ ให้กินอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น เหมือนผู้ใหญ่ แต่ไม่ปรุงมาก เน้นรสธรรมชาติ ส่วนนมถือว่าเป็นของว่างช่วงสาย บ่าย และก่อนนอน
สามารถจัดสัดส่วนเพื่อให้ลูกได้รับปริมาณสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตง่ายๆ คือ
- เน้นผักใบเขียว 40%
- เสริมด้วยผลไม้ แป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต 25%
- โปรตีนคุณภาพดี คือโปรตีนเนื้อๆ ไม่เอาหนังไม่เอามัน 25%
- และผลไม้ 10%
ที่สำคัญมากคือ อย่าส่งเสริมให้เด็กรับประทานโปรตีนแปรรูป พวกไส้กรอก หมูแฮม เบค่อน กุนเชียง ปูอัด หมูหยอง เพราะมีสารเคมีค่อนข้างเยอะ รวมถึงมีโซเดียมและไขมันอิ่มตัวสูง
ส่วนเด็กบ้านไหนที่ลิ้นติดรสหวาน รสเค็ม หรือรสอื่นๆ ไปแล้ว วิธีเปลี่ยนลิ้นลูกทำได้โดยเลิกปล่อยให้เด็กรับประทานอาหารจั๊งค์ฟู้ด ของหวาน น้ำหวาน และขนมกรุบกรอบ แล้วจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวของเขาให้มีแต่ของดีๆ มีประโยชน์ วิธีนี้ไม่ใช่การบังคับลูกให้รับประทานผักหรือทานหวานน้อยลง แต่เป็นการปรับสิ่งแวดล้อมโดยรวม เช่น ถ้าไม่อยากให้ลูกรับประทานไอศกรีม ก็ไม่ควรมีไอศกรีมอยู่ในบ้าน เพื่อไม่ให้เด็กนึกถึง ส่วนเวลาไปเที่ยวก็เลือกพาลูกไปเดินสวนสาธารณะ ปั่นจักรยานแทน แทนการพาไปในสถานที่ที่มีขนมหวานจำหน่าย นี่คือการปรับสภาพแวดล้อมและปรับพฤติกรรมทั้งครอบครัว ซึ่งจะช่วยตัดปัญหาเรื่องการกินและโรคภัยต่าง ๆ ได้
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
15 ชนิด อาหารที่ทารกควรหลีกเลี่ยง
Step by Step ทารกแต่ละช่วงวัยกินอะไร อย่างไร
คัมภีร์ “ตารางอาหารตามวัย” สำหรับลูกน้อยในวัยขวบปีแรก
ขอบคุณข้อมูลจาก : แพทย์หญิงอนุตรา โพธิกำจร กุมารแพทย์โรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, Honestdocs
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่