ไส้กรอกมหันตภัย ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่กับเรื่องใกล้ตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่มักจะมองข้ามกันไป หรือบางครั้งคิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุร้ายแรงกับลูกได้ ความจริงคือ การประมาทเพียงเสี้ยววินาที อาจทำลูกเสียชีวิตได้ค่ะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีเรื่องเตือนสะเทือนใจ จากเพจเรื่องเล่าหมอ x exclusive ที่พูดถึงการเสียชีวิตของเด็กน้อยคนหนึ่งจากการทานไส้กรอก
ไส้กรอกมหันตภัย ติดหลอดลมลูกถึงตาย!!
เรื่องราวต่อไปนี้ทางทีมงานได้ไปอ่านเรื่องราวที่เป็นความรู้จากเพจเรื่องเล่าจากหมอ x exclusive ซึ่งเป็นการให้ความรู้ที่ให้แง่คิดที่ดีกับพ่อแม่อย่างมาก จนมาสะดุดใจเข้ากับเรื่องราวหนึ่ง ที่พูดถึง “ไส้กรอกมหันตภัย” ดิฉันในฐานะแม่คนหนึ่งที่ก็มีลูกเล็ก และไม่อยากให้เหตุการสูญเสียเกิดขึ้นกับลูกของตัวเอง รวมถึงลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น จึงอยากให้ลองอ่านเรื่องราวต่อไปนี้กันค่ะ เพื่อที่เราในฐานะพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ที่เราไม่ควรจะประมาท หรือให้ลูกคาดสายตาเลยแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว
ดิฉันขออนุญาตหยิบยกเรื่องราวที่คุณหมอเล่าเตือนใจให้กับพ่อแม่ ดังนี้ค่ะ…
“หลายวันก่อน ในช่วงหัวค่ำ ณ รพ แห่งหนึ่ง มี notify จากห้องฉุกเฉินถึงหมอเด็กที่อยู่เวรวันนั้นจากหมอน้องๆ ที่ตรวจ ได้ความว่า เด็กน้อยอายุ 3 ขวบมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติ สอบถามจากผู้ปกครองได้ความว่า จู่ๆ น้องก็ลงไปนอนดิ้นทุรนทุราย ปากเขียว เลยรีบพามาโรงพยาบาลโดยไม่ได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาก่อน ใช้เวลาในการเดินทางมาโรงพยาบาลพอสมควร
พอถึงห้องฉุกเฉิน แพทย์เวรที่ห้องฉุกเฉินได้ทำการช่วยเหลือกู้ชีพ รวมถึงการใส่ท่อช่วยหายใจ เพราะน้องอยู่ในสภาวะระบบหายใจล้มเหลว ทันใดนั้นเอง!!!! ระหว่างใส่ท่อช่วยหายใจ ไส้กรอกชิ้นนึงขนาดพอคำ ก็หลุดออกมาจากหลอดลม
ทุกอย่างกระจ่าง สอบถามผู้ปกครอง ได้ความว่า เด็กน้อยถือไส้กรอกกินตามลำพัง แต่อะไรก็ไม่สำคัญไปกว่า การช่วยฟื้นคืนชีพครั้งนี้ทำไม่สำเร็จ เด็กน้อยมาถึงโรงพยาบาลช้าไป”
ได้อ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจปนหดหู่ใจกันอย่างมากเลยใช่ไหมคะ ดิฉันตอนอ่านเรื่องแชร์นี้มาจากเพื่อนคนหนึ่ง อ่านแล้วรู้สึกน้ำตาคลอ และรู้สึกเสียใจเสียดายกับชีวิตบริสุทธิ์น้อยๆ ที่เพิ่งจะ 3 ขวบ กำลังน่ารัก ช่างพูด สุดท้ายต้องมาจบชีวิตด้วยการกินไส้กรอก และเท่าจากที่อ่านสรุปจากคุณหมอ พอทราบว่าเด็กได้ไส้กรอกที่ถือกินตามลำพัง โดยที่ผู้ใหญ่อาจไม่ทันได้เห็นว่าเด็กมีการกินไส้กรอก แล้วเมื่อชิ้นไส้กรอกที่กัดกินนั้นหลุดเข้าไปในคอโดยที่ยังไม่ได้เคี้ยวให้ละเอียดเสียก่อน ทำให้หลุดลงไปติดตรงหลอดลม เด็กจึงล้มลงดิ้น แล้วหมดสติ ด้วยความที่ผู้ใหญ่ตกใจ และไม่ทราบว่าเหตุที่เด็กล้มลงนั้นเกิดจากอะไร จึงไม่ได้มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และเมื่อถึงโรงพยาบาลก็ไม่สามารถแจ้งหมอ พยาบาลได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด
อ่านต่อ >> “วิธีปฐมพยาบาลเด็กที่ถูกต้องเมื่อมีสิ่งของติดคอ” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เรื่องนี้น่าคิดนะคะ ในฐานะพ่อแม่เรารู้กันหรือเปล่าว่าในเด็กเล็กๆ ที่อายุระหว่าง 1-5 ปี ถึงแม้เขาจะมีฟันเพื่อบดเคี้ยวอาหารแล้วก็ตาม แต่การให้อาหารกับเด็กวัยนี้ ต้องเป็นอาหารที่เด็กสามารถเคี้ยวให้ละเอียดได้ก่อนที่จะกลืนลงคอ อาหารที่ให้เด็กกินเป็นชิ้นใหญ่ๆ ไม่จะเป็นผลไม้ ไส้กรอก ลูกชิ้น ฯลฯ หากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กไม่ได้อยู่ด้วยใกล้ๆ ขณะที่เด็กกำลังทาน บางครั้งเขาอาจกัดแล้วกลืนลงคอไปทั้งชิ้นได้เหมือนกันค่ะ จึงแนะนำว่าการให้อาหารที่เป็นชิ้นใหญ่ๆ กับเด็กควรมีพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่นั่งอยู่ด้วย อย่าคิดแค่ว่าให้เด็กนั่งกินเพลินๆ ไม่กวนใจดี แบบนี้ไม่ถูกต้องนะคะ พ่อแม่อย่างเราๆ ควรใช้ช่วงเวลาพิเศษนี้นั่งทานอาหาร หรือของว่างไปพร้อมกับลูก หรือถ้าจะให้ดีหน่อย ควรเตรียมอาหาร หรือของว่าที่เหมาะสมกับวัยของเด็กด้วยนะคะ
เหตุการณ์ครั้งนี้ครอบครัวของเด็กไม่ได้มีการทำปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับเด็กก่อนไปโรงพยาบาล อาจด้วยไม่ทราบว่าที่เด็กล้มลงชักหมดสตินั้นมาจากการที่กินไส้กรอก แล้วชิ้นไส้กรอกหลุดเข้าไปติดในหลอดลม ดังนั้นเพื่อป้องกัน และการดูแลปฐมพยาบาลเด็กเล็กๆ ในเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล หากมีอาหาร หรือสิ่งของชิ้นเล็กที่เด็กเอาเข้าปาก แล้วไปอุดตันในลำคอ หลอดลม
การปฐมพยาบาล เมื่อมีสิ่งของหลุดเข้าไปติดในคอ
ทำในกรณีที่ทราบว่าอะไรติดคอลูก และทำขณะที่ลูกยังมีสติอยู่นะคะ
- วางเด็กคว่ำลงบนท้องแขน โดยใช้มือคุณแม่รองศีรษะลูกในลักษณะที่ลำตัวอยู่สูงกว่าศีรษะ
- ใช้ฝ่ามือเคาะหลัง ระหว่างกระดูกสะบักสองข้าง 5 ครั้งติดต่อกัน ตรวจดูในปากว่าสิ่งแปลกปลอมออกมาหรือยัง
- พลิกเด็กนอนหงายบนท้องแขน รองท้องแขนด้วยตัก โดยให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัว
- กดกลางหน้าอกด้วยนิ้ว 2 นิ้ว (บริเวณกึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้ง 2 ข้างลงมา) 5 ครั้ง ระวัง! อย่ากดต่ำกว่าซี่โครงลงมา
- ทำซ้ำขั้นที่ 1-4 จนกว่าของที่ติดอยู่จะหลุดออกมา ระหว่างที่ทำ ให้เรียกรถพยาบาล หรือเตรียมพาเด็กไปพบแพทย์โดยด่วน
ทั้งนี้หากมองไม่เห็นสิ่งของที่ติดคอเด็ก ไม่ควรใช้มือล้วงเด็ดขาด เพราะจะยิ่งดันให้สิ่งของลึกลงไปอีกได้ และสิ่งสำคัญสุดคือเมื่อปฐมพยาบาลให้เด็กเบื้องต้นแล้ว ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุดทันที
อ่านต่อ >> “อาหารที่เหมาะกับเด็กเล็ก” หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เด็กตั้งแต่อายุ 1 ขวบขึ้นไป พ่อแม่มักให้ลูกทานอาหาร หรือของว่างที่มีเนื้อหยาบ ที่ลูกสามารถใช้ฟันในการกัดและบดเคี้ยวอาหารได้ ซึ่งบางครั้งอาหารผู้ใหญ่ก็ไม่เหมาะที่จะให้ลูกเล็กๆ ทาน เช่น ไส้กรอกชิ้นใหญ่ๆ ลูกชิ้นลูกใหญ่ๆ และผลไม้แข็งๆ หั่นชิ้นใหญ่ ถึงแม้ว่าเด็กจะมีฟัน และก็ยังไม่มีแรงมากพอที่จะกัด เคี้ยวอาหารชิ้นแข็งใหญ่นั้นให้ละเอียดก่อนกลืนลงคอ ทำให้บางครั้งอาจมีชิ้นอาหารหลุดเข้าคอ เข้าไปอุดหลอดลมของลูกได้ จึงแนะนำว่าอาหารที่ให้เด็กเล็กควรเป็นอาหารที่นิ่ม และลูกสามารถกัดและเคี้ยวได้ง่าย
แล้วอาหารแบบไหนล่ะที่เหมาะกับเด็กเล็ก
เมื่อลูกอายุได้ประมาณ 1-2 ปีขึ้นไป ลูกควรได้รับอาหารมื้อหลักวันละ 3 มื้อ และนมรสจืดวันละ 2-3 มื้อ หรือถ้ายังให้นมแม่อยู่ ควรให้นมแม่ต่อไปจนถึงอายุ 2 ปี เมื่อเด็กมีอายุประมาณ 1 ปี ควรหัดให้เด็กดื่มนมจากถ้วยแทนการดูดจากขวดเพื่อป้องกันฟันผุ
อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ ควรมีสารอาหารครบถ้วน โดยทำให้สุก อ่อนนุ่ม ชิ้นเล็กเคี้ยวง่าย และรสไม่จัด
แต่ละมื้อประกอบด้วยข้าวสวยหรืออาหารประเภทแป้งประมาณ 1 ทัพพี เนื้อสัตว์ประมาณ 1-1 ช้อนกินข้าว ให้ไข่เป็นประจำ ใช้น้ำมันพืช ให้ผักใบเขียว สลับกับผักสีเหลืองส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง สลับกัน และให้อาหารว่างเป็นผลไม้วันละ 1-2 มื้อ(1)
การให้อาหารลูกเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม ฉะนั้นก่อนหยิบเอาอาหารให้ลูกใส่ปาก ต้องแน่ใจแล้วอาหาร หรือของว่างชนิดนั้นลูกทานได้ และปลอดภัย …ด้วยความห่วงใยและใส่ใจค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงข่วนกัดคุณหนู
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อฟันกระแทก
วิธีการเช็ดตัวลดไข้ ด้วยน้ำอุ่นผสมมะนาว
ขอขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบอ้างอิงจาก
เพจเรื่องเล่าหมอ x exclusive. ไส้กรอกมหันตภัย
การปฐมพยาบาล (เด็กเล็ก ยังมีสติ). pantip.com , www.youtube.com
เลือกอาหารตามวัย ‘ทารกและเด็กเล็ก’. www.thaihealth.or.th