คู่มือพ่อแม่ยุคใหม่

บัญญัติ 10 ประการ คู่มือพ่อแม่ยุคใหม่ สไตล์หมอประเสริฐ

account_circle
event
คู่มือพ่อแม่ยุคใหม่
คู่มือพ่อแม่ยุคใหม่

การเป็นพ่อแม่ยุคดิจิตอล ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอินเทอร์เน็ตเข้าถึงง่ายแค่ปลายนิ้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น เพื่อให้สายสัมพันธ์นี้ประคับประคองให้ลูกเติบโตอย่างเข้มแข็ง คู่มือพ่อแม่ยุคใหม่ ได้รวบรวม 10 บัญญัติการเลี้ยงลูก เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกของ คุณพ่อ คุณแม่ยุคดิจิตอล

บัญญัติ 10 ประการ คู่มือพ่อแม่ยุคใหม่ สไตล์หมอประเสริฐ

1.พูดตรงกัน สามเหลี่ยมครอบครัวที่แข็งแรง เป็นการเริ่มต้นที่ดี

หลักการข้อแรกๆ ของครอบครัว คือ พ่อแม่พูดตรงกัน เรียกว่า coordination  พ่อแม่พูดตรงกันมีความสำคัญมากกว่าการทะเลาะ หรือถกเถียงกันเอาเป็นเอาตาย ต่อหน้าลูก พ่อแม่พูดตรงกันเสมอ ทำให้ลูกรับรู้ว่าบ้านนี้ใครใหญ่ คำพูดจะมีพลังมากกว่า พ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือฝ่ายหนึ่งพูดอีกฝ่ายค้าน  หากเป็นแบบนั้นลูกจะสับสน
สามเหลี่ยมครอบครัว หมายถึง พ่อแม่ที่รักกันมากมายแล้วส่งความรักไปที่ลูกเท่าๆ กัน โดยให้ส่งไปน้อยกว่าความรักที่มีต่อคู่สมรสเล็กน้อย ทีนี้พูดอะไรก็เชื่อ สอนอะไรก็ฟัง

คู่มือพ่อแม่ยุคใหม่

2.จะสอนอะไรให้สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ยาวนาน

หลักการข้อที่สอง คือ ความสม่ำเสมอ เรียกว่า consistency ไม่จำเป็นว่าพ่อแม่ต้องมีเวลาว่างให้ลูกตลอด แต่หมายถึงเวลาว่างที่มีนั้นควรสม่ำเสมอ และทุกครั้งที่ว่างควรมีคำสอนหรือวินัยที่สม่ำเสมอ ไม่ใช่เปลี่ยนไปมาตามแต่อารมณ์ในแต่ละวัน เช่น วันนี้ดุ อีกวันนึงปล่อยตามสบาย ความไม่สม่ำเสมอจะทำให้เด็กสับสน และคิดว่ากฎกติกาไม่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใหญ่ทุกคนที่รายล้อมพ่อแม่ ควรแสดงออกให้เห็นว่าเราพูดตรงกัน เรื่องก็จะง่ายขึ้นมาก

 

3.ขวบปีแรก อุ้ม กอด ให้นม นอนด้วยกันมากที่สุด ไม่มีข้อเสียอะไร

ขวบปีแรก หรือสิบสองเดือนแรกของชีวิต เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ต้องทำให้ทารกไว้วางใจโลก มี trust เมื่อทารกไว้ใจโลกแล้วพัฒนาการต่างๆ จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หากเด็กไม่ไว้ใจโลก คือ distrust จะมีผลให้พัฒนาการจะหยุดชะงัก หรือเชื่องช้า ถดถอย

วิธีที่ทารกจะไว้ใจโลกมี 2 ขั้นตอน คือ

  • ขั้นตอนที่ 1 คือไว้ใจแม่
  • ขั้นตอนที่ 2 คือไว้ใจโลก

ดังนั้นเราต้องสร้างแม่ที่มีอยู่จริงให้กับทารก ด้วยการเลี้ยงดูอย่างดีที่สุด อุ้ม กอด บอกรัก ให้นม สร้างสายสัมพันธ์แม่ลูกให้มากที่สุด ใน 3 เดือนแรก 6 เดือนแรก และ 12 เดือนแรก แม่ที่มีอยู่จริงคือต้นทุนชีวิตที่เด็กและวัยรุ่นต้องใช้ไปอีกนานแสนนาน

 

คู่มือพ่อแม่ยุคใหม่

4.ไม่ดูหน้าจอใดๆ ก่อน 2 ขวบ

มีรายงานเข้ามาจากทั่วโลก และปรากฏการณ์ที่จิตแพทย์เด็กทุกคนพบเหมือนกัน ในเด็กยุค 4G นั่นคือ เด็กที่ดูหน้าจอมากเกินไปในสองขวบปีแรก อาจจะส่งผลให้พัฒนาการล่าช้า พูดช้า พูดไม่เป็นภาษา หรือพูดเป็นภาษาแต่ใช้สื่อสารไม่ได้  ที่เราเรียกกันว่าภาษาต่างดาว ไปจนถึงภาวะอยู่กับตนเองไม่สังสรรค์กับใคร

เพราะหน้าจอสมัยใหม่มักเป็นภาพเคลื่อนไหวรวดเร็วมากถึงมากที่สุด สีสันจัดจ้านร้อนแรง เปลี่ยนภาพฉับไว เสียงดนตรีเร่งเร้า และสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ใกล้ตัวที่สุดก็คือ มือถือ แท็บเล็ต ห่างออกไปหน่อยก็ จอทีวี บนบิลบอร์ดในท้องถนน

การรับรู้และสมองของมนุษย์ก่อร่างสร้างตัวหรือวางขดลวด คือ wiring ตามกิจกรรมที่ทำ ดูอะไรได้อย่างนั้น อ่านอย่างไรได้อย่างนั้น เล่นอย่างไรได้อย่างนั้น และทำงานอย่างไรได้อย่างนั้น

ดังนั้นกุมารแพทย์ทั่วโลกจึงเห็นตรงกันว่าไม่ควรให้เด็กดูหน้าจอก่อน 2 ขวบ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านสิ่งอื่นๆ ซึ่งทำให้พัฒนาการสมวัย ไม่ถดถอย

Must read >> 7 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับดวงตาของเด็กวัยเรียน ที่เกิดจากหน้าจอ

5.อ่านนิทาน 30 นาทีทุกคืน

การอ่านนิทาน อ่านได้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งจุดประสงค์ของการอ่านนิทานให้เด็กวัยทารกฟัง ไม่ใช่เพื่อให้ลูกฉลาด รู้คำศัพท์ไว แต่อ่านนิทานเพื่อเพิ่มเวลาคุณภาพในการอยู่ร่วมกันของ เแม่ลูก หรือพ่อลูก หรือพ่อแม่ลูก ซึ่งควรอ่านอย่างน้อยที่สุดวันละ 30 นาที และจัดเวลาให้ตรงกันทุกวัน เพื่อสร้างความสม่ำเสมอให้กับเด็ก เวลาที่เหมาะกับการอ่านนิทานให้ลูกฟัง คือเวลาก่อนนอนทุกคืน

ทำได้ตามนี้เท่ากับการประกันว่า พ่อแม่จะพร้อมและอยู่ด้วยแน่ๆ และการปรากฏตัวอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้การมีอยู่จริงของพ่อแม่ สายสัมพันธ์ และตัวตนแข็งแรงทั้งระบบ คือ mother-attachment-self

พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องมีลูกเล่นหรือเล่านิทานเก่ง เพียงแค่อ่าน โดยสามารถทำไปได้เรื่อยๆ จนกว่าเด็กจะโตจนไม่ต้องการฟังนิทานอีกต่อไป

 

คู่มือพ่อแม่ยุคใหม่

Must read >> รวม นิทานหมอประเสริฐแนะนำ พ่อแม่อ่านให้ฟัง เสริมพัฒนาการลูกทุกวัย

 

6.ควรฝึกกินข้าวด้วยตัวเองบนโต๊ะพร้อมหน้ากัน ให้ได้ระหว่าง 1-2 ขวบ

เด็กเล็ก 2 ขวบปีแรกมักเชื่อฟังพ่อแม่โดยไม่มีเงื่อนไข ในขณะเดียวกันกล้ามเนื้อมัดใหญ่คือ gross motor จะทวีความแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างอายุ 2-3 ขวบ ดังนั้นการฝึกเด็กนั่งกินข้าวจะง่ายกว่ากันมาก หากทำให้ได้ในสองขวบปีแรก เพราะมื่อเข้าสามขวบแล้ว เด็กสามารถลงจากโต๊ะด้วยตนเอง เดินหนี วิ่งหนี ปัดข้าว ปาดจานข้าวทั้งหมดบนโต๊ะลงไปกองที่พื้น สะบัดหน้าแล้วพูดว่าไม่กิน
การกินข้าวด้วยตนเองเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการการดูแลตนเอง โดยเริ่มจากการดูแลร่างกายของตนเองที่เป็นศูนย์กลางคือ self-centered ก่อนที่จะขยายพื้นที่การดูแลออกจากศูนย์กลาง คือร่างกายของตนเองออกไปโดยรอบ จนกระทั่งครอบคลุมของเล่น หรือห้องนอนของตนเอง บ้านทั้งหลังและที่สาธารณะ นั่นคือพัฒนาการของ Executive Function(EF)

7. เล่นให้มากที่สุดช่วง 2-6 ขวบ

เด็กอายุ 2-3 ขวบพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่แข็งแรงขึ้น เพื่อการเคลื่อนไหวอย่างหยาบ คือ gross motor อย่างอัตโนมัติ คือ autonomy แขนขาสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว เดิน วิ่ง ตี ต่อย เตะ กระโดด ปีนที่สูง

จากนั้นเด็กอายุ 4-6 ขวบ จะพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของนิ้วมือทั้งสิบให้แข็งแรงขึ้น เพื่อการเคลื่อนไหวอย่างละเอียดคือ fine motor รวมทั้งการประสานมือ-สายตา คือ hand-eye coordination อย่างดีที่สุด

ดังนั้นหน้าที่ของเด็กอายุ 2-6 ขวบ จึงเป็นการละเล่นด้วยการใช้แขน ขา และนิ้วมืออย่างมากที่สุด อันจะส่งผลกระทบถึงพัฒนาการของเซลล์สมอง และจุดเชื่อมต่อประสาทคือ synapses และวงจรประสาท คือ neural circuits ที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตในอนาคตคือ Executive Function (EF)

และการเล่นยังทำให้พัฒนา PQ ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น  หนึ่งในสิบ Power BQ ที่ช่วยติดอาวุธให้ลูกฉลาดรอบด้าน

Must read >> “ยิ่งเล่น ยิ่งฉลาด “ พัฒนา PQ (Play Quotient) สร้างลูกให้ฉลาดแข็งแรงจากการเล่นแสนสนุก

8.มีข้อห้ามไม่มากนัก ที่ต้องห้ามคือ ห้ามทำร้ายคน ห้ามทำลายข้าวของ ห้ามทำร้ายตัวเอง

ในแต่ละบ้านมีข้อห้ามมากน้อยต่างกัน แต่ที่เป็นกติกาสากลในทุกวัฒนธรรม คือ

ห้ามทำร้ายคน

ห้ามทำลายข้าวของ

ห้ามทำร้ายตัวเอง

ส่วนข้อห้ามอื่นๆ อาจจะมีแตกต่างกันไปตามรายละเอียด และพื้นฐานของแต่ละบ้าน อย่างไรก็ดีพบว่า การมีข้อห้ามที่มากมายหลายสิบข้อ หรือหลายร้อยข้อ มักส่งผลให้เด็กไม่เชื่อฟังมากกว่า

ในขณะที่ข้อห้ามน้อยกว่า แล้วปล่อยให้เด็กได้ลองผิดลองถูกเอาเองบ้าง กลับช่วยให้เด็กพัฒนาตนเองดีกว่า เรียนรู้มากกว่า ตัดสินใจดีกว่า และประคองตนให้เป็นไปตามความคาดหวังของพ่อแม่หรือหลบหลีกอันตรายด้วยตนเองได้ดีกว่า

 

คู่มือพ่อแม่มือใหม่

9.ชอบอะไรให้รางวัล ไม่ชอบอะไรให้ไทมเอาท์ พฤติกรรมที่อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตให้ทำโทษ และชมมากกว่าติในแต่ละวัน

หลักการแก้ไขพฤติกรรม 3 ข้อ คือ ให้รางวัล เพิกเฉย และทำโทษ เป็นหลักการสากลที่ผ่านงานวิจัยทั้งในสัตว์ทดลอง และภาคสนามมาช้านาน และพิสูจน์แล้วว่าได้ผลแน่นอน แต่ต้องการความเอาจริงเอาจัง สม่ำเสมอ และต่อเนื่องของพ่อแม่

การให้รางวัล

หากชอบพฤติกรรมใด ให้ให้รางวัล ซึ่งรางวัลอาจเป็นรางวัลที่เป็นวัตถุ หรือไม่ใช่วัตถุก็ได้ การตกรางวัลที่ดีควรทำทันที คือ instantly เด็กจึงสามารถจับคู่ได้ว่าพฤติกรรมที่ดีคือสิ่งที่พ่อแม่ชอบ

การเพิกเฉย

ไม่ชอบพฤติกรรมใดให้เพิกเฉย การเพิกเฉยที่จริงจังไปจนถึงการ Time Out หรือขอเวลานอกที่ถูกวิธี ไทมเอาท์แปลว่า นั่งด้วย รอให้ลูกสงบ ไม่ทิ้ง ไม่หนี ไม่ขัง จะช่วยให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์สูญสลาย คือ extinction หายไปโดยไม่หวนกลับคืนมาอีก

การทำโทษ

พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงถึงชีวิตหรือพิการ ให้ทำโทษได้ อาจจะด้วยการเตือน ดุ ไปจนถึงการตัดสิทธิ์บางประการของเด็ก และต้องทำทันทีเหมือนการตกรางวัล

และพูดอย่างชัดเจนว่าเด็กถูกทำโทษเรื่องอะไรอย่างเป็นรูปธรรม

Must read >> วิจัยเผย 5 ผลร้าย! ตวาดใส่ลูก บ่อย ๆ ส่งผลต่อพัฒนาการสมอง-ร่างกาย-จิตใจ

10.สอนทำงานบ้าน คือดูแลร่างกายตัวเอง ดูแลพื้นที่รอบร่างกาย และทำงานบ้านของร่วมส่วม

ถัดจากการเล่นคือการทำงาน การเล่นและการทำงาน เป็นการใช้นิ้วมือทั้งสิบเพื่อการพัฒนาสมอง การทำงานมีความยากและไม่สนุกเมื่อเทียบกับการเล่น ดังนั้นการทำงานจึงช่วยพัฒนาความสามารถที่จะตั้งใจจดจ่อคือ focus กับงานตรงหน้า ซึ่งเป็นงานที่ยาก น่าเบื่อและใช้เวลานานกว่าจะทำเสร็จ เท่ากับฝึกเด็กให้รู้จักการควบคุมตนเอง คือ self control และอดเปรี้ยวไว้กินหวานคือ delayed gratification อันเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการ Executive Function(EF)

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ อิทธิพลด้านร้ายของโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อลูก

พ่อแม่ต้องรู้!! 3 สิ่งควรทำเมื่อ เลี้ยงลูกขวบปีแรก

มาแล้วจ้า! 25 การ์ตูนเสริมพัฒนาการ เสริมทักษะ สร้างความรู้ คู่ไปกับความสนุก

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up