เทคนิคเลี้ยงลูก ให้สุขภาพจิตแข็งแรง เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงทั้งร่างกาย และจิตใจ ต้องมาจากครอบครัวที่มีความรัก ความอบอุ่นเป็นรากฐานที่มั่นคง ทีมงาน Amarin Baby & Kids เทคนิคเลี้ยงลูก ให้สุขภาพจิตแข็งแรง จาก พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต มาฝากคุณพ่อคุณแม่ให้ได้นำไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูกๆ ที่บ้านกันค่ะ
เทคนิคเลี้ยงลูก ให้สุขภาพจิตแข็งแรง คืออะไร ?
การจะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้ดีได้ใช้เทคนิค 2 ข้อเท่านั้น คือ สร้างความสัมพันธ์ในบ้านที่ดีและสร้างกฎระเบียบที่ดี ฟังดูจะว่าง่ายก็ง่าย เพราะมีอยู่แค่ 2 ข้อเท่านั้น แต่จะมองว่ายากก็ยากอยู่ เพราะทุกวันนี้ยังทะเลาะกับลูกทุกวันอยู่เลยใช่ไหมคะ แล้วแบบนี้จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้อย่างไร แล้วกฎระเบียบก็มีให้ลูกอยู่แล้ว แต่ลูกก็ไม่เคยทำตามเสียที ก่อนจะกลุ้มใจไปมากกว่านี้ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ลองอ่านรายละเอียดแล้วลองนำไปปรับใช้ดูนะคะ หมอรับรองว่าหากคุณพ่อคุณแม่ทำได้ จะช่วยให้ลูกสุขภาพจิตแข็งแรงมากขึ้นแน่นอน
อ่านต่อ >> “2 เทคนิคเลี้ยงลูก ให้สุขภาพจิตแข็งแรง” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
2 เทคนิคเลี้ยงลูก ให้สุขภาพจิตแข็ง
1. ความสัมพันธ์ในบ้านที่ดี
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าความรักคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี แต่นั่นยังไม่ถูกต้อง เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกแบบใช้อำนาจ แล้วให้ความรักแก่ลูกด้วยการบังคับ หรือให้ความรักด้วยการเปรียบเทียบ บ่น ตำหนิ ต่อว่า เพื่อหวังว่าเขาจะดีขึ้น เช่น “ทำไมถึงทำตัวอย่างนี้ รับผิดชอบบ้างสิ เห็นไหมว่าข้างบ้านเราเขาเรียนกันยังไง เห็นไหมว่าเขาเพียรพยายามขนาดไหนถึงเรียนได้เกรดดีขนาดนี้ โตขึ้นอยากจะประสบความสำเร็จกับเขาบ้างรึเปล่า” หากแสดงความรักแบบนี้ ลูกย่อมไม่เกิดความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่อย่างแน่นอน จริงไหมคะ แล้วลูกจะรับรู้ได้ไหมว่านี่คือความรัก…เด็กบางคนอาจจะรับรู้ แต่รับรู้บนความโกรธและความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ซึ่งเด็กที่โตมาด้วยความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ย่อมไม่มีทางเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจและกล้าทำในสิ่งที่เหมาะสมด้วยตัวเองได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้ต้องปรับที่วิธีการสื่อสารของคุณพ่อคุณแม่ ดังนี้
พูดให้ถูกวิธี
หลักของการพูดที่ถูกวิธี คือการใช้ “I” Massage หรือขึ้นต้นด้วย “ฉัน” หรือ “เรา” ในขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่พูดกับลูกขึ้นต้นด้วย “You-He-She-They” เช่น “คนบ้านนี้มันไม่รู้จักรับผิดชอบ พูดกี่ทีแล้วก็ไม่รู้จักฟัง เบื่อ!” ด่าใครไม่รู้…แม้จะไม่ระบุชื่อแต่ถ้าลูกที่ฟังอยู่เป็นคนคิดมาก ลูกก็จะคิดว่า “หนูก็ทำการบ้านเสร็จแล้ว ดีขนาดนี้แม่ยังด่า…” แต่ถ้าลูกปรับตัวง่ายก็จะฟังหูซ้ายทะลุหูขวา หรือสื่อสารกับลูกด้วย “You” เช่น “นี่ เราคุยกันกี่รอบแล้ว รับผิดชอบบ้างสิ จำได้บ้างไหม จะเรียนไหมหนังสือเนี่ย หรืออยากจะไปเป็นขอทาน” นี่คือการใช้ You ล้วนๆ เมื่อใช้ You คำสอนก็จะกลายเป็นคำบ่นและคำด่าในทันที คำพูดของแม่จึงเป็นการสื่อสารที่ผิด เพราะไม่ได้ช่วยให้ลูกทำสิ่งที่ถูกต้องเลย แล้วต้องพูดแบบไหนถึงจะเรียกว่า “I” Message ล่ะ หมอมีเทคนิคมาให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกพูดกันค่ะ
“I” Message ใช้แล้วแฮปปี้กันทั้งบ้าน
ขั้นตอนของการพูดด้วย “I” Message มีทั้งหมด 3 ขั้น ตามลำดับ ดังนี้
- บอกว่าสถานการณ์นี้คืออะไร ไม่ได้บอกว่าเขาเป็นอย่างไร เช่น ลูกดูทีวีไม่ทำการบ้าน ให้พูดว่า
พ่อแม่ควรพูดกับลูก คือ “เอาแต่ดูทีวีอย่างนี้”
พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก คือ “ทำไมไม่รับผิดชอบ”
เราควรบอกพฤติกรรมที่ชัดเจน ไม่ใช่บอกคุณลักษณะ อย่าไปตัดสินว่า ลูกแย่อย่างไร
- แม่หรือฉันรู้สึกอย่างไร ที่ต้องพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะแม่ห่วงลูกอย่างไร รู้สึกอย่างไร ทำไมต้องบ่นให้มาทำการบ้าน โดยส่วนมากเรามักจะบ่นหรือดุด่า แต่ไม่เคยบอกความรู้สึกลงไปเลยว่า “ไม่ทำการบ้าน เอาแต่ดูทีวีอย่างนี้ แม่ห่วงนะลูก เดี๋ยวการบ้านไม่เสร็จ คืนนี้ต้องมาอดนอนทำ หนูก็ต้องถูกแม่บ่นอีก เดี๋ยวก็หงุดหงิดร้องไห้อีก” นี่คือความเป็นห่วงที่เราไม่เคยบอกเขา แต่เรามักบอกแต่ว่าลูกไม่ดี ลูกไม่รับผิดชอบ ลูกไม่ได้เรื่อง
- บอกว่าอยากให้เกิดอะไรขึ้นต่อไป ไม่ใช่บ่นพร่ำพรรณายาว แค่บอกสั้นๆ ว่า “ปิดทีวี” แค่นั้นเอง แต่บางคนขุดตั้งแต่อดีตมาด่าอีก 5 นาที ฉะนั้นบอกไปเลยสั้นๆ ว่า ”ปิดทีวีแล้วมาทำการบ้านค่ะลูก” จบ
ทั้งหมดนี้คือ 3 ขั้นตอนของการพูด “I” Message แต่…การจะทำให้ “I” Message มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จได้อย่างดีนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องฝึกฝน อยู่ใกล้ลูกขณะพูด และใช้น้ำเสียงจริงจังด้วยนะคะ
- คนที่ไม่เคยทำต้องฝึก! เวลาหมอสอนเวิร์คช็อปกับพ่อแม่ หมอจะให้เขียนประโยคที่ต้องพูดตามสถานการณ์นั้นๆ ก่อน เพราะถ้าเราไม่ฝึก ถึงเวลาจริงๆ พูดไม่ได้หรอก ดังนั้นต้องฝึกพูดกับตัวเองหน้ากระจก หรือฝึกพูดกับสามีให้เรียบร้อยก่อนว่าโอเคไหม เพราะพอให้ลองทำจริงๆ 80% จะขึ้นต้นด้วย “You” เหมือนเดิม เคล็ดลับง่ายๆ คือ ต้องลองยกสถานการณ์ มีตัวอย่างประโยค แล้วลองทำ เช่น ลูกไม่ทำการบ้าน คุณจะพูดกับลูกว่าอย่างไร ให้ลองเขียนเป็นประโยคเลย ไม่อย่างนั้นก็จะทำไม่เป็น
- คำพูดจะมีพลัง เราต้องอยู่ใกล้ลูก แม่อยู่หน้าบ้าน ตะโกนให้ตายลูกก็ไม่สนใจ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องวางของทุกอย่าง แล้วเดินไปใกล้ๆ เขา จะแตะไหล่ จ้องตา หรือเรียกชื่อก็ได้ เพื่อให้ลูกรู้ว่าเราคุยกับเขาอยู่นะ
- ใช้น้ำเสียงที่จริงจัง หรือแม้กระทั่งบอกว่าเราไม่พอใจอยู่ก็พูดได้ เราไม่ได้ด่าเขานะคะ หลายครั้งเรามักจะพูดกับลูกว่า “ทำไมเป็นเด็กไม่ดีอย่างนี้นะ” เด็กเขาจะเถียงกลับในใจว่า “ฉันไปโรงเรียนทุกวัน ฉันไม่เคยโกหก ฉันไม่ดียังไง เพื่อนๆ เขาก็เล่นเกมกันทุกคน แสดงว่าเด็กทั้งห้องก็นิสัยไม่ดีหมดสิ” แต่ถ้าเราบอกว่า “แม่โกรธลูกอยู่นะ” เด็กจะไม่มีสิทธิ์เถียง เพราะแม่โกรธ ซึ่งมันเป็นความจริง เช่น “เล่นเกมอย่างนี้แล้วไม่ทำการบ้าน แม่รู้สึกโกรธ แม่ไม่ชอบ” บอกได้ แต่ต้องบอกด้วยว่าที่เราไม่ชอบเพราะอะไร “เพราะแม่เป็นห่วง แม่หงุดหงิดเพราะเป็นห่วงว่าเดี๋ยวงานมันจะไม่เสร็จ ป่ะ…ปิดเกม” จะเห็นว่าไม่มีคำด่าออกมาจากปากเลย ไม่มีคำว่า “เขาเป็นเด็กไม่ดี” ตรงไหนเลย แต่บอกให้เขารู้ว่า ตอนนี้ฉันกำลังหงุดหงิดนะเธอ นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ใช้น้ำเสียงที่จริงจัง ทำได้เลย ไม่มีปัญหา แล้วไม่ต้องห่วงว่าคำพวกนี้จะทำร้ายจิตใจลูก เพราะเราไม่ได้ตหนิลูกสักคำ
ชมให้เป็น
หลังจากลูกทำตามที่เราพูดได้แล้วจากการใช้ “I” Message ก็เข้ามาสู่เรื่องการชม คุณแม่อาจชมลูกว่า “เก่งนี่ พอตั้งใจแป๊บเดียวก็ทำการบ้านเสร็จแล้ว พรุ่งนี้ทำแบบนี้อีกนะคะ” และแล้ววันนั้นก็จบลงด้วยการทำการบ้านเสร็จ ไม่ทะเลาะกัน มีความสุขกันทุกฝ่าย เรื่องการชม หมอเชื่อว่าทุกคนทำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำชมก็มีเทคนิคการใช้เช่นกัน
ชมอย่างไรให้ลูกรู้สึกดี
- ต้องรู้สึกดีกับลูกจริงๆ อันดับแรกเลยต้องย้อนกลับมาถามตัวเองก่อนว่า “คุณคิดว่าลูกของคุณมีอะไรดีบ้าง” มีพ่อแม่บางคนตอบว่า ไม่มี เพราะขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ เถียงเก่ง ดื้อ หมอต้องถามย้ำว่า ข้อดีสักข้อมีไหม ซึ่งพ่อแม่บางคนนึกไม่ออก หมอถึงกับต้องถามกลับว่า ลูกไปโรงเรียนทุกวันหรือเปล่า โกหกไหม ขโมยของไหม ตีน้องตีเพื่อนหรือเปล่า ติดยาไหม ถ้าเขาไม่ได้ทำสิ่งไม่ดีเหล่านี้ เขายังไม่ดีอีกหรือ มีบ้างเหมือนกันที่พ่อแม่ตอบว่า ยังไม่ดีพอ เพราะพ่อแม่บางคนคาดหวังกับลูกสูง คิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ลูกต้องทำได้อยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องชม
- ทำไมต้องรู้สึกดีกับลูกจริงๆ เพราะหากไม่รู้สึกว่าลูกมีอะไรดีจริงๆ จะกลายเป็นการชมแบบปากพูดชมแต่สีหน้าไม่ใช่ ซึ่งเด็กก็ดูออก หรือหากไม่พูดชมเลยก็จะเป็นการบั่นทอนกำลังใจเด็ก เช่นเคสเด็กคนหนึ่งซึ่งเรียนดี ได้เกรดสี่ ได้ทุน สอบติดที่หนึ่งของคณะ แต่ตอนนี้เรียนมหาวิทยาลัยจะไม่จบ เขาไม่มีกำลังแรงใจจะเรียนแล้ว เนื่องจากทั้งชีวิตโดนคุณพ่อพูดว่า “เก่ง แต่ จะเก่งกว่านี้ถ้าขยันกว่านี้ ตั้งใจกว่านี้” เด็กจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอสำหรับพ่อสักที
- ชมคือชม ไม่ใช่ชมแล้วบ่น คำชมก็ต้องเป็นคำชม ไม่ใช่ “ตั้งใจทำก็เป็นนี่ เป็นเด็กดีนะเนี่ย อย่าไปทำตัวให้เหมือนที่ผ่านๆ มาล่ะ” พ่อแม่หลายคนมักตกม้าตายแบบนี้ เพราะกลับมาใช้ “You” Message เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นก็จะจบลงไม่สวยเท่าไร คำชมที่ชมไปก่อนหน้านี้จะหมดค่าไปทันที
- ชมได้ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องรอจนลูกได้โล่รางวัล ไม่ต้องรอจนลูกได้เกรดสี่ หลายบ้านมักจะรอลูกประสบความสำเร็จแล้วค่อยชม แต่ระหว่างทางที่กว่าลูกจะไปถึงความสำเร็จนั้น ไม่มีใครชมเขาเลย ทำให้ไม่เกิดการส่งเสริมคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูก เช่น ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่นตั้งใจ เป็นต้น เพราะลูกไม่ได้ถูกชมเชยลักษณะนิสัยเหล่านั้น การรอให้ลูกประสบความสำเร็จแล้วค่อยบอกว่าลูกเก่งนั้น จะมีเด็กสักกี่คนที่ไปถึงจุดนั้นได้ หมอเห็นเด็กบางคนดีมากๆ เลย แต่เด็กคนนั้นกลับรู้สึกว่าชีวิตของเขาไม่มีคุณค่าอะไร เพราะไม่เคยมีใครชมเขา มีแต่ถูกตำหนิ นี่คือประเด็นสำคัญที่พ่อแม่ต้องตระหนักและรู้จักชมลูกโดยไม่ต้องรอ แม้ผลลัพธ์อาจไม่ถูกใจ แต่ระหว่างทางนั้นลูกทำได้ดีก็ชมเขาได้ “หนูขยันจัง มีความรับผิดชอบ มุ่งมั่นตั้งใจดีมาก” ชมไปเถอะ ลูกรอที่จะถูกชมอยู่แล้ว
อ่านต่อ >> “สอนเทคนิคเลี้ยงลูก ให้สุขภาพจิตแข็งแรง” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
2. กฎระเบียบที่ดี
พ่อแม่กลุ่มที่ต้องเน้นเรื่องกฎระเบียบในบ้านเป็นพิเศษ คือกลุ่มพ่อแม่ที่ตามใจหรือปล่อยปละละเลยลูก พ่อแม่กลุ่มนี้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก เพราะไม่เคยดุด่าว่ากล่าวให้เจ็บช้ำใจ แต่!… ลูกไม่เก็บรองเท้า ไม่ทำการบ้าน ไม่มีระเบียบในชีวิต พอไปโรงเรียนก็มีปัญหา เพราะไม่มีความอดทนกับกฎระเบียบของโรงเรียน ไม่อดทนรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน เข้ากับเพื่อนไม่ได้และกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ
ปัญหาคือ พ่อแม่เลือกที่จะไม่ใช้กฎระเบียบกับลูก ทำไม่สม่ำเสมอ หรือเมื่อเจอลูกงอแงก็ทำไม่ได้ ตัวอย่างที่พบได้บ่อย เช่น ตั้งกฎระเบียบเอาไว้ว่า ให้ลูกทำการบ้านก่อนแล้วค่อยเล่นเกมได้ แต่วันนี้พ่อแม่กลับบ้านมาเหนื่อย เห็นลูกเล่นเกมแล้ว แต่ไม่มีแรงห้าม เลยปล่อยไปสักวัน เมื่อเราหย่อนกฎระเบียบ ลูกก็ได้ใจ วันนี้ทำได้เหรอ งั้นพรุ่งนี้ลองทำใหม่ เผื่อฟลุ๊คเหมือนวันนี้ แต่ถ้าพ่อแม่จริงจัง ทำตามกฎระเบียบที่ตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะไม่มีคำว่าฟลุ๊คในชีวิตลูก ลูกก็จะคิดว่าสู้กัดฟันทำการบ้านให้เสร็จๆ เสียก็จบ แล้วค่อยมาเล่นเกมทีหลังดีกว่า ซึ่งเทคนิคการใช้กฎระเบียบที่ดี นอกจากต้องมีความสม่ำเสมอแล้ว ยังต้องมีรางวัลและบทลงโทษช่วยเสริมให้ลูกมีวินัยมากขึ้นด้วยค่ะ
ให้รางวัล ไม่ใช่สินบน
พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การให้รางวัลกับการติดสินบนไม่เหมือนกัน เช่น “ทำการบ้านนะลูก เดี๋ยวให้กินไอศกรีม” นี่คือการให้สินบน เพราะทุกครั้งที่อยากให้ลูกทำดี ลูกจะรอก่อนว่า คุณจะให้อะไร หากทำแบบนี้จะไม่ช่วยสร้างลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมที่ดีได้เลย
หลักง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องจำไว้คือ “การให้คำชมต้องให้ทันทีเมื่อทำดี แต่การให้รางวัลจะไม่ให้ทันทีเมื่อทำดี แต่ลูกต้องสะสมความดีก่อน ลูกถึงจะได้” ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ให้ได้แค่คำชมเท่านั้น เพราะจุดประสงค์หลักของการให้รางวัล ไม่ใช่การให้สิ่งของแก่เขา แต่ต้องการให้เกิดพฤติกรรมที่ดีอย่างต่อเนื่องต่างหาก
ให้รางวัลอย่างเหมาะสม ช่วยปรับพฤติกรรมได้
การให้รางวัลอย่างเหมาะสมต้องมีระยะเวลา เหมือนกับการสะสมแสตมป์ในร้านสะดวกซื้อ สะสมครบ 10 ดวงแลกของรางวัลชิ้นเล็ก หากอยากได้ของชิ้นใหญ่ต้องสะสมไปเรื่อยๆ หลักการให้รางวัลกับลูกก็เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น “ทำการบ้านเสร็จได้แต้มมาสะสมทุกวัน สามารถเอาแต้มมาแลกขนมได้ แต่ถ้าสะสมจนครบตามที่กำหนด สามารถแลกเวลาเล่นเกมในวันเสาร์อาทิตย์เพิ่มได้ 10 นาที” มีเคล็ดลับอีกนิดคือ
- ของรางวัลต้องเป็นรูปธรรม
- มองเห็นความก้าวหน้าของการสะสมความดีชัดเจน โดยอาจแปะดาวติดข้างผนังห้องเลยว่า วันนี้ทำดีอะไร ได้ดาวกี่ดวงแล้ว
- ความดีที่ให้ทำต้องไม่ยากเกินไป เลือกกิจกรรมที่ลูกจะทำได้สำเร็จแน่นอน อาจเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน เพราะหากเลือกสิ่งที่ยากเกินไป เด็กจะทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ก็จะเกิดความท้อใจและล้มเลิกไปในที่สุด
- ต้องมีรางวัลให้ทั้งระหว่างทางและปลายทาง อย่ารอให้รางวัลชิ้นใหญ่ทีเดียว เพราะเด็กจะขาดกำลังใจ
- สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างที่ลูกทำความดี ด้วยการลดการบ่น เพิ่มคำชม เมื่อเกิดความสัมพันธ์ที่ดีแล้วจะทำให้คุยกันง่ายขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น
ลงโทษอย่างถูกต้อง
“ตีลูกได้ไหม” คือคำถามที่พ่อแม่หลายคนสงสัยกันมาก หลักของการลงโทษเมื่อลูกทำผิดมีแค่ว่า “ลงโทษอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่ทำร้ายร่างกายและจิตใจ” พ่อแม่บางคนบอกหมอว่า ฉันไม่เคยตีลูกเลย แต่คำพูดที่ดุด่าลูกแต่ละคำนั้นช่างโหดร้าย ดังนั้นกลับมาที่คำถามว่าตีลูกได้ไหม จริงๆ ไม่ได้ห้ามตี แต่การตีนั้นต้องไม่ใช่การทำร้ายร่างกาย เช่น ตีจนเขียวช้ำ เลือดออก ตีจนแขนขาหัก เมื่อตีหรือทำโทษเสร็จแล้วต้องอบรมสั่งสอนต่อว่าตีเพราะอะไร ไม่ใช่ตีเสร็จแล้วจากไป โดยที่ลูกก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่พึงควรทำหรือไม่ควรทำนั้นคืออะไร สุดท้ายก็กลับมาใช้เรื่องของ “I” Message เช่นเดิม คือ ที่ตีเพราะพฤติกรรมแบบนี้ ทำให้แม่รู้สึกว่าต้องจัดการเพราะเราเคยตกลงกันไว้แล้ว แล้วต่อจากนี้เราควรทำอย่างไรต่อไปดี ซึ่งก็คือการถามว่าลูกจะทำอย่างไรต่อ ไม่ใช่ใส่อารมณ์ลงไปอย่างเดียว
การลงโทษที่เหมาะสมจริงๆ คือการตัดสิทธิ์ที่ลูกพึงจะได้หรือเป็นสิ่งที่ลูกอยากได้ เช่น การลดเวลาเล่นเกม ลดชั่วโมงอินเตอร์เน็ต เป็นต้น หัวใจสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ว่าลูกชอบและไม่ชอบอะไร แล้วตัดสิทธิ์นั้นทิ้งเมื่อลูกทำผิด หรือให้ทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบมากขึ้น เช่น นอกจากทำความสะอาดห้องของตัวเองแล้ว ต้องทำความสะอาดห้องนั่งเล่นเพิ่มด้วย
สรุปแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ส่วนมากเกิดจากพ่อแม่เป็นหลัก หมอบอกได้เลยว่า หมอต้องมารักษาพ่อแม่เยอะที่สุด เด็กรักษาเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคจริงๆ แต่ในกลุ่มที่มีปัญหาทั่วไปพ่อแม่หลายคนไม่ปรับทัศนคติ ไม่ทำความเข้าใจลูก คิดแต่ว่าลูกต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ตัวฉัน คิดแบบนี้ทุกอย่างก็จบแล้ว หมอขอเข้าข้างเด็กในเรื่องนี้ เช่น แม่ยังไม่เลิกดุด่าเลย แล้วลูกจะกลายเป็นคนพูดจาไพเราะได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการรู้ตัวของพ่อแม่ว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่นั้นจึงสำคัญที่สุด หลักการเลี้ยงดูลูกที่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและให้ความสำคัญก็มีแค่เพียงเท่านี้ล่ะค่ะ
อ่านต่อ >> “เด็กไทยซึมเศร้า และเกเรเพิ่มมากขึ้น” คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เด็กไทยซึมเศร้า + เกเรเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันเด็กไทยเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กประถมปลายจนถึงชั้นมัธยมเกิดจากปัญหาพื้นฐานอย่างพันธุกรรม การเลี้ยงดู หรืออื่นๆ ส่วนมากมักเกิดกับเด็กที่มีการปรับตัวไม่ค่อยดี หรือพื้นฐานเป็นคนคิดมาก พัฒนาการของเด็กวัยนี้ต้องการสังคมและการเข้ากลุ่ม ดังนั้นปัญหาที่พบบ่อยคือเด็กเข้ากับเพื่อนไม่ได้ รู้สึกว่าเพื่อนไม่รัก ไม่มีกลุ่ม อยู่คนเดียวไม่มีใครคบ จึงรู้สึกเสียใจ และซึมเศร้าในที่สุด
อีกปัญหาที่พบได้มากในกลุ่มวัยรุ่นก็คือ เด็กเกเร เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาพื้นฐานมาจากการเป็นเด็กสมาธิสั้น ภาวะบกพร่องทางการเรียน และอื่นๆ เพราะเขาไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งชีวิตเขาถูกที่บ้านและครูด่าว่าว่าเป็นเด็กไม่ดี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตอนโตมากๆ แล้วจึงยากมาก ทำไมเด็กถึงอยู่ในกลุ่มแกงค์เกเร ทำไมยอมตายหรือติดคุกเพื่อเพื่อน เพราะเขารู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่กลับกันพ่อแม่ที่มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับลูก ทำอย่างไรลูกก็ไม่เชื่อฟัง เพราะเราอยู่กันคนละพวก ดาวคนละดวงนั่นเอง
ดังนั้นการปรับพฤติกรรมต่างๆ จึงต้องทำตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็ก ไม่ว่าลูกของคุณจะป่วยหรือไม่ก็ตาม ถ้าพ่อแม่สร้างพื้นฐานและมีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม การใช้อำนาจที่ถูกต้อง ปกครองลูกอย่างถูกวิธี ลูกก็จะเชื่อฟังและมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง
ใช้ “I” Message ช่วยได้ หลัก “I” Message ใช้ได้กับทุกอย่าง แต่อาจต้องเพิ่มรายละเอียดบางอย่างลงไป เช่น ถ้าลูกของคุณเป็นเด็กซึมเศร้า อ่อนไหวง่าย คุณต้องฝึกหลักสะท้อนความรู้สึกให้มาก แค่เราพูดบ่นเรื่องเล็กๆ เช่น ทำไม่ไม่เก็บของ แค่นี้เด็กก็คิดว่าถูกด่าแล้ว ดังนั้นพ่อแม่ที่มีลูกในกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังคำพูดมากๆ เด็กกลุ่มนี้จะคิดแง่ร้ายตลอดเวลา ซึ่งเป็นธรรมชาติของเขา เพราะเขามีสารเคมีแห่งความคิดมากในสมอง ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูอย่างเดียว แต่เป็นลักษณะทางชีวภาพของตัวเด็กเอง ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะตามใจหรือใจอ่อนเพราะกลัวลูกคิดมาก ในกรณีที่ลูกทำผิดจริงก็ต้องสอนเขาโดยใช้กฎระเบียบเข้ามาช่วย เพื่อให้เขามีระเบียบในชีวิตและรู้จักความอดทน สำหรับเด็กอีกกลุ่มคือประเภทชิลๆ เรื่อยๆ กลุ่มนี้พ่อแม่ต้องใช้กฎระเบียบเข้ามาควบคุมเป็นหลัก ดังนั้นพ่อแม่ต้องรู้จักลูกของตัวเองก่อนด้วย
อ่านต่อ >> “โรคจิตเวชอาจกลับมาเป็นตอนโตได้” คลิกหน้า 5
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สถิติการป่วยทางจิตของเด็ก
ประเทศไทยเราเคยสำรวจเด็กเฉพาะในโรงเรียนพบว่า เรามีเด็กป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ที่ประมาณ 8% โรคซึมเศร้า 1% ภาวะบกพร่องทางการเรียนเยอะหน่อย 10-15% โรควิตกกังวล 5% และโรคจิตเวชส่วนใหญ่เกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-5 เท่าทุกโรค ยกเว้นโรคที่มักทำร้ายตัวเอง เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคกลุ่มนี้จะเจอในผู้หญิงมากกว่า แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้หญิงเป็นก็จะอาการหนักกว่าผู้ชาย 3-5 เท่า คือรักษายากกว่า เช่น เด็กผู้หญิงที่เป็นสมาธิสั้นรักษายากกว่าเด็กผู้ชายที่เป็นสมาธิสั้น
แต่ปัญหาหลักของประเทศเราคืออัตราการเข้ารักษาก็ยังน้อยมากในทุกๆ โรค ต้องยอมรับว่ามันยังมีทัศนคติว่า โรคซนบนโลกนี้มันจะมีได้อย่างไง โรคอ่านหนังสือไม่ออกมีด้วยเหรอ อย่างโรคทางกายมันมีอาการที่เห็นชัดจับต้องได้ เป็นรูปธรรมคนก็เข้าใจ แต่ถ้าเป็นภาวะทางจิตเวช มันเป็นสิ่งที่ไม่เห็น มันเป็นพฤติกรรม เป็นความรู้สึก นี่แหละยากในการจับต้อง เพราะฉะนั้นเด็กที่มีปัญหาในเรื่องนี้ก็น่าสงสารตรงที่คนจะไม่เข้าใจ มองว่าเด็กขี้เกียจ แย่ นิสัยไม่ดี ไม่ตั้งใจ แต่ทั้งที่จริงเพราะว่าเขาทำไม่ได้ แม้บางคนจะรู้ว่าเด็กป่วย แต่ทัศนคติที่ฝังลึก ก็จะทำให้เกิดคำถามว่าจริงหรอ พ่อแม่บางคนบอกเข้าใจก็ได้ แต่ก็ยังคิดว่า ลูกโตขนาดนี้ก็น่าจะทำได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า โรคจิตเวชก็เหมือนผู้ป่วยพิการแขนขา แม้เวลาจะผ่านไปอีกสิบปีคนพิการก็ยังไม่สามารถทำให้แขนขางอกออกมาใหม่ได้ เด็กที่เป็นโรคจิตเวชก็เหมือนกัน มันก็เป็นความผิดปกติของสมองซึ่งเรามองไม่เห็น มันเสียจากสมองไปแล้ว มันไม่สามารถงอกใหม่ได้
และโรคพวกนี้ถึงจะรักษา อย่างสมาธิสั้น หนึ่งในสามดี หนึ่งในสามทรงๆ หนึ่งในสามก็เกเรเหมือนเดิม เพราะถึงแม้พ่อแม่จะปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดู แต่บ่อยครั้งเราก็ไม่สามารถควบคุมความเข้มข้นของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมนอกบ้านได้ แต่หมอและครอบครัวก็ต้องช่วยกัน แม้เขาจะยังแย่อยู่ แต่อย่างไรก็อย่าให้เขาทำผิดกฎหมาย และสุดท้ายก็ให้ทำมาหากินต่อไปได้ เท่านี้ก็ดีที่สุดแล้วค่ะ
โรคจิตเวชรักษาตอนเด็กแต่โตขึ้นก็อาจจะเป็นได้อีก
โรคทั้งหมดที่หมอพูดถึงทุกโรครักษาแล้วดีขึ้น แต่บางโรคอาจรักษาแล้วไม่หายขาด คือโรคจิตเวชจริงๆเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองทุกโรค แต่ที่เขาจับมาอยู่จิตเวชเพราะสมัยก่อนไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร เขาก็จับมารวมๆกัน ตอนนี้พอมีความเจริญก้าวหน้า มีงานวิจัย พบว่าทุกอย่างเกิดจากกรรมพันธุ์เกิดจากความผิดปกติของยีน มันเป็นสิ่งที่แก้ไม่ได้ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เขาก็เลยเอามารวมกันตรงนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อพื้นฐานมันเบี้ยวมาแล้ว แนวโน้มที่มันจะเบี้ยวต่อก็มีโอกาส แต่เราจะทำให้มันตรงที่สุดได้ก็ด้วยสามสิ่งนี้ คือ ถ้าพ่อแม่ปรับได้ ชุมชนปรับได้ สังคมปรับได้ มันช่วยให้เบี้ยวน้อยลงได้อยู่แล้ว แต่จะช่วยไหมล่ะ แค่นั้นเอง
อ่านต่อ >> “โซเซียลมีเดีย ส่งผลต่อสุขภาพจิตลูก!!!” คลิกหน้า 6
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ให้ลูกกิน “ยา” เรื่องสำคัญ พ่อแม่ห้ามขาด
โดยปกติหมอไม่อยากให้เด็กกินยาอยู่แล้ว ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ดังนั้นถ้าหมอบอกให้กินยา จงเชื่อเถอะว่ามันปลอดภัยและจำเป็น พ่อแม่หลายคนไม่ชอบให้ลูกกินยา เพราะเป็นห่วงเรื่องร่างกาย แต่อยากจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญมากเพราะเด็กที่ขาดยาแล้วอาการหนักขึ้น เมื่อพ่อแม่พากลับมาหาหมออีก ก็จะรักษายากขึ้นด้วย และการกินยาจะทำให้คุณดูแลลูกได้ง่ายขึ้น บางครอบครัวบอกว่าไม่ให้กินหรอก กลัวลูกตับไตเสีย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณทะเลาะกับลูกทุกเสาร์อาทิตย์ คุณให้ลูกกินยาวันธรรมดาเพื่อไม่ให้ลูกทะเลาะกับครูที่โรงเรียน แต่ไม่ให้ลูกกินยาเพื่อให้ลูกทะเลาะกับคุณ สุดท้ายความสัมพันธ์ในบ้านก็แย่ลง ลูกก็เกเร แต่ถ้าให้ลูกกินยาเสาร์อาทิตย์ด้วย ลูกก็จะมีสมาธิดีขึ้น ลูกไม่ดื้อ พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างมีความสุข ลูกก็มีความสุข ลูกถูกชมทุกวัน เด็กที่มีความสุขและถูกชมทุกวัน เมื่อโตขึ้นจะเกเรน้อยลงด้วยได้
จะเห็นว่าทุกประเด็นวนกลับมาที่พ่อแม่หมด เพราะลูกอย่างไรก็อยู่ในการดูแลของพ่อแม่ ลูกจะกินยาหรือไม่กินยา ก็อยู่ที่ทัศนคติของพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่รู้สึกว่าไม่ต้องกินก็ได้ ก็ตามนั้น หมอจะเปรียบเทียบว่า ลูกวิ่งข้ามถนนไม่ดูตาม้าตาเรือคุณพ่อคุณแม่จะยอมไหม แน่นอนว่าเราไม่ยอม แต่ทำไมเรื่องไม่กินยาถึงต้องยอม เพราะทัศนคติที่คิดว่าเรื่องกินยาไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะฉะนั้นเด็กที่เป็นโรคถ้าต้องรักษา ก็ต้องรักษา อยากให้ลูกดีขึ้นก็ต้องทำตามที่แพทย์บอก แต่เด็กที่มีแค่ปัญหาสุขภาพจิต แค่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูดีๆ ก็หายได้แล้ว เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจและแยกให้ชัดเจน “จิตเวชต้องรักษา” แต่สุขภาพจิตไปหาความรู้หาหนังสือหรือเข้าเว็บไซต์อ่าน แล้วทำได้ตามนั้นก็จบแล้วค่ะ
Social Media และเทคโนโลยี ส่งผลต่อสุขภาพจิต
สื่อโซเชียลมีเดียทำให้ลูกเห็นอะไรเยอะขึ้น แต่ยิ่งเห็นเยอะก็เปรียบเทียบเยอะ หรือเห็นเรื่องไม่ดีบ่อยๆ จนเกิดเป็นความเคยชินก็มี เพราะฉะนั้นเด็กที่เล่นเกมรุนแรงก้าวร้าว ฆ่าศัตรูในเกม ในชีวิตจริงเขาก็ทำได้ถ้าไม่ได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่
หรืออย่างเรื่องระเบียบวินัย เมื่อก่อนเราดูการ์ตูนได้แค่ตอน 2 ทุ่มหลังข่าว เดี๋ยวนี้ในอินเตอร์เน็ตมีให้ดูได้ 24 ชั่วโมง ก็กลายเป็นว่าเด็กสมัยนี้พ่อแม่ต้องคุมเขาตลอดเวลา แล้วความสัมพันธ์ในครอบครัวมันก็แย่ตามไป เพราะเด็กเล่นเกมเขารู้สึกสนุกกว่าคุยกับพ่อแม่ แล้วพ่อแม่บางคนก็ปล่อยให้ลูกเล่นไป เราสบาย แบบนี้ความสัมพันธ์ในบ้านมันก็ไม่มี ไม่คุยกัน กิจกรรมในบ้านก็น้อยลง เวลาลูกมีปัญหาเขาก็ไม่ถามพ่อแม่แล้ว
นี่มันก็เป็นเทรนด์ที่เปลี่ยนไปชัดเจน การดูแลลูกเดี๋ยวนี้ยากขึ้นมาก พ่อแม่ต้องเสียเวลาเสียอารมณ์เสียกับการคุมวินัยในเรื่องที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น ขนาดลูกดูคลิปทำอาหาร คลิปโป๊ก็เด้งขึ้นมาข้างจอ คลิปตบตีก็เข้ามา ทีนี้มันก็อยู่ที่เด็กว่าจะเลือกกดดูหรือไม่ดู ก็ทำให้พ่อแม่ดูแลสอดส่องยากมากขึ้น
อ่านต่อ >> “อยากให้ลูกมีชีวิตที่ดี ต้องเริ่มจากพ่อแม่” คลิกหน้า 7
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
พ่อแม่ต้องดูแลตัวเองดี ชีวิตลูกก็ดี๊ดี
สิ่งสำคัญของการเลี้ยงลูกคือพ่อแม่ต้องดูแลตัวเองให้ดีด้วย เพราะถ้าดูแลตัวเองไม่ดีเราจะไม่มีพลังงานพอที่จะเอื้อสิ่งดีๆไปถึงลูกของเราได้ ถ้าเรายังคงเครียด เรายังคงวิตกกังวล เรายังมีปัญหาในชีวิต พลังงานมันหมดไปแล้วเพราะฉะนั้นดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี รู้จักหาความสุขของตัวเองบ้าง ไม่ต้องมาซีเรียสกับลูกตลอด 24 ชั่วโมง อย่าลืมหาเวลาให้ตัวเองมีความสุข เพราะว่าเมื่อไหร่ที่เรามีความสุข เราถึงจะส่งความสุขให้ลูกได้ ไม่อย่างนั้นวันๆ เราก็จับมือกอดคอกันเครียดตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสำคัญคือ อย่าลืมดูแลตัวเอง ไม่ต้องเป็นแม่ในอุดมคติ ดูละครบ้างก็ได้ ออกกำลังกายบ้างก็ได้ ไปเที่ยวกับเพื่อนบ้างก็ไม่แปลก
อีกอย่างหมออยากให้คุณพ่อลองมาช่วยคุณแม่เลี้ยงลูกดูบ้าง นอกจากจะให้คุณแม่ได้พักแล้ว ก็จะทำให้คุณพ่อเข้าใจว่าการเลี้ยงลูกนั้นยากกว่าการทำงาน ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เมื่อคุณพ่อเข้าใจก็จะลดการตำหนิว่าทำไมแม่ถึงเลี้ยงลูกไม่ดี มันก็จะทำให้ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่มันดีขึ้นได้ เพราะการเลี้ยงลูกนอกจากจะดูแลตัวเองแล้ว ยังต้องดูแลชีวิตคู่ให้ดี เพราะถ้าชีวิตคู่ไม่ดี ลูกก็แย่เหมือนกัน
สุดท้ายถ้าครอบครัวให้กำลังเผชิญปัญหา ไม่กล้ามาพบจิตแพทย์ แต่อยากได้คำแนะนำ ให้โทรเข้าไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ทั้งเบอร์บ้านเบอร์มือถือ โทรได้ทั่วประเทศ คุณหมอแจ้งว่าที่นี่มีนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษากับทุกครอบครัว …ด้วยความห่วงใยค่ะ
ข้อมูลเนื้อหาจาก :
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
และกองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจ
4 เทคนิค สอนลูกป้องกันโรคใหม่ทำลายเด็กไทย คิดว่า “ตัวกูใหญ่”
คุณหมอก้อง ชี้แนะ สอนลูกรักให้เอาตัวรอดได้
สอนลูกให้เป็นคนดี มีจริยธรรมตั้งแต่แรกเกิด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่