” น้องออเกรซ คลอดแล้ว “… ในที่สุดครอบครัว ‘ตัว อ.’ ของ เปิ้ล – นาคร ศิลาชัย และ แม่จูน กษมา ก็ได้ให้กำเนิดลูกสาว คนที่ 4 ตระกูลออ อย่างน้อง ออเกรซ หรือ ด.ญ. ศิริกร ศิลาชัย ด้วยวิธีผ่าคลอดที่โรงพยาบาลพระราม 9 (ในวันที่ 14 พ.ย. 59) ตามฤกษ์เวลา 9.09 น. ออกมาปลอดภัยทั้งแม่และลูก ซึ่งงานนี้คุณพ่อเปิ้ลได้โชว์ Live สด กลางห้องคลอดอย่างลุ้นระทึกพร้อมกับพี่ๆตะกูลออ ออกัส ออก้า ออกู๊ด ที่ใส่ชุดไทยให้เข้ากับเทศกาลลอยกระทง รอต้อนรับน้องคนเล็ก ออเกรซ อย่างใกล้ชิด
ไปชมภาพบรรยากาศแห่งความปิติของครอบครัวศิลาชัยกันค่ะ
สดๆ ออเกรซคลอด 9.09
โพสต์โดย Ple Nakorn บน 13 พฤศจิกายน 2016
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
และจากเคสของครอบครัวนี้ที่ลูกทั้ง 4 คน ก็อาจสร้างความสงสัยให้กับว่าที่คุณแม่มือใหม่ และมือเก่า (แม่ลูกหนึ่ง) หลายคน ว่า จริงๆแล้วการผ่าคลอดลูกนั้น จะสามารถผ่าได้กี่ครั้งกันแน่ แล้วมีลูกห่างกันเท่าไหร่ หรือการมีลูกติดๆ กันหลายคนจะมีปัญหาอะไรหรือไม่? วันนี้ Amarin Baby & Kids จึงมีคำแนะนำเกี่ยวกับความถี่ของการมีลูกและการผ่าคลอดลูกว่าจะผ่าได้กี่ครั้ง มาฝากคุณแม่ๆ กันค่ะ
ความถี่การมีลูก
ปัจจุบันคนทั่วไปต่างก็เข้าใจกันอย่างสุดซึ้งดีว่า การมีลูกมากๆ เกินกว่าฐานะครอบครัวตัวเองนั้น จะทำให้คนเป็นพ่อแม่ลำบากในการหาเงินหาทองมาเลี้ยงลูกของตนให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามุ่งไปที่ปัญหาด้านการเงินเศรษฐกิจภายในครอบครัวเป็นหลักใหญ่ โดยมิได้คำนึงถึงปัญหาด้านสุขภาพเลย ซึ่งความจริงแล้วการวางแผนครอบครัวหรือการคุมกำเนิดนี้ ไม่ใช่จะให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจภายในครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงปัญหาทางด้านสุขภาพของทั้งพ่อแม่ และเด็กในท้องอีกด้วย
ยิ่งในสมัยเศรษฐกิจฝืดเคืองนี้ คู่สามีภรรยาควรจะมีลูกเพียง 2 คน หรืออย่างมากไม่ควรเกิน 4 คน โดยให้มีเพศชายหรือหญิงได้ตามต้องการ เมื่อก่อนนี้ปัญหาการเลือกเพศตามที่ต้องการเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ในยุคนี้ความเจริญทางด้านการแพทย์ช่วยเหลือได้ โดยคิดค้นวิธีการที่จะสามารถกำหนดการตั้งท้องให้คลอดออกมาเป็นลูกชายหรือหญิงได้ตามต้องการ ปัญหาการมีลูกตามดวงจึงหมดไป
ทั้งนี้เรื่องความถี่ในการมีลูกคุณหมอแนะนำว่า ควรเว้นช่วงห่างอย่างน้อย 2 ปี ก่อนมีลูกคนถัดไป เพราะการมีลูกถี่เกินไป เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของแม่และลูก ซึ่งหากมีลูกติดกันน้อยกว่า 2 ปีต่อคน อาจส่งผลตามมามากมาย
อ่านต่อ >> “เหตุที่ควรมีลูกห่างกันคนละ 2 ปี” คลิกหน้า 2
สาเหตุที่คุณหมอแนะนำให้ควรมีลูกห่างกันคนละ 2 ปี
- การมีลูกถี่เกินไป ระยะห่างน้อยกว่า 2 ปี ลูกมักจะเกิดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย ร่างกายไม่แข็งแรง เลี้ยงยาก เจริญเติบโตไม่ดี มีพัฒนาการไม่สมวัย มีปัญหาในการเรียนรู้ อาจตายในช่วงขวบปีแรกมากกว่าเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักปกติถึง 4 เท่า
- แม่ที่มีลูกถี่ และมากเกินไป จะมีสุขภาพทรุดโทรม เพราะร่างกายยังไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ จึงต้องการเวลาพักฟื้นบำรุงสุขภาพก่อนที่จะตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
- การมีลูกห่างกันอย่างน้อย 2 ปี พ่อแม่จะมีเวลาเอาใจใส่ อบรมเลี้ยงลูกแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ และจะได้มีเวลาให้ลูกคนโตเตรียมตัวเตรียมใจยอมรับการมีน้องคนใหม่
- การมีลูกแต่ละคนทำให้ครอบครัวใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเว้นช่วงการมีลูกให้ห่างจะช่วยให้พ่อแม่มีโอกาสเก็บออมเงินทอง เตรียมไว้เพื่อความมั่นคง และความสุขของครอบครัว
- ร่างกายของแม่มักจะอ่อนล้าจากการตั้งครรภ์บ่อยๆ การคลอด การให้นมลูกและเลี้ยงดูลูกเล็กๆ หลายคนต่อๆ กัน โดยเฉพาะเมื่อเว้นช่วงห่างน้อยกว่า 2 ปี และมีลูก 4 คน แม่จะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากขึ้น เช่น โรคโลหิตจาง และตกเลือด
- การตั้งครรภ์ครั้งที่ 4 ขึ้นไป แม่มักมีปัญหาสุขภาพ มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดได้บ่อย เช่น โลหิตจาง ตกเลือด แท้ง ทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูก
- ลูกคนที่ 4 ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อาจจะตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย เสี่ยงต่อความพิการเจ็บป่วยได้ง่าย มีโอกาสตายในช่วงปีแรกได้มากกว่า
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ทั้งนี้เหตุที่มีการสนับสนุนให้มีลูกน้อยๆ คน ก็เพราะว่าการที่มีลูกมากนั้นมีผลสะท้อนต่อสุขภาพของบุคคลภายในครอบครัวที่เห็นได้ชัด ก็คือ
ผลที่มีต่อสุขภาพของบิดา
ในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาพของตัวพ่อที่มีลูกมากๆ นั้นที่เห็นได้ชัด ก็คือ พ่อที่มีลูกมากมีโอกาสจะเป็นโรคประสาทและโรคจิตได้มากกว่าพ่อที่มีลูกน้อยเพราะ พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัวย่อมจะต้องรับผิดชอบในการหาเงินมาเลี้ยงดูลูกๆ ให้มีความสุข และมีการศึกษาพอสมควร การมีลูกมากย่อมทำให้พ่อต้องดิ้นรนขวนขวายทำงานหาเงินมากขึ้น นอกจากร่างกายจะตรากตรำจากงานแล้ว จิตใจยังมีความกังวล เคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา จึงอาจจะเจ็บป่วยได้ง่าย บางคนอาจหันไปใช้เหล้า หรือยาเสพติดเป็นเครื่องดับทุกข์ หรือบรรเทาความกลัดกลุ้มซึ่งเป็นภัยต่อสุขภาพและชีวิตอย่างยิ่ง
ผลที่มีต่อสุขภาพของมารดา
การตั้งท้องและการคลอดลูกบ่อยครั้ง เป็นผลร้ายแก่สุขภาพอนามัยของแม่โดยตรง คือ
- แม่ที่คลอดลูกบ่อยๆ โอกาสที่จะเสียชีวิตเนื่องจากโรคแทรกระหว่างตั้งท้องมีสูงมากกว่าแม่ที่คลอดลูกน้อยครั้งกว่า
- คลอดลูกบ่อยๆ จะทำให้เกิดการฉีกขาดของช่องคลอดซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เป็นมะเร็งที่ปากมดลูกได้ ส่วนเด็กที่เกิดจากแม่ลูกดกนั้น ในช่วงอยู่ในท้องอาจมีขนาดโตเกินไปหรืออยู่ในท่าที่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้มดลูกแตกเวลาคลอดได้ หรือเด็กที่คลอดออกอาจจะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ มีโอกาสที่จะเป็นโรคขาดอาหาร ปัญญาอ่อน มีอวัยวะพิการหรือไม่สมประกอบแต่กำเนิดก็ได้
- การมีลูกถี่เกินไปแบบหัวปีท้ายปีติดต่อกันไป ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของแม่และลูกได้ โดยจะทำให้สุขภาพของแม่ทรุดโทรวม คลอดลูกเสร็จร่างกายยังไม่ทันพักผ่อน ก็ต้องตั้งท้องเตรียมคลอดลูกคนใหม่อีก ร่างกายยิ่งอ่อนแอลงทุกที ดีไม่ดีมีโรคแทรก อาจทำให้ทั้งแม่และลูกต้องเสียชีวิตไปพร้อมกันก็มี ดังนั้น ช่วงเวลาห่างในการมีลูกแต่ละคนควรจะเป็น 4 ปี
- การที่แม่มีลูกตั้งแต่อายุยังน้อยโดยเฉพาะก่อนอายุ 14 ปีนั้น มีโอกาสที่แม่และลูกจะตายเพราะการตั้งท้องหรือตอนคลอดมีสูงมาก ส่วนแม่ที่ไปตั้งท้องเอาเมื่อตอนอายุ 35 ปีขึ้นไป ก็มีอันตรายเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเท่าเทียมกัน สรุปแล้วช่วงที่ดีที่สุด ที่ผู้หญิงควรจะมีบุตร ก็คือ ช่วงระหว่าง 20-30 ปี
- แม่ที่เป็นโรคบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคมะเร็ง การตั้งท้องและการคลอดบุตรยังอาจเป็นอันตรายร้ายแรงแก่ตัวแม่ ทำให้ถึงกับเสียชีวิตก็ได้
- ในการตั้งท้องแต่ละครั้ง ร่างกายของแม่จะต้องใช้อาหารเพิ่มขึ้นสำหรับหล่อเลี้ยงทารกในท้อง ดังนั้นถ้าหากผู้เป็นแม่เป็นโรคขาดธาตุอาหารอยู่แล้ว ก็ย่อมจะมีโรคมากขึ้นในระหว่างตั้งท้อง ผู้หญิงที่ตั้งท้องในขณะที่ลูกคนเล็กยังไม่อดนมนั้นก็เท่ากับร่างกายต้องเสียพลังเลือดเนื้อเลี้ยงลูก 2 คน ในเวลาเดียวกัน ซึ่งย่อมบั่นทอนสุขภาพของตัวแม่เป็นอย่างยิ่ง
- ในด้านสุขภาพ แม่ที่มีลูกมากย่อมจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคประสาทและโรคจิตได้มากกว่าปกติ และการที่ตัวภรรยาไม่อยากจะมีลูกอีกนั้น อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความระหองระแหงขึ้นในครอบครัวถึงอันหย่าร้างได้ ซึ่งจากการวิจัยพบว่าสามีภรรยาที่มีลูกมาก มักจะทะเลาะเบาะแว้งและหย่าร้างกันมากกว่าสามีที่มีลูกน้อยๆ คน
อ่านต่อ >> “ผลสะท้อนต่อสุขภาพของลูกน้อย จากการที่พ่อแม่มีลูกติดกันเยอะๆ” คลิกหน้า 3
ผลที่มีต่อสุขภาพของบุตร
เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่มีลูกมาก จะประสบปัญหาดังนี้ คือ
- เด็กที่เกิดมาในอันดับที่ 5 ขึ้นไป ย่อมมีโอกาสที่จะตายตั้งแต่อยู่ในท้องได้มาก ถึงแม้จะไม่ตายตอนอยู่ในท้อง ก็มีโอกาสเจ็บป่วยและเสียชีวิตในระหว่างวัยทารกก็ได้ มากกว่าเด็กที่เกิดในอันดับที่ 1-4
- เด็กที่เกิดมาจากมารดาที่อายุมาก และผ่านการมีลูกมามากคนแล้ว โอกาสที่จะมีอวัยวะพิการ หรือวิปริตแต่กำเนิด และมีโอกาสที่จะเป็นเด็กปัญญาอ่อนได้มากกว่าปกติ
- เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีลูกมาก จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเด็กในครอบครัวที่มีลูกน้อย และมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยบ่อยครั้งกว่าเด็กในครอบครัวที่มีลูกน้อยคน ทั้งนี้เพราะเด็กทารกที่เกิดมาย่อมต้องการอาหารที่มีคุณค่าในการหล่อเลี้ยงร่างกายและสร้างความเจริญเติบโตให้แก่อวัยวะต่างๆ หากเด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอก็จะโตช้า เจ็บป่วยได้ง่าย เพราะขาดความต้านโรค และสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยและยากจนนั้น เด็กที่เกิดเพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่งย่อมหมายความว่า อาหารของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนจะต้องถูกเฉลี่ยออกไป
- เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีลูกมาก มักจะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กในครอบครัวที่มีบุตรน้อยกว่า และมีโอกาสจะเจ็บป่วยด้วยโรคประสาทหรือโรคจิตหรือมีปัญหาเกี่ยวกับความประพฤติและอุปนิสัยมากกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีบุตรน้อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ดังนั้น วิธีที่จะหลีกเลี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากการมีลูกกระชั้นชิดติดกันไป หรือมีในเวลาอันไม่ควร การรู้จักใช้วิธีคุมกำเนิดแบบต่างๆ เช่น ถุงยาง “มีชัย” ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาสอดในช่องคลอด ห่วงอนามัย หรือวิธีนับระยะปลอดภัยก็ตามเพื่อช่วยให้กำหนดได้ว่าควรจะมีลูกเมื่อใด และเมื่อมีแล้วควรจะเว้นระยะการมีลูกคนใหม่ให้ห่างกันกี่ปี หรือเมื่อมีพอแล้วก็ควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบถาวร คือการทำหมันชาย ทำหมันหญิง ไปเสียเลยเพื่อตัดความกังวลที่จะตั้งท้องอีก
ผ่าคลอด มีลูกได้กี่คน?
โดยปกติแล้วคุณแม่ที่ ผ่าคลอดลูก คุณหมอจะแนะนำให้มีลูกแค่ 2 คนเท่านั้น และเว้นช่วงการมีลูกห่างกัน 2 ปี เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อนร่างกายและกันเรื่องแผลที่ผ่าจะแยก หรือเรื่องมดลูกจะแตก ดังนั้นหลังผ่าคลอดควรเว้นระยะไปสักนิดถ้าต้องการมีลูกคนต่อไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ค่ะ
แต่ในปัจจุบัน คุณแม่ผ่าคลอดบางคน ผ่าคลอดลูก 3-4 คน ก็มีมาแล้ว หรือ บางคนเว้นช่วงยังไม่ถึงปี ก็ตั้งครรภ์คนต่อไปเลยแบบนี้ก็มีค่ะ คุณแม่ผ่าคลอด จะมีลูก 2 คน 3 คน หรือ 4 คน ก็ได้ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิด คุณหมอจะดูข้อจำกัดของคุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาแล้ว ดังนี้
- อายุของคุณแม่มากเกินไปหรือไม่
- แผลผ่าคลอดครั้งที่แล้ว หนาบางแค่ไหน
- มีพังผืดที่ท้องมากเกินไปหรือไม่ ถ้ามีมากไม่สมควรผ่าคลอดอีกค่ะ
- โรคประจำตัวที่อาจจะแทรกซ้อนรุนแรงขณะที่ตั้งครรภ์
สิ่งสำคัญเมื่อตั้งครรภ์มีลูกแต่ละคน นอกจากการดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดแล้ว ช่วงเวลาหลังคลอดก็เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจดูแลตัวเองเป็นพิเศษเช่นกัน ด้วยภาระหน้าที่ของคุณแม่หลังคลอดที่ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบต่อชีวิตน้อยๆ ของคุณมากขึ้น ดังนั้น จงอย่าปล่อยให้สุขภาพเจ็บป่วยหรือเสื่อมโทรมในหลังจากคลอดเลยนะคะ เพื่อชีวิตทารกน้อยๆ ที่คุณจะต้องดูแลอย่างดีที่สุด ดังนั้นแล้ว หากคุณแม่ไม่ได้ใส่ใจดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ วันหนึ่งข้างหน้าคุณอาจจะต้องเจ็บป่วยและอาจปกป้องดูแลคนที่คุณรักได้อย่างไม่เต็มที่ก็เป็นได้ค่ะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.doctor.or.th , www.factsforlifethai.cf.mahidol.ac.th
ขอบคุณภาพจาก เฟสบุ๊ก Ple Nakorn , june_kasama , ple_nakorn