AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พ่อลูกผูกพัน 7 ข้อดีของการให้พ่อเลี้ยงลูก เปลี่ยนชีวิตลูกให้ดีขึ้นได้

พ่อลูกผูกพัน 7 ข้อดีของการให้พ่อเลี้ยงลูก เปลี่ยนชีวิตลูกให้ดีขึ้นได้

พ่อลูกผูกพัน ดีแบบนี้นี่เอง คุณพ่อคุณแม่ควรอ่าน นี่คือ 7 ข้อดีของการให้พ่อเลี้ยงลูก ซึ่งสามารถช่วยเปลี่ยนชีวิตลูกให้ดีขึ้นได้ จะเป็นอย่างไร..ตามมาดูกันเลย

ข้อดีของการให้พ่อเลี้ยงลูก เปลี่ยนชีวิตลูกให้ดีขึ้นได้

พ่อลูกผูกพัน ได้!! ต้องการผู้ช่วยเปิดทาง !!

เพราะการเข้ามามีบทบาทในชีวิตของลูกวัยแรกเกิด จนกลายเป็นความผูกพัน พ่อลูกผูกพัน ที่ลึกซึ้งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนเป็นพ่อ ต้องอาศัยแม่เป็นผู้ช่วยส่งเสริม รับรองว่าได้ผลอย่างแน่นอน

มีงานวิจัยกว่าสี่ทศวรรษและการศึกษานับร้อยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ยิ่งพ่อยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลลูกมากขึ้นเท่าไร ความสำเร็จของลูกก็จะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว อิทธิพลจากคนเป็นพ่อสามารถส่งผลให้ลูกเข้ากับผู้คนรอบข้างได้ดี เรียนได้ดี และมีอนาคตที่ดี ว่าแต่ข้อดีของการให้พ่อเลี้ยงลูก จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ

Must read >> กลยุทธ์พ่อลูกผูกพัน 6 เดือนแรก

Must read >> ข้อควรปฏิบัติกับลูกก่อนสายเกินไป ช่วงวัยเด็กคือเวลาทอง

พ่อลูกผูกพัน การเอาใจใส่ดูแลของพ่อ = ความสำเร็จของลูก

พ่อมีอิทธิพลต่อลูกตั้งแต่เริ่มลืมตาขึ้นมาดูโลก การศึกษาโดย Father Involvement Research Alliance พบว่า เด็กที่มีพ่อคอยดูแลเอาใจใส่มักจะมีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความมั่นใจเมื่อพบเจอสถานการณ์ใหม่ๆ และมีความกระตือรือร้นที่จะสำรวจสิ่งรอบตัว เมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็จะรู้จักเข้าสังคมได้ดี เด็กวัยเตาะแตะที่มีพ่อคอยดูแลเอาใจใส่มักจะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าและมีไอคิวที่สูงกว่าเมื่ออายุเข้า 3 ขวบ อีกทั้งยังมีความพร้อมที่จะเข้าโรงเรียน และสามารถรับมือกับความเครียดเมื่อต้องอยู่ห่างบ้านตลอดทั้งวันมากกว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้รับการดูแลใส่ใจจากพ่อ

เมื่อเข้าเรียน เด็กที่มีพ่อคอยดูแลเอาใจใส่จะเรียนหนังสือได้ดีกว่า จากการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกาพบว่าเด็กที่มีพ่อคอยดูแลใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง จะเรียนได้ A มากกว่าเด็กทั่วไปร้อยละ 43 และมักจะมีโอกาสเรียนซ้ำชั้นน้อยกว่าเด็กทั่วไปอยู่ร้อยละ 33 นอกจากนี้เด็กที่มีพ่อดูแลใส่ใจยังมีปัญหาด้านความประพฤติน้อยกว่าและมีปัญหาซึมเศร้าน้อยกว่าด้วย

นอกจากนี้การศึกษายังพบว่า เด็กผู้หญิงที่มีพ่อดูแลใส่ใจจะมีความเคารพเชื่อมั่นในตนเองมากกว่า และเด็กสาววัยรุ่นที่สนิทกับพ่อจะมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์น้อยกว่า ส่วนเด็กผู้ชายที่ใกล้ชิดกับพ่อก็จะมีความก้าวร้าวน้อยกว่า ใจร้อนฉุนเฉียวน้อยกว่า และควบคุมตัวเอง มีความยับยั้งชั่งใจได้ดีกว่าเมื่อเริ่มเป็นผู้ใหญ่เด็กที่ได้รับการดูแลใส่ใจจากพ่อก็จะมีการศึกษาในระดับที่สูงกว่า ประสบความสำเร็จในอาชีพมากกว่า มีความยอมรับตนเองสูงกว่า และมีสุขภาพจิตที่ดี ผู้ใหญ่ที่ยังคงผูกพันใกล้ชิดกับพ่อมักจะมีความแกร่งและมีความเข้าใจชีวิต มีเพ่อื นสนิทใกล้ชิด และมีชีวิตสมรสที่ยั่งยืน

พ่อลูกผูกพัน มีพ่อทำอะไรด้วย = ความอบอุ่นใจ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริกแฮม พบว่า .. การมีกิจวัตรประจำวัน เช่น ร่วมโต๊ะกินอาหารเย็น ดูปลาที่เลี้ยงไว้ เล่นด้วยกันที่สนาม หรือเล่นวิดีโอเกมด้วยกันกับพ่อ มีความสำคัญยิ่งกว่าการเดินทางไปไหนไกลๆ แม้ว่าการเดินทางไกลไปด้วยกันกับพ่อจะมีประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูกด้วยเช่นกันก็ตาม พ่อและลูกในงานวิจัยนี้ยังรู้สึกพอใจและรู้สึกถึงความสมัครสมานในครอบครัวเมื่อมีพ่ออยู่ร่วมด้วยในกิจวัตรประจำวัน

นักวิจัยให้ข้อสังเกตว่า “แม้การมีกิจกรรมของครอบครัวจะสำคัญและเป็นเรื่องจำเป็น แต่การมีพ่อคอยร่วมสนุกทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องพิเศษหรือสำคัญ แต่เน้นว่ามี ‘พ่อร่วมทำด้วยกัน’ ที่บ้านจะสามารถเติมเต็มความรู้สึกให้ลูกได้มากกว่าการมีกิจกรรมพิเศษที่ใหญ่โตหรือสำคัญๆ”

พ่อลูกผูกพันพ่อ” เพื่อนเล่นขาลุย = ลูกได้โอกาสเรียนรู้ควบคุมพฤติกรรมตัวเอง

เมื่อนักจิตวิทยารอสพาร์คไต่ถามพ่อแม่จาก 390 ครอบครัวว่าพวกเขาเล่นกับลูกกันอย่างไรบ้าง ก็ได้คำตอบว่า “การเล่นที่เป็นจุดขายของพ่อกับลูกๆ วัยทารกหรือวัยเตาะแตะก็คือการเล่นที่ทำให้เกิดความเร้าใจตื่นเต้น และคาดเดาไม่ได้” ส่วนแม่จะเป็นแบบ “เป็นเรื่องเป็นราวและเร้าใจน้อยกว่า” ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวผู้เขียนเองรู้แก่ใจดี จากการที่ต้องเล่นกับลูกอยู่คนเดียวในช่วงที่สามีต้องไปประจำการอยู่ที่ปากีสถานเป็นเวลาปีครึ่ง ลูกๆ ทั้งสามได้บ่นกับแม่ว่า “แม่เล่นไม่มันเลย” จนแม่ต้องไปลอกการบ้านวิธีเล่นมาจากพ่อ

คู่มือจากหน่วยงานสำหรับเด็กในสหรัฐอเมริการะบุถึงผลจากการเล่นของพ่อว่า “วิธีเล่นของพ่อทำให้เด็กๆ รู้วิธีจัดการความรู้สึกและพฤติกรรมของตน เช่น การเล่นแรงๆ กับพ่อทำให้ลูกรู้ถึงการแสดงความแรงและการถึงเนื้อถึงตัวกัน โดยที่ควบคุมอารมณ์ของตนเองเอาไว้ได้”

พ่อไม่เหมือนแม่ = สิ่งดีที่แตกต่าง

อิทธิพลของพ่อที่มีต่อลูกแตกต่างไปจากแม่อย่างไรบ้าง แค่ความใส่ใจอย่างเต็มที่จากใครสักคนไม่พอหรือ “พ่อและแม่มีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไปในบ้าน” เบรตต์ โคปแลนด์ นักจิตวิทยาคลินิกจากทาโคม่า รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาอธิบายว่า “พ่อมักเป็นคนที่กระตุ้นให้เกิดการแข่งนัน ความมั่นใจ และความพยายามที่จะบรรลุให้ถึงเป้าหมาย ขณะที่แม่เป็นฝ่ายกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเสมอภาคมั่นคง และร่วมมือร่วมใจ”

ผศ.ดับเบิลยู แบรดฟอร์ด วิลค็อกซ์ ผู้อำนวยการ National Marriage Project และอาจารย์ด้านสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย กล่าวว่า สิ่งที่พ่อให้ลูกได้แตกต่างไปจากแม่มี 4 ประการคือ การเล่น ความกล้าที่จะเสี่ยง การปกป้อง และการมีวินัย

พ่อ” ขาเสี่ยง = ลูกได้โอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่

ในขณะที่แม่ๆ มักจะห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูก พ่อๆ ทั้งหลายมักจะชอบให้ลูกรู้จักลองเสี่ยงทำอะไรๆ งานวิจัยของนักจิตวิทยาแดเนียล พาเค็ตต์ พบว่า พ่อมักจะชอบให้ลูกลองทำอะไรแปลกๆ ดูบ้าง ซึ่งจะทำให้ลูกได้รู้ศักยภาพในตัวเองมากขึ้น และกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เช่น คุยกับคนแปลกหน้า หรือลองว่ายน้ำไปไกลๆ ตอนที่เรียนว่ายน้ำ มีการวิจัยเรื่องการที่พ่อแม่สอนลูกให้ว่ายน้ำพบว่า “พ่อมักจะอยู่ด้านหลังลูก ให้ลูกมองเห็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเบื้องหน้าส่วนแม่มักจะยืนตรงหน้าลูกและคอยสบตากับลูก”

พ่อ” ผู้ปกป้อง = ชีวิตที่ปลอดภัย

อาจเป็นเพราะรูปร่างที่ใหญ่กว่า ความแข็งแรง หรือความสามารถในการปกป้องคุ้มครอง ทำให้พ่อคุ้มภัยลูกจากคนแปลกหน้าได้ดีกว่าแม่ นักจิตวิทยาร็อบ พัลโควิทส์ อธิบายว่า การปกป้องคุ้มครองจากพ่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ของเด็กผู้หญิงได้และพ่อยังช่วยคอยดูแลลูกเรื่องการคบเพื่อนและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ได้

พ่อ” ผู้เด็ดขาด = วินัยลูกเข้มขึ้น

แม้ว่าแม่จะเป็นคนอบรมลูกมากกว่าแต่พ่ออบรมลูกได้อยู่มือกว่าแม่ ดร.ไคล์พรูเอทท์ และ ดร.มาร์ชา ไคลน์ ผู้ร่วมแต่งหนังสือ Partnership Parenting ตั้งข้อสังเกตเช่นนั้น โดยให้เหตุผลว่า “พ่อมักจะเอาจริงกับลูกมากกว่าแม่ ทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อเด็ดขาดมากกว่าแม่ ซึ่งมักจะเอออวย หรือใจอ่อนไปกับลูกมากกว่า ทำให้การฝึกวินัยหรือถ้าจะเอาจริงกับลูกเรื่องไหนก็จะเป็นไปได้มากกว่า”

การศึกษาของดับเบิลยู แบรดฟอร์ด วิลค็อกซ์ พบว่า เด็กวัยรุ่นที่อยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยวมีปัญหาทำตัวเหลวไหล ตั้งครรภ์และซึมเศร้า แทบจะไม่ต่างกับเด็กวัยรุ่นที่มีพ่อแม่อยู่ร่วมบ้านแต่พ่อไม่เอาไหนนัก ในขณะที่วัยรุ่นที่อยู่กับพ่อแม่แบบอยู่กันดีไม่มีอะไรจะมีปัญหาน้อยกว่ามาก และยิ่งเป็นวัยรุ่นที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อ ปัญหาของลูกก็จะน้อยลงไปอีกด้วยข้อดีเหล่านี้จึงสรุปความได้ว่า “แค่เพียงพ่อทำหน้าที่พ่อได้อย่างพอใช้ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าให้ลูกได้แล้ว”

หลักการสร้าง พ่อลูกผูกพัน ถึงแม้คุณพ่ออาจจะมีทักษะในการเลี้ยงลูกเพียงระดับ ‘พอใช้’ ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตลูกให้ดีขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือคุณแม่อย่าลืมช่วยเปิดทางนะคะ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพได้เลย 

ทำไมพ่อแม่ต้อง เล่นสนุกกับลูก ?

14 วิธีเล่นกับลูก กระตุ้นพัฒนาการตามวัย ให้ฉลาด อารมณ์ดี ตั้งแต่เบบี๋

3 ข้อดีของ การกอดลูก สิ่งอุ่นใจที่สุดที่พ่อแม่ควรมอบ!