AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

7 เรื่องควรรู้ ลูกถ่ายเหลว หรือ อาเจียน

Credit Photo : shutterstock

ลูกถ่ายเหลว หรือ อาเจียน  สุขภาพลูกรักเป็นเรื่องสำคัญ บ่อยครั้งที่ลูกเล็กมักเจ็บป่วยโดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร จนทำให้ถ่ายเหลว อาเจียนออกมา ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำแนะนำจาก คุณหมอปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ  และเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก ในการดูแลลูกหากมีอาการถ่ายเหลว หรือ อาเจียน

 

ลูกถ่ายเหลว หรือ อาเจียน เกิดจากสาเหตุใด?

การถ่ายเหลว  อาเจียน ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กๆ นั้น มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ที่ติดเชื้อจะมีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงมากกว่าปกติ ลำไส้มีการบีบตัว ขณะที่ลำไส้บีบตัวจะดันเอาอาหารและน้ำออกมา ร่างกายจึงมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการอาเจียนออกมา  ซึ่งในที่นี้จะเป็นผลให้มีการถ่ายเหลวมากกว่าปกติด้วยเช่นกัน

และเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจถึงวิธีการดูแลเมื่อลูกป่วยด้วยสาเหตุการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร จนทำให้ลูกอาเจียน ถ่ายเหลวออกมา ซึ่ง แพทย์หญิงปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี คุณหมอแพม กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ1 ได้ให้คำแนะนำที่พ่อแม่ควรรู้ในการดูแลลูก ดังนี้

 

อ่านต่อ >> “7 เรื่องควรรู้เมื่อลูกถ่ายเหลว อาเจียน” หน้า 2

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ลูกถ่ายเหลว หรือ อาเจียน 7 เรื่องต้องรู้ !!

1. ไม่ต้องรู้ว่า ถ่ายเหลว อาเจียน เกิดจากเชื้ออะไร แพทย์ก็รักษาหายได้

สาเหตุหลักของการเกิดอุจจาระร่วง หรือการอาเจียนในเด็กก็คือการติดเชื้อ เชื้ออันดับ 1 คือ ไวรัสโรต้า และ โนโรไวรัส (Norovirus ชื่อเดิม Norwalk) ซึ่งการถ่ายเหลวจากการติดเชื้อไวรัสที่สังเกตได้ คือ ถ่ายเป็นน้ำ พรวดๆ  ถ่ายทีชุ่มผ้าอ้อม เด็กทารก (อายุน้อยกว่า 1 ปี) จะเพลียอย่างรวดเร็วมาก เพราะจะอย่างไรก็จะไม่สามารถกินน้ำเกลือแร่ทดแทนได้ทันกับที่เสียไปอันดับ 2 คือ แบคทีเรียซึ่งหากเกิดจากตัวเชื้อเอง เชื้อจะเจาะทำลายผนังลำไส้ก็จะทำให้ถ่ายเป็นมูก อาจมีเลือดปนแต่หากเป็นการถ่ายเหลวที่เกิดจากสารพิษที่แบคทีเรียปล่อยเข้าไปในกระแสเลือดก็อาจถ่ายเหลวเป็นน้ำได้เหมือนไวรัสหรือบางทีจะมีอาเจียน

สรุปไม่ว่าจะเป็นไวรัส หรือแบคทีเรียเพียงแค่การซักประวัติ และตรวจร่างกายแพทย์ก็สามารถให้การรักษาได้ โดยไม่ต้องรอผลว่าติดไวรัสตัวไหนแบคทีเรียตัวไหนืและเด็กก็สามารถหายได้ เพราะจริงๆ แล้วภูมิคุ้มกันในตัวเด็กคือพระเอกตัวจริง

 

2. หัวใจสำคัญที่สุดในการรักษาภาวะถ่ายเหลว คือการให้สารน้ำ เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ

สิ่งที่อันตรายที่สุดหากเด็กมีภาวะถ่ายเหลว หรืออาเจียน คือ ภาวะช็อคจากการขาดน้ำและเกลือแร่ เพราะฉะนั้นการรักษาที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การจับเชื้อมาฆ่า แต่เป็นการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป  สารน้ำเกลือแร่ที่ใช้ทดแทน เรียกว่า ORS ซึ่งจะเป็นสารน้ำที่ผ่านการทดลองมาแล้วว่าจะช่วยทดแทนเกลือแร่ได้เร็วที่สุด ดีที่สุดมีน้ำตาล และเกลือในสัดส่วนที่ลำไส้จะดูดซึมได้ดีพอดี ซึ่ง ORS ไม่ใช่เกลือแร่ทดแทนสำหรับผู้เสียเหงื่อและไม่ใช่น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลมใส่เกลือ เด็กที่อาเจียนเด่นกว่าถ่ายเหลวจะรักษาที่บ้านได้ยากมาก เพราะยากินต้องการเวลาในการดูดซึม ถ้าลูกอาเจียนตลอดเวลาแนะนำว่าพาไปพบแพทย์ดีกว่าค่ะ

 

3. การกินน้ำแร่ OKR ต้องกินช้า

คนส่วนใหญ่รู้ว่าเวลาท้องเสีย อาเจียน กิน ORS แต่ตกม้าตายตรงที่ดื่มพรวดเข้าไปแบบนั้น จะยิ่งทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้นค่ะ  ซึ่งการกินที่ถูกต้องคือต้องจิบช้าๆ เพราะ ORS มีความเข้มข้นมากดื่มเข้าไปปริมาณมาก ก็จะดูดน้ำจากผนังลำไส้เข้ามาในโพรงลำไส้แล้วก็ถ่ายออกมาเป็น ORS+น้ำที่ถูกดูดออกมา ยิ่งจะทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่หนักกว่าเดิม  ในเด็กก็เช่นกันดีที่สุดคือใช้ช้อน หรือ syringe ป้อน แต่ถ้าจะให้ดูดเอง แบ่งให้กินครั้งละ 1 ออนซ์แล้วค่อยๆ เติมให้เรื่อยๆ เว้นระยะไม่เช่นนั้น นอกจากจะไม่ได้ช่วยเรื่องทดแทนแล้วยังไปดูดเอาน้ำและเกลือแร่มาทิ้งเพิ่มอีกด้วยการกิน ORS  หลังจากนั้นก็ให้ดูอาการลูกถ้ากิน ORSแล้วยังถ่ายมาก อาเจียนมาก ลูกมีอาการซึมลง แม้ว่าจะให้ ORS แล้ว ก็ต้องพาไปโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดด้วยค่ะ

 

4. ลักษณะของอุจจาระไม่สำคัญเท่ากับอาการของลูก

เวลาเด็กถ่ายเหลวสิ่งที่หมอกับพยาบาลถูกตามบ่อยมากก็คือความกังวลของพ่อแม่ที่แม้ลูกจะเข้ารับการรักษาแล้วแต่ลูกยังไม่หยุดถ่าย ซึ่งในความเป็นจริง คือ อาการอาเจียนยังให้ยาฉีด ยากินลดได้ แต่ไม่มีการรักษาใด สามารถไปหยุดการถ่ายเหลวได้ เพราะลำไส้ที่ติดเชื้อ มีผิวหน้าลำไส้บาดเจ็บก็ต้องคัดหลั่งสารน้ำออกมามากผิดปกติ และจะดูดซึมน้ำใหม่ ก็ทำได้ช้าผลรวมคือ มีน้ำค้างในลำไส้มากก็ถ่ายออกมา การใช้ยาหยุดถ่าย เป็นข้อห้ามของการรักษาถ่ายเหลวในเด็กอันตรายมาก การที่ไปบังคับให้ลำไส้หยุดบีบตัว เชื้อก็จะค้าง มีแบคทีเรียโตในลำไส้ที่อาจแทรกเข้าสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้นไม่มียาหยุดถ่ายนะคะแต่อาจมียาบางกลุ่มทำให้ความถี่ในการถ่ายลดลงได้อย่างปลอดภัย  ลักษณะอุจจาระของเด็กแม้จะมาหาหมอแล้วก็ยังจะเป็นถ่ายเหลวเหมือนเดิม แต่ปริมาณ และจำนวนจะค่อยๆลดลง เพราะลำไส้ค่อยๆ สมานดีขึ้น

 

อ่านต่อ >> “7 เรื่องควรรู้เมื่อลูกถ่ายเหลว อาเจียน” หน้า 3

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

5. เด็กที่กินนมแม่ ยิ่งต้องกินนมแม่  เด็กที่กินนมผสมให้กินชงปกติได้  เปลี่ยนสูตรนมเมื่อแพทย์แนะนำ

เด็กช่วงวัยที่กินนมอย่างเดียวถ้ามีการติดเชื้อ ทำให้เกิดการถ่ายเหลวถ้ากินนมแม่อย่างเดียว ให้กินต่อไป กินได้ปกติ ถ้าเด็กกินนมผสมให้ชงตามเดิม ไม่ต้องเจือจาง  แล้วให้กิน ORS ทดแทน แต่ถ้าเด็กมีถ่ายเหลว เป็นฟอง เหม็นเปรี้ยวก้นเป็นแผลถลอกเหมือนถูกกรดกัดต้องพาไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจอาการ เพราะขณะที่ติดเชื้อ การย่อยน้ำตาลในนมอาจทำได้ลดลง ทำให้นมกลายเป็นกรดกรณีนี้อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนนมเป็นสูตรไม่มีน้ำตาลแลคโตส แต่ถ้าไม่มีอาการอย่างที่หมอว่า ก็ให้กินนมได้ปกติ

 

6. น้ำเกลือที่ให้ทางหลอดเลือดดำทดแทนน้ำและเกลือแร่ ไม่ได้ ทดแทนอาหาร

ถ้าเด็กๆ ต้อง admit การรักษาภาวะถ่ายเหลว หรืออาเจียน คือการให้น้ำเกลือ ซึ่งในน้ำ 1 ลิตร มีเกลือแกงเล็กน้อยกับน้ำตาล ที่เทียบกับลูกอมสัก 2-3 เม็ดอยู่ในนั้นไม่มีอะไรมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นทดแทนภาวะขาดน้ำ แต่ไม่ได้ทดแทนอาหาร ยังต้องพยายามป้อนอาหารลูกต่อไป แม้ลูกจะปฏิเสธ ได้กินมื้อละ 2-3 คำก็ยังดี และมีการศึกษาว่า การที่ให้ลำไส้ของผู้ป่วยว่างเปล่าไม่มีอาหาร ทำให้การหายของลำไส้ หายช้ากว่าการได้รับอาหาร

 

7. กินอาหารอ่อนๆ เพื่อช่วยในการฟื้นตัวของลำไส้ได้เร็วขึ้น

เด็กที่มีอาการดีขึ้นไม่ได้แปลว่าหายเป็นปกติ เพราะลำไส้ต้องใช้เวลานานกว่าจะหายกว่าจะมีอุจจาระที่เหมือนปกติ ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เช่นเดียวกับการอยากอาหารช่วงแรกๆ จะยังไม่เป็นปกติแต่พอลูกหาย เขาก็จะขอกินโน่น กินนี่สบายใจได้ค่ะเด็กเก่งกว่าที่เราคิด และร่างกายของเด็ก มีการซ่อมแซมตัวเองสูงมาก ดีกว่าผู้ใหญ่ซะอีก ดังนั้น ไม่ต้องไปบังคับ ให้กินโน่นกินนี่เดี๋ยวดีขึ้น เขาจะขอเรากินเองค่ะ ช่วงที่ไม่หายดี ให้กินอาหารอ่อนๆ หมายถึงอาหารย่อยง่ายไม่ใช่อาหารเหลว  หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน เยอะเพราะย่อยยาก  กินพวกข้าวต้ม ใส่เนื้อสัตว์ไม่ติดมันมาก หรือไม่ต้องใส่กระเทียมเจียวข้าวสวยกับแกงจืดที่ไม่มันจะช่วยให้ลำไส้ไม่ทำงานหนักเกินไป1

 

หวังคุณพ่อคุณแม่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลลูกเล็กๆ เมื่อมีอาการถ่ายเหลว และอาเจียนกันนะคะ  และแน่นอนว่าถึงแม้ว่าจะสามารถดูแลอาการลูกได้ในเบื้องต้นแล้วก็ตาม เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพลูก ควรพาลูกไปพบคุณหมอในการให้การรักษาอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ กันด้วยนะคะ   ด้วยความห่วงใยและใส่ใจค่ะ

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก!

สี อุจจาระ ทารก บอกอะไรได้บ้าง ?
โรคฉี่หนู อันตรายใกล้ตัวลูกน้อยที่ชอบสัตว์เลี้ยง
สี ปัสสาวะ บอก โรค ได้อย่างไร?

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1คุณหมอปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ  และเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก www.facebook.com/drpambookclub/