AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิธีจับสัญญาณ สิ่งที่ลูกสนใจ ค้นหาศักยภาพในตัวลูก โดยพ่อเอก

ค้นหาศักยภาพในตัวลูก

ตอนที่แล้ว (และตอนก่อนๆ) ผมได้เล่าว่าครอบครัวเราพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กอย่างสม่ำเสมอ ในที่นี้หมายถึง ทั้งคุณหมอพัฒนาการเด็ก ผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงคุณครู เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งไหนที่เราลูกเราขาดไป สิ่งไหนที่เราในฐานะที่เป็นพ่อแม่ยังมองไม่เห็น รวมถึง สิ่งที่ลูกสนใจ ที่เราควรส่งเสริม

เพราะเป้าหมายของเรา คือ ส่งเสริมในสิ่งที่ลูกสนใจ ให้เขาได้มีโอกาสมองหาสิ่งที่ชอบ ไม่ด่วนผลักดันในบางสิ่งที่ตรงใจเรา แต่เปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้เขาได้เรียนได้รู้ได้ลอง เช่น ผมเป็นคนชอบเล่นฟุตบอล ภูมิใจกับเหรียญทองฟุตบอลที่เคยได้มามาก และปูนปั้นก็ดูชอบเตะฟุตบอลไม่น้อย แต่เราก็จะเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนว่ายน้ำ ได้เรียนยิม ได้ไปมินิมาราธอน ได้ปั่นจักรยาน ได้เล่นสเก็ตบอร์ด ได้เล่นโรลเลอร์เบลด ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไปเห็นแล้วมาบอกว่า อยากเล่น อยากลอง ไม่ด่วนผลักไปในจุดที่ถูกใจเราในทันที เพราะพ่อแม่เป็น influencer ที่สำคัญของลูก ถ้าผมเลือกเลยโดยรีบพาไปเรียนฟุตบอล สมัครทุกการแข่งขันรอไว้ ในที่สุดผมเชื่อว่าลูกก็จะไปตามนั้น สนุกสนานกับการเรียนการแข่งฟุตบอล แต่เราจะไม่รู้หรอกว่า เราอาจจะพลาดโอกาสให้ลูกเรียนรู้อะไรที่เขายังไม่รู้จักไป

บทควาแนะนำ เลี้ยงลูกให้สุขภาพดี อย่ามีขนมห่อในบ้าน (เยอะนัก) โดยพ่อเอก

วิธีสังเกต สิ่งที่ลูกสนใจ ค้นหาศักยภาพในตัวลูก

เราเชื่อว่าเมื่อเขาเจอสิ่งที่ใช่และชอบ เขาจะแสดงออกมา ไม่ว่าทางตรง โดยบอกตรงๆ หรือทางอ้อมโดยการแสดงความสนใจในเรื่องราวเหล่านั้น ขอไปหยิบมาลอง กลับมาเล่าว่าเพื่อนว่าทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นต้น ตรงนั้นแหละที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบจับสัญญาณให้เจอ และไม่ว่าเหล่าผู้เชี่ยวชาญจะเก่งขนาดไหน ผมก็เชื่อว่า คุณพ่อคุณแม่คือ คนที่รู้จักลูกดีที่สุด

ผมยกตัวอย่าง ตอนปูนปั้นอยู่อนุบาล ที่โรงเรียนมีการเชิญคุณครูจากโรงเรียนสอนดนตรีมาสอนในห้องเรียน และเราได้โน้ตจากคุณครูมาว่า ปูนปั้นดูมีความสนใจด้านดนตรี เขามี ‘หูที่ดี’ (คุณครูดนตรีท่านนั้นหมายถึงทักษะในการฟังโน้ต) เราก็เลยพาปูนปั้นไปที่โรงเรียนดนตรีที่คุณครูท่านนั้นสอน และก็ตกลงที่เรียนเปียโนผลการเรียนไป 1 ปีกว่าๆ แม้จะเห็นว่าลูกชอบดนตรี แต่อาจจะไม่ใช่เปียโน เพราะเขาไม่ได้สนุกเหมือนวันแรกๆ ที่ไปเรียน ในที่สุดเราคุยกับลูกและได้ข้อตกลงร่วมกันว่าหยุดเปียโน แต่แล้วอยู่ดีๆ ตอนเขาขึ้นประถม 1 ไม่มีปี่มีขลุ่ย ลูกมาบอกว่า อยากเรียนไวโอลิน เราก็ให้ลอง คราวนี้เราเห็นความสุขที่ต่างไปจากการเรียนเปียโน เราเห็นความสุขในการซ้อม โป๊ะเชะ! แล้วมันก็เป็นทางเลือกที่ใช่ของลูกจริงๆ (ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าลูกเราสามารถเติบโตไปเป็นนักดนตรีที่เก่งกาจนะครับ แต่ใช่ในที่นี้คือความสนใจ คือความสุข) แล้วปูนปั้นก็เลยได้มีไวโอลินมาครอบครองเป็นตัวที่ 3 แล้ว แกะโน้ตเพลงง่ายๆ เอง ผ่านการใช้หูฟัง หลายเพลงผมบอกเขียนมาเป็นโน้ตให้หน่อย ป๊าจะเป่าขลุ่ยตามไปด้วย แม้จะเขียนโน้ตออกมาได้ไม่คล่อง แต่สามารถเล่นได้เลย เพราะใช้การเทียบเสียงจากหูที่ฟัง

บทความแนะนำ ให้ลูกเรียนดนตรี กี่ขวบดี? แชร์ประสบการณ์ โดย พ่อเอก

หรือล่าสุดที่เป็นต้นเหตุ ให้มาเขียนแชร์เรื่องนี้ คือ การถ่ายรูป ลูกเราก็เหมือนเด็กทั่วไปที่เห็นคุณพ่อคุณแม่ใช้มือถือถ่ายรูป ก็ขอมาลองหยิบถ่ายบ้าง และก็เคยขอกล้องมาเป็นของตัวเอง (ซึ่งเราก็เอากล้องตัวนึง ที่แลกมาจาก app ที่เราเสนอของไปแลกเปลี่ยนกัน ผมเอาพัดลมไร้ใบพัดไปแลกกล้องดิจิตัลเด็กๆตัวหนึ่งมา)  ช่วงนั้นลูกยังอยู่ อนุบาล 3 ซึ่งลูกก็สนุกสนานกดถ่ายเล่นไปเรื่อย แต่การรักษาของยังไม่เป็นในที่สุดก็เสีย เราคุยกันให้เข้าใจว่า ปูนปั้นยังรักษาของไม่ดีพอ ถ้าเป็นของที่ชอบจริง ต้องดูแลให้ดีกว่านี้ เมื่อกล้องตัวนั้นเสียไป ลูกก็จะไม่มีใช้ แต่หลังจากนั้นอีกปีกว่าๆ ปูนปั้นก็ยังคงขอยืมมือถือ เราถ่ายรูปเวลาเห็นมุมที่น่าสนใจ จนเราเริ่มสังเกตว่า พัฒนาการในมุมมองภาพที่ออกมานั้น มันเปลี่ยนไป ดูมีแนวทางในการถ่ายมากขึ้น ผมกับภรรยาจึงตัดสินใจเอากล้องตัวเก่าที่อายุงาน 7-8 ปี แต่ยังใช้งานได้ดีมาให้เขาเรียนรู้อีกครั้ง เราตกลงกับลูกว่า ทริปไปเขาค้อจะให้ปูนปั้นลองใช้ แต่นี่จะเป็นตัวสุดท้ายที่หนูจะได้รับ ถ้าไม่รักษาของ หนูจะไม่มีกล้องใช้จนกว่าจะเก็บเงินซื้อได้เองตอนโต สิ่งที่เราได้เห็นจากทริปเขาค้อ คือ ภาพถ่ายหลายๆ ภาพมีความน่าสนใจ และดูลูกมีความสุขกับการถ่ายภาพ อีกครั้งนะครับ เราไม่ได้บอกว่าปูนปั้นจะเติบโดเป็นช่างภาพมือโปร แต่เราจะบอกว่า ถ้าคุณจับสัญญาณได้ไว ลูกจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ตนมีความสุข

ด้านล่างนี้คือ ภาพถ่ายฝีมือปูนปั้น ที่ไม่ผ่านการปรับแต่งใดๆ

ปิดท้าย ฝากข้อความสั้นๆว่า เปิดพื้นที่ให้เขา เขาจะไม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งหน้าที่ดีๆ มีทรัพย์สินมากมาย แต่ภายในใจกลวงโบ๋


>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค

หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<

ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก เพจหมุนรอบลูก

บทความน่าสนใจอื่นๆ

6 ข้อดีที่ผมได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ พาลูกท่องเที่ยว

แชร์เทคนิค”สอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบ”ตั้งแต่เด็ก

“ลูกทำผิด” เทคนิคสอนลูก แบบไม่ต้อง “ทำโทษ”

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids