เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสำลักอาหาร ลูกท้องอืดจากอาหารไม่ย่อย ลูกคายอาหารหรือไม่ชอบทานอาหาร ทีมแม่ ABK จึงมีเคล็ดลับในการป้อน อาหารเสริมทารก มื้อแรกมาฝากแม่ ๆ ค่ะ
อาหารเสริมทารก เริ่มด้วยอาหารแบบไหน? ทานอย่างไร?
การให้ลูกทาน อาหารเสริมทารก มื้อแรกนอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่รอคอยแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะต้องคอยสังเกตอาการต่าง ๆ หลังจากเริ่มทาน อาหารเสริมทารก เข้าไป เพราะแม้ว่าลูกจะมีวัยที่พร้อมทาน อาหารเสริมทารก แล้ว และลูกมีสัญญาณว่าลูกพร้อมทานแล้วก็ตาม แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถรู้ว่าภายในร่างกายของลูก โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร ของลูกนั้นพร้อมหรือยัง และนอกจากความพร้อมแล้ว ยังต้องคอยระวังเรื่องการแพ้อาหารอีกด้วย
อาหารเสริมทารก มื้อแรก ควรเป็นอาหารแบบไหน?
ควรเริ่มป้อน อาหารเสริมทารก ด้วยข้าวกล้อง (บางคนแพ้ข้าวกล้อง กินแล้วมีผื่นขึ้น หรือ ท้องผูก ก็ให้เปลี่ยนเป็นข้าวขัดขาว) แล้วค่อย ๆ ใส่ผักทีละอย่าง ใช้ซ้ำหนึ่งเมนู นาน 4-5 วัน เพื่อการตรวจสอบว่าไม่มีปัญหาแพ้ โดยผักที่ใช้มีดังนี้ แครอท ไชเท้า มันเทศ มันฝรั่ง มันม่วง มันญี่ปุ่น ถั่วลันเตา ถั่วแขก ถั่วฟักยาว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วชิกพี ถั่วสปลิท ลูกเดือย ลูกบัว ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลี ตำลึง ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักโขม ปวยเล้ง บ็อคชอย มะรุม ยอดมะระ ผักหวาน ข้าวโพดอ่อน เห็ด หัวหอมใหญ่ บล็อกโครี่ กะหล่ำดอก ฟักขาว แตงกวา แตงร้าน ฟักทอง ฟักเขียว อโวคาโด เมล็ดพืช (เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดงา เมล็ดแฟล็กซ์ซึ่งมีโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของดีเอชเอ ช่วยบำรุงสมองและสายตา)
การที่ต้องให้ลูกทานอาหารซ้ำ ๆ กัน 4-5 วันต่อ 1 เมนู นั่นเป็นเพราะลูกอาจมีอาการแพ้อาหารสะสมได้ คือยังไม่มีอาการแพ้อาหารทันทีหลังจากทานข้าว แต่จะค่อย ๆ มีอาการแพ้อาหารในวันถัด ๆ ไป โดยอาการแพ้อาหารมีดังนี้
- มีผื่นขึ้น
- ตาบวม
- ปากบวม
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- ปวดท้อง
- ถ่ายเป็นมูกเลือด
- งอแง
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะเบื่อรสชาติของอาหารชนิดนั้น ๆ นะคะ เพราะแค่ทาน อาหารเสริมทารก ก็เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับลูกน้อยแล้วค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีทำอาหารเสริมทารก และ 7 เคล็ดลับ ป้อนอาหารเสริมมื้อแรกให้สำเร็จ
วิธีทำ อาหารเสริมทารก
ขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบและเตรียม อาหารเสริมทารก
- ควรเลือกผักออร์แกนิกจะได้สารพิษน้อยหน่อย ควรแช่น้ำยาล้างสารพิษ เช่น เบคกิ้งโซดา หรือ น้ำเกลือ หรือ น้ำยาแช่ผัก
- ข้าวกล้องมักจะสุกช้า จึงควรแช่น้ำทิ้งไว้ 24 ชม.จึงค่อยต้มให้สุกด้วยน้ำเปล่า หรือ น้ำซุปผัก
- เนื้อสัตว์ ควรเริ่มป้อนในเดือนที่ 7 ควรเริ่มที่ ไก่ หมู ปลาน้ำจืด (เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ปลาสวาย ปลาคัง ปลาตะเพียน) ตับไก่ ตับหมู ไข่แดง (สุกเต็มที่เท่านั้น)
- ไม่ควรเริ่มป้อนอาหารทะเลและไข่ขาวก่อน 1 ขวบ เพราะเสี่ยงต่อการแพ้อาหารได้ง่าย และหากเริ่มเร็วเกินไป อาจไปกระตุ้นทำให้เกิดปัญหาแพ้ภายหลังได้
- ผลไม้และน้ำผลไม้ ควรเริ่มในเดือนที่ 7 เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกติดหวานก่อนรู้จักรสชาติของผัก ผลไม้ที่แนะนำ คือ แอปเปิ้ล สาลี่ แคนตาลูป ชมพู่ แตงไทย แตงญี่ปุ่น ลูกพลับ ลูกพีช ลูกแพร์ พุทรา กล้วย มะม่วงสุก มะละกอสุก
- สำหรับผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว กีวี สัปปะรด มะเขือเทศ บลูเบอรี่ สตรอเบอรี่ ให้เริ่มหลัง 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย
ขั้นตอนการปรุง อาหารเสริมทารก
- ต้มข้าวกล้อง (หรือข้าวขาว) กับน้ำซุปหรือน้ำเปล่า โดยน้ำซุปที่ใช้ปรุงอาหาร ไม่แนะนำให้ใช้น้ำต้มกระดูกหมู เพราะจะได้ไขมันจากสัตว์เข้าไปด้วย
- เมื่อข้าวสุกแล้วใส่ผักที่ล้างสะอาดแล้วลงไป
- ใส่เนื้อสัตว์ลงไป
- ปรุงรสชาติเล็กน้อย โดยไม่ควรปรุงรสด้วยซี่อิ๊ว น้ำปลา น้ำตาล น้ำผึ้ง เพราะจะทำให้ลูกติดรสชาติ ไม่ดีกับสุขภาพ แต่ให้ใส่เกลือไอโอดีนเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ขาดสารไอโอดีน ไม่ใช่ใส่เพื่อให้มีรสชาติ
เมื่ออาหารที่ต้องการให้ลูกทานสุกและนิ่มกำลังดีแล้ว ควรบดอาหารให้ละเอียดหรือหยาบตามวัยของลูกดังนี้
- อายุ 6-7 เดือน ให้บดอาหารให้ละเอียด โดยปั่นละเอียด หรือครูดผ่านกระชอน ป้อนวันละมื้อเดียว หัดให้ลูกกินน้ำจากถ้วยหรือหลอดดูด หรือ ช้อนตักน้ำป้อนเวลากินข้าวแล้วฝืดคอ ในวันแรก เริ่มป้อนเพียง 1 ชต. แล้วตามด้วยนมแม่จนอิ่ม ค่อย ๆ เพิ่มวันละ 1 ชต. แต่ถ้าลูกไม่อยากกิน อย่าบังคับ ให้หยุดป้อน แล้วค่อยให้ใหม่วันต่อมา จนกินได้ครบมื้อ ปริมาณ 5-8 ชต. นมมื้อนั้น
- เดือนที่ 7 เริ่มผลไม้ปั่นละเอียดและเติมน้ำลงไปด้วย จะได้ไม่ฝืดคอและไม่หวานเกินไป เป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ ปริมาณ 3-4 ชต.
- เดือนที่ 8 – 9 ให้เพิ่มข้าวเป็น สองมื้อ เริ่มป้อนอาหารเนื้อหยาบขึ้น คือ ไม่บดละเอียด แต่ตุ๋นให้นุ่ม เวลาป้อนให้ใช้หลังช้อนบด แต่ต้องดูด้วยว่า ลูกสามารถกินได้หรือไม่ ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนได้ ไม่ติดคอ ไม่คายออกมา ไม่อมเอาไว้ในปากโดยไม่กลืน แสดงว่ากินได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้กลับไปบดละเอียดเหมือนเดิม แต่ทำให้ข้นมากขึ้นเล็กน้อย แล้วเดือนหน้าค่อยลองป้อนใหม่
- อายุ 11-12 เดือน ป้อนอาหารได้ 3 มื้อ และเริ่มทำอาหารแบบไม่ต้องตุ๋น เพียงแค่ต้ม แล้วดูว่าลูกกินได้หรือไม่ เด็กหลายคนเริ่มกินข้าวสวย และข้าวเหนียวได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เริ่มปรุงรสอ่อน ๆ ได้ แต่ต้องดูด้วยว่า ไม่มีปัญหาท้องผูก หรือ ถ่ายออกมาเป็นอาหารไม่ย่อย เนื่องจากการกินอาหารที่หยาบมากขึ้น
7 เคล็ดลับ ป้อนอาหารเสริมมื้อแรกให้สำเร็จ
- ให้ลูกนั่งบนเก้าอี้สำหรับทานอาหารแทนการอุ้มป้อน เพื่อให้ลูกรู้สึกแปลกใหม่และรับรู้ว่าเมื่อทานอาหารควรนั่งที่เก้าอี้
- ช้อนที่ใช้ป้อนอาหารควรเป็นช้อนที่มีปลายนิ่มเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเจ็บเหงือก
- ปริมาณอาหารในแต่ละคำ ไม่ควรเป็นคำใหญ่ เพราะลูกอาจสำลักและไม่อยากทานอาหารได้
- หากลูกไม่ยอมทาน ให้หยุดป้อน แล้วนำอาหารให้ลูกดมเพื่อให้คุ้นชินกับกลิ่นอาหาร และลองป้อนใหม่ในวันต่อไป
- ผสมนมแม่ลงในอาหาร เพื่อให้ลูกคุ้นกับรสชาติ
- ไม่ควรให้อาหารเมื่อลูกเหนื่อย หรือ หิวมาก ๆ เพราะจะทำให้ลูกงอแง พาลไม่ยอมกินอาหาร และไม่ควรให้อาหารหลังมื้อนม เพราะลูกจะอิ่มและไม่อยากทานอาหาร
- ในกรณีที่ยังไม่ทราบว่าแพ้อาหารหรือไม่ ควรให้กินมื้อเช้า หรือ กลางวัน เพราะหากป้อนมื้อเย็น แล้วมีปัญหาแพ้อาหาร ลูกอาจมีอาการผิดปกติตอนกลางคืน ซึ่งสังเกตอาการได้ยากและต้องไปโรงพยาบาลเวลาฉุกเฉิน แต่ถ้าหากทราบว่า ไม่มีอาการแพ้ อาจเปลี่ยนมาให้อาหารเป็นเวลาเย็น อาจมีประโยชน์ในแง่ อาหารทำให้อิ่มนานขึ้น ลูกอาจหลับได้ยาวขึ้น
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
7 สัญญาณ ลูกพร้อมกิน “อาหารเสริมเด็ก-ทารก”
อาหารก่อภูมิแพ้ 8 ชนิดที่พ่อแม่ควรระวัง
เด็กป่วยภูมิแพ้เฮ!! ศิริราชผลิต “วัคซีนไรฝุ่น” สำเร็จ
3 สูตร อาหารเด็ก “ข้าวต้ม ข้าวตุ๋น น้ำสต๊อก” เพื่อลูกวัย 6-9 เดือน
ขอบคุณข้อมูลจาก : ป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ, www.babycenter.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่