AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ฝึกลูกกินข้าวเอง ช่วยพัฒนาการอะไรบ้าง?

ฝึกลูกกินข้าวเอง ช่วยพัฒนาการอะไรบ้าง?

ความสุขของพ่อแม่คือการได้เห็นลูกมีพัฒนาการที่ดีสมวัย ยิ่งเมื่อลูกอายุได้ 9 เดือนเขาจะเริ่มหยิบ จับ ถือสิ่งของที่น้ำหนักไม่มากได้แล้ว เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กมีความแข็งแรงขึ้น  ดังนั้นหากจะ ฝึกลูกกินข้าวเอง ในช่วงนี้ก็จะดีต่อพัฒนาการของลูก ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปหาคำตอบพร้อมกันว่า ฝึกลูกกินข้าวเอง แล้วจะได้พัฒนาการในเรื่องใดกันค่ะ

ฝึกลูกกินข้าวเอง พ่อแม่ต้องส่งเสริมให้ลูก

หลังจากที่ลูกได้กินนมแม่อาหารที่ดีที่สุดมาตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน หลังจากนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่แม่จะต้องเตรียมอาหาร ป้อนเสริมให้ลูกเพิ่มจากการกินนมแม่เพียงอย่างเดียว อาหารเสริมที่ป้อนให้ลูกแม่ต้องเตรียมอย่างพิถีพิถัน และต้องให้ทีละอย่าง  เพื่อดูว่าลูกจะมีอาการแพ้อาหารที่ป้อนให้หรือไม่ ซึ่งส่วนมากแล้ว ถ้าแม่เริ่มป้อนข้าวบดไข่แดงก็ควรป้อนเสริมให้ลูกวันละมื้อ  โดยที่ลูกจะกินนมแม่เป็นอาหารหลักอยู่   จนกว่าลูกมีอายุครบ 1 ขวบ จะเปลี่ยนจากการกินนมแม่ เป็นอาหารเสริม   ส่วนอาหารเสริมจะเปลี่ยนมาเป็นอาหารมื้อหลัก 3 มื้อแทนค่ะ

การป้อนอาหารเสริม เพื่อดูว่าลูกจะแพ้อาหารที่ป้อนให้หรือไม่ ให้ทำแบบนี้ค่ะ คือ ข้าวบดไข่แดง ป้อนลูกประมาณ 1 สัปดาห์  ถ้าลูกกินแล้วไม่มีอาหารผื่นแดงขึ้น แสดงว่าให้กินได้ปกติ จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นข้าวบดกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น หรือบดกับผัก ต่างๆ แต่หากว่าลูกมีอาการผื่นแดงขึ้นที่หน้า ลำตัว และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ถ่ายปนเลือด อาเจียน แสดงว่าลูกมี อาการแพ้อาหารที่ป้อน อาจเป็นเนื้อปลา เนื้อหมู แพ้ข้าวโพด แพ้นมวัว เป็นต้น ซึ่งแม่ควรหยุดให้อาหารที่ทำให้ลูกแพ้นั้นลง

 

Must Read >> พัฒนาการกล้ามเนื้อ เท้าและขา ตั้งแต่ลูกแรกเกิด จนกระโดดได้

 

ตอนลูกเริ่มกินอาหารเสริมได้ พ่อแม่จะสนุกกับการป้อนข้าวลูกมาก และยิ่งถ้าลูกกินข้าวที่ป้อนให้หมด ปลื้มใจสุดๆ กันเลยใช่ไหมคะ แต่พ่อแม่จะสนุกมากขึ้นเมื่อถึงเวลาที่ลูกเริ่มถือช้อนข้าวเอง หรือใช้มือหยิบอาหารเข้าปากได้เอง ซึ่งลูกจะเริ่มใช้มือถนัดมากขึ้นก็ตอนที่อายุได้ 9 เดือนขึ้นไป  ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น พ่อแม่ต้องไม่ปิดกั้นพัฒนาการลูกกันนะคะ  ลูกใช้มือหยิบอาหาร หรือถือช้อนตักข้าวเข้าปากแล้วหกเลอะเทอะก็อย่าไปดุลูกค่ะ

อ่านต่อ >> ให้ลูกกินข้าวเองได้พัฒนาการอะไรบ้าง? หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 ฝึกลูกกินข้าวเอง ช่วยพัฒนาการอะไรบ้าง?

อย่างที่บอกไปค่ะว่า การที่พ่อแม่ช่วยเหลือลูกทุกอย่าง โดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกทำอะไรได้เอง อย่างเวลาลูกกินข้าวก็คอยป้อนให้ลูกทุกครั้ง ลูกจะถือแก้วหัดดื่มเอง แม่ก็คอยช่วยจับให้ แบบนี้ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ดีเลยค่ะ

นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้อธิบายถึงข้อดีของการ ฝึกลูกกินข้าวเอง ที่จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีในหลายเรื่อง ดังนี้ค่ะ

ลูกน้อยวัย 1-3 ขวบ กล้ามเนื้อมือมีความแข็งแรงมากขึ้น จึงสามารถฝึกให้ใช้ช้อนส้อม กินข้าวเอง ได้แล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าลูกจะกินได้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนผู้ใหญ่ เพราะมือของเขาจะยังจับช้อนส้อมได้ไม่คล่อง อาจจะได้แค่จับแล้วเขี่ยไปมาหรือทำอาหารหกเลอะเทอะบ้าง แต่ช่วงที่กินอย่างเลอะเทอะนี่แหละที่เด็กจะได้สนุกกับการกินและได้  เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ไม่ว่าเป็น…

 

1. กินเลอะเทอะก็มีข้อดี

แม้ลูกจะกินเลอะเทอะ แต่การปล่อยให้เขาได้ลองกินเองช่วยพัฒนาลูกในหลายๆ เรื่องเลย นั่นคือ

2. ความเลอะเทอะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของพ่อแม่

หน้าที่ของพ่อแม่คือต้องเตรียมให้ลูกได้ฝึกทักษะต่างๆ จากการกิน ซึ่งทักษะการทำงานของเด็กเล็กๆ เช่นนี้จะติดตัวมา จนถึงตอนโต ทำให้เด็กมีความคล่องแคล่ว เรียนรู้ที่จะใช้อุปกรณ์ต่างๆ หรือหยิบจับทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แม้ช่วง ฝึกฝนจะทำให้บ้านสกปรกเลอะเทอะก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบที่พ่อแม่ต้องจัดการ เช่น คุณพ่อคุณแม่รู้อยู่แล้วว่าลูกกินอาหารเองแล้วจะทำเลอะเทอะ ก็เพียงหาผ้าหรือกระดาษมาปูรองให้เรียบร้อย ตรงส่วนนี้เป็นการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาของพ่อแม่ ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เต็มที่แล้ว ลูกยังจะได้ซึมซับวิธีแก้ไขปัญหาของพ่อแม่ ทำให้ลูกรู้จักแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองเมื่อเขาโตขึ้น

คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่า แล้วถ้าลูกน้อยมัวแต่เขี่ยอาหารไปมา ทำช้อนหล่นบ้าง อาหารหกบ้าง ไม่เคยป้อนได้ถึงปากตัวเองสักคำแล้วจะอิ่มท้องได้อย่างไร คุณหมอมีคำตอบให้ตามนี้ค่ะ

“คุณแม่เพียงแค่แยกจานป้อนกับจานกินเองไว้ จานที่ให้ลูกกินเองก็ให้เขาฝึกไปเรื่อยๆ จะเข้าปากบ้างหกบ้างก็ไม่เป็นไร ส่วนจานป้อนมีไว้สำหรับกินจริงๆ จะอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ซึ่งคอยป้อนอยู่ข้างๆ แรกเริ่มเมื่อลูกหัดกินใหม่ๆ เขาจะยังกินเองได้ไม่มาก ก็แบ่งอาหารไว้ที่จานสำหรับป้อนเยอะหน่อย แต่เมื่อเขากินเองได้มากขึ้นก็ค่อยๆ ลดอาหารจากจานป้อนแล้วไปเพิ่มที่จานกินเองของลูกแทน จนเมื่อลูกกินเองได้คล่องแคล่วดีแล้วจึงให้ลูกกินเองได้ทั้งหมด ต่อไปลูกก็จะกินได้เองทั้งหมดโดยไม่ต้องมีจานป้อนไว้สำรอง”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

 

อ่านต่อ >> “3 กิจกรรมง่ายๆ ช่วยส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูก” คลิกหน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูก

เราจะได้ยินคำว่า กล้ามเนื้อมัดเล็กกันบ่อยๆ ใช่ไหมคะ ซึ่งก็คือกล้ามเนื้อที่อยู่เต็มฝ่ามือทั้งสองข้าง ตามนิ้วมือของเด็กๆ และตามนิ้วเท้าก็เรียกกล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยเช่นกันค่ะ กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ การใช้มือ การหยิบจับ ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาการที่จะต่อยอดไปสู่ การเขียน การทำกิจกรรมในทุกๆ วัน และการช่วยเหลือตัวเองได้ดีในอนาคตของเด็กนั่นเอง

ซึ่งการส่งเสริมลูกได้ใช้กล้ามเนื้อมดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องกระตุ้นลูกด้วยกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้มือทั้งสองข้างของลูก นั่นคือ

1. ฝึกให้ลูกออกแรง

เริ่มได้ตั้งแต่ลูกอายุ 9 ขวบขึ้นไปเลยค่ะ ด้วยการหาสติ๊กเกอร์ที่เป็นรูปสัตว์แบบเนื้อนูนออกมา เพื่อให้ลูกจับแล้วดึง แล้วแปะกดติดลงไปที่พื้นผิวเดิมได้เหมือนเดิม การที่ลูกออกแรงดึง กด แปะ จะช่วยให้กล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงขึ้น

2. ฝึกให้ลูกใช้นิ้วมือ

คุณพ่อคุณแม่รู้จักของเล่นชิ้นนี้กันเป็นอย่างดี นั่นคือการนำเอาแป้งโดว์ ซึ่งปัจจุบันนี้มีแป้งโดว์ที่ทำมาจากส่วนผสมธรรมชาติ เด็กเอาเข้าปากไม่เป็นอันตรายค่ะ ซึ่งลักษณะของแป้งโดว์จะมีเนื้อเหนียวนุ่มๆ เด็กๆ สามารถนำมาปั้น น้ำมากด นำมาหัก เล่นเป็นอะไรก็ได้ การเล่นแป้งโดว์ถือเป็นของเล่นที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือทั้งสองข้างได้ดีมากค่ะ

 

Must Read >> แป้งโดว์โฮมเมดปลอดสารพิษ

 

3. ฝึกใช้กล้ามเนื้อมือ

เมื่อลูกได้ 2-3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ หาแบบฝึกหัดที่มีทั้งลากเล้น วาดรูปดาว รูปต้นไม้ รูปสัตว์ หัดเขียนอักษร ฯลฯ ที่พ่อแม่สามารถจับมือลูกให้รู้จักการจับดินสอ แล้วลากไปตามเส้นในแบบฝึกหัด ซึ่งตรงนี้จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีกล้ามเนื้อมัดเล็กในการใช้มือลงน้ำหนักมือได้อย่างแข็งแรง ที่ต่อไปลูกจะสามารถเขียนหนังสือได้อย่างถนัดคล่องแคล่วมากขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเองค่ะ

 

ท้ายนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อพ่อแม่อ่านบทความนี้แล้ว จะช่วยกันฝึกให้ลูกกินข้าวเอง เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีทุกด้านอย่างสมวัย เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

รวม 12 เรื่องของ เด็กแรกเกิด ที่แม่มือใหม่ต้องรู้!
พัฒนาการกล้ามเนื้อ เท้าและขา ตั้งแต่ลูกแรกเกิด จนกระโดดได้
เช็กพัฒนาการตามวัยของลูก! กับคู่มือสำหรับส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด -5 ปี