AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิธีพูดให้ลูกทำตาม และไม่ต่อต้าน 30 วิธี

วิธีพูดให้ลูกทำตาม

การพูดกับลูก เพื่อให้ลูกเชื่อฟัง และทำตาม บางครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย การพูดกับลูกมีความสำคัญมาก เพราะนั่นถือเป็นต้นแบบในการสอนลูกที่จะเรียนรู้ในการพูดคุยกับคนอื่นด้วย มีเทคนิค วิธีพูดให้ลูกทำตาม 30 วิธีง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

1.ประสานสายตาก่อนพูดกับลูก ให้แน่ใจว่าลูกฟังอยู่ นั่งลงระดับเดียวกับลูก มองลูกด้วยสายตาแห่งรัก

2.เรียกชื่อลูก เริ่มต้นการพูดด้วยการเรียกชื่อ เช่น “น้อง… แม่ขอให้หนู…”

3.พูดสั้นๆ แต่ได้ใจความ อย่าพูดมากหรือบ่นมาก เพราะลูกจะจับใจความไม่ได้ ไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร

4.ใช้คำพูดง่ายๆ ถ้อยคำเข้าใจง่ายได้ใจความ อย่าบ่น หรือสาธยายมาก เพราะลูกจะไม่เข้าใจ ทำหูทวนลม

5.ทดสอบความเข้าใจ โดยให้ลูกตอบกลับมา ถ้าลูกตอบกลับไม่ได้ นั่นแสดงว่ายากเกินไป ลูกไม่เข้าใจ

6.ใช้ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การลงโทษ เช่น “ถ้าไม่ทำแม่จะตี” เป็น “ถ้าช่วยแม่ พ่อกลับมาเราจะได้กินข้าวกัน”

7.ลูก 2-3 ขวบ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ใช้ข้อเสนอที่ลูกจะทำตาม ลดการโต้เถียงหรือการชวนทะเลาะลงได้

8.พูดทางบวก เช่น “อย่าตะโกนเสียงดัง” เราควรพูดว่า “เราไม่ตะโกนเสียงดัง เพราะจะทำให้เจ็บคอนะคะ”

9.พูดอย่างมีเป้าหมาย เช่น “แม่ต้องการให้หนูแบ่งให้น้องเล่นด้วย” แทนที่จะเป็น “แบ่งให้น้องเล่นเดี๋ยวนี้”

10.พูดถึงเหตุและผลที่จะตามมา เช่น เมื่อลูกทานอาหารแล้ว “ลูกแปรงฟันเสร็จ แม่จะเล่านิทานให้ฟัง”

30 วิธีพูดให้ลูกทำตาม

11.อย่าคิดว่าลูกดื้อ และไม่ให้ความร่วมมือ ในทางตรงกันข้าม ดูว่าการสื่อสารของเราบกพร่องตรงไหน

12.ร่วมกิจกรรมกับลูกแทนการออกคำสั่งว่า “ปิดทีวีเดี๋ยวนี้” ใช้วิธีเดินไปนั่งใกล้ๆ ลูก บอกให้ลูกปิดทีวีเอง

13.ให้ตัวเลือกที่ฉลาด เช่น จะใส่ชุดนอนก่อนหรือจะแปรงฟันก่อนดี จะใส่เสื้อสีชมพูหรือสีเขียวดี เป็นต้น

14.พูดตรงไปตรงมา สั้น ง่าย เหมาะสมกับวัย และพัฒนาการ เช่น เด็ก 3 ขวบอาจตอบไม่ได้ ให้พูดคุยกันดู

15.พูดอย่างสุภาพ และให้เกียรติ คุยกับลูกเหมือนอย่างที่เราต้องการให้ลูกคุยกับเรา

อ่านต่อ “อีก 15 วิธีพูดให้ลูกทำตาม คลิกหน้า 2

16.ไม่บังคับ ขู่เข็ญ ทำให้ลูกไม่ให้ความร่วมมือ เช่น “ต้องทำนี่ให้เสร็จ” เปลี่ยนเป็น “แม่ดีใจที่เห็นลูกทำให้”

17.ฝึกสังเกตทัศนคติ วิธีคิด และการพูดของลูก เพื่อที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกได้

18.ใช้ปากกา ดินสอแทนการพูด เด็กโตบางคนไม่ต้องการให้พูดซ้ำ เป็นการยั่วโมโห หรือไม่ไว้ใจ จดเตือนไว้

19.อย่าสักแต่พูด แต่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เด็กๆ เรียนรู้จากการกระทำมากกว่าคำพูด เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก

20.ดูอารมณ์ของลูกก่อน ก่อนพูดหรือชี้แนะให้ลูก ตรวจดูอารมณ์ของลูกก่อนให้แน่ใจว่าพร้อมที่จะฟังเรา

 

21.พูดเป็นคำคล้องจองให้จำง่าย เช่น “มีมือเอาไว้ช่วยเหลือ ไม่ใช่เพื่อเอาไว้ตี”

22.เด็กเล็กต้องบอกหลายๆ ครั้ง ต่างจากเด็กโต เด็กวัย 3-6 ขวบชอบการเลียนแบบ พูดแล้วต้องทำให้ดู

23.ฝึกให้ลูกคิดเองแทนที่จะพูดว่า “ดูซิข้าวของรกรุงรัง” เปลี่ยนเป็น “ดูซิว่าเราจะเก็บของไว้ที่ไหนดี”

24.ทำให้ลูกสงบ เมื่อลูกยิ่งตะโกนเรายิ่งพูดให้เบาลง บางครั้งการเป็นผู้ฟังที่ดี จะช่วยผ่อนคลายความกังวล

25.ให้ตัวเลือกที่ดี บอกลูกว่า “ไปเดินเล่นที่สนามฟุตบอลคนเดียวไม่ได้ แต่สามารถเดินที่สนามหน้าบ้านได้”

26.เตือนล่วงหน้า เช่น อีก 5 นาทีเราจะกลับบ้านกันแล้ว ให้ลูกบอกลาของเล่น กับเพื่อนๆ ซะลูก

27.พูดให้ตื่นเต้นเร้าใจ เช่น “วันนี้ทำอะไรที่โรงเรียนบ้าง” เปลี่ยนเป็น “เล่าให้ฟังหน่อยวันนี้ทำอะไรสนุกสุด”

28.พูดความรู้สึกของเรากับลูก เช่น “รู้หรือเปล่าลูกวิ่งเล่นในซุปเปอร์ ระหว่างที่เราซื้อของแม่กลัวลูกจะหลง”

29.พูดปิดประเด็น เมื่อลูกไม่ยอมฟัง กระฟัดกระเฟียด หรือต่อรอง บอกลูกว่า “ยังไงแม่ก็จะไม่เปลี่ยนใจ”

30.รักอย่างไม่มีเงื่อนไข พูดให้กำลังใจเสมอ และอย่าขู่ลูก เช่น อย่าพูดว่า “ถ้าไม่กินข้าวเดี๋ยวแม่ไม่รัก”

คำพูดจากปากที่เหมาะสมเป็นความชื่นบานแก่คนฟัง คำเดียวที่ถูกกาลเทศะเป็นสิ่งที่ดีจริง คำพูดบางคำทำให้เสียใจไปจนตลอดชีวิต ดังนั้นวิธีพูดให้ลูกเชื่อฟัง และให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ ต้องไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญ แต่ต้องคอยให้กำลังใจลูกอยู่เสมอ การทำเช่นนี้จะเป็นวิธีที่ช่วยให้ครอบครัวมีความสุข อีกทั้งยังเป็นการบ่มเพาะการสร้างนิสัยให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตอีกด้วย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวค่ะ

เครดิต: manager

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก ข้อคิดสะกิดใจจากคุณหมอ!!

12 คำพูดให้กำลังใจลูก ที่คนเป็นพ่อแม่ช่วยได้

8 คำพูดแย่ ๆ ที่แม่ลูกอ่อนไม่อยากได้ยิน