พัฒนาการด้านอารมณ์ ของลูกจะค่อย ๆ เติบโตไปตามวัย หากลูกได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยให้เด็กพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้เร็วขึ้น
เลี้ยงลูกอย่างไร? ให้ลูกมี พัฒนาการด้านอารมณ์ ที่ดี
พัฒนาการด้านอารมณ์ คืออะไร?
พัฒนาการด้านอารมณ์ หมายถึง ขบวนการวิวัฒนาการของจิตที่สามารถรับผิดชอบควบคุม ขัดเกลา และแสดงออก ซึ่งอารมณ์ให้เหมาะสมกับกาลเวลาและสถานที่ เช่น การโต้เตียงโดยไม่รู้สึกโกรธเคือง รับฟังความคิดเห็น ของบุคคลอื่นที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับตนอย่างสบายใจในขณะที่รู้สึกโกรธเคืองไม่แสดงพฤติกรรมใดๆ ออกมาในทางไม่ดี หรือในทางลบ
การแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กเล็กนั้นจะเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อเทียบกับวัยทารก เพราะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ช่วยให้แสดงความรู้สึกได้มากขึ้น อีกทั้งพัฒนาการทางด้านสมองเริ่มมีความซับซ้อนขึ้น โดยระดับความรุนแรงทางอารมณ์ของเด็กแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง เช่น สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู อารมณ์โดยทั่วไปของเด็กเล็ก ได้แก่
- อารมณ์โกรธ จะเริ่มเมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือน และจะมีอัตราความโกรธสูงขึ้นตามลำดับเด็กมักโกรธเมื่อถูกขัดใจ ถูกรังแก และเรียนรู้ว่าวิธีที่จะเอาชนะได้ง่ายที่สุดคือการแสดงอารมณ์โกรธ เด็กจะแสดงอารมณ์โกรธอย่างเปิดเผย เช่น ร้องไห้ กระทืบเท้า กระแทกร่างกาย ทำตัวอ่อน ไม่พูดไม่จา ฯลฯ
- อารมณ์กลัว กลัวในสิ่งที่มักมีเหตุผลมากกว่าวัยทารก สิ่งเร้าที่ทำให้เด็กกลัวมีมากขึ้น เช่น กลัวเสียงดัง คนแปลกหน้า ในเด็กอายุ 3-5 ปี กลัวสัตว์ กลัวถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว พฤติกรรมที่เด็กแสดงออกเวลากลัว ร้องไห้ วิ่งหนี หาที่ซ่อน ความกลัวเหล่านี้จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น
- อารมณ์อิจฉา อารมณ์อิจฉาเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กมีความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่น หรือ กำลังสูญเสียของที่เป็นของตนไป จะเกิดขึ้นในเด็กอายุ 2-5 ปี เด็กจะอิจฉาน้อง เมื่อเด็กเห็นว่าพ่อแม่ให้ความสนใจมากกว่าตน พฤติกรรมที่แสดงออกเช่นเดียวกับอารมณ์โกรธ ดังนั้นควรที่จะให้ความรักความอบอุ่นที่ทัดเทียมกันเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเลื่อมล้ำ
- อารมณ์อยากรู้อยากเห็น เป็นวัยที่เริ่มรู้จักการใช้เหตุผลมีความเป็นตัวของตัวเองมีความสงสัยในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ชอบสำรวจ ชอบซักถาม
- อารมณ์สนุกสนาน เมื่อเด็กประสบความสำเร็จในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้กระทำ เด็กจะเกิดความสนุกสนาน ซึ่งแสดงออกด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
- อารมณ์รัก แรกเริ่มเด็กจะรักตนเองก่อน ต่อมาจะรู้จักการรักคนอื่น อารมณ์นี้เป็นอารมณ์แห่งความสุข เด็กจะแสดงความรักโดยการกอดจูบลูบคลำ เด็กมักแสดงความรักต่อพ่อแม่ หรือสัตว์เลี้ยงตลอดจนของเล่น
พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากเห็นลูกเติบโตเป็นคนดีและมีความสุข ดังนั้นการเลี้ยงดูในวัยเด็ก จะเป็นช่วงที่หล่อหลอมลักษณะพิเศษของแต่ละคน หรือที่เราเรียกว่า “บุคลิกภาพ” ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ยากเมื่อเติบโตขึ้น การที่พ่อแม่ช่วยอบรมสั่งสอน ก็จะช่วยนำพาลูกเข้าสู่เส้นทางที่ถูกที่ควร เพื่อให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่เป็นคนดี มีความสุข และมีความสมดุลในชีวิต ดังนั้น การพัฒนาจึงเริ่มต้นขึ้นที่บ้าน ถ้าพ่อแม่พัฒนาลูกในทุกกิจกรรม ลูกจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง รู้จักกินเป็น ดูเป็น ฟังเป็น บริโภคเป็น มีจิตใจที่ดีงาม มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม พร้อมที่จะออกสู่สังคมนอกบ้านต่อไป ดังนั้น หากเด็กได้รับการเลี้ยงดูแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจดี เด็กจะยอมรับนับถือตนเอง ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น และเด็กก็จะมีความสุขตามมา เมื่อเด็กมีความสุข เด็กจะมีกำลังใจ มีแรงจูงใจในการทำงานตามที่มุ่งหวัง และสามารถทนต่อความขัดแย้งได้ดี ทำให้ประสบความสำเร็จ ถ้าเด็กไม่สามารถทำได้ตามขั้นตอนพัฒนาการ เด็กจะรู้สึกเป็นปมด้อย และจะทำงานในขั้นตอนพัฒนาการที่สูงขึ้นได้ยาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ลูกมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่ดี?
เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ลูกมี พัฒนาการด้านอารมณ์ ที่ดี?
Emotional Quotient (EQ) คือสิ่งที่นำมาชี้วัดความฉลาดทางด้านอารมณ์ของลูก การที่พ่อแม่จะให้ลูกมี EQ ที่ดีได้ ก็ควรจะสั่งสอนให้ลูกมี พัฒนาการด้านอารมณ์ ที่ดีให้ได้ก่อน คุณครูที่จะสอนลูกในด้านนี้ได้ดีและทรงพลังที่สุดคือ “พ่อแม่” พ่อแม่คือศูนย์กลางการสร้างสรรค์สังคม เด็กจะเห็นโลกอย่างไร มีทัศนคติ มีท่าทีต่อโลกอย่างไร อยู่ที่พ่อแม่เป็นผู้ชักนำ โดยพ่อแม่ต้องเริ่มด้วยตัวเอง เป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกและทัศนคติพื้นฐานที่ดี มีเมตตา กรุณา มีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์ในทางที่ดี พ่อแม่จึงต้องใช้ 3 ทักษะนี้ ในการสั่งสอนลูกให้มี พัฒนาการด้านอารมณ์ ที่ดี
-
การแสดงความรู้สึก
ทักษะนี้จะสอนให้ลูกรับรู้ถึงความรู้สึกของตนเอง ในผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยที่มีระดับการพัฒนาด้านสติปัญญาที่มั่นคงแล้ว จะสามารถ แก้ไขปัญหา จัดการกับความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองได้เป็นอย่างดี แต่ในเด็กนั้น จะยังไม่สามารถจัดการและแสดงออกถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือ ทำตัวเป็นเหมือนกระจก ส่องให้ลูกเห็นว่าตอนนี้ตนเองมีความรู้สึกอย่างไร เช่น “แม่เห็นว่าลูกกำลังผิดหวังอยู่ใช่ไหม” เมื่อลูกยอมรับถึงความรู้สึกของตนเอง ก็ให้แนะนำลูกถึงการจัดการต่อความรู้สึกนั้น ๆ รวมถึงให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ
2. ให้ลูกจัดการกับความรู้สึกด้วยตนเอง
เมื่อลูกรับรู้ความรู้สึกของตนเองแล้ว เช่น รู้สึกโกรธ หรือผิดหวังที่สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นอย่างที่ตนเองคิด เมื่อลูกยอมรับแล้วว่าตนเองรู้สึกโกรธจริง ๆ ลองปล่อยให้ลูกอยู่กับความรู้สึกนั้นสักพัก ให้ลองถามลูกว่าลูกจะจัดการกับความรู้สึกนี้อย่างไร (คุณพ่อคุณแม่อาจจะชี้แนะลูกและช่วยลูกคิดวิธีจัดการความรู้สึกด้วยคำถามว่า “เอ๊ะ!! ที่ลูกโกรธอยู่ เป็นเพราะทำของเล่นของพี่เค้าเสีย ลองไปขอโทษพี่ดูดีไหมนะ เผื่อพี่เค้าจะหายเสียใจ” เป็นต้น) เมื่อลูกได้จัดการกับความรู้สึกนั้น ๆ ด้วยตัวเองแล้ว ในครั้งต่อ ๆ ที่ลูกมีความรู้สึกนี้อีก ลูกก็จะรู้จักแก้ไขตัวเองให้ทำสิ่งที่ถูกต้องได้
3. ให้ความรักความเข้าใจแก่ลูก
พ่อแม่มีส่วนช่วยพัฒนาลูกด้านอารมณ์ได้ด้วยการให้เวลา ดูแลเอาใจใส่ ใกล้ชิด แสดงความรักและความเข้าใจ รับฟังและพูดคุยโต้ตอบกับลูก ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น เล่านิทาน ทำอาหาร เล่นกีฬา ไปเที่ยว ให้โอกาสลูกเรียนรู้ ฝึกทำสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นมิตร การใช้เวลาคุณภาพเหล่านี้กับลูก จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การแบ่งปันกับผู้อื่น การเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกมี พัฒนาการด้านอารมณ์ ที่ดี มี EQ ที่ดี มีจิตใจที่ดีมีความมั่นคงในจิตใจ เกิดความมั่นใจ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง พร้อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
Self Esteem การเห็นคุณค่าในตนเอง สิ่งสำคัญที่ต้องสร้างให้ลูก
วิธีสร้างวินัยเชิงบวก ด้วย 10 เทคนิคแสนง่าย ไม่ให้ลูกต่อต้าน!
เดนมาร์กสอนวิชา “ความเห็นใจผู้อื่น” ในชั้นเรียน
5 ขั้นตอนการดุลูก สอนลูกอย่างไร ไม่ทำให้ลูกพัฒนาการถดถอย
ขอบคุณข้อมูลจาก : psychcentral.com, www.brainkiddy.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่