ลูก หายใจดั้น คืออะไร พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร - Amarin Baby & Kids
หายใจดั้น

ลูก หายใจดั้น คืออะไร พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

account_circle
event
หายใจดั้น
หายใจดั้น

คุณพ่อคุณแม่เคยประสบปัญหาลูกร้องไห้หนักมาก แล้วกลั้นหายใจจนตัวเขียวไหมคะ? ” หายใจดั้น ” เป็นหนึ่งในอาการที่แสดงถึงพฤติกรรมของ “เด็กดื้อ”  “ไม่พอใจ”  “ไม่ถูกใจ”  แต่อาการเช่นนี้เกิดกับใครบ้าง อันตรายหรือไม่ และจะแก้ไขอย่างไรไม่ให้ลูกทำอะไรน่ากลัวแบบนี้ มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลยค่ะ

 

หายใจดั้นคืออะไร ทำไมลูกทำแบบนี้ พฤติกรรมต่อต้านที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ

ลูกหายใจดั้น

อาการหายใจดั้นไม่ใช่โรค

คุณหมอสุริยเดว ทรีปาตี หรือคุณหมอเดว จิตแพทย์เด็กวัยรุ่นและครอบครัว อธิบายถึงอาการดังกล่าวว่า เป็นพฤติกรรมการโต้ตอบทางอารมณ์อย่างรุนแรงในเด็กบางกลุ่ม นั่นคืออาการหายใจดั้น เพราะพอลูกเริ่มแยกแยะตัวเองได้ พัฒนาการทางอารมณ์จึงเริ่มปรากฏชัดเจน การหายใจดั้นจะพบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 1 ปีเท่านั้น !! เมื่อลูกโตขึ้นพฤติกรรมต่อต้านไม่ได้หายไป แต่จะเปลี่ยนไปใช้ “ลูกเล่น” อื่นแทน อาการของภาวะหายใจดั้นสังเกตได้ง่ายๆ ดังนี้

1. ลูกร้องไห้หนัก เสียงดัง และยาวนานเมื่อถูกขัดใจจนโกรธและโมโหอย่างรุนแรง

2. ลูกหน้าเขียว ตัวเขียวเหมือนขาดอากาศหายใจ เพราะระหว่างร้องไห้ก็กลั้นหายใจด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาวะหายใจดั้นอาจเกิดกับเด็กที่ป่วยด้วยโรคอื่นๆ เด็กกลุ่มนี้แม้จะไม่มีเรื่องขัดใจอยู่ก็พบภาวะตัวเขียวได้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว และสมองพิการ หากคุณแม่ไม่แน่ใจควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องต่อไป แต่สำหรับเด็กสุขภาพแข็งแรง เจริญเติบโตดีเมื่อเกิดภาวะ หายใจดั้น นั่นหมายถึงการแสดงออกทางอารมณ์ล้วนๆ

ลูกหายใจดั้นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่

เวลาลูกหายใจดั้นหลังจากร้องไห้ดัง พยายามแผดเสียงออกมาให้ดังที่สุด พร้อมกับกลั้นหายใจทำให้พ่อแม่ตกใจกลัวจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ความจริงแล้วการหายใจดั้นไม่ได้ส่งผลใดๆกับร่างกายทั้งสิ้น เพราะเมื่อกลั้นหายใจ จนปริมาณออกซิเจนลดต่ำลงในขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนไปที่สมองว่า “กลับมาหายใจได้แล้ว” การสั่งงานของสมองระดับนี้เป็นส่วนสัญชาตญาณที่ควบคุมการหิว อิ่ม และหายใจซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะอันตราย สมองจะสั่งงานทันที ต่างจากสมองส่วนอารมณ์หรือลิมบิก กับสมองส่วนคิดขั้นสอง ( EF) ดังนั้นการกลั้นหายใจไม่ทำให้ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตได้

 

อ่านเพิ่มเติม >> พัฒนาการทารก 2 เดือน ตื่นบ่อย ร้องไห้เก่ง ใช่โคลิคหรือเปล่า ?

 

ทำความเข้าใจอาการ หายใจดั้น
ทำความเข้าใจอาการ หายใจดั้น

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

วิธีรับมือเมื่อลูก หายใจดั้น

หากลูกมีอาการหายใจดั้น คุณพ่อคุณแม่ควรฉุกคิดทันทีเพื่อหาสาเหตุต่อไปว่าทำไมลูกถึงทำแบบนี้เพราะแม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่การเห็นลูกกลั้นหายใจจนหน้าเขียววันละหลายรอบ คงทำให้พ่อแม่หนักไม่น้อย การที่ลูกแสดงอาการผ่านภาวะหายใจดั้น แสดงว่าลูกต้องการสื่อสารถึงอารมณ์ภายในที่กำลังเผชิญใน 2 ลักษณะ คือ

  1. ลูกรู้สึกโมโห โกรธจัด แสดงออกด้วยการร้องไห้ออกมาและหายใจดั้นไปพร้อมกันจนตัวเขียว
  2. ลูกรู้สึกหวาดกลัว ผวา เช่นถูกทำให้ตกใจสุดขีด ก็อาจหายใจดั้นได้ แต่หน้าจะซีดขาวคล้ายจะเป็นลม พฤติกรรมนี้มักเกิดกับกลุ่มเด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์อ่อนไหวง่าย

อ่านเพิ่มเติม >> 3 วิธีจัดการ พฤติกรรมไม่น่ารัก เมื่อลูกน้อยโมโห!

อ่านเพิ่มเติม >> นักจิตวิทยาระดับโลกแนะ 3 วิธีรับมือ “ลูกดื้อ”

 

สมมติว่าลูกเล็กอยากเล่นโทรศัพท์มือถือ ตอนแรกแม่ไม่ให้เพราะรู้ว่าลูกยังใช้ไม่เป็น เขาจะเอาไปโยนเล่น เมื่อแม่ไม่ให้ลูกก็ไม่พอใจและร้องไห้จนหายใจดั้น ด้วยความตกใจแม่ก็รีบปลอบ เมื่อลูกหายจากอาการดังกล่าว คุณแม่ก็ไม่กล้าขัดใจลูกอีก เมื่อลูกขอก็ให้ทันที ลูกจึงเกิดการเรียนรู้เงื่อนไขว่าถ้าจะให้พ่อแม่ยอมต้อง หายใจดั้น ครั้งถัดไปอยากได้อะไรอีกก็ หายใจดั้นมันเสียเลย ทำให้การ หายใจดั้น กลายเป็นพฤติกรรมแสดงอารมณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการจัดการอารมณ์ที่ดี เรียกว่าสูญเสียการจัดการอารมณ์ค่ะ

วิธีรับมือเมื่อลูก หายใจดั้น
วิธีรับมือเมื่อลูก หายใจดั้น

ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตระหนักแล้วว่าลูกหายใจดั้นเพราะอารมณ์ และเราไม่อยากให้ลูกทำอีก เมื่อลูกงอแงเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรตระหนกและไม่ควรตามใจเขา กรณีเกิดกับลูกเล็กอาจต้องใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจไปที่สิ่งอื่น ด้วยการให้ของชิ้นใหม่ที่ปลอดภัยและเหมาะสมกว่ามาให้เขาแทน หรือฝึกลูกให้มี “วินัยเชิงบวก” เพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิ่น ด้วยการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม (Structured Environment) เพื่อไม่ให้ครั้งหน้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เช่น

 รู้ว่าลูกอยากเล่นโทรศัพท์มือถือ แต่พ่อแม่ไม่อยากให้เขาเล่น ก็ไม่ต้องวางให้เขาเห็น

รู้ว่าเด็กชอบสำรวจปลั๊กไฟ แต่มันอันตราย เราไม่อยากให้เขาทำ ก็หาเครื่องมือป้องกันมาปิดรูปลั๊กไว้

รู้ว่าเด็กเห็นแก้วน้ำแล้วอยากเล่น เรากลัวแก้วตกแตก ก็เอาแก้วพลาสติกมาวางไว้ให้แทน

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ป้องกันโดยการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เด็กก็จะไม่เห็นสิ่งล่อตาล่อใจให้เกิดความอยาก เมื่อไม่อยากเขาก็จะไม่ร้องงอแงจ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องใจหายใจคว่ำเมื่อเห็นลูกตัวเขียว เรียกว่าป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ แค่นั้นก็จะได้สบายใจกันทุกฝ่าย

เด็กทุกประเภทงอแงเวลาถูกขัดใจเหมือนกันทุกคน เพราะมันคือพัฒนาการปกติซึ่งเขากำลังเรียนรู้ เพียงแต่ว่าปฏิกิริยาความรุนแรงในการโต้ตอบอาจต่างกัน ถ้าลูกเลี้ยงง่าย การโต้ตอบก็จะเบาบางเหมือนที่มีคนพูดว่าทำไมบ้านนี้คลอดลูกมาเงียบเชียว แต่อีกบ้านลูกร้องตลอดคืน ก็จะแตกต่างกันประมาณนี้

 


ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากหนังสือ เด็กไม่ใช่ผ้าขาว อย่าเข้าใจผิด สำนักพิมพ์ Amarin Kids

 

บทความน่าสนใจเพิ่มเติม

5 เทคนิค ตามใจลูก [สร้างวินัยเชิงบวก] ฝึกลูกคิดเป็น มีความรับผิดชอบ

[สร้างวินัยเชิงบวก] 3 เทคนิคเชิงบวก ฝึกลูกเล็กควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกให้ได้ผล!

พัฒนาการทารก 2 เดือน ตื่นบ่อย ร้องไห้เก่ง ใช่โคลิคหรือเปล่า ?

หมอชี้! วิธีปราบ เด็กร้องไห้ ลูกร้องแบบไหนเรียกเอาแต่ใจ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up