การนอนหลับที่มีคุณภาพช่วยให้สุขภาพดีทั้งต่อระยะสั้น และระยะยาว โดยเฉพาะกับลูกที่พ่อแม่ควรส่งเสริมให้นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม และหลับอย่างมีคุณภาพกันตั้งแต่ที่พวกเขายังเป็นเด็กเล็ก ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีเคล็ดลับ ฝึกลูกนอนเป็นเวลา ช่วยพัฒนาการดี มาบอกให้ทุกครอบครัวที่มีลูกได้ทราบ และลองนำไปฝึกกับลูกๆ ที่บ้านกันค่ะ
ฝึกลูกนอนเป็นเวลา ช่วยพัฒนาการดีได้อย่างไร?
อาหารคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ช่วยให้เด็กๆ สามารถเจริญเติบโตขึ้นได้อย่างสมวัย แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่อาหารอย่างเดียวเท่านั้นที่ สำคัญกับเด็ก เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีพัฒนาการสมวัยรอบด้าน นั่นก็คือการได้พักผ่อนนอนหลับสนิทอย่างเต็มที่
พ่อแม่รู้ไหมว่าลูกแรกเกิดวัยทารกจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนอนมากถึง 16-18 ชั่วโมงต่อวัน โดยที่ลูกจะนอนสั้นๆ 1-2 ชั่วโมง แต่นอนหลายรอบ ซึ่งเด็กทารกจะยังไม่สามารถแยกได้ว่านี่คือกลางวัน หรือกลางคืน ดังนั้นจะเห็นว่าทารกทุกคนส่วนใหญ่จะนอนกลางวัน แต่ไปตื่นช่วงกลางคืนบ่อย แต่เมื่อลูกอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป ธรรมชาติการนอนจะเปลี่ยนไป คือ ลูกนอนกลางวันน้อยลง และไปนอนช่วงกลางคืนนานขึ้น
Must Read >> อาการนอนผวาในทารก สาเหตุ และวิธีแก้ไข
การนอนหลับของลูกในช่วงกลางคืนที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลให้ฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโต(Growth Hormone) หลั่งออกมาได้ดี ซึ่งโกรทฮอร์โมนนี้มีผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายของลูก ที่จะเจริญเติบโตได้อย่างสมวัย นอกจากนี้การนอนหลับที่มีประสิทธิภาพยังสามารถช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอไปให้ฟื้นฟูกลับมาแข็งแรง ที่สำคัญมากอีกอย่างก็คือช่วยให้เด็กๆ มีสมองในการเรียนรู้ และจดจำได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
เคล็ดลับ ฝึกลูกนอนเป็นเวลา
อย่างที่บอกไปค่ะว่าเมื่อลูกอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป เขาจะนอนหลับกลางวันลดชั่วโมงลงมา และจะมีชั่วโมงการนอนหลับช่วงกลางคืนมากขึ้น ซึ่งโดยปกติเด็กจะสามารถนอนหลับยาวช่วงกลางคืนนานถึง 9 ชั่วโมง แต่การนอนหลับสนิทตลอดคืนอาจไม่ได้เป็นกับเด็กทุกคนเสมอไป เพราะกับเด็กบางคนอาจนอนหลับได้ไม่ดีเท่าไหร่ในช่วงกลางคืน อาจมีตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อยๆ การที่ลูกนอนหลับไม่สนิทย่อมส่งผลต่อพัฒนาการในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น พัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการด้านการเรียนรู้ พัฒนาการด้านอารมณ์ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้การนอนหลับของลูกมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ พ่อแม่สามารถช่วยฝึกลูกนอนเป็นเวลาได้ค่ะ
1. 10-30 นาทีก่อนนอน ช่วงเวลาคุณภาพ
การอ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน หรือจะเปิดเป็นเพลงกล่อมเด็กจังหวะเบาๆ ประมาณ 10-30 นาที พ่อแม่รู้ไหมว่าดีต่อคลื่นสมองของลูกมาก นั่นเพราะจะช่วยให้ลูกผ่อนคลาย และเคลิ้มหลับได้ง่ายขึ้น
2. ลูกวัย 1-3 เดือน ต้องการความอุ่นใจ
ตอนที่ลูกยังอยู่ในช่วงหลังคลอดมาได้ 1-3 เดือน ลูกต้องปรับตัวอย่างมากกับความเปลี่ยนแปลงที่ต่างไปจากโลกภายในครรภ์ของคุณแม่ โดยเฉพาะเรื่องเวลาการนอนที่ลูกจะไม่รู้ว่านี่คือกลางวัน หรือนี่คือกลางคืน บางครั้งก็จะร้องไห้งอแงไม่ยอมนอน ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดคือควรทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น และปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่สามารถทำให้ลูกได้ก็คือ การโอบกอด การลูบหลัง หรือตบก้นลูกเบาๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่ามีสัมผัสรักที่คุ้นเคยจากพ่อแม่ช่วยปลอบประโลมอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา ก็จะทำให้ลูกผ่อนคลาย และหลับได้เร็วขึ้น
3. ฝึกนอนได้ตั้งแต่เวลากลางวัน
ในช่วงที่ลูกยังแบเบาะอยู่ เขาจะนอนทั้งวันเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอาจจะเริ่มฝึกให้เขานอนเป็นเวลาในช่วงกลางวันก่อน อาจยังหลอกล่อด้วยจุกนมหลอกๆ ได้ แต่ถ้าหลังลูกน้อยอายุ 6 เดือนไปแล้วไม่แนะนำให้ใช้จุกหลอกนี้ในเวลานอนตอนกลางคืน เพราะหากเขาผวาตื่นขึ้นมาแล้วจุกหลอกไม่อยู่กับเขา เขาจะร้องไห้และทำให้หลับยากขึ้น แนะนำให้ก่อนนอนวางตุ๊กตาผ้า หรือผ้าห่มอุ่นๆ แนบตัวเขาแทนจะดีกว่า เพราะถ้าเขาตื่นมาเมื่อไหร่แต่มองไปยังเห็นตุ๊กตาหรือยังอยู่ใต้ผ้าห่มอุ่นๆ เขาก็จะไม่ผวาจนตกใจและอาจจะหลับต่อเองได้[1]
4. ไม่ควรให้ลูกกินอิ่มมากไปก่อนนอน
พ่อแม่หลายคนเชื่อว่าหากลูกกินอิ่มจะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริง การให้ลูกกินนม หรืออาหารเสริมอื่นอิ่มมากไปก่อนเข้านอน จะทำให้ลูกหลับได้ยากขึ้น เพราะรู้สึกอึดอัดท้องไม่สบายตัว
การลดปริมาณนมให้น้อยลงต่อคืน ในลูกที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จะเป็นผลดีต่อคุณภาพการนอนช่วงกลางคืนของลูก เนื่องจากไม่ต้องตื่นขึ้นมาร้องงอแงกลางดึกเพราะผ้าอ้อมเปียกเต็มไปด้วยปัสสาวะ
อ่านต่อ >> เคล็ดลับช่วยลูกนอนเป็นเวลา หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
5. ไม่ควรขู่ให้ลูกเกิดความกลัว
เมื่อลูกโตพอที่จะเข้าใจความหมาย หรือเรื่องราวต่างๆ ได้ดีขึ้น พ่อแม่รวมทั้งคนที่เลี้ยงดูไม่ควรเล่าเรื่องน่ากลัว หรือพูดขู่ลูกว่า “ไม่ยอมนอนเดี๋ยวหนอนคลานขึ้นมาบนที่นอนนะ” หรือ “ระวังตุ๊กแกกินตับ เด็กดื้อไม่นอน” ฯลฯ การขู่เด็กเพื่อให้นอนหลับไม่ใช่เรื่องดีที่ควรทำกับเด็กๆ เลยค่ะ เพราะแทนที่จะไปช่วยส่งเสริมการนอนของลูก กลับกลายเป็นไปทำให้ลูกหวาดผวานอนหลับไม่สนิท หรือบางทีก็สะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะฝันร้าย
6. บรรยากาศในห้องนอนต้องไม่สว่างจ้า
การเปิดไฟจ้ามากเท่าไหร่ ลูกก็จะยิ่งทำให้ลูกนอนหลับยากมากขึ้น ดังนั้นก่อนพาลูกเข้านอนควรปรับแสงไฟในห้องนอนให้สลัวลง ก็จะช่วยให้ลูกหลับได้ง่ายขึ้นค่ะ
7. หากลูกหลับไปแล้วและร้องไห้
แนะนำให้คุณแม่ปิดไฟให้สนิทถ้าเห็นว่าลูกหลับแล้ว และหากลูกร้องไห้เสียงดังขึ้นมา ให้แวะมาดูเป็นระยะได้แต่ไม่แนะนำให้เปิดไฟในห้อง หรืออุ้มลูกจากเตียง และควรใช้เวลาไม่เกิน 2 นาทีในการมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็ปล่อยให้เขาหลับต่อ ถ้าเขายังร้องไห้อีก ขอให้คุณแม่แข็งใจไว้อีกหน่อย แล้วค่อยเดินกลับไปดูเหมือนเดิม ไม่เปิดไฟ แต่อาจทิ้งระยะเวลาก่อนเข้าไปดูนานขึ้น ทำแบบเดิมซ้ำ และรอดู 3-5 วันว่าการนอนหลับของลูกมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่[2]
8. สอนลูกสวดมนต์ก่อนนอน
การสอนให้ลูกรู้จักการไหว้พระสวดมนต์เป็นเรื่องที่ดีกับตัวลูกมาก โดยเฉพาะสอนให้ลูกได้สวดมนต์ก่อนนอนเป็นตั้งแต่ ตอนเป็นเด็กเล็กๆ ถือเป็นการทำสมาธิง่ายๆ ส่งผลให้สมองผ่อนคลายก่อนเข้านอนได้ดีมาก แน่นอนว่าเมื่อสมองของเด็ก เกิดการผ่อนคลาย และใจนิ่งเบาสงบ จะช่วยให้ลูกเคลิ้ม และนอนหลับได้สนิทมากขึ้น
พัฒนาการลูกจะดีรอบด้านในทุกทักษะได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับพ่อแม่ว่าได้ส่งเสริม หรือกระตุ้นให้กับลูกอย่างเหมาะสมกับช่วงวัยของพวกเขาด้วยหรือเปล่า พ่อแม่คือโค้ชคนสำคัญของลูก ฉะนั้นหน้าที่ของโค้ชต้องให้สิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์กับตัวลูกในทุกๆ ด้าน และต้องไม่พลาดที่จะทำให้ช่วงเวลาการนอนหลับพักผ่อนของลูกเป็นช่วงเวลาคุณภาพกับลูกในทุกค่ำคืน เพื่อที่เขาจะได้ตื่นขึ้นมาพร้อมกับอารมณ์ที่ดี สมองที่โล่งปลอดโปร่งพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในทุกวัน …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ปัญหาการนอนหลับในเด็ก และการแก้ไข
อาการนอนผวาในทารก สาเหตุ และวิธีแก้ไข
ลูกเตี้ย เพราะขาดโกรทฮอร์โมน จากการนอนดึก จริงหรือ ?
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
อยากให้ลูกนอนเป็นเวลาลองทำตาม 8 กฎ.www.paolohospital.com
www.thaihealth.or.th