AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

จะเป็นอย่างไร!? เมื่อ‘ตั๊ก-บริบูรณ์’ ปล่อย ลูกหลงทาง เพื่อเป็นบทเรียน (มีคลิป)

ลูกหลงทาง …ซึ่งใดวันหนึ่ง สำหรับครอบครัวที่มีลูก เมื่อพาลูกน้อยไปเที่ยวในที่ชุมชน ก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้ขึ้นได้ แต่จะสอนลูกอย่างไร ให้เอาตัวรอดได้ เมื่อเกิดหลงทาง พลัดหลงกับพ่อแม่ โดยเฉพาะเด็กตัวเล็กๆ ในวัย 2-3 ขวบ การซ้อมให้ลองปล่อยให้ลูกหลงทางดู ก็อาจเป็นบทเรียนหนึ่งที่จะสามารถช่วยเพิ่มประสบการณ์นั้นได้

พ่อตั๊ก บริบูรณ์ ฝากเป็นบทเรียน ” ลองปล่อยให้ (น้องบีลีฟ) ลูกหลงทาง “!

 

เพราะเด็กมีโอกาสพลัดหลง เมื่อพาไปเดินในที่พลุกพล่าน จากสถิติของศูนย์ข้อมูลคนหาย เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยมูลนิธิกระจกเงา พบว่ามีจำนวนเด็กหาย เด็กพลัดหลง และเด็กมีโอกาสถูกลักพาตัวมากมายได้ ตั้งแต่ช่วงวัยทารก ดังนั้นไม่ว่าพ่อแม่จะพาเด็กไปที่ไหนที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ตลาดนัด คอนเสิร์ต โรงหนัง โรงละคร สวนสนุก ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่จัดแสดงงาน ควรต้องระวังลูกน้อยไว้ให้ดี แม้ต่อให้เดินจูงมือแน่นแค่ไหน ลูกก็อาจหลุดมือไปได้ เนื่องจากการเบียดเสียด การเดินชน หรือการเดินดูของเพลินจนมือพ่อแม่ที่จูงลูกอาจคลายลง สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กมีโอกาสหลุดมือหายได้

เช่นเดียวกับครอบครัวที่น่ารักและอารมณ์ดี อย่างครอบครัวของคุณ ตั๊ก บริบูรณ์ จันทร์เรือง ที่นอกจากจะมีมุมน่ารักๆ แล้ว ก็ยังมีข้อคิดและวิธีเลี้ยงลูกมาแบ่งปัน โดยล่าสุด คุณพ่อตั๊ก และคุณแม่เอลซี่ ได้สร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมา

โดยปล่อยให้ น้องบีลีฟ วัย 2 ขวบครึ่ง ต้องหลงทางอยู่กลางตลาดเพียงลำพัง โดยก่อนที่จะหลงทางคุณพ่อคุณแม่ได้สอนน้องบีลีฟว่า ถ้าหลงทางหาพ่อแม่ไม่เจอ ให้นำกระดาษที่เขียนชื่อพ่อแม่และเบอร์โทรใส่กระเป๋าไว้ให้ไปขอความช่วยเหลือจากคุณตำรวจ และสอนว่าห้ามไปกับคนแปลกหน้า พร้อมให้เงินไว้เพื่อสำหรับเวลาซื้อของเอง

ซึ่งคลิปนี้ก็เล่นเอาคนเข้าไปดูคลิปร้องไห้ตามน้องบีลีฟไปด้วยเลยทีเดียว เพราะทั้งเอ็นดูทั้งสงสารน้องบีลีฟ แถมยังแอบมีดราม่าบ้าง …ลองไปดูกันค่ะว่า สุดท้ายแล้วน้องบีลีฟจะผ่านสถานการณ์หลงทางไปได้หรือไม่ อย่างไร

ชมคลิป >> น้องบีลีฟหลงทาง!! พร้อมเทคนิคการสอนลูกรับมือและเอาตัวรอดเมื่อหลงทางกับพ่อแม่ คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

Boriboon Family EP.4 : บีลีฟหลงทาง!!

โพสต์โดย ตั๊ก บริบูรณ์ แฟมิลี่ (Boriboon Family) บน 5 พฤษภาคม 2017

ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : ตั๊ก บริบูรณ์ แฟมิลี่ (Boriboon Family)

โดยก่อนหน้านี้คุณพ่อตั๊ก ได้เผยเรื่องราวนี้ผ่านอินสตาแกรมว่า ตนและภรรยาได้ทำการจำลองเหตุการณ์ขึ้นมา เพราะอยากเห็นว่า ถ้าน้องบีลีฟต้องหลงทาง แล้วน้องจะทำอย่างไร โดยตนนั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายลูก แต่เพื่อต้องการสอนให้ลูกเอาตัวรอดจากสังคมให้ได้ ถ้าต้องเจอกับเหตุการณ์ขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้

เครดิต จาก IG : @tuck_boriboon1979

 

ซึ่งจากในสถานการณ์จริง แม้น้องบีลีฟ จะมีท่าทีหวาดกลัวและไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า แต่ก็ยังมีน้ำใจให้เงินขอทาน ด้วยเหตุผลที่ว่า “คุณลุงหิว” จนสุดท้ายเมื่อหาพ่อแม่ไม่เจอก็กลัวจนร้องไห้ออกมา แต่พ่อตั๊กก็เชื่อว่าการสอนลูกในสถานการณ์จริงแบบนี้จะทำให้ลูกรู้จักเอาตัวรอดได้ หากเจอเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาจริงๆ

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่คุณตั๊ก บริบูรณ์ ได้จำลองขึ้นมานั้น เรียกได้ว่าเป็นบททดสอบที่สร้างบทเรียนทั้งกับพ่อแม่และลูกน้อยได้เป้นอย่างดี เพราะเมื่อถึงเวลานั้นแล้วจริงๆ หากพ่อแม่เกิดการพลัดหลงกับลูก พ่อแม่ก็ย่อมเป็นกังวลใจอยู่ไม่นิ่งและอยากรู้ว่าลูกจะสามารถเอาตัวรอดได้หรือไม่จากสิ่งที่พ่อแม่เคยสอนไว้ ทั้งยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่มองเห็นภาพชัดเจนอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันเหตุการณ์พลัดหลงกับลูกย่อมเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งกฎเหล็ก 2 ข้อหลักๆ ได้แก่ ไม่ปล่อยให้ลูกคลาดสายตา  และการหลีกเลี่ยงไปสถานที่พลุกพล่าน  หรือสถานที่ซึ่งมีสิ่งล่อตาล่อใจเด็กเยอะเกินไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการป้องกันไว้ก่อน หรือการสอนลูกน้อยรับมือ เพื่อลดความเสี่ยงภัยในการถูกลักพาตัว หรือไม่ให้ลูกพลัดหลงไปไหน เมื่อลูกโตพอรู้ภาษาหรือสื่อสารกันได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถซักซ้อมลูก ให้รู้จักช่วยเหลือตนเองเมื่อหลงทาง ตามขั้นตอน ดังนี้…

อ่านต่อ >> “วิธีง่ายๆสอนลูกรับมือ เมื่อลูกหลงทางกับพ่อแม่” คลิกหน้า 3


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.khaosod.co.th

ขอบคุณภาพจาก : news.sanook.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

วิธีง่ายๆ สอนลูกรับมือ เมื่อลูกหลงทางกับพ่อแม่

1. ตั้งคำถามเพื่อให้เด็กคิดแก้ปัญหา

ลองถามลูกน้อยถึงความรู้สึกและวิธีแก้ไขปัญหาหากเขาหลงทาง  และใช้โอกาสนี้แนะนำวิธีเอาตัวรอดเพิ่มเติมเข้าไป

2. บอกความรู้สึกของพ่อแม่

การบอกลูกว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกตกใจ เป็นห่วงและจะออกตามหาลูกทันทีจะทำให้ลูกมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะตามหาเขาเช่นกัน  เขาจะได้ไม่วิตกกังวลมากนักเมื่อเจอสถานการณ์ดังกล่าว

3. เตรียมข้อมูลให้พร้อม

เขียนเบอร์ติดต่อของคุณพ่อคุณแม่ใส่ในรองเท้าหรือเสื้อผ้าที่ใส่ติดตัวลูกและให้ลูกเก็บรักษาใบข้อมูลประจำตัว เช่น  ชื่อของลูก ชื่อของพ่อแม่เบอร์ติดต่อ  โรคประจำตัว วิธีการช่วยเหลือและเขียนข้อความขอความกรุณาติดต่อหรือพาลูกมาส่งสั้นๆ เพื่อให้ลูกเก็บไว้ยื่นให้แก่คนที่เขาไปขอความช่วยเหลือ รวมไปถึงการฝึกสอนให้ลูกรู้จักชื่อจริงตัวเอง อายุ เบอร์โทรศัพท์ บ้านเลขที่ สอนวิธีโทรศัพท์ให้ติดต่อพ่อแม่ ญาติ ตำรวจ เพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ในกรณีฉุกเฉิน สอนวิธีโทรศัพท์สาธารณะที่หยอดเหรียญ วิธีโทรทางไกลผ่านโอเปอเรเตอร์ที่เรียกเก็บเงินปลายทาง โดยให้ลูกจำเบอร์ที่บ้าน และมือถือพ่อแม่ให้ได้

4. สอนลูกตะโกนเรียกชื่อของคุณพ่อคุณแม่

จะเป็นชื่อเล่นหรือชื่อจริงก็ได้  เพราะเสียงเรียกว่า “พ่อแม่” อาจกลมกลืนไปกับเสียงของผู้คนและเด็กคนอื่นๆ

5. สอนให้ลูกมองหาคนช่วยเหลือ

อาจให้ลูกขอความช่วยเหลือจากผู้หญิงที่มากับเด็กเพื่อขอความช่วยเหลือหรือพนักงานที่เคาน์เตอร์คิดเงินตามร้านค้าใหญ่ๆ

6. สอนให้ลูกอยู่กับที่และมองหาจุดเด่นที่ปลอดภัย

เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าขนาดใหญ่  ฟุตบาท  หรือยืนบนเก้าอี้สาธารณะที่ทำให้สูงขึ้นเป็นต้น  และลูกน้อยต้องรู้จักยืนยันหนักแน่นว่าจะหยุดรอคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่เดิม  ไม่ตามผู้คนแปลกหน้าไปไหน

7. ถ้าหลงในห้างสอน

สอนให้ลูกขอความช่วยเหลือ จากพนักงานประชาสัมพันธ์ พนักงานขาย พนักงานเก็บเงิน เพราะพนักงานขายมีหน้าที่ขาย จะไม่สามารถพาลูกออกจากจุดที่ทำงานนาน ๆ ได้ จึงมั่นใจได้ว่าลูกจะไม่ถูกลักพาตัวไปอีก หรือให้ไปหาตำรวจให้ลูกรู้ว่าตำรวจเป็นคนที่ขอความช่วยเหลือได้ ดังนั้นอย่าขู่ลูกให้กลัวตำรวจ

8. ถ้าลูกอยู่บ้านคนเดียว

แล้วต้องรับโทรศัพท์จากคนอื่น ควรให้ลูกตอบว่าพ่อแม่อยู่บ้าน แต่ไม่ว่างมารับสาย กำลังยุ่ง ถ้ามีคนมาหาแล้วลูกอยู่บ้านคนเดียว อย่าให้ลูกเปิดประตู แต่บอกว่าให้กลับไปก่อน พ่อแม่กำลังยุ่ง หรือเมื่อมีคนแปลกหน้ามาหาที่บ้านให้ลูกรู้จักตัดบท ไม่ให้ยืดเยื้อ ถ้าลูกกลัวควรบอกล่วงหน้าให้ลูกโทรหาพ่อแม่ทันที หรือโทรหาเพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ให้เข้ามาดูลูกที่บ้าน

9. ถ้าเจอคนแปลหน้า

ถ้ามีคนแปลกหน้ามาขอความช่วยเหลือ ให้ลูกบอกผู้ใหญ่ให้มาช่วยเพราะมีคนร้ายใช้วิธีนี้หลอกเด็ก หรือถ้าลูกพบว่ามีคนเดินตาม ให้ลูกวิ่งกลับบ้าน หรือไปหาเพื่อนบ้าน หรือที่ที่มีคนมาก ถ้ามีคนขับรถตามให้ลูกวิ่งกลับไปในทางเดิม รถจะเสียเวลาวกกลับ ซึ่งยุ่งยาก ทำให้เลิกตามลูกไปเอง และสอนไม่ให้ลูกรับของจากคนแปลกหน้าโดยเฉพาะของเล่น ขนม เกม เงิน ซึ่งคนร้ายมักใช้หลอกเด็กแล้วได้ผล ถ้าอยากได้ลูกต้องมาขออนุญาตพ่อแม่ก่อนทุกครั้ง เหล่านี้ช่วยให้ลูกปลอดภัยจากการถูกลักพาตัวได้

10. ลองชวนลูกเล่นบทบาทสมมุติหลายๆครั้ง

โดยสมมุติสถานการณ์ที่เขาพลัดหลงและเจอผู้คนหลากหลายรูปแบบ การซักซ้อมด้วยการเล่นบทบาทสมมุติหลายๆ ครั้งจะช่วยให้ลูกน้อยจำได้มากขึ้นและไม่ตื่นตกใจมากนักเมื่อเจอสถานการณ์จริงและทำให้เรามั่นใจได้ว่าลูกจะรู้วิธีการที่จะช่วยเหลือตัวเอง  จนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะหาเขาเจอ

เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ฝึกลูกให้รู้จักป้องกันและแก้ปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ได้ และการดูแลเด็กเล็กๆ นั้นต้องอย่าให้คลาดสายตาผู้ใหญ่ และระวังอย่าให้เด็กไปกับคนแปลกหน้านะคะ

ถ้าลูกถูกลักพาตัวไปแล้ว พ่อแม่จะต้องทำอย่างไร?

สุดท้าย ด้วยยุคสมัยนี้ที่โลกออนไลน์มีการเชื่อมต่ออย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสื่อโซเชี่ยลอย่างในเฟซบุ๊ก หรือเว็บบอร์ดที่มีคนเข้ามาก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สื่อนี้เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางของการติดต่อขอความช่วยเหลือได้ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ภาพรูปร่าง หน้าตา สถานที่ วันเวลาที่เด็กหายตัวไป พร้อมเบอร์ติดต่อให้ครบถ้วน เมื่อมีคนหมู่มากในสังคมเห็นก็จะได้ช่วย เป็นหูเป็นตาอีกทางหนึ่ง

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


จากเรื่อง : “คุณแม่มือใหม่ รับมือได้ทุกสถานการณ์”

โดย : กองบรรณาธิการนิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ ฉบับ 135 กรกฎาคม 2559

ที่ปรึกษา : พญ. สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ