6 เทคนิคคุยกับลูก สอนลูกให้คิดเป็น แก้ปัญหาเองได้ - Amarin Baby & Kids
สอนลูกให้คิดเป็น

6 เทคนิคคุยกับลูก สอนลูกให้คิดเป็น แก้ปัญหาเองได้

event
สอนลูกให้คิดเป็น
สอนลูกให้คิดเป็น

เคยไหมคะ ที่ลูกแก้ปัญหาในเรื่องง่ายๆ ไม่ได้ เรียกร้องขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา นั่นอาจเพราะลูกยังขาดความฉลาดทางการคิด หากคุณแม่สามารถ สอนลูกให้คิดเป็น ลูกก็จะสามารถแก้ปัญหาเองได้ ไม่ว่าลูกจะเจอปัญหาอะไร แม่ก็หายห่วงแม่ ว่าแล้ว เราลองมาดูเทคนิคการคุยกับลูก เพื่อสอนลูกคิดเป็น ที่ทีมแม่ ABK นำมาฝากกันเลยค่ะ

ความฉลาดทางการคิด ( Thinking Quotient หรือ TQ ) ซึ่งหมายถึง ความฉลาดในการคิดแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้ ความสามารถคิดไตร่ตรองสิ่งถูกผิด และการคิดเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น นับเป็นทักษะความสามารถในการคิดเป็น และแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม  ซึ่งการสอนลูกให้คิดเป็นนี้เองที่เราควรฝึกฝนลูกตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้การเลี้ยงลูกในยุคดิจิตัลที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ท่วมท้น ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายจากสื่อต่างๆ เพียงปลายนิ้ว การสอนลูกให้คิดเป็น แก้ปัญหาได้ก็เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคนี้ค่ะ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลนั้นถูกต้องน่าเชื่อถือ และควรนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นการคิดวิเคราะห์เป็นยังจะช่วยให้เราสามารถชีวิตประจำวันได้อย่างชาญฉลาด และมีความสุขอีกด้วย

6 เทคนิคคุยกับลูก สอนลูกให้คิดเป็น แก้ปัญหาเองได้

การฝึกลูกแก้ปัญหาเอง สอนลูกให้คิดเป็น คิดวิเคราะห์ได้นี้ไม่ใช่เรื่องยาก มีเทคนิคง่ายๆ ในการพูดคุยกับลูกที่เราสามารถทำได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนี้ค่ะ

1. พูดคุยกับลูกด้วยคำถามปลายเปิด

คำถามปลายเปิด คือ คำถามที่ไม่ได้ให้เพียงตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เท่านั้น แต่เป็นคำถามเปิดกว้าง ที่ลูกน้อยสามารถตอบได้อย่างอิสระ ไม่มีคำตอบที่ตายตัว จึงเป็นการกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกคิดวิเคราะห์เองก่อนที่จะตอบ และจะทำให้พ่อแม่ถามคำถามต่อไปได้ลึกกว่าเดิม ช่วยให้เข้าใจถึงวิธีคิดและเบื้องหลังของพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกด้วย เช่น ถ้าหากลูกเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟัง ก็ลองถามลูกว่า “หนูรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้” และอาจถามต่อว่า “เพราะอะไร อะไรทำให้หนูคิด หรือแสดงออกแบบนั้น” การพูดคุยกับลูกด้วยคำถามปลายเปิด ไม่เพียงแต่ช่วย สอนลูกให้คิดเป็น เท่านั้น ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้แชร์ความคิดหรือความรู้สึกของตัวเอง เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง และรับรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับในตัวตนของเขา และแน่นอนว่าช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัวด้วยค่ะ

บทความแนะนำ หมอเด็กแนะ 3 เทคนิค ชวนลูกคุย เรื่องโรงเรียน ให้ลูกยอมเปิดใจ

2. อย่าเพิ่งรีบตอบคำถามของลูก

เมื่อลูกถามสิ่งที่เขาสงสัย หลายครั้งพ่อแม่อาจรีบตอบให้จบๆ หลายครั้งก็เพราะไม่มีเวลา เพราะไม่รู้ หรือเพราะขี้เกียจไปหาคำตอบ แต่รู้ไหมคะว่านั่นเป็นการปิดกั้นการพัฒนาทักษะการคิดเป็นของลูกไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อใดการตามที่ลูกตั้งคำถาม เช่น “ทำไมฝนถึงตก” อยากให้พ่อแม่ลองถามลูกกลับไปว่า “แล้วหนูคิดว่าเพราะอะไร ทำไมฝนถึงตกจ๊ะ” แทนการรีบตอบคำถามลูก เพราะนี่เป็นโอกาสทองที่เราจะช่วยกระตุ้นทักษะการคิดเป็น แก้ปัญหาได้ โดยที่ลูกต้องอาศัยทักษะอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งการสังเกต การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และนำมาสังเคราะห์ให้ได้คำตอบ

อย่างไรก็ดี หากพ่อแม่ตอบคำถามนั้นไม่ได้ ให้ลองชวนเด็กๆ คิดว่าจะ เราจะไปหาข้อมูลนั้นได้อย่างไร เช่น “แม่ไม่รู้คำตอบจ้ะ หนูคิดว่าเราจะหาคำตอบยังไงดีจ๊ะ” ลูกอาจจะบอกว่า “เปิดกูเกิ้ลไหมแม่” แม่ก็ควรเสริมให้ลูกคิดต่อว่า “แล้วเราจะใช้คีย์เวิร์ดอะไรดีให้หาเจอจ๊ะ” หรือเราอาจจะใช้วิธีการเปิดหนังสือสารานุกรมที่บ้าน หรือชวนลูกทำการทดลองที่เกี่ยวข้องกับการเกิดฝน ก็จะยิ่งช่วยให้เขาได้คำตอบที่น่าทึ่ง และกระตุ้นการคิดเป็นมากขึ้นอีกด้วย

เด็กฉลาด
เทคนิคคุยกับลูก สอนลูกให้คิดเป็น แก้ปัญหาเองได้

 

บทความแนะนำ ลูกไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ เพราะ พ่อแม่พูดแบบนี้ (โดยไม่ตั้งใจ)

3. เมื่อลูกพบปัญหา อย่าเพิ่งรีบให้ความช่วยเหลือทันที

แต่ลองตั้งคำถามว่า ลูกคิดว่าควรแก้ปัญหานั้นอย่างไร ให้เกิดผลดีที่สุด เช่น เมื่อลูกทำน้ำหก แล้วร้องขอความช่วยเหลือ เราอาจบอกลูกว่า “หนูคิดว่าเราควรจะทำอย่างไรดีคะ” ลูกอาจจะตอบว่า “เอาผ้ามาเช็ดค่ะ” แม่ก็ถือโอกาสชวนลูกเอาผ้ามาเช็ด จากนั้นก็ชวนลูกคิดต่อว่า “แล้วคราวหน้าเราจะทำยังไงดีไม่ให้น้ำหกอีกดีคะ” ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้น สอนลูกให้คิดเป็น แก้ปัญหาได้ด้วยตนเองแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้ลูกด้วยว่า ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรในชีวิต เขาก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง

บทความแนะนำ รวม ข้อความให้กำลังใจภาษาอังกฤษ เติมพลังใจเจ้าตัวน้อยพร้อมทุกสถานการณ์

4. ฟังลูกให้มากขึ้น บ่นลูกให้น้อยลง

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักติดกับดักการเลี้ยงลูกทางเดียวคือ สั่งหรือบ่น อย่างเดียว ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้คิด ลูกจึงคุ้นเคยกับการได้รับคำสั่งที่ให้ปฏิบัติตามอยู่ตลอดเวลา ทำให้พวกเขามัวรอคอยการตัดสินใจจากพ่อแม่ ไม่กล้าคิด ตัดสินใจ หรือแก้ปัญหาด้วยตนเอง เมื่อถึงเวลาคับขันก็คิดเองไม่ได้ แก้ปัญหาไม่เป็น หรือบางครั้งการที่พ่อแม่พร่ำบ่น พร่ำสอนมากเกินไปอาจทำให้ลูกรำคาญและไม่อยากฟัง จนถึงขั้นไม่อยากทำตามก็เป็นได้ ผลก็คือ พ่อแม่เองก็จะหงุดหงิดอารมณ์เสีย ทำให้เสียสุขภาพจิตทั้งพ่อแม่และลูกกันเลยทีเดียวค่ะ

สิ่งที่ควรทำคือ พ่อแม่ควรหันมาฟังลูกให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้ลูกมีทางเลือก โดยใจกว้างรับฟังเหตุของลูก (ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ตรงใจของพ่อแม่) และเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองผิดลองถูกกับการตัดสินใจของตัวเอง เพื่อที่จะเรียนรู้จากผลลัพธ์ของการกระทำที่ตามมา เพื่อให้ลูกได้รู้จักคิดเป็น  เคล็ดลับคือ พ่อแม่ต้องหนักแน่นเอาจริงเอาจัง มั่นคง กับแนวทางนี้ ไม่เผลอบ่น พูดอ้อนวอนซ้ำ  เพราะเมื่อใดก็ตามที่ลูกรับรู้ได้ว่าคุณเอาจริง เขาก็จะรู้ว่าได้เวลาที่เขาต้องพึ่งตัวเอง ต้องหัดคิดเอง แก้ปัญหาเองบ้างแล้วล่ะค่ะ

บทความแนะนำ [สร้างวินัยเชิงบวก] ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ

5. ชวนลูกคิดวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้รับในชีวิตประจำวัน

ทราบกันดีว่า ในยุคนี้ถ้าเราอยากรู้อะไรก็แค่ค้นหาใน google ก็ได้คำตอบ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลไหนจริงหรือเท็จ บางครั้งในสื่อออนไลน์ก็มีการแชร์ fake news เวลาที่ลูกข้อมูลแปลกๆ ให้พ่อแม่ฟัง อยากให้ลองชวนคุยกับลูกว่า เรื่องราวนี้ได้ยินมาจากไหน คิดว่าเป็นไปได้ไหม และถ้าไม่แน่ใจว่าน่าเชื่อถือรึเปล่า เราลองไปหาแหล่งที่มาของข้อมูลกันไหม จะลองหาข้อมูลด้วยวิธีใด เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกคิดวิเคราะห์ข้อมูลก่อนที่จะเชื่ออะไร ซึ่งทักษะการคิดเป็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในยุคที่ใครๆ ก็สามารถสร้างข้อมูลได้ง่ายดายในโลกอินเตอร์เน็ต และยังเป็นการฝึกให้ลูกคิดพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสนใจเชื่ออะไรอีกด้วย อย่างไรก็ดีหากเราไม่เห็นด้วยกับความคิดของลูก อย่าเผลอตัดสินลูกไปก่อน แต่ให้พูดคุยกันโดยอ้างเหตุผลถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพราะนั่นเป็นการด่วนตัดสินลูก และลดความน่าเชื่อถือของพ่อแม่ลงด้วย

บทความแนะนำ ภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ อิทธิพลด้านร้ายของโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อลูก

ทักษะการคิด
เทคนิคคุยกับลูก สอนลูกให้คิดเป็น แก้ปัญหาเองได้

 

6. ท่าทีและน้ำเสียงของการพูดคุยกับลูกก็สำคัญ

การพูดคุยที่จะช่วยส่งเสริมการคิดเป็นนั้น พ่อแม่ควรใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล มีเมตตา และท่าทีที่เป็นมิตร เช่น โน้มตัวเข้าหา สบตา โอบกอดลูกบ่อยๆ เพื่อทำให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่ให้ความสำคัญ  และให้โอกาสเขาได้แสดงความคิดเห็นอย่างไม่ปิดกั้น มีเทคนิคที่น่าสนใจมากที่เจ้าชายวิลเลี่ยมแห่งอังกฤษใช้กับลูก นั่นคือ เจ้าชายมักจะย่อตัวลงไปหาลูกชายของเขาอยู่เสมอ เมื่อต้องการจะพูด หรืออธิบายเรื่องใดๆ ไม่ว่าจะอยู่สถานการณ์ใดก็ตาม สังเกตได้ว่าเมื่อเราย่อตัวลงให้อยู่ในระดับเดียวกับลูก พ่อแม่จะสามารถมองเห็นดวงตาของลูกได้ วิธีนี้ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นเทคนิคการฟังที่ดี เพื่อให้เด็กๆ เห็นว่าคำพูดของพวกเขานั้นสำคัญกับพ่อแม่ วิธีนี้ยังช่วยเพิ่มความนับถือตัวเอง เพิ่มความไว้วางใจในครอบครัวด้วย

ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ที่คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่จะใช้เทคนิคง่ายๆ เหล่านี้ในชีวิตประจำวัน เพื่อจะช่วยให้ลูกของเราเป็นเด็กที่มีทักษะการคิดเป็น แก้ปัญหาได้ อันจะส่งผลทำให้พวกเขาสามารถชีวิตประจำวันได้อย่างชาญฉลาด มีความสุข และแก้ปัญหาได้ในอนาคต โดยที่คนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราไม่ต้องกังวลเลยทีเดียวค่ะ

อ้างอิงข้อมูลจาก ปันสุขลูกรัก, motherandchild, catdumb

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เด็กยุคใหม่ ทำไมต้องมี Power BQ ติดอาวุธให้ลูกฉลาดรอบด้าน

สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว ปูหนทางสู่ความสำเร็จในชีวิต

วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก ไม่ดุ ไม่ตี ปูพื้นฐานชีวิตลูกให้ดีใน 3 ปีแรก

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up