AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ทำอย่างไรเมื่อ…ลูกไม่อยากไปโรงเรียน !!

Credit Photo : Shutterstock

ลูกไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหานี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นในเกือบทุกครอบครัว เด็กบางคนตื่นเต้นมากอยากจะไปโรงเรียนเร็วๆ แต่กับเด็กอีกหลายๆ คน ที่พอรู้ว่าจะต้องไปโรงเรียนถึงขั้นขัดใจพ่อแม่ร้องไห้ตั้งแต่บ้านไปจนถึงหน้าโรงเรียนเลยก็มี ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีวิธีช่วยให้พ่อแม่รับมือเมื่อลูกต้องแยกจากไปโรงเรียนอย่างมีความสุขมาฝากกันค่ะ

 

ลูกไม่อยากไปโรงเรียน เพราะสาเหตุใด?

ไม่ว่าจะเปิดเทอมเล็กหรือเปิดเทอมใหญ่เป็นช่วงเวลาที่หลายๆ ครอบครัวต้องเจอกับปัญหา ลูกไม่อยากไปโรงเรียน ที่ไม่ว่าจะดึงความสนใจด้วยหลายวิธีเพื่อให้ลูกอยากไปโรงเรียนมากแค่ไหน แต่กับเด็กเล็กๆ บางคนก็ยังไม่ชินกับการต้องไปโรงเรียนซักเท่าไหร่ เรียกได้ว่าสร้างความปวดหัวให้พ่อแม่มากอยู่พอสมควร และเพื่อให้ทุกครอบครัวที่กำลังมีลูกอยู่ในวัยต้องเข้าโรงเรียน โดยเฉพาะช่วงวัยอนุบาล ได้เข้าใจลูกมากขึ้นว่าเพราะอะไรเด็กๆ ถึงมีอาการไม่ยอมไปโรงเรียน ทางทีมงานได้ขออนุญาตนำคำแนะนำจาก ทพญ.จีรภา ประพาศพงษ์ หรือคุณหมอภา เจ้าของ เพจหมอภา/Jeerapa prapaspong  ซึ่งคุณหมอได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียด พร้อมคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ในการรับมือกับลูกเมื่อถึงเวลาต้องไปโรงเรียนกันค่ะ

บทความแนะนำ คลิก คัมภีร์รับมือ 10 วิธี ทำให้ลูกอยากไปโรงเรียน ได้ผล 100%

“ความวิตกกังวลในการแยกจากพ่อแม่ของเด็ก เริ่มเมื่อลูกอายุ ประมาณ 6-8 เดือน อาการนี้จะคงอยู่จนอายุ 5 ขวบ ความกังวลเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่ เป็นการทำงานของสมองส่วนล่างในวัยเด็กเล็กจะมีความไวเกินปกติ(ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการ  เอาตัวรอดของเด็ก) เพราะฉะนั้น การที่เราให้เด็กเข้าโรงเรียนในช่วงก่อนหน้านี้ จึงเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ที่เด็กต้องร้องไห้ งอแงเครียด กังวลเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่ไปอยู่ที่แปลกๆ สถานที่ใหม่ ตึกใหญ่ๆ เจอผู้คนมากมาย และชีวิต กิจวัตรที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างสิ้นเชิง”

อ่านต่อ ทำไมลูกชอบร้องไห้เมื่อต้องไปโรงเรียน คลิกหน้า 2 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

Credit Photo : Shutterstock

 

ทำไมเด็กร้องไห้ตอนเช้า ตอนเย็นมาร่าเริงเป็นคนละคน ??

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวที่เคยเจอกับอาการแบบนี้ของลูก ที่ตอนเช้ากว่าจะเกลี้ยกล่อมให้ไปโรงเรียนกันได้ ก็เสียน้ำตาไปหลายลิตร ลูกรักร้องไห้ไปตลอดทาง แถมตอนจะเข้าโรงเรียนก็กอดแขน กอดขาพ่อแม่ไว้ พลอยทำให้พ่อแม่ใจคอไม่ดีเพราะเป็นห่วงลูก แต่พอตอนเย็นไปรับลูกที่โรงเรียนกลับบ้าน ไหงเป็นคนละคนกับเมื่อเช้าเลย เพราะลูกยิ้มเล่นสนุกกับเพื่อนๆ ได้ดีจนพ่อแม่นี่งงเลย สำหรับเรื่องนี้คุณหมอภาได้อธิบายไว้อย่างละเอียด ตามนี้ค่ะ

“นอกจากเด็กจะค่อยๆ ปรับตัวให้เริ่มคุ้นชินแล้ว ความจริงก็คือ ฮอร์โมนแห่งความเครียดจะมีระดับสูงสุดในตอนเช้า ค่อยๆ ลดลงตอนกลางวัน ตามธรรมชาติ เมื่อเรารู้ความจริงข้อนี้แล้ว เราจึงต้องช่วย เค้าผ่านพ้นเวลาแย่ๆ ในตอนเช้าให้มากนะคะ อีกด้านหนึ่ง เด็กที่ดูสบายดีและไม่ร้องไห้ (ทั้งที่คับข้องใจอยู่) ก็น่าเป็นห่วง มีงานวิจัยว่า เด็ก 1 ขวบ ที่ไม่ร้องไห้หาแม่ เมื่อแม่ออกจากห้องไป มีระดับฮอร์โมนความเครียดสูงพอๆ กับเด็กที่ร้องไห้นั่นหมายความว่า เด็ก 1 ขวบ เรียนรู้ที่จะข่มอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้ได้ ในขณะที่อายุยังน้อย เป็นสิ่งที่น่าห่วง !! เพราะถ้าเด็กเล็กๆ ไม่แสดงอาการเศร้าเสียใจ เด็กจะไม่ได้รับการดูแล ปลอบโยนอย่างที่เขาต้องการ (ไม่ได้หมายความว่า เด็กไม่ร้องไห้จะคับข้องใจทุกคน)

บทความแนะนำ คลิก  5 ขั้นตอนฝึกสมอง ให้ลูกพร้อมแยกจากแม่เมื่อไปโรงเรียนวันแรก

ไม่มีเด็กคนไหนติดพ่อแม่ไปจนโต เพราะตามธรรมชาติเมื่อเด็กโตขึ้น ความรู้สึกแย่ต่อการแยกจากพ่อแม่ในสมองส่วนล่าง  ของเขาจะลดความอ่อนไหวลงมาก เพราะการพัฒนาสมองส่วนบน จะยับยั้งระบบนี้ตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ความคิดที่ผิดคือ ถ้าสนใจที่ลูกติดมากๆ หรือ ลูกร้องไห้เวลาแยกจาก ยิ่งทำให้ลูกติดเข้าไปใหญ่ จึงเป็นความเข้าใจที่ผิด !! เมื่อเด็กๆ   รู้สึกว่า โลกปลอดภัย เขาจะหันไปหาโลกหันไปสนใจใคร่รู้สิ่งต่างๆ เอง ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กๆ อยู่แล้ว เราไม่ จำเป็นต้องผลักดันเขา เด็กจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น เขาจะออกจากเรา หันไปสำรวจโลกมากขึ้นเองตามธรรมชาติ และนานขึ้นเรื่อยๆ”

 

อ่านต่อ 7 วิธีฝึกลูกเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่ไปโรงเรียน คลิกหน้า 3 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

7 วิธีฝึกลูกให้รับมือเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่ไปโรงเรียน

  1. เลือกคนดูแลเด็กที่รักเด็ก ให้ความรัก ความอบอุ่น และทำให้เด็กรู้สึกสงบ ปลอดภัยได้ ครูหรือผู้ดูแล (ที่ทำหน้าที่ยิ่งใหญ่ แทนพ่อแม่) ต้องดูแลเด็กได้อย่างดีทั้งด้าน (ความสนุก) และเวลาที่เด็ก (ทุกข์ใจ)
  2. เป็นธรรมชาติที่เด็กจะร้องไห้ในแต่ละวันที่แม่แยกจาก เเม้แม่จะพยายามทำให้มั่นใจว่า จะกลับมารับลูกแน่ในตอนเย็นพ่อ แม่ต้องเลือก ที่ที่คนดูแล (พร้อม) จะช่วยเหลือให้เด็กผ่านความรู้สึกแย่ขณะที่ต้องต่อสู้กับฮอร์โมนแห่งความเครียด โดย รีบเข้าไปอุ้ม และให้เวลากับเด็กขณะร้องไห้การอุ้มและการปลอบใจ จะช่วยลดระดับคอร์ติซอล และกระตุ้นสารเคมีเชิงบวกในสมองลูกได้ ถึงแม่ไม่อยู่ หนูก็รู้สึกปลอดภัย การตอบสนองทางอารมณ์ ความอบอุ่น การโอบกอด จะช่วยป้องกันไม่ให้ระดับคอร์ติซอลของเด็กสูงขึ้นในขณะที่ถูกแยกจากพ่อแม่ เมื่อเด็กเริ่มรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ระดับฮอร์โมนความเครียดก็ลดต่ำลงค่อยๆ ผ่อนคลายและเริ่มเล่นได้ (ดังนั้นโรงเรียนที่เด็กมากเกินครูหรือผู้ดูแล จะไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะอาจมีเด็กหลายคนร้องไห้พร้อมกัน)
  3. จงสร้างเวลาที่ดีกับลูก ก่อนจากกันเมื่อจะแยกจากที่ประตูห้องอย่ารีบหนีออกไปอย่างรวดเร็วการรีบ ทำให้ผลลัพธ์แย่ลง เพราะทำให้สารเคมีและฮอร์โมนความเครียดเพิ่มระดับสูงขึ้นก่อนแยกจากกัน ให้กอดลูกแน่นๆ วิธีนี้ ช่วยกระตุ้นสารแห่งความรักความผูกพันในสมองทำให้ลูกสงบลงได้
  4. กระตุ้นระบบความอยากรู้อยากเห็นของลูก เมื่อครูมาช่วยอุ้ม นอกจากแสดงความเข้าใจ ให้ความรัก ความอบอุ่น ครูสามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ชี้ให้ดูโน่นนี่ ในโรงเรียน คอยให้กำลังใจเค้าในการสำรวจค้นหาแนะนำให้เด็กรู้จักเพื่อนใหม่ เพื่อกระตุ้นสมองส่วนหน้าของเด็ก ให้เด็กดูของเล่นในห้อง ดูข้าวของต่างๆ และแม่ก็ค่อยๆ ออกไป ในขณะที่รู้ว่ามีสารเคมีทางบวก อยู่ในสมองมากกว่า สารเคมีแห่งความเครียด
  5. ให้ของแทนใจเด็กหลายคนมีของบางอย่างที่ให้ความรู้สึกดี เช่น ผ้าห่มนุ่มนิ่มที่เขากอดประจำตุ๊กตาตัวโปรด ถ้าลูกคิดถึงแม่ ลูกสามารถทำแบบนี้ได้ เพราะแม่อยู่กับลูกเสมอ ช่วยลูกให้อบอุ่น ผ่อนคลายเวลาไม่มีแม่
  6. พ่อแม่ต้องฝึกฝนตนเอง เพื่อช่วยปลอบลูกถ้าพ่อแม่เองก็เครียด ลูกรับรู้ได้มันมีสัญญาณการแสดงออกจากพ่อแม่เล่าวันนี้อาจยาวเกินไป เพื่อนๆ สามารถอ่านเรื่องสัญญาณการแสดงออกได้ในหนังสือ 30 หลักคิดติดปีกลูกนะคะ
  7. ใช้การเล่าเรื่อง บอกความรู้สึกช่วงเวลาที่อยู่กับลูก เราสามารถช่วยลูกสะท้อนความรู้สึกกังวลความรู้สึกแย่ ในตอนที่แม่แยกจากหนูเศร้า หนูเสียใจมากใช่มั้ยลูกเวลาที่แม่ ไปส่งหนูที่หน้าห้องและแม่ออกไปตอนที่แม่ไป หนูเป็นยังไงบ้างคะ (เด็กที่พูดสื่อสารได้ พ่อแม่สามารถกระตุ้นให้เด็กพูดบอกความรู้สึกตัวเองเด็กเล็ก ให้พ่อแม่พูดบรรยายเหตุการณ์ และเอาตัวไปนั่งในใจลูกและบอกความรู้สึกแทนลูก) เมื่อเด็กเล่า เราฟังอย่างตั้งใจ แสดงความเข้าใจความรู้สึกเขา อาจช่วยกันคิดว่า ทำแบบไหนลูกจะรู้สึกดีขึ้น เช่น ถ้าลูกรู้สึกแย่มาก ให้กอดผ้าห่มไว้ ลูกสามารถเดินไปบอกครู หรือ ลูกร้องไห้ก็ได้นะ พอลูกนอน ตื่นขึ้น ก็ได้เจอหน้าแม่แล้ว (เด็กเล็กอาจยังไม่เข้าใจเรื่องเวลา ต้องบอกกิจกรรมที่ทำ) เด็กโตหน่อย อาจให้วาดภาพ หรือเขียนสื่อสาร หรือพูดบอกคนที่เขาไว้ใจ

ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอค่ะ ขอเพียงแค่พ่อแม่เข้าใจลูกในทุกช่วงพัฒนาการ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และสำหรับครอบครัวไหนที่กำลังเจอกับปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน ลองนำวิธีที่คุณหมอภาแนะนำนี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

เช็กลิสต์และเตรียมของใช้ลูก ก่อนไปโรงเรียนอนุบาลวันแรก!
30 คำถามหลังเลิกเรียน ไขปริศนาปัญหาที่โรงเรียนลูก
โรงเรียนอนุบาลที่เจ๋งที่สุดใน 3 โลก

 


ขอขอบคุณเนื้อหาข้อมูลจาก
ทพญ.จีรภา ประพาศพงษ์ เจ้าของเพจ “หมอภา/Jeerapa prapaspong