การสอนให้ลูกรู้คณค่าของเงินเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อลูกเริ่มเติบโตขึ้น ถึงวัยเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มคิดแล้วว่า ควรเริ่ม สอนลูกใช้เงิน ตอนอายุเท่าไหร่ สอนอะไร และอย่างไร เพราะหากเขาโตขึ้นมาแม้มีเงินทองมากมายขนาดไหน แต่ขาดความรู้เรื่องการหา การใช้ การออม อย่างถูกต้อง ไม่นานเงินที่มีอยู่ก็คงจะถูกใช้ไปจนหมด หรือเป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัว
คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้แนะนำไว้ว่า “เริ่มสอนได้ตั้งแต่ลูกเริ่มถือเงินไปโรงเรียนเอง โดยพ่อแม่ควรกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน สอนลูกว่า “ในแต่ละวัน เขามีเงินเท่านั้น เขาไม่มีสิทธิใช้เงินมากกว่านี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
สอนลูกเรื่องเงินง่ายๆ ตามวัย
สำหรับหลักการง่ายๆ ในการสอนลูกเรื่องเงิน เด็กเล็กวัยอนุบาลยังไม่จำเป็นต้องใช้เงิน คุณพ่อคุณแม่รอให้ลูกขึ้นชั้นประถมก่อน ในช่วงชั้นป.1 – ป.2 โดยอาจเริ่มให้เฉพาะค่าขนมเป็นรายวัน มากน้อยขึ้นอยู่กับราคาของแต่ละโรงเรียน ในช่วงนี้เป็นการสอนให้ลูกรู้จักการใช้ การเก็บ การทอนเงิน การรักษาเงิน หรือการไม่ไปขอเงินจากคนอื่น รวมทั้งสอนว่าการกดเงินออกจาก ATM ไม่ได้หมายความว่าเราจะกดออกมาเท่าไหร่ก็ได้ตามที่เราต้องการด้วย
พอลูกเริ่มโตขึ้นมาเป็นชั้น ป.3 ป.4 อาจเริ่มให้รู้จักการบริหารเงินด้วยการให้เงินเป็นสัปดาห์ เพื่อให้ลูกเริ่มรู้จักที่จะแบ่งเงินว่า ส่วนใดเอาไว้ใช้ซื้อของกิน ส่วนใดเอาไว้ใช้ซื้ออุปกรณ์การเรียน หรือส่วนใดเอาไว้เก็บไปฝากธนาคาร หรือหากยังคงให้เฉพาะค่าขนมตามปกติ แต่ค่าอุปกรณ์การเรียนนั้นมีการตั้งงบประมาณไว้เหมือนกันว่าเทอมละเท่าไหร่ แล้วให้ลูกมาเขียนใบเบิกเงินเป็นครั้งๆ ก็สามารถสอนให้ลูกรู้จักทำรายการบันทึกและการทำบัญชีเบื้องต้นได้ด้วย พอลูกโตขึ้นมีรายจ่ายมากขึ้นก็ค่อยๆ เพิ่มเงินให้ลูกไปบริหาร ตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้เรามีเวลาพูดคุยกับลูกเรื่องการบริหารเงินให้ถูกต้อง
แต่การเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันที่มีสิ่งเร้ามากมาย เพราะการช้อปปิ้งสามารถทำได้ 24 ชั่วโมงด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว ทำให้สมัยนี้การใช้จ่าย เป็นเรื่องที่สะดวกสบายสำหรับครอบครัว และสำหรับเด็กยุค 5G ที่เติบโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต ก็มักจะตื่นตาตื่นใจ และเรียกร้องอยากได้ของใหม่ๆ อยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีสอนลูกบริหารเงินอย่างรู้คุณค่าได้อย่างไร
ทีมแม่ ABK จึงขอนำแนวคิดของ ฟลุค เกริกพล มัสยวาณิช คุณพ่อมาดเนี้ยบของน้องอชิ ที่ผันตัวเองจากนักแสดง มาเป็น กูรูด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งได้แบ่งปันวิธี สอนลูกใช้เงิน ในสไตล์พ่อฟลุค ผ่านรายการ Fluke Advice EP.14 ทางนิตยสารแพรว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านสามารถนำแนวคิดไปปรับใช้กับครอบครัว และวางแผนการเงินให้กับลูกที่กำลังเติบโตขึ้นได้ค่ะ
6 เคล็ดลับ สอนลูกใช้เงิน สไตล์ “ฟลุค เกริกพล”
-
ต้องเหลือก่อนเก็บ
ฟลุค เล่าว่า สมัยก่อน คุณย่าให้เงินแทบจะพอดีในแต่ละวัน แต่ให้กระปุกออมสินเพื่อเก็บเงินด้วย จึงยากที่จะมีเงินเหลือเก็บ เลยแอบไปขอคุณปู่ ซึ่งคุณปู่ก็ใจดีให้หยิบได้เอง ฟลุคจึงเริ่มมีเงินเหลือเก็บ เมื่อฟลุคมีน้องอชิจึงคิดว่าควรให้เงินลูกเกินกว่าที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อลูกจะได้มีเงินเหลือเก็บ เพราะคนที่ไม่มีเงินเหลือ ก็จะไม่มีเงินเก็บ ดังนั้นสำหรับคนในสมัยนี้ เมื่อเงินเดือนเข้า เราต้อง “เก็บก่อนใช้” แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีเงินเหลือเก็บแล้ว เราจะเก็บเฉยๆ หรือเอามาทำให้มันเติบโตขึ้นต่างหาก
บทความแนะนำ วิธีเก็บเงิน แบบคนรวย เคล็ดลับ 15 ข้อที่ควรสอนลูก
-
ให้เงินลูกเป็นรายเดือน
สาเหตุที่ให้ลูกเป็นรายเดือน เพราะเวลาลูกอยากได้อะไร ในหัวของเด็กจะไม่มีอะไรเลยนอกจากการตื๊อ พูดเรื่องเดิมซ้ำๆ ทั้งวัน จนพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะตัดความรำคาญ ด้วยการซื้อสิ่งนั้นให้ แต่ไม่นานลูกก็จะอยากได้อย่างอื่นอีก ก็จะมาตื๊อพ่อแม่อีก ไม่จบง่ายๆ ฟลุคจึงเลือกที่จะให้เงินลูกเป็นรายเดือน เพื่อให้ลูกมีลิมิตในการใช้จ่ายต่อเดือน ซื้ออะไรเล็กๆ น้อยๆ ได้เองโดยไม่ต้องขอพ่อแม่ ซึ่งดีสำหรับพ่อแม่ด้วย ที่จะประเมินได้ว่า จะมีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากค่าเรียนของลูกเท่าไหร่
-
ให้ลูกมีวงเงินในบัตรเครดิต ตามจำนวนเงินที่ลูกเอามาฝากพ่อไว้
ฟลุคสมัครบัตรเสริมให้ลูก เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะบริหารเงินด้วยตัวเอง โดยกำหนดว่า ลูกอยากได้วงเงินบัตรเครดิตเท่าไหร่ ลูกต้องเอามาฝากพ่อเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว แม้ลูกจะมีบัตรเครดิต แต่ลูกยังไม่มีเครดิตในสายตาคนทั่วไปหรอกนะ
-
ทำโทษลูกด้วยการหักเงิน
ฟลุคเป็นคนไม่ตีลูก จึงเลือกวิธีลงโทษลูกด้วยการหักเงิน เช่น ลูกกินข้าวเสร็จแล้วไม่เอาจานไปเก็บ กินขนมแล้วไม่เอาเศษขยะไปทิ้ง วางซองขนมเกลื่อนบ้าน ซึ่งลูกมักจะพูดว่าเดี๋ยวทำ แต่สุดท้ายก็ลืม ดังนั้น ต้องทำทันที ถ้าไม่ทำทันทีพ่อก็จะหักเงินแบบนับชิ้นกันเลยทีเดียว ถือเป็นการฝึกระเบียบวินัยลูกไปในตัวด้วย
-
เลี้ยงลูกให้มีความสุข แล้วลูกจะเผื่อแผ่คนอื่นโดยธรรมชาติ
ฟลุคมีแนวคิดว่า คนที่เหลือถึงจะพร้อมให้คนอื่นได้ ถ้าเงินเราเหลือ เราถึงพร้อมที่จะแบ่งเพื่อนได้ หรือถ้าเราได้รับความอบอุ่นอย่างเหลือเฟือ เราจะพร้อมแบ่งปันได้ แต่ถ้าเราขาดเราจะเป็นคน need ดังนั้น ฟลุคจึงพยายามให้ลูกเกินไว้ก่อน
-
ฝึกความพร้อมให้ลูกไว้ตั้งแต่เด็ก
ฟลุคต้องการให้น้องอชิเรียนรู้วิธีบริหารเงินตั้งแต่เด็ก จึงพยายามฝึกกฎกติกามารยาททางสังคมให้ลูกพร้อมไว้ก่อน เช่นเมื่อลูกซื้ออะไร ต้องจ่ายให้ตรงเวลา จะได้ไม่สร้างปัญหาให้พ่อแม่ต้องตามแก้ อย่าคิดว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องไกลตัว แต่ให้คิดว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องที่เราต้องดูแล เงินของเราจะได้เติบโต
นอกจากวิธี “สอนลูกใช้เงิน” ในแบบพ่อฟลุคจะน่าสนใจแล้ว แนวคิดในการเลี้ยงลูกให้มีความสุขของพ่อฟลุคก็น่าสนใจไม่แพ้กันค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถชมคลิปแบบเต็มๆ ได้ที่นี่
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
7 เคล็ดลับง่าย ๆ สอนลูกออมเงิน และรู้จักคุณค่าของเงิน
ลูกไม่เชื่อฟัง พ่อแม่ต้องรีบสอน 5 อย่างนี้ สร้างให้ได้ก่อน 8 ขวบ!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่