พาลูกขึ้นเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกหรือเคยพาขึ้นมาหลายครั้งแล้ว เรื่องหนึ่งที่พ่อแม่ต้องเจอคือ ลูกร้องไห้บนเครื่องบิน ซึ่งยากที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ และเพื่อให้การขึ้นเครื่องบินของเด็กๆ ไม่เป็นประสบการณ์ที่แย่ของพ่อแม่และลูก ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีวิธีแก้ปัญหามาบอกให้ทราบกันค่ะ
พาลูกขึ้นเครื่องบิน แล้วทำไมถึงร้องไห้กันนะ!
หลายๆ ครอบครัวอาจไม่สนุกกับการ พาลูกขึ้นเครื่องบิน เอาซะเลย เพราะพาขึ้นทีไรเป็นต้องร้องไห้ทุกที หรืออย่างพ่อแม่บางคนก็เป็นครั้งแรกที่ต้องพาลูกเล็กโดยสารเครื่องบิน ก็ช่างไม่เป็นใจเพราะลูกร้องไห้ดังจนเกรงใจคนนั่งข้างๆ เลย แต่จะไปว่าเด็กเล็กๆ เขาก็ไม่ได้ค่ะ เพราะมีหลายสาเหตุที่ทำให้พวกเขาร้องไห้ มาดูกันว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เด็กร้องไห้บนเครื่องบิน
- ความกดอากาศภายในเครื่องบินที่ทำให้เด็กมีอาการปวด หรือเจ็บภายในหูขึ้นมา โดยเฉพาะช่วงเครื่องบินๆ ขึ้น (Take-off) และช่วงเครื่องบินเตรียมลดระดับลงจอด (Landing)
- กลัวเสียงเครื่องยนต์ และความสั่นของเครื่องบินในบางช่วงเวลาของการเดินทาง
- รู้สึกกลัวคนแปลกหน้าที่นั่งข้างๆ และการเดินพลุกพล่านของแอร์ สจ๊วต และผู้โดยสาร
- รู้สึกไม่ชินกันการนั่งในที่แคบนานๆ หรือมีความกลัวที่แคบ
- รู้สึกเบื่อที่ต้องอยู่บนเครื่องบินนานหลายชั่วโมง
- โดยสารเครื่องบินขณะป่วย โดยเฉพาะถ้าเป็นหวัดอยู่ด้วย ก็ยิ่งทำให้เด็กไม่สบายตัว ปวดหูได้ง่ายกว่าปกติ
- อื่นๆ
ดูจากสาเหตุแล้วก็น่าเห็นใจเด็กๆ อยู่นะคะ และก็รวมถึงพ่อแม่ด้วย ฉะนั้นถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เผอิญต้องนั่งติดแถวเดียวกับที่มีเด็กเล็กๆ ด้วย ซึ่งถ้าเด็กร้องไห้ไม่หยุดง่ายๆ คุณอาจขอเปลี่ยนที่นั่งได้โดยแจ้งพนักงานบนเครื่องบิน ถ้าเที่ยวบินนั้นมีที่นั่งว่างค่ะ
อ่านต่อ คนญี่ปุ่นแก้ปัญหาลูกร้องไห้บนเครื่องบินด้วยวิธี หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เด็กร้องไห้บนเครื่องบิน กับวิธีแก้ปัญหาของคนญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นมักมีไอเดีย หรือโครงการใหม่ๆ ในการช่วยเหลือให้คนในประเทศสะดวกสบาย และมีความสุขกับการใช้ชีวิตประจำวันกันให้มากที่สุด และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำรวจว่าจะทำอย่างไรถึงจะช่วยให้เด็กไม่ร้องไห้บนเครื่องบิน โดยการเริ่มโครงการครั้งนี้เป็นการรวมกลุ่มกันของครอบครัวพ่อแม่ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 3 ขวบ และเมื่อเครื่องบินเตรียมพร้อมสำหรับการ Take-off สิ่งแรกที่พ่อแม่เริ่มทำกัน คือ…
“พ่อแม่ให้ลูกดื่มเครื่องดื่ม เช่น นมใส่ขวด น้ำใส่ขวด”
และสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบว่าทำให้เด็กร้องไห้นั่นก็คือ การที่ความกดอากาศเปลี่ยนแปลง และเด็กเล็กรู้สึกปวดหูขึ้นมา ซึ่งว่ากันว่าการให้เด็กเล็กดื่มน้ำทั้งก่อนเครื่องบินขึ้น และก่อนเครื่องบินลง เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งโปรแกรมที่มือถือ โดยผลจะประมวลออกมาให้ทราบผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนที่พ่อแม่ดูอยู่ ที่มีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่สวมติดไว้กับตัวลูก ที่เครื่องนี้จะสามารถรับรู้อารมณ์ของเด็กเล็กจากจำนวนการเต้นของหัวใจ นั่นทำให้พ่อแม่เข้าใจรับรู้ได้ว่าลูกกำลังมีความรู้สึกอย่างไร ณ ขณะที่อยู่บนเครื่องบิน
บทความแนะนำ คลิก>> 10 เทคนิคเตรียมพร้อม พาลูกเที่ยว ต่างประเทศ
และจากเครื่องประมวลผลนี้ ทางโครงการจะเก็บสถิติว่าสิ่งแวดล้อมแบบใดในเครื่องบินที่ส่งผลต่อจำนวนการเต้นเพิ่มขึ้นของหัวใจเด็ก เพื่อนำไปใช้กับงานวิจัยหลังจากนี้ เห็นแล้วบอกได้คำเดียวว่า สุดยอดมากๆ ค่ะ เพราะต่อไปในอนาคตเราอาจมีอุปกรณ์สักชิ้นที่ช่วยทำให้เด็กไม่ร้องไห้บนเครื่องบิน รวมถึงช่วยในเรื่องลดการปวดหู เจ็บหูที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กเล็ก และในผู้ใหญ่บางคนด้วยค่ะ
อ่านต่อ ข้อควรรู้ก่อนการจองตั๋วเครื่องบินสำหรับเด็ก หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ขั้นตอนการจองตั๋วก่อน พาลูกขึ้นเครื่องบิน ครั้งแรก !!
สำหรับการเดินด้วยเครื่องบินที่มีเด็กทารกหรือเด็กเดินทางไปด้วย ทีมงานจึงขออ้างอิงข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากสายการบินภายในประเทศสายการบินหนึ่งที่ได้ให้คำแนะนำไว้อย่างชัดเจน ซึ่งถือกฎปฏิบัติแบบสากลทั่วไปอย่างชัดเจน ดังนี้…
: มีการแบ่งประเภทผู้โดยสารเด็กอย่างไร
- เด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 14 วัน สายการบินจะไม่อนุญาตให้เดินทาง
- ผู้โดยสารเด็กทารก อายุตั้งแต่ 14 วัน แต่ไม่ถึง 2 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง ต้องโดยสารบนตักของผู้ใหญ่ โดยผู้ใหญ่ 1 คนต่อเด็กทารก 1 คน ในการเดินทางเท่านั้น
- ผู้โดยสารอายุ 2 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 12 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางโดยลำพัง จำเป็นต้องมีผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปีร่วมเดินทางด้วย โดยมีอัตราค่าโดยสารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
- ผู้โดยสารอายุตั้งแต่ 12 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 16 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง สามารถเดินทางโดยลำพังได้ แต่ไม่สามารถพาเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเดินทางด้วยกัน โดยมีอัตราค่าโดยสารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
- ผู้โดยสารผู้ใหญ่ มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในวันเดินทาง สามารถพาเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเดินทางด้วยกันได้
: ผู้โดยสารเด็กใช้เอกสารใดในการเช็กอิน
- ผู้โดยสารอายุตั้งแต่ 14 วัน แต่ไม่ถึง 7 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง ใช้ใบสูติบัตรฉบับจริง หรือพาสปอร์ตในการเช็กอิน
- ผู้โดยสารอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง ใช้ใบสูติบัตรฉบับจริง หรือบัตรประชาชนเด็ก หรือพาสปอร์ตในการเช็กอิน
- ผู้โดยสารอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในวันเดินทาง ใช้บัตรประชาชน หรือพาสปอร์ตในการเช็กอิน
: การเดินทางพร้อมเด็ก มีขั้นตอนการจองที่นั่งอย่างไร
- ผู้โดยสารอายุ 2 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 12 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง จะต้องทำการจองที่นั่งพร้อมกับผู้ใหญ่ที่เดินทางด้วยกันเท่านั้น โดยมีอัตราค่าโดยสารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
- ผู้โดยสารอายุตั้งแต่ 12 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 16 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง ทำการจองที่นั่งได้ตามปกติ โดยมีอัตราค่าโดยสารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
: การเดินทางพร้อมเด็กทารก มีขั้นตอนการจองที่นั่งอย่างไร
- ผู้ใหญ่สามารถระบุชื่อเด็กทารกในขณะทำการจองที่นั่งบนเว็บไซต์ สงวนสิทธิ์เด็กทารก 1 ท่านนั่งโดยสารบนตักของผู้ใหญ่ 1 ท่าน โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
**ทางทีมงานขอขอบคุณข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากสายการบินนกแอร์ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
การพาลูกเล็กโดยสารเครื่องบิน อาจไม่ใช่เรื่องสนุกของหลายๆ ครอบครัว แต่ถ้าพ่อแม่เตรียมตัวเป็นอย่างดี ก็สามารถช่วยเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางที่แย่ๆ ให้กลายเป็นความประทับใจตลอดเที่ยวบินมีแต่รอยยิ้มได้ไม่ยากค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจคลิก
พาลูกไปทําพาสปอร์ต พ่อแม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
พาเด็กๆ นั่งเครื่องบินอย่างไรให้ปลอดภัย?
ขอขอบคุณคลิปจาก
J-doradic ดิคออนไลน์ไทย-ญี่ปุ่น