ครอบครัวไหนเคยเจอปัญหาลูกขี้อายบ้างคะ อย่างเวลาอยู่บ้านพูดคุย เล่นสนุกได้กับทุกคน แต่พอออกนอกบ้านไปโรงเรียน คุณครูให้ทำกิจกรรมหน้าชั้นเรียน หรือหน้าเสาธงตอนเช้า ลูกมักจะก้มหน้าเขินอาย ซึ่งบางทีอาการขี้อายของลูกก็ทำพ่อแม่กังวลใจได้ไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มี เทคนิคช่วยลูกขี้อาย ให้กล้าแสดงออก มาฝากกันค่ะ
เทคนิคช่วยลูกขี้อาย ให้กล้าแสดงออก
คุณแม่คะ วันนี้ที่โรงเรียนมีคัดเลือกเด็กๆ เพื่อซ้อมการแสดงงานโรงเรียน น้องก้อยได้รับเลือกให้รำอวยพรพร้อมกับเพื่อนอีกสองคน แต่น้องเขินอายมาก รำไม่ได้เลย ยิ่งเวลามีเพื่อนดูตอนซ้อมรำ ยิ่งทำให้อายม้วนแล้ววิ่งไปหลังห้องเลยค่ะ เหตุการณ์นี้มาจากเพื่อนผู้เขียนที่มักเล่าให้ฟังว่าลูกสาววัย 7 ขวบ เป็นเด็กขี้อาย ไม่กล้าแสดงออกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรดี เพราะกลัวว่าเมื่อลูกโตขึ้นแล้วจะไม่กล้าแสดงความคิด ไม่กล้าทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนกับคนอื่นทั่วไป แล้วจะเสียสิทธิ์ เสียโอกาสดีๆ ที่มีเข้ามาในชีวิต
Must Read >> ช่วยลูกขี้อายมั่นใจขึ้น (ทีละนิด)
ฟังแล้วก็เห็นใจทั้งเพื่อน และลูกสาวเพื่อนเลยค่ะ เพราะจริงๆ น้องก้อยเป็นเด็กน่ารักมากค่ะ ถ้าสาวน้อยคุยกับคนรอบข้างแล้วก็จะคุยเล่นสนุก แต่ติดนิดเดียวที่ขี้อายมากไปหน่อย คือไม่ใช่แต่กับที่โรงเรียนเวลาให้ทำกิจกรรมต่อหน้าคนเยอะๆ แล้วเขินอาย คือเวลาอยู่ที่บ้านจัดปาร์ตี้สนุกๆ มีให้ร้องเพลง ให้เต้น น้องก้อยก็ไม่ยอมหัวชนฝาเลยละค่ะ
จริงๆ อาการขี้อายของเด็กก็เป็นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
- ถูกห้ามจากพ่อแม่ หรือคนรอบข้างในครอบครัวมาตั้งกะเด็กบ่อยๆ ว่าอย่าทำแบบนั้นนะ ทำแบบนี้ไม่ดีนะเดี๋ยวทุกคนไม่รัก ฯลฯ คือไปปิดกั้นจินตนาการ ความสมารถของลูกมาตั้งแต่เป็นเด็กน้อย นี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ลูกไม่กล้าแสดงออกทั้งการกระทำ และความคิดเห็นได้เช่นกันค่ะ
- เด็กไม่เคยได้รับความสนใจจากพ่อแม่ หรือคนรอบข้าง ไม่ว่าลูกจะชอบ จะทำอะไรที่ดีที่งาม หากพ่อแม่ รวมทั้งคนในครอบครัวเมินเฉยกับสิ่งที่ลูกทำ แน่นอนว่านี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ลูกไม่กล้าแสดงออก และอายที่จะทำ เพราะเด็กไม่มั่นใจว่าสิ่งที่จะทำนั้นดีหรือไม่ดี
- อาการขี้อายเกิดจากตัวเด็กเอง ต้องบอกว่าในเด็กบางคนอาจไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นเร้าให้ไม่กล้าแสดงออก แต่ความเขินอายเกิดขึ้นมาจากตัวของเด็กเองที่ไม่กล้าแสดงออก
อย่างไรก็ตามไม่ว่าความขี้อายของเด็กจะมาจากสาเหตุใด ก็ควรจะได้รับการแก้ไขตั้งแต่ที่ลูกยังเป็นเด็กเล็กๆ เพราะถ้าแก้ ถ้าปรับพฤติกรรมได้เร็ว ก็จะช่วยให้ลูกสนุกเรียนรู้ สนุกทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกับเพื่อนๆ วัยเดียวกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพค่ะ
อ่านต่อ >> วิธีปรับแก้ไขพฤติกกรมขี้อายลูก ให้กล้าแสดงออก หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
7 เทคนิคช่วยลูกขี้อาย ให้กล้าแสดงออก
อาการขี้อายในเด็ก (Shyness Problem in Children) สำหรับเด็กบางคนเมื่ออายุได้ 4-5 ปี อาการขี้อายจะเด่นชัดมาก ซึ่งพ่อแม่คือผู้ช่วยคนสำคัญที่จะดูแลปรับแก้ไขพฤติกรรมขี้อายของเด็กให้ดีขึ้นได้ตั้งแต่เล็กๆ จนกล้าแสดงออกได้เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกันให้ไม่เคอะเขิน สามารถทำได้ตามเทคนิควิธีต่างๆ ดังนี้
1. การเข้าใจลูกอย่างถ่องแท้
พ่อแม่หลายคนที่มีลูกขี้อายแล้วรู้สึกว่าขัดใจเหลือเกิน อยากให้ลูกกล้าทำ กล้าคิด กล้าแสดงออกเหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ บ้าง แต่ลูกก็ไม่ยอมทำเอาเสียเลย เห็นแล้วขัดหูขัดตา ขัดใจซะเหลือเกิน จนบางทีก็เผลอดุ ว่าลูกออกไปทั้งท่าทาง น้ำเสียง ของพ่อแม่ยิ่งทำให้ลูกตกใจ เกิดความเครียด วิตกกังวลมากเข้าไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อตัวลูกเลย เพราะการที่พ่อแม่ดุว่าลูก แสดงความไม่พอใจใส่ลูกที่เอาแต่เขินอายนั้น ก็ยิ่งกลับจะทำให้ลูกไม่กล้าแสดงออกมามากยิ่งขึ้น ไม่เป็นตัวของ ตัวเองเวลาที่อยู่ต่อหน้าพ่อแม่ หรือต่อหน้าคนอื่น
วิธีแก้ไขที่เหมาะสมคือ ต้องเริ่มที่ตัวของพ่อแม่ก่อน ที่ควรจะยอมรับในตัวลูกที่มีความเขินอาย แล้วหันกลับมาช่วยดึงลูกให้ขึ้นมาจากอาการขี้อายกันตั้งแต่ตอนที่ลูกเป็นเด็กเล็ก ด้วยการที่ทุกครั้งหากลูกพยายามที่จะแสดงออกไม่ว่าจะด้วยเรื่องใดก็ตาม ลูกมีท่าทีเคอะๆ เขินๆ ก็ขอให้พ่อแม่เข้าใจลูก แล้วเปลี่ยนจากการดุการว่า มาเป็นการให้กำลังใจ ให้คำชื่นชม “หนูทำดีที่สุดแล้วลูก” การให้กำลังใจลูกบ่อยๆ จะช่วยสร้างแรงพลักดันให้ลูกกล้าที่จะทำในทุกเรื่องเหมือนกับที่เพื่อนๆ วัยเดียวกันทำได้ดี เขาก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกันค่ะ
2. พาลูกออกไปพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตาบ้าง
การที่เด็กคุ้นเคยอยู่แต่กับคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ปู่ย่า ยายตา น้าอา ลุงป้า ลูกพี่ลูกน้อง รวมถึงพี่เลี้ยงที่บ้านนั้นถือว่าเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว เพราะเด็กจะได้ระวังตัวไม่ไปกับคนแปลกหน้าที่ไม่น่าไว้วางใจ หรือไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่ด้วยใกล้ๆ
แต่การพาลูกออกไปพบกับผู้คนใหม่ๆ นอกเหนือจากคนที่รู้จักในครอบครัวบ้าง ก็เป็นเรื่องจำเป็นอยู่มาก เพราะถือเป็นการพาลูกไปเปิดสังคม เปิดโลกทัศน์ ให้ลูกได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับคนอื่นบ้าง แต่ต้องเป็นคนที่พ่อแม่เลือกแล้วว่าดี และปลอดภัยกับตัวลูก เพื่อที่เขาจะได้ไม่กลัว ไม่เขินอาย เวลาที่เพื่อนพ่อแม่มาที่บ้าน ไม่ต้องเขินอายคุณครู เพื่อนใหม่ตอนที่เริ่มไปโรงเรียนในวันแรกๆ การแนะนำให้ลูกได้รู้จักกับผู้คนใหม่ๆ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย หรือเด็กวัยเดียวกับเขา จะช่วยให้ลูกคุ้นเคย และสามารถแยกแยะได้ว่าคนแบบไหนที่เขาสามารถวางใจที่จะแสดงออกทั้งการกระทำ และความคิดให้เห็นได้แบบสนิทใจ ไม่เกิดอาการเขินอายขึ้นมา
3. สอนลูกแนะนำตัวเวลาต้องเจอคนแปลกหน้า
คนแปลกหน้าในที่นี้หมายถึง ญาติพี่น้องที่ไม่เคยเจอกันเลย หรือจะเป็นเพื่อนพ่อ เพื่อนแม่ เป็นต้น เพราะเด็กที่มีนิสัยขี้อาย เวลาที่ต้องเจอกับคนหน้าแปลกใหม่ที่เข้ามาที่บ้าน หรือเจอกับพ่อแม่โดยบังเอิญนอกบ้าน เด็กๆ ก็ไม่รู้ว่าต้องทำตัว หรือคุย ยังไงด้วยดี ทำได้แต่หลบอยู่หลังพ่อกับแม่
Must Read >> สอนเด็กขี้อายให้พูดคล่อง
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องสอนให้ลูกได้รู้จักการพูดแนะนำตัวเองได้ เช่น สวัสดีค่ะ/ครับ หนูชื่อ….เรียนอยู่ที่…. แล้วคุณน้าชื่ออะไรคะ/ครับ เป็นต้น การสอนให้ลูกได้พูดคุยสั้นๆ กับคนแปลกหน้าที่เขาเจอพร้อมๆ กับพ่อแม่ จะช่วยลดความขี้อายในตัวเด็กลงไปได้ ถึงแม้อาจต้องใช้เวลาอยู่บ้าง กว่าที่ลูกจะคุ้นเคยและพูดด้วยอย่างไม่เขินอาย
4. หาเวทีให้ลูก
พ่อแม่หลายครอบครัวที่เมื่อรู้ว่าลูกเป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก บางครั้งอาจไม่ค่อยกล้าที่จะพาลูกออกไปทำกิจกรรมสนุกแบบเด็กๆ มากสักเท่าไหร่ แต่รู้หรือไม่ว่าการให้ลูกหมกมุ่นอยู่แต่ในบ้านยิ่งจะเป็นการทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บตัวมากขึ้นเข้าไปอีก
ทางแก้ไขที่ดีสำหรับตัวเด็กเอง คือ พ่อแม่ควรหาเวทีให้ลูกได้กล้าแสดงออก ง่ายๆ คือให้ลองสังเกตพฤติกรรมความสนใจของลูกดูว่า เขาเป็นคนที่ชอบทำอะไร หรือสนใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ เช่น ถ้าลูกชอบวิทยาศาสตร์ พ่อแม่ลองหาค่าย หรือแคมป์สำหรับกลุ่มเด็กที่ชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ให้ลูกได้ลองไปเข้ากลุ่มทำกิจกรรมร่วมด้วย หรือถ้าลูกชอบวาดภาพ งานศิลปะ ให้พาลูกไปเรียนเป็นคอร์สสั้นๆ ที่มีเพื่อนวัยเดียวกัน มีคุณครูที่สอนสนุกๆ เป็นต้น การปล่อยให้ลูกได้ลองเปิดตัวเองกับเรื่องที่ชอบ หรือถนัด แบบค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้ลูกปรับตัวได้ และจากเด็กขี้อาย ก็จะกลายเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าแสดงออก และพูดคุยกับคนอื่นรอบข้างเก่งมากขึ้นด้วยค่ะ
อ่านต่อ >> วิธีแก้ไขพฤติกรรมลูกขี้อาย ให้กล้าแสดงออก หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
5. ให้ลูกได้ลองทำงานบ้าน
ทั้งเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย การที่คุณแม่จะลองแบ่งหน้าที่การช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกได้ช่วยกันทำก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกได้ เพราะการที่เขามีหน้าที่รับผิดชอบ จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และยังเป็นการสอนให้ลูกได้รู้จักกการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อเวลาที่เขาต้องออกไปสู่สังคมอื่น เช่น สังคมเพื่อนที่โรงเรียน สังคมการทำงาน ที่ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นที่มากหน้าหลายตา ลูกก็กล้าที่จะเข้าไปเอ่ยปาก ถามไถ่ ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรไหม มีอะไรให้ช่วยทำบ้าง
Must Read >> เมื่อลูกตื่นเวที
หรือถ้าลูกขี้อายมากๆ ลองฝึกเขาตั้งแต่เล็กๆ ที่เวลามีคนมาที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนของพ่อแม่ ขอให้เด็กเป็นคนเอาน้ำ เอาขนมมาให้แขกที่มาที่บ้าน เพื่อให้เด็กเกิดการคุ้นเคยกับคนแปลกหน้า และไม่กลัวเวลาที่ต้องพบเจอคนใหม่ๆ
การฝึกให้ลูกค่อยๆ ปรับตัวกับคนแปลกหน้าอาจต้องใช้เวลามากหน่อยในช่วงแรก แต่เมื่อลูกคุ้นเคยมากขึ้น เขาก็จะสามารถลบอาการขี้อายของตัวเองลงไปได้ค่ะ ที่สำคัญพ่อแม่อย่าลืมชื่นชม ให้คำพูดที่เป็นกำลังใจกับลูกๆ กันด้วยนะคะ
6. การซักซ้อม การเตรียมตัวลูกให้พร้อม
ในเด็กที่มีอาการขี้อายมากๆ เขาอาจเกิดการประหม่า ไม่มั่นใจ เวลาที่ต้องออกไปทำกิจกรรมหน้าชั้นเรียน หรือขึ้นแสดงบทเวที ที่มีผู้คนมากมายโฟกัสสายตามาที่ตัวลูก ดังนั้นการเตรียมตัวลูกให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ ทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือ การช่วยลูกในการซักซ้อมการแสดง หรือการซ้อมพูด หากลูกจะต้องออกไปพูดรายงานหน้าชั้นเรียน
พยายามซ้อมกับลูกบ่อยๆ ก่อนที่ลูกต้องออกไปทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายนั้นมาในวันจริง อาจจะให้ลูกฝึกต่อหน้ากระจก หรือต่อหน้าพ่อแม่ คนอื่นๆ ในครอบครัว แล้วที่สำคัญสายตาของพ่อแม่ และคนรอบข้างต้องเป็นแววตาที่ชื่นชม และให้กำลัง ไม่ว่าลูกจะพูดผิด แสดงผิดจังหวะไปบ้าง ก็อย่าทำหน้าตกใจ หรือแสดงสีหน้าไม่พอใจออกมา เพราะจะยิ่งทำให้ลูกเกิดการประหม่ามากยิ่งขึ้น และก็ไม่กล้าที่จะทำกิจกรรมนั้นจนจบได้
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ จากคลินิกเด็ก.คอม แนะนำพ่อแม่ในการซักซ้อม เตรียมตัวให้กับลูก ว่า “ก่อนที่จะพาลูกออกงานใหญ่ เล่าถึงลักษณะงาน และเรื่องต่างๆ ที่เด็กจะต้องทำ เพื่อให้เด็กไม่เกิดความตื่นเต้น (ตื่นกลัว) เมื่อต้องออกงานจริงๆ ถ้าเป็นไปได้ควรจะพาลูกไปยังสถานที่นั้น และพาเดินดูไปทั่วๆ ก่อนถึงเวลาที่ลูกจะต้องพบปะผู้คนอื่นๆ เพื่อให้ลูกได้รู้สึกคุ้นเคยกับสถานที่ และลักษณะงานที่กำลังดำเนินไป ยิ่งถ้าคุณจะต้องปล่อยลูกไว้กับผู้อื่น เนื่องจากคุณเองก็ต้องทำการพบปะผู้อื่น ก็ควรจะให้ลูกได้มั่นใจว่า ลูกจะได้อยู่กับคนที่เขาคุ้นเคย และทำให้เขามีความรู้สึกมั่นใจ และปลอดภัยด้วย (sense of security) เด็กเล็กบางคนยังอาจจะติดตุ๊กตาตัวโปรด หรือผ้าห่มประจำตัว (security doll or blanket) ก็ควรอนุญาตให้เขานำติดตัวไปงานด้วย แต่คุณอาจต้องเตรียมตัวลูกว่า บางครั้งเพื่อนๆ อาจจะมาขอดู หรือเล่นกับตุ๊กตาของลูกบ้าง ซึ่งลูกควรจะยอมให้เพื่อนได้เล่นด้วยบ้าง”[1]
7. พาลูกไปรู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนวัยเดียวกัน
การปล่อยให้ลูกเล่นอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน ไม่เป็นผลดีกับตัวลูกเลย ยิ่งถ้าลูกเป็นคนที่ขี้อายเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วยนั้น จำเป็นอย่างมากที่จะต้องพาลูกให้ไปทำความรู้กับเพื่อนบ้าน ที่มีลูกอยู่ในวัยใกล้เคียงกัน เพื่อให้เด็กๆ ได้ทำความรู้จัก ได้เห็นหน้า ได้รู้จักกการแบ่งปันของเล่นกับเพื่อนๆ
การที่ลูกได้พูดคุย ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนวัยเดียวกัน จะทำให้เขาเป็นคนที่กล้าคิด กล้าเป็นผู้นำในบางเรื่องขึ้นมาบ้าง และเมื่อถึงเวลาที่ลูกต้องเข้าสู่สังคมโรงเรียน ก็จะทำให้ลูกสามารถปรับตัวได้เร็วมากขึ้น อาการขี้อาย ความประหม่าต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปค่ะ
อาการขี้อายของลูก เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กเกือบจะทุกคน ซึ่งแต่ละคนอาจมีอาการขี้อายมากบ้าง น้อยบ้าง แต่พ่อแม่ไม่ต้องกังวลใจมากไปค่ะ เพราะเราทุกคนสามารถช่วยลูกได้ ที่เริ่มแรกหากไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร ขอให้ไปปรึกษากับกุมารแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็กกันก่อนค่ะ เพื่อที่จะได้แนวทางในการนำมาใช้ปรับแก้ไขพฤติกรรมขี้อายให้ลูกได้อย่างถูกจุด จากนั้นพ่อแม่ก็ต้องเป็นผู้ช่วยที่ดีในการสร้างความมั่นใจให้ลูก ให้เขากล้าคิด กล้าแสดงออกมาได้ในทุกๆ เรื่องที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์กับตัวเขาเองกันค่ะ การสร้างลูกจากเด็กขี้อายให้กลายเป็นเด็กที่กล้าแสดงออก มีความมั่นใจ อาจต้องใช้เวลาสักนิด แต่ถ้าปรับแก้กันตั้งแต่ที่ลูกยังเป็นเด็กน้อย ก็จะช่วยให้ลูกดีขึ้นได้อย่างไม่ยากค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่หน้าสนใจคลิก
3 ขวบแล้ว ทำไมยังขี้อาย
ช่วยลูกขี้อายมั่นใจขึ้น (ทีละนิด)
ถึงเวลาลูกขี้อายต้องไปโรงเรียน
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
[1]พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ คลินิกเด็ก.คอม. www.clinicdek.com
www.paolohospital.com