การ พาลูกไปเที่ยว นอกบ้านเพื่อเปิดหูเปิดตา สามารถช่วยให้ลูกมีพัฒนาการการเรียนรู้ได้หลายอย่าง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมั่นใจว่าสามารถดูแลลูกน้อยให้เรียนรู้โลกกว้าง โดยไม่ไปรบกวนคนรอบข้างได้ด้วย
ซึ่งสำหรับลูกวัย 2 ขวบขึ้นไป เวลาคุณพ่อคุณแม่ พาลูกไปเที่ยว อาจต้องเจอเรื่องปวดหัวกับการที่ ลูกทำผิดกติกา ทะเลาะคนอื่น เล่นเพลินเกินเวลา อยากได้ของแพง …ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เรามี 8 วิธีที่จะช่วยแก้ไขในสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อพาลูกเที่ยว นอกบ้าน มาฝาก ดังนี้ค่ะ…
1. เมื่อ พาลูกไปเที่ยว แล้ว “ลูกตื่นเต้น เสียงดังเกินไป”
ถึงแม้จะเตรียมความพร้อมก่อนไปเที่ยวและตกลงกติกากันก่อนเล่นหรือเยี่ยมชมสถานที่ แต่บรรยากาศครึกครื้นสนุกสนานหรือความตื่นตาตื่นใจของสิ่งต่างๆ ก็อาจชวนให้ลูกน้อยเตลิดได้เหมือนกัน ลูกน้อยอาจพูดเอะอะเสียงดังหรือวิ่งไปมาเป็นลูกลิง นั่นเพราะลูกน้อยอยากแสดงออกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าเขาชอบและรู้สึกสนุกจริงๆ
ถ้าอาการของลูกไม่รบกวนคนอื่นและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน คุณพ่อคุณแม่สามารถปล่อยให้เขาค่อยๆ คลายความตื่นเต้นเองได้ แต่หากคึกมากจนแกล้งคนอื่นหรือเผลอพูดจาไม่สุภาพ คุณพ่อคุณแม่อาจฉุดอารมณ์ของเขาด้วยการพูดตอบรับอารมณ์ความรู้สึกของเขา “รู้แล้วจ้ะว่าหนูตื่นเต้น” หรือ “รู้จ้ะว่าหนูสนุกมาก หนูชอบมาก” เมื่อคุณพ่อคุณแม่แสดงการตอบรับต่อปฏิกิริยาล้นๆ ของลูกน้อย เขาจะสงบลงบ้างเพราะสิ่งที่เขาสื่อมีคนรับรู้และเข้าใจแล้ว จากนั้นเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของลูกน้อย ให้เขาสนใจสิ่งอื่นแทนการก่อกวนผู้อื่น
2. เมื่อ พาลูกไปเที่ยว แล้ว “ลูกทำผิดกติกา”
ไม่ว่าจะเป็นกติกาของสถานที่แห่งนั้น หรือกติกาที่ตกลงกับคุณพ่อคุณแม่ไว้เพื่อความปลอดภัย หากลูกน้อยไม่ทำตามข้อตกลง แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยออกจากสถานที่แห่งนั้นโดยไม่ต้องเสียดายสตางค์ค่ะ การพาออกไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องดุหรือลงโทษเขานะคะ ลูกน้อยไม่ได้ทำผิด เพียงแต่เขายังไม่พร้อมสำหรับกฎเกณฑ์เหล่านั้น อาจารย์เปรียบเทียบว่าเหมือนคุณพ่อคุณแม่ให้เขาว่ายน้ำ โดยที่ตัวเขายังไม่พร้อม ว่ายน้ำยังไม่เป็น จะอย่างไรก็คงไม่มีทางไปถึงฝั่งอย่างที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวัง
วิธีการแก้ไขง่ายๆ = เพียงแค่พาเขาออกมาจากสระน้ำ แล้วค่อยๆ สอนและทบทวนข้อตกลงกันใหม่ ถ้าลูกน้อยบอกว่าจะไม่ทำแบบนั้นอีก เขาพร้อมจะทำตามกฎต่างๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจให้โอกาสลูกน้อยได้เข้าไปเล่นอีกครั้งหรือเปลี่ยนเป็นให้โอกาสในครั้งหน้าก็ได้
แต่หากคุณพ่อคุณแม่ยังฝืนเที่ยวต่อไปและปล่อยให้ลูกน้อยทำผิดกติกา ผลที่จะตามมามีอยู่ 3 กรณี คือคุณพ่อคุณแม่อาจโมโหจนต้องทะเลาะกับลูก ซึ่งจะผิดจุดประสงค์ของการมาเที่ยว หรือคุณพ่อคุณแม่อาจทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีสำหรับลูกน้อยในอนาคต และที่เลวร้ายที่สุดคืออาจเกิดอันตรายกับลูกน้อยจากความประมาทได้
3. เมื่อ พาลูกไปเที่ยว แล้ว “ลูกทะเลาะกับเด็กคนอื่น”
เมื่อปล่อยเจ้าตัวเล็กเล่นในพื้นที่ส่วนรวม อาจจะมีเหตุวิวาทกับเด็กคนอื่นได้ อาจารย์ปนัดดาแนะนำวิธี “พาออกเดี๋ยวนั้น” เป็นดีที่สุด แต่ต้องสอนให้เขารู้จักทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย
- ลูกเราถูกแกล้ง สอนให้รู้จักหลบเลี่ยงสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยเพื่อตัวของเขาเอง สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องบอกเขาว่าหากพบเจอเหตุการณ์อย่างนี้อีกลูกน้อยควรจะทำอย่างไร อาจแนะนำให้อยู่ให้ห่างเด็กเกเร บอกคุณพ่อคุณแม่เมื่อถูกแกล้งหรือแจ้งกับเจ้าหน้าที่ของสถานที่แห่งนั้น เพื่อให้ลูกน้อยรู้จักหลบหลีกสถานการณ์ทะเลาะวิวาทในอนาคต
- ลูกเราเป็นฝ่ายเริ่ม หากลูกน้อยเป็นฝ่ายเริ่มหมายความว่าเขายังไม่พร้อมจะเล่นกับคนอื่น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ไม่ว่าจะใครผิดใครถูก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ดีที่สุดคือขอโทษผู้ปกครองของอีกฝ่ายให้มากที่สุด และรับปากว่าจะกลับไปสอนลูกน้อยที่บ้าน จากนั้นพาลูกน้อยกลับบ้านหรือออกมาจากสถานที่แห่งนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องอธิบายและสอนให้เขาเข้าใจด้วยคำพูดว่า “หนูเล่นต่อไม่ได้นะคะ หนูยังไม่พร้อมที่จะเล่น เราตกลงกันไว้ว่าอย่างไรคะ”
- ผู้ปกครองอีกฝ่ายไม่ยอมหยุด ในกรณีที่ยุ่งยากกว่านั้นคือหากคุณพ่อคุณแม่ของอีกฝ่ายไม่ยอมจบง่ายๆ วิธีที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้มากที่สุดคือการสวมบทบาทเป็นผู้ฟังที่ดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่เพียงรับฟังคำต่อว่า ขอโทษ และแสดงความเข้าอกเข้าใจอีกฝ่าย อาจพูดทำนองว่า “เราเข้าใจคุณ เป็นใครก็ต้องโมโห” เพื่อให้ลูกน้อยเห็นตัวอย่างของการรู้จักควบคุมอารมณ์และเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ของอีกฝ่ายไม่ให้ลุกลาม
ถ้ามีการเรียกร้องค่าเสียหายเกิดขึ้นถ้าเรื่องไม่จบง่ายๆ โดยอีกฝ่ายต้องการเรียกร้องค่าเสียหายโดยที่ต่างก็ไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุเป็นอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่พิจารณาให้ดูสมเหตุสมผลค่ะ หรือคุณอาจพูดให้เขาฉุกคิด เช่น “เข้าใจว่าคุณโกรธอยู่ แต่เรียกค่าเสียหายหมายความว่าฝ่ายเราผิด หากเราผิดจริงจะชดใช้ให้ แต่หากเราไม่ผิดคุณจะทำอย่างไร” ส่วนใหญ่หากไม่ใช่เรื่องร้ายแรงสถานการณ์ก็จะคลายลง แต่หากยังไม่คลายก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องหาวิธีไกล่เกลี่ยกันอย่างสมเหตุสมผลค่ะ
4. เมื่อ พาลูกไปเที่ยว แล้ว “ลูกหมดความอดทนรอคอย”
สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งใช้เวลานานกว่าที่คิด ระหว่างนั้นลูกน้อยอาจหมดความสนใจและเริ่มแสดงพฤติกรรมต่างๆส่งเสียงก่อกวน เล่นซน เพื่อบอกให้รู้ว่าเขาเบื่อ
- เมื่อลูกบอกว่าเบื่อ = หากเขาแสดงอาการเหล่านี้หมายความว่าเขารู้สึกเบื่อมาสักพักแล้วค่ะ เพียงแต่เขาอดทนต่อไปไม่ไหวแล้ว วิธีแก้ไขคือดึงความสนใจของเขาให้กลับมา อาจชี้ชวนให้ดูอย่างอื่น ชวนพูดคุยเรื่องอื่น หรือชวนวางแผนถึงทริปต่อไปก็ได้ หากคุณพ่อคุณแม่บ่นหรือต่อว่าพฤติกรรมที่เขาแสดงออก นอกจากจะไม่ช่วยให้เขาสงบแล้ว ยังอาจจะทำให้เขายิ่งแสดงพฤติกรรมไม่ดีมากขึ้นเพื่อสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าเขาเบื่อและหมดความอดทนแล้วจริงๆ
- เมื่อลูกต้องเข้าคิว = ในกรณีที่มีกิจกรรมต้องต่อแถวเข้าคิวก็เหมือนกันค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยหรือกระตุ้นความสนใจของเขา เพื่อให้เขาสามารถอดทนเข้าแถวได้จนเสร็จสิ้น แต่อาจารย์ไม่แนะนำให้ผู้ใหญ่รอคิวแทนเด็กหรือใช้ความน่ารักน่าสงสารของเด็กเพื่อลัดคิวนะคะ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ลูกน้อยไม่รู้จักการอดทนรอคอย หากลูกน้อยหมดความอดทนแล้วจริงๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ให้ทางเลือกกับเขาได้ว่าจะอดทนรอต่อเพื่อให้ได้เล่นสนุก หรือจะออกจากแถวแล้วไปเที่ยวหรือเล่นอย่างอื่นแทน
5. ในที่เที่ยว เมื่อลูกจะเล่นทั้งหมดคนเดียวไม่แบ่งใคร
หรือไม่มีใครแบ่งให้ลูกเรา
การไม่รู้จักแบ่งปันเป็นอีกพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าลูกน้อยยังไม่พร้อมสำหรับสถานที่นั้นค่ะ วิธีการที่คุณพ่อคุณแม่จะควบคุมสถานการณ์ได้คือพาเขาออกมา แล้วทำการทบทวนกฎกติกากันใหม่ หากลูกน้อยยังดึงดันจะเล่นคนเดียวก็หมายความว่าควรกลับบ้านไปตกลงกันอีกครั้ง เช่นเดียวกับกรณีที่ลูกน้อยไม่ยอมเมื่อเพื่อนคนอื่นไม่แบ่งเขาบ้าง นั่นหมายความว่าเด็กคนนั้นไม่พร้อมจะเล่นกับลูกของเรา คุณพ่อคุณแม่อาจพูดเพื่อให้ทางเลือกกับลูกน้อยว่า “หนูจะยืนทะเลาะกับเพื่อนอยู่ตรงนี้หรือไปเลือกเล่นอย่างอื่น” เพื่อให้ลูกน้อยรู้ว่าการทะเลาะจะทำให้เขาเสียเวลาและหมดสนุก
เมื่อลูกถามว่า “ทำไมถึงไม่ให้หนูเล่น” ทั้งๆ ที่ลูกไม่ผิดบางทีเราก็ต้องยอมรับว่า ในสถานที่ท่องเที่ยว มีผู้คนมากหน้าหลายตา ลูกเราอยากเล่นตรงนั้นมาก แต่กลับมีเด็กขี้โวยวาย ดูไม่น่ารักในสายตาของคนทั่วไปจริงๆ ถ้าลูกบอกว่า “ทำไมเขาถึงได้เล่น แต่หนูไม่ได้เล่น” เราก็บอกลูกได้ว่า “หนูอย่าเพิ่งไปเล่นกับเขาเลย เดี๋ยวก็ทะเลาะกันเปล่าๆ เขายังไม่พร้อม อย่าไปเสียเวลาเลยจ้า เราไปหาอะไรสนุกๆ อย่างอื่นดีกว่า”
6. เมื่อพาลูกไปเที่ยว แล้วลูกน้อยเล่นเพลินเกินเวลา
ในบางครั้งเราเห็นเด็กบ้านอื่นไม่มีพฤติกรรม “เอ้อระเหย” อยากรู้ไหมคะว่าเขามีเคล็ดลับอย่างไรกัน
- กำหนดเวลาชัดเจน ก่อนให้เล่น บอกเด็กทุกครั้งว่า เขามีเวลากับกิจกรรมนี้เท่าไหร่ แม้เขาจะยังฟังไม่เข้าใจหรอกว่า 2 นาที ต่างกับ 10 นาทีอย่างไร แต่เด็กก็จะรู้สึกถึงวินัยว่าเขามีเวลาจำกัดในการเล่นครั้งนั้น หากคุณไม่ได้กำหนดเวลาเล่นไว้ให้เขาตั้งแต่แรก เมื่อเขางอแงขอเล่นต่อแล้วผู้ใหญ่บอกเด็กว่าให้เล่นอีกแปบเดียวนะ แล้วกลับไปนั่งเล่นนั่งคุยกันต่อ เด็กอาจจะเข้าใจว่าไม่ต้องรีบกลับ จนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะมาตามอีกครั้ง ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้อาจส่งผลให้ลูกน้อยกลายเป็นเด็กผัดวันประกันพรุ่งได้
- มาแจ้งเตือนก่อนหมดเวลา เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลากลับแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เตือนเขาก่อน “เหลืออีก 10 นาทีนะลูก” เพื่อให้เขาได้เตรียมตัวเตรียมใจ แล้วยืนรอเขาเพื่อเป็นภาษาท่าทางให้รู้ว่าเรามีเวลาจำกัดจริงๆ
เรื่องเวลานี้ส่งผลต่อวินัยของลูก หากคุณไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กชักช้า ก็อย่าปล่อยให้เขาผ่อนผลัดให้กับเขามากนัก ลองใช้ 2 วิธีนี้ดู
7. เมื่อ พาลูกไปเที่ยว แล้ว “ลูกจะซื้อของที่ระลึก”
ตามสถานที่ท่องเที่ยวมักมีจุดขายของที่ระลึกซึ่งสามารถดึงดูดเด็กๆ ให้สนใจได้ไม่ยาก เพื่อป้องกันการงอแงเพราะอยากได้ของเล่นเกินราคา และป้องกันลูกยอกย้อนถามว่า “ทำไมซื้อให้หนูไม่ได้ ทีคุณพ่อคุณแม่ยังซื้อของตัวเองเลย” อาจารย์แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่แยกกระเป๋าสตางค์ให้ชัดเจนและให้งบประมาณเขาสามารถซื้อของที่อยากได้ในราคาที่เหมาะสม
- ให้เงินจำนวนหนึ่ง โดยให้เด็กบริหารเอง เช่น ให้เขาพกเงินไว้ 50 บาท และให้เขาตัดสินใจซื้อของด้วยตัวเองตามวงเงินนั้น เมื่อเขามีเงินของตัวเองจะได้รู้ว่าเงินของเขากับเงินของคุณพ่อคุณแม่เป็นคนละส่วนกัน เขาจะรู้ว่าเขาซื้อของได้ในราคาเท่านี้
- อยากได้ของแพง เมื่อลูกอยากได้ของแพงขึ้นมา “แม่ไม่มีเงินเยอะขนาดนั้นหรอก” “เราจะเอาไปใช้ทำอะไรจ้ะ” “แม่เคยเห็นที่อื่นขายถูกกว่านี้ เงินส่วนต่างที่เหลือนี้เราเอาไปซื้อหนังสือนิทานได้อีกหลายเล่มเลยนะ” หรือหากเด็กเข้าใจและรับรู้ได้แล้ว ก็สอนตรงๆ ได้ว่า “แม่ว่ามันไม่จำเป็นนะคะ”
- มีอยู่แล้ว บางทีลูกก็ยังไม่รู้ความว่าของตรงหน้านี้ต่างกับของที่เขามีอย่างไร ความอยากก็ทำให้เขายืนกรานจะซื้อ คุณสอนให้เขาประเมินค่าความไม่จำเป็นเหล่านี้ได้ด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า “ถ้าลูกอยากได้ตุ๊กตาตัวนี้ แม่จะเอาพี่หมีที่บ้านบริจาค” เพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งของบางอย่างไม่จำเป็นต้องมีหลายอัน
นอกจากนี้เรากับลูกจะต้องตกลงกันก่อนว่าจะไม่ซื้อของที่เป็นอันตราย ของที่ไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องซื้อฝากเพื่อนมากมายขนาดนั้น เป็นโอกาสอันดีที่จะสอนเรื่องคุณค่าของเงิน
8. เมื่อลูกน้อยกลัวหรือไม่กล้าร่วมกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่เสียสตางค์ไปแล้ว
เป็นธรรมดาของเด็กที่จะตื่นเต้นดีใจเมื่อรู้ว่าจะได้ไปเที่ยว แต่เมื่อไปพบเจอบรรยากาศจริงๆ อาจไม่ชอบอย่างที่คิด หากเป็นกรณีนี้อาจารย์แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมเราต้องบังคับฝืนใจให้ลูกน้อยทำ” การพามาเที่ยวก็เพื่อสร้างความสุขและความทรงจำที่ดีให้ลูกน้อย แต่หากคุณพ่อคุณแม่เสียดายสตางค์แล้วบังคับให้เขาร่วมกิจกรรมจนเกิดความกลัว ทริปในฝันอาจกลายเป็นฝันร้ายฝังใจไปอีกนาน
ซึ่งแทนที่จะยัดเยียดความทรงจำที่ไม่ดีให้ลูกน้อย ขอให้คุณพ่อคุณแม่คิดเสียว่าจ่ายเงินเพื่อซื้อประสบการณ์ ให้รู้ว่าลูกของเรากลัวสิ่งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงต่อไปในอนาคตหรืออาจค่อยๆ หาวิธีปรับเปลี่ยนทัศนคติ แล้วให้เขามาทดลองเล่นใหม่ในวันที่พร้อมกว่านี้ก็จะเป็นการดีที่สุด