AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ตำลึง ตัวผู้ ตัวเมีย ดูให้ดี!…เลือกผิด? ลูกกินอาจท้องเสีย

คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ ตำลึง ตัวผู้ ตัวเมีย มีสรรพคุณต่างกัน หากเลือกตำลึง มาปรุงอาหารให้ลูกผิดเพศ ก็อาจทำให้ลูกท้องเสียได้ แม่น้องอันน่าห์จึงมี วิธีเลือกตำลึง มาแนะนำ แบบไหนกินได้/ไม่ได้ ตามมาดูกัน

อย่างที่รู้กันว่า ผักนั้นมีประโยชน์กับลูกน้อยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ ตำลึง หรือ ผักตำลึง ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารที่จำเป็นต่อลูกน้อยในวัยที่กำลังเริ่มรับประทานอาหารเสริมได้แล้ว รวมไปถึงคุณแม่ที่ให้นมลูกด้วยตัวเอง และยังจัดเป็นสมุนไพรที่ดีราคาไม่แพงแถมยังหาซื้อได้ง่าย! แต่อันดับแรกเรามาดูกันก่อนดีกว่าค่ะว่า สรรพคุณของตำลึงและประโยชน์ของตำลึง จะมีอะไรบ้าง

ตำลึง ตัวผู้ ตัวเมีย สรรพคุณต่างกัน เลือกผิดลูกกินอาจท้องเสีย

ตำลึง เป็นผักที่หาได้ง่าย เพราะขยายพันธุ์ได้จากการที่นกกินผลตำลึงเข้าไปแล้วขับถ่ายเมล็ดออกมา โดยจะเจริญเติบโตได้ดีและแตกยอดมากในช่วงฤดูฝน

ซึ่งตามลักษณะทางพฤษศาสตร์นั้น เป็นไม้เถาเลื้อย ลำเถามีสีเขียว ตามข้อมีมือจับเส้นเล็ก ๆ เพื่อใช้ยึดเกาะ ใบจะเป็นใบเดี่ยวสลับกันไปตามเถามีรูปร่าง 5 เหลี่ยม เนื้อใบเรียบ ใบอ่อนเป็นมันเงา ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อยตื้น ๆ ใบกว้าง 3-4 เซนติเมตร และ ตำลึงยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์สูง เช่น สารเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง และหัวใจขาดเลือด มีแคลเซียมช่วยบำรุงกระดูก และฟัน และยังมีฟอสฟอรัส เหล็ก ไนอาซิน วิตามินซีและอื่น ๆ

นอกจากนี้ จากการค้นคว้าของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า… ตำลึงมีเส้นใยอาหารที่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ในกระเพาะอาหาร อีกด้วย สำหรับตำรายาแผนโบราณ

ตำลึง ถือเป็นยาเย็น ใบช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อาการแพ้ อักเสบ แมลงมีพิษกัดต่อย แก้แสบคัน เจ็บตา ตาแดงและตาแฉะ แก้โรคผิวหนัง และลดน้ำตาลในเลือด

อีกทั้ง ตำลึง ยังเป็นผักที่คุณแม่ลูกอ่อนไม่ควรพลาดนะคะ เพราะตำลึงอุดมไปด้วย โปรตีน วิตามินจำเป็นหลายชนิด แคลเซียม ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหารสูงมาก ๆ ที่สามารถช่วยบำรุงน้ำนม ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมให้เพียงพอกับความต้องการของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี

วิธีเลือก ตำลึง ตัวผู้ ตัวเมีย ลักษณะใบตำลึงต่างกันอย่างไร? มาดูกันเล้ย ⇓

อย่างไรก็ดีไม่เพียงแต่สิ่งมีชีวิตเท่านั้นที่มีเพศ แม้แต่พืช หรือผักพื้นบ้านอย่าตำลึงก็มีเพศเช่นเดียวกัน แล้วแกงจืดตำลึงที่ลูกน้อยกินอยู่นั้น จะใช้ตำลึงเพศไหนกันแน่ แล้วเราจะดูยังไงว่าอันไหนคือ ตำลึงเพศเมีย อันไหนคือตำลึงเพศผู้ แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร ทำไมต้องแยกเพศ?

เพื่อให้คุณแม่เลือกเก็บ หรือหาซื้อใบตำลึง ที่ถูกเพศ เพื่อทำมาให้ลูกน้อยรับประทาน แม่น้องฮันน่าห์จึงแอบไปส่องที่สวนหลังบ้านพร้อมเก็บใบตำลึงมาเข้าห้องแลป เทียบให้คุณแม่เห็นกันแบบชัดๆว่า ตำลึง ตัวผู้ ตัวเมีย ต่างกันอย่างไร ตามมาดูกันเลยค่ะ

ตามภาพเป็นใบของตำลึง ใบที่อยู่ด้านซ้ายเป็นตำลึงตัวเมีย ซึ่งจะมีลักษณะใบค่อนข้างมน ขอบใบจะหยักไม่มาก ส่วนด้านขวาจะเป็นใบตำลึงเพศผู้ใบจะมีลักษณะหยักเว้ามากกว่าใบเพศเมีย

ข้อแตกต่างระหว่างตำลึงเพศผู้ กับตำลึงเพศเมีย ก็อยู่ตรงลักษณะของใบ โดย…

 

ใบตำลึงเพศผู้ ไม่นิยมนำมารับประทาน และสำหรับใครที่ธาตุไม่ดี หากเผลอรับกิน หรือกินมากเกินไป ทั้ง ใบหรือยอดตำลึงเพศผู้เข้าไป จะทำให้ท้องเสียได้ คือ ถ่ายไม่หยุด

แต่ตำลึงเพศผู้ ก็มีสรรพคุณทางยาของตำลึงก็คือ ช่วยดับพิษร้อน แก้ไข้ ลดระดับน้ำตาลในเลือดจึงดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน และใช้ตำพอกผิวหนังแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยหรือแก้เริม ดอกตำลึงใช้แก้คันผิวหนังได้ ส่วนรากก็ใช้เป็นยาแก้อาเจียนและลดไข้

ส่วน ตำลึงเพศเมีย มีขายตามท้องตลาดทั่วไป แต่หากคุณแม่อยากเลือกเก็บตำลึงมาปรุงอาหารให้ลูกน้อยเอง ควรเลือกที่ใบมนๆ หรือต้นเพศเมีย จะปลอดภัยกว่านะคะ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็น ตำลึง ตัวผู้ ตัวเมีย ต่างก็มีประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องเลือกมาใช้ให้ถูกเท่านั้นเอ และเพราะตำลึงมีประโยชน์กับลูกน้อยเป็นอย่างมาก แม่น้องฮันน่าห์จึงอยากจะขอแถม สูตรเมนูอาหารเสริม ที่มีส่วนผสมของ ตำลึง (ตัวเมีย) เพื่อให้ลูกน้อยได้หม่ำ เสริมธาตุเหล็กให้กับร่างกายกับ “ซุปข้าวกล้องบดตำลึงปลาช่อนนา” เหมาะสำหรับลูกน้อยวัน 6 เดือน ขึ้นไป มาแนะนำ จะมีส่วนผสมและขั้นตอนการทำอย่างไร ตามมาดูกันเลย…

เวลาเตรียม และทำ 20 นาที
ส่วนผสมสำหรับ 1 ที่

ข้าวกล้องออร์แกนิกบดละเอียด           5 ช้อนโต๊ะ

ใบตำลึงออร์แกนิก                                 15 ใบ

ปลาช่อนนา                                            3 ขีด

เกลือทะเล เล็กน้อย

ซีอิ้วขาวออร์แกนิก เล็กน้อย

*น้ำสต๊อกผักออร์แกนิก                        2 ถ้วย

*สำหรับสูตร น้ำสต๊อกผักออร์แกนิก ให้คุณแม่ต้มไก่บ้านและผักออร์แกนิกหลากหลายชนิด เพิ่มความหวานตามธรรมชาติด้วยการใส่ข้าวโพดลงไปต้ม จนผักทุกชนิดนิ่มจึงกรองเอาแต่น้ำซุปมาปรุงอาหาร

วิธีทำ ซุปข้าวกล้องบดตำลึงปลาช่อนนา

  1. เด็ดใบตำลึง ล้างให้สะอาดทีละใบ พักไว้
  2. ล้างปลาช่อนนาให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พักไว้
  3. นำปลาช่อนนา และตำลึงลงไปต้มในน้ำสต๊อกผักออร์แกนิกจนสุก
  4. เติมข้าวกล้องบดลงไปต้มด้วย เคี่ยวจนสุก จากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมดลงไปปั่นละเอียด
  5. นำมาตั้งไฟอีกครั้งจนเดือด ปรุงรสด้วยซีอิ้วขาวออร์แกนิกและเกลือทะเลเล็กน้อย

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!