หมอแนะ! วิธีรับมือดูแล หลังลูกประสบเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต (จากเหตุ ยิงกราดโคราช) ทำให้เกิดภาวะความเครียดผิดปกติ หรือเป็น PTSD ส่งผลต่อจิตใจ ทำพัฒนาการลูกถดถอย
PTSD ในเด็ก วิธีรับมือและดูแล
หลังลูกประสบเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต
เรียกได้ว่าผลกระทบจากเหตุ ยิงกราดโคราช ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 30 คน นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยังมีอาการเสียขวัญตามมาไม่หาย ซึ่งในผู้ใหญ่อาจรักษาดูแลจิตใจของตัวเองได้ แต่สำหรับเด็กที่ประสบพบเจอกับเหตุการณ์รุงแรงในครั้งนี้ อาจเป็นการสร้างรอยแผลในใจ แน่นอนว่าเด็กไม่สามารถรับมือ หรือควบคุมจิตใจและร่างกายของตัวเองให้กลับมาเป็นปกติได้เหมือนผู้ใหญ่!
นั่นหมายถึง…แม้เหตุการณ์จะจบลงแล้ว และตัวเด็กเองอาจไม่ได้รับการบาดเจ็บอะไรที่ร่างกาย แต่จิตใจของลูกนั้นได้รับการบาดเจ็บอย่างรุนแรงแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นภาพ หรือเสียงปืน ซึ่งลูกจะจำและฝังใจไว้ >>> ดังนั้นหากลูกน้อยของคุณกำลังประสบภาวะนี้อยู่ หรือเคยเจอเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องรู้เท่าทัน หมั่นสังเกตอาการลูกน้อยให้ดี รับมือให้เป็น ที่สำคัญควรดูแลรักษาจิตใจที่บาดเจ็บของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด … แต่จะต้องทำอย่างไรบ้าง ตามมาดูคำแนะนำดีๆ จาก แพทย์หญิงโสรยา ชัชวาลานนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กันค่ะ
ซึ่งทางทีมแม่ ABK ก็ได้ต่อสายตรงถึงคุณหมอโสรยา เพื่อขอคำแนะนำและวิธีรับมือ ภาวะ PTSD ในเด็ก เนื่องจากเราได้ไปเจอเรื่องในทวิตเตอร์แอคเค้าท์หนึ่งซึ่งเล่าถึง
คุณแม่และลูกน้อยวัย 4 ขวบที่หลบอยู่ในห้องน้ำในเหตุการณ์ กราดยิงโคราช จนได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง เหตุดังกล่าวทำให้ น้องไม่สามารถควบคุมร่างกายของตัวเองได้ คือ จากที่โต 4 ขวบไม่ต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแล้ว กลายเป็นตอนนี้น้องควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ มีอาการผวา กรีดร้องตอนกลางคืน กลัวห้องน้ำ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นี้จบลง น้องมีอาการข้างต้น จนคุณแม่ต้องพาไปพบจิตแพทย์
โดยเรื่องนี้คุณหมอโสรยา ก็ได้อธิบายกับทีมแม่ ABK ว่า…
เด็กมีภาวะ PTSD หรือ สภาวะป่วยทางจิตใจ หลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก
>> กรณีการกราดยิงที่โคราช ถือเป็นภยันตรายที่มีความรุนแรงสูงมากต่อร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็เกิดความเครียดสูงตามหลังเหตุการณ์ได้ อาการทางจิตใจตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ในระยะแรก จัดเป็นปฎิกิริยาที่เรียกว่า Acute Stress Disorder ซึ่งจะแสดงอาการได้หลายอย่าง เช่น ฝันร้าย กลัว รู้สึกว่าตนเองกลับไปอยู่เหตุการณ์ดังกล่าว ตกใจง่าย ไม่กล้าออกนอกบ้าน เป็นต้น อาการที่เกิดในระยะแรก หากได้รับการประคับประคองที่ดี จะค่อยๆ หายไปได้ แต่ถ้าอาการยังคงอยู่หลังเกิดเหตุการณ์นานกว่า 1 เดือน ในทางจิตเวชจัดเป็นภาวะที่เรียกว่า Posttraumatic stress disorder (PTSD)
กรณีที่เป็นเด็กซึ่งไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกได้มากนัก มักจะแสดงออกโดยมีพฤติกรรมถดถอย อย่างในกรณีนี้เคยควบคุมการปัสสาวะได้แล้ว ก็กลับกลายไปเป็นเด็กเล็กอีกครั้ง โดยเด็กไม่ได้ตั้งใจทำ ในบางรายอาจแยกตัว หรือบางคนกลับมาเล่นได้ดีเป็นปกติ แต่แสดงการเล่นสมมติที่แฝงความรุนแรงของเหตุการณ์
Must read : ระวังภัยเกินไปทำให้ลูกกลัว
Must read : รับมือความกลัวของ เด็กก่อนวัยเรียน พ่อแม่ช่วยแก้ได้เมื่อหนู “ขี้กลัว”
เด็กเล็กที่การสื่อสารไม่ดี จะแสดงออกทางพฤติกรรม!
ผลกระทบต่อจิตใจ พฤติกรรม และการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็ก หลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง >> ซึ่งในประสบการณ์เด็กแต่ละคน ย่อมพบเรื่องสะเทือนใจ แต่กรณีที่พบเรื่องสะเทือนใจที่รุนแรงเช่นนี้ เป็นความเครียดที่คนทั่วไปไม่ได้พบเจอเป็นปกติ จะทำให้เกิดผลกระทบได้มาก ในแง่จิตใจ เด็กจะมีความวิตกกังวลสูง โดยเฉพาะกังวลเรื่องความปลอดภัยของตนเองและคนที่ตัวเองรัก รวมถึงบางคนยังเสียบุคคลที่รักในเหตุการณ์อีกด้วย
อย่างที่กล่าวไปแล้ว เด็กเล็กๆ ที่การสื่อสารไม่ดีนัก จะแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมถดถอยไปเป็นเด็กเล็กอีกครั้ง บางรายแยกตัว เด็กอาจแสดงออกผ่านการเล่น เกี่ยวกับความกังวลและความรุนแรง ตกใจง่าย แสดงอาการหวาดกลัวถ้าต้องเผชิญกับ ภาพ สิ่งของ สถานที่ ที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ บางรายไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้
อ่านต่อ >> “วิธีสังเกต PTSD ในเด็ก และการดูแลเมื่อลูกมีจิตใจบอบช้ำ
จากการพบเจอเหตุร้ายแรงในชีวิต” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ลักษณะเหตุการณ์ที่สามารถทำให้เด็กเกิดความสะเทือนใจ
ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ สึนามิ เมื่อปี 47 ที่พบว่า มีอัตราของ PTSD สูง กรณีอื่นๆที่ทำให้เกิด PTSD ได้ เช่น เด็กอยู่ในรถที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง เป็นต้น ส่วนความเครียดที่เกิดจากความสูญเสีย พลัดพราก ที่คนเราทุกคนเจอได้ เช่น คนอันเป็นที่รักเสียชีวิต หรือ สัตวเลี้ยงตาย ไม่ทำให้เกิด PTSD ยกเว้น เด็กอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้เกิดความตายนั้นด้วยตนเอง
Must read : สมาคมจิตแพทย์ฯ แนะวิธีเยียวยาจิตใจ รับมือกับความสูญเสีย
วิธีสังเกต PTSD ในเด็ก
ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ต้องสูงมาก เป็นเหตุการณ์ที่คนทั่วไป ไม่ได้มีโอกาสเผชิญ และเด็กอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตนเอง เช่น สึนามึ แผ่นดินไหว หรือ การประสบอุบัติเหตุที่รุนแรง กรณีที่เด็กผ่านเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ การบาดเจ็บด้านจิตใจ ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการ ดังต่อไปนี้
- มีพฤติกรรมถดถอยกลับไปเป็นเด็กเล็กๆ
- เงียบ แยกตัว
- เล่นสมมติที่แสดงออกถึงความรุนแรง
- ความกังวล นอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย ตื่นตกใจง่าย
- หลีกเลี่ยงการไปในบางสถานที่ หรือ หลบออกจากบางสถานการณ์ ที่อาจทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์รุนแรง
- ขาดสมาธิ ผลการเรียนแย่ลง การเข้าสังคมแย่ลง
วิธีเยียวยาจิตใจลูก ที่พ่อแม่ทำได้
ปัญหาหลักของความเครียดที่เกิดขึ้น คือ ความไม่มั่นใจในความปลอดภัย มีความวิตกกังวลสูง หากเด็กแสดงออกถึงความกังวลดังกล่าว ไม่ว่าด้วยคำพูดหรือท่าทาง คุณพ่อคุณแม่ ต้องแสดงความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจ คำพูดว่า “อย่ากลัว” เป็นคำพูดที่ไม่ช่วยเด็ก เพราะอย่างไรตามเด็กก็จะยังกลัวอยู่ดี หากพ่อแม่พูดเช่นนั้นเด็กอาจรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่เข้าใจความรู้สึกและอาจจะไม่ปกป้องตนเอง อาจส่งผลให้เด็กพยายามไม่แสดงออกถึงความกลัวกังวลของตนเองให้พ่อแม่เห็นอีก
เมื่อเด็กพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ควรให้เด็กพูดระบาย ให้เด็กได้แสดงออกถึงความรู้สึก ไม่ปิดกั้น ไม่เบี่ยงเบนประเด็น บ่อยครั้งพ่อแม่เองรู้สึกกังวล จึงพยายามเบี่ยงเบนเด็กออกไปเรื่องอื่น ทำให้ความวิตกกังวลของเด็กไม่ได้รับการจัดการ คุณพ่อคุณแม่มีบทบาทในการฟังอย่างตั้งใจ โดยคอยปรับความคิดและประคับประคอง แสดงให้เด็กมั่นใจได้ว่า จะปลอดภัย เช่น บอกว่า “ตอนนี้ หนูปลอดภัย จะไม่มีใครมาทำอะไรหนูได้ พ่อแม่ปกป้องหนูเสมอ” สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ ต้องหนักแน่นมั่นคง ให้เด็กรับรู้ได้ว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นที่พึ่งของเค้าได้
ปัญหาหลักของการบาดเจ็บทางด้านจิตใจแบบนี้ คือ ความรู้สึกขาดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต เดินห้างอยู่ดีๆ ชีวิตก็ตกอยู่ในอันตรายถึงขีวิต ทำให้ช่วงแรกเด็กย่อมจะไม่มั่นใจว่า จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาอีกได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ในช่วงแรกอาจต้องอยู่ด้วยตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน ในขณะที่ค่อยๆปรับให้ชีวิตเข้าสู่ภาวะปกติในชีวิตประจำวันให้เร็วที่สุด เช่น การไปโรงเรียน การออกนอกบ้าน การเผชิญกับสิ่งที่กลัว เช่นสถานที่บางสถานที่ ทีละน้อย เด็กอาจแสดงท่าทีหวาดผวา เช่น เวลาได้ยินสียงดัง ก็รู้สึกเหมือนเสียงปืน สิ่งที่ทำได้คือ เข้ามาอยู่ด้วย อธิบายว่า เสียงอะไร พร้อมให้ความมั่นใจอีกเช่นกัน
กรณีที่เด็กอาจหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน ปฎิเสธการไปโรงเรียน ควรแจ้งคุณครู แปะมือกับคุณครูให้เข้าใจปัญหาของเด็ก ดูแลแนวทางเดียวกันกับที่บ้าน คือให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย
แนวทางการรักษาจิตใจ เมื่อลูกประสบเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต
ในการพบแพทย์ เบื้องต้นแพทย์จะให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ในการดูแลเด็กที่บ้าน เพราะคุณพ่อคุณแม่คือบุคคลสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือ ให้เด็กผ่านพ้นความเครียดนี้ไปได้ ส่วนกระบวนการบำบัดมีหลายแบบ ได้แก่ การปรับกระบวนการคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy) หรือ การบำบัด โดย Eye movement desensitization and reprocessing (EMDR) อย่างไรก็ตามในเด็กที่อายุน้อย พัฒนาการด้านภาษา ยังไม่ดีนัก อาจบำบัดโดยกระบวนการต่างๆ ลำบาก สามารถใช้การบำบัดผ่านการเล่น และในกรณีที่จำเป็น อาจจำเป็นต้องรับประทานยา เช่น กรณีที่มีภาวะซึมเศร้า หรือ วิตกกังวลสูง
…อย่างไรก็ดีจากที่คุณหมอได้กล่าวไว้ว่า ภาวะ PTSD ในเด็ก จะไม่เกิดขึ้นหากลูกได้รับการประคับประคอง ดูแลจิตใจที่ดี ซึ่งอาการหวาดกลัว ผวา สะเทือนใจหลังลูกเจอเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง แต่หากครอบครัวไหนได้ประสบกับเหตุการณ์นั้นจริงๆ สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติและควรศึกษาความรู้เกี่ยวกับการรับมือเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ไว้บ้าง นั่นก็เพื่อความปลอดภัยกับชีวิตของตัวเองและลูกน้อยนะคะ
ขอบคุณคำแนะนำดีๆ จาก แพทย์หญิงโสรยา ชัชวาลานนท์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- 5 พฤติกรรมพ่อแม่ ทำลูกเครียดร้องไห้
- จิตแพทย์แนะ! ขอบเขตการลงโทษเด็ก ป้องกันเด็กบอบช้ำหลังถูกลงโทษ
- เด็ก 7 ขวบ ถูกข่มขืน ต้องกินยาต้านไวรัส พร้อมเล่าเหตุการณ์ผ่านภาพวาดที่สุดสะเทือนใจ
- เด็กฆ่าตัวตาย ปัญหาใหญ่ของสังคม!
- ระวังภัยจากการล่อลวงเด็ก และแก๊งลักเด็ก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่