หน้ากากอนามัย กลายเป็นอาวุธสำคัญเพื่อปกป้องลูกจากเชื้อโรคร้ายอย่าง ไวรัสโคโรน่า และฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่กำลังจู่โจมอย่างหนักอยู่ตอนนี้ แต่ไม่มีเด็กคนไหนชอบใส่หน้ากาก เพราะมันทั้งอึดอัด หายใจไม่สะดวก แถมเกะกะเวลาเล่น จึงไม่ยอมใส่หน้ากากง่าย ๆ แล้วแบบนี้ แม่จะทำยังไงดี !!
หัดลูกใส่ หน้ากากอนามัย อย่างอ่อนโยน ไม่งอแง ไม่ดึงออก อยากใส่เอง
จากสถานการณ์ของฝุ่น PM2.5 ที่พุ่งสูงขึ้นจนเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และยังคงสูงต่อเนื่องไปจนกว่าจะหมดหน้าหนาว การปล่อยให้ลูกน้อย ซึ่งอยู่ช่วงวัยที่ระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ฝุ่นละอองหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปถึงปอดส่วนลึกได้โดยตรง เร็ว และง่ายกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้ร่างกายของเด็กๆเกิดอาการผิดปกติหลายอย่าง
แต่ฝุ่นพิษยังไม่ทันจาง ก็มีข่าวร้ายให้คุณพ่อคุณแม่ต้องกังวลเพิ่มอีก เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ในประเทศจีน ต้นเหตุของโรคปอดอักเสบ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อนับพันคน เสียชีวิตแล้วหลักสิบคน และเริ่มแพร่ระบาดไปในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย ไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อได้ง่ายๆผ่านละอองจากการไอจาม ทุกคนในครอบครัวจึงจำเป็นต้องใส่ หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตัวจากภัยที่มองไม่เห็นนี้ เพราะคนที่ร่างกายแข็งแรงก็มีเสี่ยงติดเชื้อได้เท่ากับคนกลุ่มเสี่ยงอย่าง แม่ท้อง เด็ก และ ผู้สูงอายุ
ฝุ่น PM2.5 ยิ่งหนา โคโรน่ายิ่งแข็งแรง
คงไม่มีใครคิดว่า PM2.5 กับไวรัสโคโรน่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่ความจริงอาจไม่ใช่อย่างที่คิด เมื่อเว็บไซต์ Thaipbs ได้เผยแพร่ข้อมูล
จากนายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์ของจีนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า ฝุ่น PM2.5 กับไวรัสเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน เพราะฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดอาการระคายเคือง เยื่อบุตา ปาก ทางเดินหายใจ
หลังจากเกิดการอักเสบแล้ว ไวรัสก็เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย การแพร่เชื้อผ่านเยื่อบุตาได้ คนจาม ไอ เข้าเยื่อบุตาได้ เอามือลูบหน้าถูกเยื่อบุตาได้ แต่ไวรัสโคโรนาตัวนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายคนทั่วๆ ไป เกิดการอักเสบมากกว่าที่ควรจะเป็น แม้แต่ภูมิคุ้มกันที่ปกติจะต้องสร้างมารับมือ ก็ยังรับไม่ไหว
โดยหลังจากสัมผัสโรคแล้วประมาณ 7 วัน จะมีไข้วันแรก พอวันที่ 8 เริ่ม หายใจเหนื่อย วันที่ 9 เริ่มหายใจไม่พอ หายใจลำบาก และวันที่ 10 ครึ่ง จะเข้าไอซียู ซึ่งเป็นลำดับพัฒนาการของโรค ผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้เสียชีวิตทุกคน แต่ข้อมูลจากจีน พบว่าถ้าไปโรงพยาบาลตอนออกอาการแล้ว มีโอกาสเสียชีวิตได้ถึง 14-15%
หน้ากากอนามัยแบบไหน ใช้อย่างไรบ้าง
ในท้องตลาดมี หน้ากากอนามัยให้เลือกหลายแบบตามจุดประสงค์ในการใช้งาน และมีหลายขนาดให้เหมาะกับวัย ส่วนใหญ่จะแยกระหว่างหน้ากากสำหรับผู้ใหญ่ หน้ากากสำหรับเด็ก หน้ากากอนามัยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้
- หน้ากากเยื่อกระดาษ 3 ชั้น
หรือหน้ากากกระดาษสีเขียวที่ใส่ทั่วไปในสถานพยาบาลทั่วไป ชั้นนอกเป็นสีเขียวที่เคลือบด้วยสารกันน้ำ ชั้นกลางมีแผ่นกรองเชื้อโรค ชั้นในสุดเป็นใยอ่อนนุ่มสีขาว ซึมซับละอองจากไอจาม และน้ำมูก สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราได้ดี แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสขนาดเล็กจิ๋วได้ ใส่แล้วต้องทิ้งในถังขยะมีฝาปิด ใช้ซ้ำไม่ได้
- หน้ากากผ้า
เน้นใช้สำหรับป้องกันฝุ่นละออง และป้องกันการกระจายของน้ำมูก หรือน้ำลายจากการไอจาม แต่อาจไม่สามารถกรองเชื้อโรคขนาดเล็กมากได้ ซักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้
- หน้ากาก N95
หน้ากากชนิดนี้ป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด ป้องกันฝุ่นและเชื้อโรคเล็กสุดได้ถึง 0.3 ไมครอน สามารถป้องกันได้ทั้งฝุ่น PM2.5 และไวรัสโคโรน่าได้ ซึ่งต้องใส่ให้ถูกต้องและไม่มีรูรั่วใดๆ ให้อากาศภายนอกเข้าไป มีอายุใช้งาน 3 สัปดาห์ ราคาค่อนข้างสูง