AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกขี้ร้อน นอนเปิดพัดลม เสี่ยงปอดบวม หรือไม่?

ลูกขี้ร้อน นอนเปิดพัดลม เสี่ยงปอดบวม

ลูกขี้ร้อน นอนเปิดพัดลม เสี่ยงปอดบวม ในเด็กทารกบางคนเป็นเด็กขี้ร้อนมาตั้งแต่เกิด เวลานอนแม่ต้องเปิดพัดลม เปิดแอร์ให้ตลอด แล้วยิ่งหน้าร้อนก็เพิ่มความร้อนอบอ้าวให้ลูกได้เหงื่อซึมอยู่ตลอด แบบนี้ต้องนอนเปิดพัดลมทุกวัน แล้วจะเสี่ยงป่วยไข้ได้หรือเปล่านะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำตอบมาให้คุณแม่ได้คลายความกังวลใจกันค่ะ

 

ลูกขี้ร้อน นอนเปิดพัดลม เสี่ยงปอดบวม ได้หรือไม่?

คุณแม่ที่ลูกไม่ได้ขี้ร้อนมาก อาจสงสัยว่าแล้วทำไมก็แค่เปิดพัดลมให้ลูก จะถึงขั้นปวดบวมได้เลยหรือ  เรื่องนร่มีอยู่ว่าคุณแม่ได้ส่งคำถามเข้ามาว่า

 

“ลูกอายุ 2 เดือน เป็นเด็กขี้ร้อนมาก มีเหงื่อเยอะ ตัวเหนียวต้องให้ใส่เสื้อผ้าบางๆ และเปิดพัดลมให้ตลอด จะเสี่ยงเป็น ปอดบวม หรือไม่ และถ้าไม่เปิดพัดลม จะแก้ปัญหาลูกขี้ร้อนอย่างไรดี?

 

จริงๆ การเปิดพัดลมไม่น่าจะทำให้ลูกป่วยได้ใช่ไหมคะ แต่ติดอยู่ตรงที่คุณแม่บอกว่าให้ลูกใส่เสื้อผ้าบางๆ ด้วยขณะที่เปิดพัดลมให้ ทีนี้เราก็ต้องไปดูว่าการเปิดพัดลมให้ลูกเล็กๆ แบบไหนถึงจะถูกต้อง และปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกโดยเฉพาะกับเด็กวัยทารก

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความเข้าใจกับโรคปอดบวมกันก่อนว่าแท้จริงแล้วอาการเป็นอย่างไร จะเกิดขึ้นเพราะเปิดพัดลมให้ลูกตลอดเวลาหรือเปล่า เรื่องนี้เรามีคำตอบจาก แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด(1) ซึ่งคุณหมอได้อธิบายไว้ ตามนี้ค่ะ

 

Must Read >> ไข้ หรือ ตัวร้อน เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้ และดูอาการลูกให้เป็น!!

 

Good to know…ไข้ หมายถึง ภาวะที่อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูงผิดปกติ โดยค่าปกติของอุณหภูมิที่วัดทางทวารคือ 36.6-38 องศาเซลเซียส วัดทางปาก 35.5-37.5 องศาเซลเซียส วัดทางรักแร้ 34.7-37.3 องศาเซลเซียส และวัดทางหู 35.8-38.0 องศาเซลเซียส

อ่านต่อ >> “อาการของโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ” หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบเป็นอย่างไร?

โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ คือภาวะที่ถุงลมปอดซึ่งทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊สเกิดการอักเสบ ทำให้หายใจได้ไม่ปกติ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ในเด็กเกิดจากติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อวัณโรค เชื้อรา โปรโตซัวพยาธิ หรือสารเคมีที่ระคายเคือง

อาการแสดงของโรค เริ่มจากอาการนำ ซึ่งขึ้นกับสาเหตุ เช่น เป็นตามหลังการเป็นหวัด ติดต่อทางละอองฝอยจากการไอหรือจามเป็นตามหลังการติดเชื้อที่ระบบอื่น แล้วมาที่ปอดทางกระแสเลือด เช่นการติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่ผิวหนัง เป็นตามหลังการสำลักสิ่งแปลกปลอมลงหลอดลม เช่น เมล็ดถั่ว สำลักน้ำในสระหรือน้ำคร่ำ

เมื่อมีการติดเชื้อที่ปอด ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอมาก เจ็บหน้าอกเวลาไอหรือหายใจแรงๆ หายใจหอบเหนื่อย หน้าอกบุ๋ม ริมฝีปากและปลายนิ้วซีดหรือเขียวคล้ำเพราะขาดออกซิเจน อ่อนเพลีย กินได้น้อย อาจปวดท้องและอาเจียนร่วมด้วย หมอตรวจปอดฟังได้ยินเสียงผิดปกติ แต่บางครั้งการฟังปอดอาจไม่พบความผิดปกติชัดเจน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ภาพถ่ายรังสีปอดจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ โดยเห็นเป็นฝ้าขาวในปอด

 

หากลูกไม่ได้มีความเสี่ยงหรืออาการที่เข้ากับอาการดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าไม่ได้เป็นปอดบวมค่ะ  ส่วนการดูแลปัญหาลูกขี้ร้อน ที่คุณแม่ทำอยู่ทำถูกต้องแล้วค่ะ แต่ขอให้เปิดพัดลมส่ายไปมา ถ้าเปิดหน้าต่างช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ก็ดีค่ะ ไม่ควรเปิดแอร์จนเย็นเกินไป เพราะจะทำให้ป่วยได้

 

หากลูกไม่มีปัญหาผิวแห้ง อาจอาบน้ำ 2 – 3 ครั้งต่อวัน ใช้ฟองน้ำหรือผ้าชุบน้ำเย็นคอยเช็ดตามซอกคอ ข้อพับหรือตรงที่เหงื่อออก จะช่วยให้ลูกรู้สึกสบายตัวมากขึ้น ไม่แนะนำให้ใช้แป้งเพราะลูกอาจสูดเข้าทางเดินหายใจได้(1)

คุณพ่อคุณแม่เมื่อทราบแล้วก็พอจะคลายความกังวลกันมากขึ้นแล้วนะคะ สิ่งสำคัญสุดไม่แนะนำให้เปิดพัดลมจ่อไปที่ตัว ศีรษะ หรือหน้าอกลูกเพียงอย่างเดียวตลอดทั้งวัน ทั้งคืน ในช่วงที่ลูกนอนหลับ เพราะความเย็นที่ถูกตัวลูกมากเป็นเวลานาน ก็สามารถทำให้ลูกป่วยไข้ไม่สบายได้ค่ะ

อ่านต่อ >> “วิธีคลายร้อนให้ลูกขี้ร้อน แบบไม่เสียสุขภาพ” หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

วิธีคลายร้อนให้ลูกขี้ร้อน แบบไม่เสียสุขภาพ

อากาศที่ร้อนอบอ้าว ยิ่งในช่วงหน้าร้อนด้วยแล้ว ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่รู้สึกเหนียวเนื้อตัวเพราะเหงื่อออก แต่เด็กๆ เขาก็รู้สึกร้อนกายไม่สบายตัวไม่ต่างกันค่ะ ซึ่งถ้าเป็นผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็หาอะไรเย็นกินให้ชื่นใจ หรือไม่ก็อาน้ำวันละหลายรอบ ทาแป้งเย็นให้คลายร้อน หรือบางคนก็หนีร้อนไปพึ่งลมเย็นกันที่ทะเล น้ำตก หรือประเทศเมืองหนาวกันซะเลย

แต่สำหรับเด็กเล็กๆ อาจไม่สามารถทำได้มากเหมือนผู้ใหญ่ ฉะนั้นผู้เขียนจึงหาวิธีคลายร้อนสำหรับเด็กขี้ร้อน ที่เคยใช้กับเด็กๆ ที่บ้าน และเพื่อนๆ ที่มีลูกต่างก็เคยคลายร้อนให้ลูกขี้ร้อนด้วยวิธีเหล่านี้กันมาแล้วด้วยค่ะ

Credit Photo : Shutterstock

1. อาบน้ำเย็นก่อนนอน

การอาบน้ำเย็นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้เติมน้ำเย็นเจี๊ยบจากตู้เย็น หรือเทน้ำแข็งลงไปในน้ำอาบให้ลูกกันนะคะ เพียงแต่ถ้าเป็นลูกวัยทารก คุณแม่ก็แค่ให้อาบน้ำอุณหภูมิปกติ เพราะในช่วงวันที่อากาศร้อนมากๆ แค่น้ำปะปาที่ผ่านการกรองให้สะอาดก็พอแล้วค่ะ การให้ลูกอาบน้ำเย็นก่อนนอนจะช่วยทำให้ลูกนอนหลับได้สบายขึ้น เนื่องจากน้ำเย็นจะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายให้ลดลงเล็กน้อยค่ะ

 

Credit Photo : Shutterstock

 

2. ดื่มนม หรือดื่มน้ำ ให้มาก

ที่บอกให้ดื่มน้ำ คุณแม่อย่าเพิ่งตกใจไปว่าทำไมให้ลูกวัยทารกดื่มน้ำ คือจริงๆ ที่บอกให้ลูกดื่มน้ำ ขอให้เฉพาะกับเด็กที่อายุ 6 เดือนขึ้นไปแล้วนะคะ ไม่แนะนำให้กับลูกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน

โดยเริ่มกันตั้งแต่ลูกวัยทารกเป็นต้นไป จะขออธิบายโดยรวมค่ะ  คือในช่วงหน้าร้อน หรือในวันที่อากาศมีอุณหภูมิสูงมากกว่าปกติ ในเด็กเล็กๆ นั้นเขาจะสูญเสียน้ำในร่างกายได้มากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ระหว่างวันก็เหงื่อซึมทำให้เหนียวเนื้อตัว ซึ่งวิธีที่จะช่วยเติมความชุ่มชื้นให้ร่างกายลูกคือการให้ดื่มนม ในเด็กวัยตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือนก็ให้กินนมแม่ ส่วนเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไปที่สามารถดื่มน้ำได้แล้ว ระหว่างวันคุณแม่ก็เพิ่มให้ลูกกินนม กินน้ำเปล่าสะอาดๆ ให้มากหน่อย เพราะของเหลว ไม่ว่าจะนมแม่ หรือน้ำ เมื่อลูกกินเข้าไปแล้วจะไปช่วยปรับสมดุลอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ ทำให้ลูกไม่รู้สึกร้อนมากเกินไปค่ะ

3. สวมใส่เสื้อผ้าเบาสบาย

ร้อนๆ แบบนี้ เสื้อผ้าแฟชั่น เนื้อผ้าหนา ขอให้พับเก็บไว้ก่อนค่ะ แล้วเปลี่ยนมาเป็นเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าเบาสบาย ลูกใส่แล้วช่วยระบายเหงื่อ ระบายควมร้อนจากร่างกายได้ดี แค่นี้ลูกก็มีความสุข อารมณ์ดี ไม่ร้อนหงุดหงิดตลอดวันแล้วค่ะ

 

ไม่ว่าจะหน้าร้อน หรือในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว หากไม่อยากให้ลูกไม่สบายตัว หรือป่วย คุณแม่ต้องช่วยให้ลูกคลายร้อนค่ะ โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวคือ การทำให้ภายในบ้าน หรือห้องนอนของลูกเย็นสบาย จะด้วยการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ หรือจะเปิดพัดลม  เปิดแอร์ก็ขอให้อยู่ในอุณหภูมิ 25 องศา ที่ไม่ร้อน และก็ไม่เย็นจนเกินไป ให้ลูกสวมใส่เนื้อผ้าที่ช่วยระบายความร้อน และให้ลูกได้ดื่มนมแม่ หรือดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เท่านี้ก็ช่วยให้ลูกสุขภาพดีในวันร้อนๆ แล้วค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย 

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

อาการเบื่ออาหารช่วงหน้าร้อน เพราะสาเหตุใด?
โรคท้องร่วง ช่วงหน้าร้อน เด็กเล็กควรระวัง!
โรคลมแดด วายร้ายหน้าร้อนของเด็กเล็ก

 


ขอขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก :
1แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด นิตยสาร Amarin Baby & Kids