ลูกโดน น้ำร้อนลวก ปฐมพยาบาล แบบไหนให้ปลอดภัย ห่างไกลการติดเชื้อ ที่นี่มีคำตอบ! พร้อมคลิป!
คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านคงจะเคยได้ยินคำบอกต่อ ๆ กันมาว่า เวลาโดน น้ำร้อนลวกนั้น จะต้องปฐมพยาบาลโดยการใช้ยาสีฟัน หรือน้ำปลาเทราดลงไป … เชื่อว่ามีคุณแม่หลาย ๆ คนเคยทำ ผู้เขียนเองก็เคยเอายาสีฟันทาเช่นกันค่ะ ซึ่งยังแอบสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทาแล้วไม่เห็นจะหายหรือดีขึ้นเลย แถมแผลก็ดูเหมือนจะพองมากขึ้นกว่าเดิมด้วย เลยค้นหาคำตอบจนในที่สุดก็ได้รู้ว่า “วิธีดังกล่าวนี้ไม่ได้ผลเลย!”
จนมาถึงบางอ้อว่า อ้าว! ที่เขาว่ากันปากต่อปากมานั้น ไม่ได้เป็นความจริง แล้วจะทำอย่างไรดีหากลูกโดน น้ำร้อนลวก ปฐมพยาบาล แบบไหนกันแน่ถึงจะถูกต้อง และปราศจากการติดเชื้อ ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้เตรียมคำตอบเอาไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านแล้วละค่ะ ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ ทีมงานยังได้เตรียมคลิปที่เข้าใจง่ายมาฝากด้วยเช่นกัน พร้อมกันหรือยังคะ ถ้าหากพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยค่ะ
แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ … เพื่อให้เกิดประโยชน์จริง ๆ เราควรมาทำความเข้าใจกับแผลน้ำร้อนลวกกันก่อนดีกว่าไหมคะว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า แผลน้ำร้อนลวกที่ลูกหรือคนในบ้านเราโดนนั้นอันตรายมากน้อยเพียงใด ซึ่งแผลน้ำร้อนลวกนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับด้วยกันดังนี้ค่ะ
ระดับที่ 1 (First degree burn) หมายถึง บาดแผลที่มีการทำลายของเซลล์หนังกำพร้าชั้นผิวนอกเท่านั้น หนังกำพร้าชั้นในยังไม่ถูกทำลาย และยังสามารถเจริญขึ้นมาแทนที่ส่วนผิวนอกได้ โดยบาดแผลชนิดนี้มีโอกาสหายเป็นปกติได้เร็วและสนิทค่ะ อีกทั้งยังไม่ทำให้เกิดเป็นแผลเป็นได้ เว้นแต่จะมีการอักเสบติดเชื้อขึ้น สำหรับบาดแผลชนิดนี้ มักจะเกิดจากการถูกน้ำร้อนลวก หรือโดนไอน้ำ โดนแดดเผา หรือโดนวัตถุร้อน ๆ แบบเฉียด ๆ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนี้ มักจะพบได้บ่อยในเด็กเล็กค่ะ อาการที่เป็นก็จะมีลักษณะของการบวมแดงเล็กน้อย มีความรู้สึกปวดแสบปวดร้อน แต่ไม่มีตุ่มพองหรือหนังหลุดออกมา และก็มักจะใช้เวลารักษาประมาณ 5-7 วัน
ระดับที่ 2 (Second degree burn) สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- บาดแผลระดับที่ 2 ชนิดตื้นคือ บาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าทั้งชั้นผิวนอกและชั้นในสุด และหนังแท้ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ ใต้หนังกำพร้า แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญขึ้นมาทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วภายใน 2-3 สัปดาห์ และมักไม่ทำให้เกิดแผลเป็น ยกเว้นเสียแต่จะมีการติดเชื้อ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดร่องรอยผิดปกติของผิวหนังหรืออาจมีโอกาสเกิดแผลเป็นแผลหดรั้งตามมาได้ หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง
- บาดแผลระดับที่ 2 ชนิดลึกคือ บาดแผลที่มีการทำลายของหนังแท้ส่วนลึก ลักษณะบาดแผลจะตรงกันข้ามกับบาดแผลระดับที่ 2 ชนิดตื้น คือ จะไม่ค่อยมีตุ่มพอง แผลเป็นสีเหลืองขาว แห้ง และไม่ค่อยปวด บาดแผลชนิดนี้มีโอกาสทำให้เกิดแผลเป็นได้แต่ไม่มาก ถ้าไม่มีการติดเชื้อซ้ำเติม โดยแผลมักจะหายได้ภายใน 3-6 สัปดาห์
ระดับที่ 3 (Third degree burn) หมายถึง บาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าและหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้งต่อมเหงื่อ ขุมขน และเซลล์ประสาท และอาจกินลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก หากลูกได้รับอุบัติเหตุโดนน้ำร้อนลวกหรือของร้อนก็จะไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผลเลย เนื่องจากเส้นประสาทที่อยู่บริเวณผิวหนังแท้ถูกทำลายไปหมดแล้วนั่นเอง แต่ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง ซึ่งสาเหตุที่พบในเด็กส่วนใหญ่มากจาก การถูกไฟฟ้าช็อตค่ะ ซึ่งอันตรายมาก และแผลระดับนี้จะไม่หายเองนะคะ อีกทั้งยังทำให้เป็นแผลเป็นได้อีกด้วยละค่ะ
แล้วถ้าลูกเกิดโดน น้ำร้อนลวก ปฐมพยาบาล แบบไหนถึงจะปลอดภัยและแผลไม่ติดเชื้อ … เราไปชมคลิปแล้ววิธีการนั้นพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ลูกโดน น้ำร้อนลวก ปฐมพยาบาล แบบไหนแผลไม่ติดเชื้อ?
- หากพบว่าลูกโดน น้ำร้อนลวก ปฐมพยาบาล ขั้นต้นเลยคือ ให้คุณแม่รีบล้างแผลบริเวณที่ลูกโดนด้วยน้ำที่สะอาดในอุณหภูมิที่ปกติ ซึ่งจะมีผลช่วยลดความร้อน และช่วยลดการหลั่งสารที่ทำให้ปวดบริเวณแผลได้
- หลังจากนั้น ให้ซับแผลด้วยผ้าแห้งที่สะอาด
- เสร็จแล้วทาครีม ยารักษาสำหรับแผลไฟไหม้ น้ำร้อนโดยเฉพาะ ทาให้ทั่วแผล
- แล้วปิดแผลด้วยผ้ากอซสะอาดเพื่อป้องกันฝุ่นละออง
หมายเหตุ: หากคุณแม่พบว่าผิวหนังลูกมีแผลรุนแรง มีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันทีเลยนะคะ
ชมคลิปสาธิตการปฐมพยาบาล
ขอบคุณเนื้อหาจาก Medthai
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่