เทคนิคเพิ่มสมาธิให้ลูก ต้องทำอย่างไร? มีคุณแม่ Inbox มาหา บอกอยากได้เทคนิควิธีในการช่วยเพิ่มสมาธิให้ลูกๆ หน่อย อยากให้เรียน อยากให้ทำกิจวัตรประจำวันได้นิ่งๆ เชื่อฟังที่พ่อแม่พูดด้วย ถามมาแบบนี้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids ไปหาข้อมูลมาให้แล้วค่ะ
เทคนิคเพิ่มสมาธิให้ลูก เริ่มได้ตั้งแต่เด็ก
การจะช่วยให้เด็กๆ มีสมาธิในการเรียน ทำกิจกรรมต่างๆ พ่อแม่ต้องมี เทคนิคเพิ่มสมาธิให้ลูก ด้วยค่ะ ซึ่งการฝึกสมาธิไม่ใช่การพาเด็กๆ ไปนั่งสมาธิที่วัดแต่อย่างใด เพราะหากให้ทำเช่นนั้นจริงๆ อาจยังไม่ได้อยู่ในวัยที่ลูกจะสามารถนั่งนิ่งๆ ทำสมาธิกันได้อย่างแน่นอนค่ะ แต่การเพิ่มสมาธิให้ลูก ที่ผู้เขียนนำมาฝากนี้พ่อแม่สามารถส่งเสริมเพิ่มให้ลูกได้ง่ายๆ ซึ่งทั้ง 10 วิธีนี้มาจาก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ค่ะ
1. มอบความรัก
ความเข้าใจในธรรมชาติและพัฒนาการตามช่วงวัยรุ่นต่างๆ ของลูก จะช่วยให้ลูกพัฒนาการเรียนรู้ และอารมณ์อย่างสอดคล้องกับวัย
2. จัดสิ่งแวดล้อม
ควรมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้มีสมาธิ เช่น การจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่วุ่นวาย และ มีมุมสงบที่ลูกสามารถทำการบ้าน และอ่านหนังสือ โดยไม่มีเสียงดังรบกวนอยู่ใกล้ๆ ให้เสียสมาธิ
3. อาหารและออกกำลังกาย
ดูแลลูกให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัย ให้ออกกำลังกายและให้พักผ่อนที่เพียงพอ เมื่อลูกมีร่างกายที่แข็งแรงก็ย่อมมีความพร้อมในการจดจ่อและเรียนรู้สิ่งต่างๆ
บทความแนะนำ คลิก >> ลูกไฮเปอร์ กับสมาธิสั้น แตกต่างกันอย่างไร?
4. ฟังเพลงคลาสสิค
มีผลการวิจัยระดับโลกที่ยืนยันว่าเพลงคลาสสิคหรือเพลงบรรเลงที่มีจังหวะช้าๆ สม่ำเสมอ เข้ากับการเต้นของหัวใจ จะช่วยให้ร่างกายมีสภาวะที่ผ่อนคลาย เพิ่มความสามารถทางด้านความจำ และการเรียนรู้ได้รวดเร็ว
5. ส่งเสริมศิลปะ
ศิลปะและการประดิษฐ์ต่างๆ เช่น การวาดรูป พับกระดาษ งานปั้น งานฝีมือต่างๆ ฯลฯ ตามความสนใจและความถนัดของเด็กซึ่งช่วยให้เด็กเพลิดเพลิน มีความสุขในสิ่งที่ทำ และสามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้นาน
อ่านต่อ วิธีเพิ่มสมาธิให้ลูกแบบง่ายๆ หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
6. ของเล่นที่ดี
เลือกของเล่นที่เหมาะกับวัยและช่วยให้ลูกจดจ่อให้การเล่นได้นาน เช่น จิ๊กซอว์ เลโก้ ร้อยเชือก บล็อกไม้ ฝึกให้ลูกเล่นของเล่นทีละอย่างจะช่วยให้ลูกมีสมาธิกับการเล่นได้นานขึ้น
7. อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
ขณะที่เด็กฟังนิทาน ลูกได้มีโอกาสฝึกการใช้ประสาทสัมผัส การมองสีหน้า ท่าทางของพ่อแม่ขณะเล่า ฝึก ประสาททาง หู ในการฟัง และปากในการพูดตาม รวมทั้งการใช้สมาธิจดจ่อในเรื่องราวที่พ่อแม่เล่า ซึ่งเด็กจะจดจำเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างไม่น่าเชื่อ
8. ฝึกวินัย
การฝึกวินัย และความเป็นระเบียบในการดำเนินชีวิต เช่น จัดตารางกิจวัตรในบ้านให้ชัดเจน ว่าเวลาไหนควรทำอะไรบ้าง จะช่วยให้เด็กทำอะไรเป็นระบบ ขั้นตอน และทำอะไรอย่างไม่เร่งรีบเกินไป ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างสมาธิทั้งสิ้น
บทความแนะนำ คลิก >> พ่อแม่คือคนสำคัญที่ส่งเสริมการเล่นให้ลูก
9. ฝึกเพิ่มสมาธิ
ฝึกการเพิ่มสมาธิให้ลูกอย่างเป็นระบบ ตัดสินใจให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ให้นานขึ้นตามลำดับ เช่น เริ่มจากการติดกระดุมจากครั้งแรกได้เม็ดเดียว ก็ค่อยเพิ่มเป็น 5 เม็ด การค่อยๆ เพิ่มงานที่ยากขึ้น หรือต้องใช้เวลาทำนานขึ้น หรืองานที่ต้องใช้ความละเอียดเพิ่มขึ้น ก็เท่ากับเป็นการฝึกสมาธิที่นานขึ้นเช่นกัน และเมื่อเด็กทำให้ได้คำชม พึงระวัง ไม่ตำหนิ และใช้อารมณ์กับลูก เพราะเด็กจะขาดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้
10. สนับสนุนสิ่งที่เด็กชอบ
หากพ่อแม่สังเกตว่าลูกเริ่มสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องแมลง เรื่องไดโนเสาร์ พ่อแม่ควรกระตุ้นความอยากเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น ด้วยการตั้งคำถามและข้อสงสัย แล้วท้าทายให้เด็กแสวงหาคำตอบ เช่น ค้นคว้าจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต พาไปศึกษารายละเอียดตามพิพิทธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สมาธิจดจ่อในการศึกษาเรื่องที่สนใจยาวนานขึ้นได้[1]
นอกจากการส่งเสริมเรื่องสมาธิให้ลูกทั้ง 10 วิธีนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มฝึกให้ลูกลองนั่งสมาธิ และสวดมนต์สั้นๆ เมื่อลูกอยู่ในวัยที่พร้อม อย่างช่วงปฐมต้นก็สามารถเริ่มให้ลูกนั่งสมาธิ หรือสวดมนต์สั้นๆ ที่ห้องพระกับพ่อแม่ ย่ายาย หรือเวลาพาไปทำบุญที่วัด ก็อาจชวนลูกสวดมนต์ และนั่งสมาธิสัก 5-10 นาที การฝึกให้ลูกทีละเล็กละน้อยจะช่วยให้ลูกค่อยๆ ซึมซับ และสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอกให้ทำค่ะ
อ่านต่อ ประโยชน์ของการนั่งสมาธิและสวดมนต์ หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ประโยชน์ของการสวดมนต์นั่งสมาธิ
1. เป็นการสร้างศรัทธา (สทฺธาพลํ)
คือ ความเชื่อมั่นในคุณของพระรัตนะตรัย การสวดมนต์จึงเป็นการเสริมสร้างพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนา และน้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่ามากที่สุด
2. เป็นการสร้างปัญญา (ปญฺญาพลํ)
คือ การสร้างสรรค์พลังทางปัญญา การสวดมนต์ในแต่ละบท หากเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จะเป็นการพัฒนาทางด้านความคิดและ สติปัญญาให้เกิดขึ้น และสามารถขจัดปัญหาอุปสรรคได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
3. เป็นการไล่ความขี้เกียจ และตัดความเห็นแก่ตัว
เพราะในขณะที่กำลังสวดมนต์นั้น ความเบื่อหน่าย ง่วงนอน และเกียจคร้านจะหายไป กลับมีจิตใจแช่มชื่นฮึกเฮิมอย่างน่า ประหลาด นอกจากนี้ก็เป็นการตัดความเห็นแก่ตัวออกไป
บทความแนะนำ คลิก >> สวดมนต์ ก่อนนอน ช่วย ฝึกสมาธิเด็ก
4. จิตสงบเป็นสมาธิ
ในขณะที่สวดมนต์ ผู้สวดต้องสำรวมใจให้แน่วแน่ ไม่หวั่นไหว เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วย่อมเกิดความสงบเยือกเย็น ทำให้มี พลังในการคิดสร้างสรรค์ในสิ่งต่างๆได้ดียิ่งขึ้น
5. ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
กล่าวคือ ในขณะที่เรากำลังสวดมนต์อยู่นั้น เราย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา กล่าวคือ มีกายวาจา เป็นปกติ (ศีล) มีใจที่แน่วแน่นิ่งสงบ (สมาธิ) และมีความรู้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า (ปัญญา) ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการได้ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชา คือ การสวดมนต์[2]
สมาธิกับเด็ก ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะไม่ว่าจะเรียนหนังสือ เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นไปตามช่วงวัย ล้วนต้องมีสมาธิเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นครูที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องการมีสมาธิให้ลูกตั้งแต่ก้าวแรกของชีวิตก็คือคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
แม่อย่าหลงเชื่อ มีคนอ้างว่าอาหารเสริมช่วยสมาธิ
คนท้อง กินยาพาราเซตามอล เสี่ยงลูกเกิดมาสมาธิสั้น !!
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1www.trueplookpanya.com , สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
2www2.thaihealth.or.th