AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เผยเคล็ดลับ วิธีชงนมที่ถูกต้อง ไม่ไห้เกิดฟอง

วิธีชงนมที่ถูกต้อง ไม่ไห้เกิดฟอง

หากคุณแม่กำลังเจอปัญหา “ชงนมทีไรฟองเยอะแยะเต็มไปหมด” ลูกกินแล้วท้องอืด ร้องไห้งอแงทุกที ตาม Super Nanny มาค่ะ  เรามี วิธีชงนมที่ถูกต้อง ไม่ไห้เกิดฟอง มาแนะนำ!

Super Nanny เผยเคล็ดลับ วิธีชงนมที่ถูกต้อง ไม่ไห้เกิดฟอง 

พ่อแม่มือใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้ วิธีชงนมเด็กที่ถูกต้อง ไว้ด้วย …ซึ่งแม้ว่าการให้นมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะในนมแม่มีความปลอดภัยและเหมาะสมกับวัยทารกมากที่สุด แต่บางครั้งคุณแม่บางคนอาจมีความจำเป็นที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เพราะไม่ค่อยมีน้ำนม หรือเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายต่อแม่และเด็ก หรือคุณแม่กินยาบางอย่างที่สามารถผ่านมาทางน้ำนมได้ จึงจำเป็นต้องใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกแทน

วิธีชงนมที่ถูกต้อง+

  1. การชงนมให้ใช้น้ำต้มสุก (สามารถชงด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำในอุณหภูมิปกติก็ได้) เท่านั้นในการผสมนม ส่วนน้ำดื่มบรรจุขวดไม่ใช่ว่าจะสะอาดปราศจากเชื้อโรคไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นการต้มน้ำให้เดือดก่อนผสมกับนมผงคือสิ่งที่ควรทำ โดยจะต้องต้มให้เดือดจนเห็นฟองอากาศผุดออกมา ให้เย็นลงก่อน จึงนำไปป้อนทารกได้ … ส่วนน้ำที่ใช้ต้มหาก เป็นน้ำประปา อาจจะเปิดใส่ภาชนะไว้ก่อนเพื่อให้ตะกอนที่อาจมีตกตะกอน แล้วจึงนำมาต้ม
  2. น้ำที่ใช้ชงนมควรจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคน้อย ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง สารตะกั่ว หรือสารปนเปื้อนอื่น หากจะใช้น้ำแร่ที่บรรจุขวดควรตรวจสอบปริมาณโซเดียมที่เป็นส่วนผสม ถ้ามากกว่า 20 มิลลิกรัมต่อลิตรจะสูงเกินไปสำหรับทารก และไม่ควรนำน้ำที่แก้ความกระด้างมาใช้ชงนมทารก
  3.  อย่าใช้น้ำร้อนจัดในการชงนม” เพราะจะไปทำลายโปรตีนและวิตามินบางส่วน  เช่น วิตามิน C ซึ่งจะไม่ทนความร้อนและนมทารกสูตรผสมจุลินทรีย์ที่มีชีวิตแนะนำว่าถ้าต้องการให้ลูกกินนมอุ่น ให้ใช้น้ำอุ่นประมาณ 60 °C ชงนม เพราะถ้าร้อนถึง 70 °C เชื้อจุลินทรีย์ที่ผสมไว้จะตาย  ทำให้ลูกจะไม่ได้ประโยชน์จากจุลินทรีย์สุขภาพและได้รับวิตามินบางชนิดลดลงจนน้อยกว่าที่ควร และการใช้น้ำร้อนจะทำให้ไขมันอาจจับตัวเป็นก้อนทำให้นมไม่ละลาย 
  4. ใส่น้ำลงไปก่อนแล้วตวงนมผงตามมาตราส่วนข้างกระป๋องด้วยช้อนตวงที่บรรจุมากับกระป๋อง
  5. เทคนิคการเขย่าให้เกิดฟองน้อยที่สุด คือ การจับขวดแล้วหมุนมือเป็นวงกลมเหมือนเอาขวดนมแกว่งน้ำ  ซึ่งจะเกิดฟองน้อยกว่าการเขย่าขวดขึ้นลง เพราะฟองที่เกิดขึ้นขณะเขย่านมอาจทำให้เด็กท้องอืดได้
  6. นมที่เหลือจากการดูดควรปิดฝาครอบให้สนิททุกครั้ง และไม่ควรทิ้งนมชงที่เหลือจากการเลี้ยงทารกไว้ในอุณหภูมิห้องนานเกิน 2 ชั่วโมง ถ้านานกว่านี้ควรทิ้งนมในขวดไปเลย เพราะมันจะเริ่มบูด แล้วถ้าเด็กดื่มเข้าไปจะเป็นอันตรายได้

และเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เห็นภาพวิธีการชงนมไม่ให้เกิดฟองที่ชัดเจน
ตามมาดูคลิปวีดีโอการสาธิิต วิธีชงนมเด็กที่ถูกต้อง ไม่ไห้เกิดฟอง จาก Super Nanny กับ แนนนี่บอมเบย์ กันเลยค่ะ

คลิปวีดีโอจาก : Amarin Baby & Kids

ที่สำคัญหลังดื่มนมทุกครั้ง คุณพ่อ คุณแม่ อย่าลืมจับอุ้มเจ้าหนูน้อยให้เรอก่อนนะคะ …. โดยมีวิธีไล่ลม คืออุ้มลูกนั่งตัก ให้นั่งตัวตรงเอามือรองใต้คางลูกไว้ อีกมือลูบเบาๆที่หน้าท้องบริเวณกระเพาะ หรืออุ้มลูกพาดไหล่ ให้คางลูกเกยบนไหล่ของคุณแม่พอดี เวลาลูกอยู่ในท่านี้ลมจะลอยขึ้นมา คุณแม่เพียงตบหลังเบาๆ ลูกก็จะเรอออกมาโดยง่าย เพื่อลดปัญหาลูกแหวะนม และท้องอืดได้ ลูกน้อยจะได้หลับสบาย ไม่โยเยค่ะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ