น่าพาลูกไปเรียนมากแม่!! โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ประกาศเป็น “โรงเรียนปลอดการบ้าน” สอนครบจบในห้อง เน้นเพิ่มเวลาเรียนรู้นอกห้องเรียน เริ่มปีการศึกษา 2563 นี้
โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ประกาศเป็น “โรงเรียนปลอดการบ้าน”
เรียกว่าสร้างความฮือฮาในโลกโซเชียลได้เป็นอย่างมาก เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 63 ทางเพจโรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ (Wat Bowonniwet School) โรงเรียนชายล้วนชื่อดัง แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ประกาศข่าวดีสำหรับเด็กนักเรียน คือ ทางโรงเรียนเตรียมออกนโยบาย “โรงเรียนปลอดการบ้าน No Homework School” และเน้นทำแบบฝึก กิจกรรมต่างๆ จบในห้องเรียน โดยระบุข้อความว่า… “เป้าหมายที่เรากำลังจะทำ #โรงเรียนปลอดการบ้าน #บวรนิเวศเกรียงเดชเกริกก้องเกรียงไกร #โรงเรียนชายล้วนหกแผ่นดิน” ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะทำในปีการศึกษา 2563 และก็มีชาวเน็ตบางส่วนไม่เห็นด้วย แต่บางส่วนกลับเห็นด้วย
ทั้งนี้ ผอ.เขษมชาติ อารีมิตร ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ได้กล่าวถึงแนวคิดของ “โรงเรียนปลอดการบ้าน” ว่า กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาแนวทาง รูปแบบของการเรียน แต่จะเกิดขึ้นแน่นอนในปีการศึกษา 2563 นี้
โดยจะใช้แนวคิดการจัดการเรียนการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน ของอเมริกา (Flipped Classroom) คือ เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองตามทักษะและความสามารถของแต่ละคน และใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนมากขึ้นแทนการใช้กระดาน ให้นักเรียนเรียนน้อยลง มีเวลาว่างมากขึ้นเพื่อทำกิจกรรม ซึ่ง โรงเรียนบวรนิเวศ พร้อมสนับสนุนกิจกรรมหลากหลายรูปแบบของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านกีฬา ดนตรี หรือแม้กระทั่งกีฬา E-sport
สำหรับเรื่องการยกเลิกการบ้านนั้น ผอ.เขษมชาติ กล่าวว่า “การบ้านเยอะมีปัญหากับนักเรียนทุกระดับ ครูหนึ่งวิชาสั่งการบ้านทั้งเทอม นักเรียนต้องทำการบ้านทุกวิชา ยังไม่รวมงานกลุ่ม งานชิ้น ดังนั้นเราควรเคลียร์การบ้านให้เสร็จตั้งแต่ในห้องเรียนและใช้เวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่สนใจ คนเก่งไม่ได้มีแค่เก่งวิชาการ เราควรมองว่าเด็กทุกคนมีความเก่งอยู่ในตัว อยู่ที่ว่าเก่งด้านไหน และจะดันให้เด็กเก่งขึ้นได้อย่างไร ซึ่งทางโรงเรียนต้องการเด็กแบบนี้ ได้ส่งเสริมในสิ่งที่เขาชอบ และ เก่ง ดี มีสุข ที่แท้จริงตาม พระราชบัญญัติการศึกษาไทย”
ด้านการค้นหาความสามารถของนักเรียน จะมีขึ้นตั้งแต่การสอบเข้า โรงเรียนจะมีแบบทดสอบความถนัดเพื่อทดสอบความสามารถแฝง คุณครูต้องปรับตัวจากการสอนแบบเดิมมาเป็น “โค้ช” เพื่อแนะนำวิธีการศึกษาให้นักเรียนหาข้อมูลด้วยตนเองมากขึ้น และกลับมาทำแบบฝึกหัดไปพร้อมกับการอธิบาย
วิธีนี้นักเรียนจะไม่มีการบ้านและได้เรียนรู้จากการทำแบบฝึกหัดไปในตัว การดูแลนักเรียนรายบุคคลเป็นเรื่องสำคัญมาก ครูต้องรู้จักชื่อนักเรียน ประวัติ รวมถึงความสามารถพิเศษด้วย
ด้านการวัดผล จะเป็นการสอบ และวัดผลโดยใช้วิธีประเมินตามสภาพจริง สามารถให้โอกาสนักเรียนสอบใหม่หรือค้นคว้าทำงานที่เกี่ยวข้องมาส่ง เพราะเชื่อว่านักเรียนทุกคนมีความแตกต่าง เขาอาจตอบไม่เก่ง แต่สามารถนำเสนอความรู้ความเข้าใจด้วยวิธีอื่นได้
ที่มา : ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์จากทีมงานเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม www.dek-d.com
อ่านต่อ >> “ข้อดีและข้อเสียของการเป็นโรงเรียนปลอดการบ้าน” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อย่างไรก็ดี สำหรับ นโยบายของ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ที่ประกาศเป็น “โรงเรียนปลอดการบ้าน” นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาฯ กพฐ. ได้กล่าวชื่นชม โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ว่าดำเนินการได้ดี เพราะการประกาศลดการบ้านอย่างน้อยก็ไม่ทำให้เด็กเครียดจากการเรียนการสอนในห้องเรียน
ผลของการเป็น โรงเรียนปลอดการบ้าน
ทั้งนี้ช่องว่างของการเรียนรู้ของเด็กที่ไม่มีการบ้านหลังจากเลิกเรียนแล้ว อาจนำเวลาที่ว่างไปกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมได้ ดังนั้น การปลอดการบ้านถือว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคต สพฐ.จะปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังนั้นการเรียนการสอนในห้องเรียนก็จะต้องปรับ และการให้การบ้านนักเรียนก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน โดยที่ไม่ใช่เป็นการให้บ้านแบบจำนวนมากๆ อีกต่อไป ดังนั้นจากนี้ไปโรงเรียนก็ต้องหาแนวทางที่จะลดการบ้านเด็กอย่างไร แต่อาจจะให้เด็กไปค้นคว้า หรือหาความรู้เพิ่มเติมในช่วงเวลาที่ไม่ได้ทำการบ้าน
อย่างไรก็ดีสำหรับประเด็นการบ้านสำหรับเด็กยุคนี้ ที่มีเยอะไป ไม่ใช่แค่โจทย์ใหญ่สำหรับเด็กไทย แต่เป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะถ้าไปสำรวจประเทศที่ได้ชื่อว่าการศึกษาดีที่สุดในโลกอย่างฟินเเลนด์ จะพบว่าคุณครูแทบไม่มีการบ้านให้เด็กๆ หรือถึงมีเด็ก ๆ ก็ใช้เวลาทำไม่เกินวันละ 10 นาทีในการทำให้เสร็จ
Must read >> สอนลูกเก่งรอบด้าน ตัวอย่างจากประเทศฟินแลนด์
ข้อเสียของการบ้าน VS ข้อดีของการไม่มีการบ้าน
ขณะที่ครูกับพ่อแม่กลุ่มหนึ่งเชื่อว่า การบ้าน ช่วยสร้างทักษะและช่วยให้เด็กทบทวนความรู้ อีกกลุ่มหนึ่งก็มองว่าการบ้านเป็นเรื่องไม่จำเป็น ทำให้เด็กหมดเรี่ยวแรงและไม่อยากไปโรงเรียน การบ้าน คือภาระของเด็ก ทำให้เด็กๆ เครียด ไม่มีเวลาออกไปเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ หรือใช้เวลาทำกิจกรรมกับครอบครัวเท่าที่ควร แต่งานวิจัยมากมายในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ปัญหานี้แตกต่างและซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด
Must read >> ถูกใจชาวเน็ตอย่างแรง! การบ้านลูก กับวิธีแก้ปัญหาคุณแม่ติดโทรศัพท์ ตามฉบับอริยสัจ 4
Must read >> ถ้าลูกทำการบ้านไม่เสร็จ ให้ฝึกลูกรับผิดชอบชีวิตตัวเองใหม่!
แต่แทนที่จะถามแค่ว่า “ต้องมีการบ้านหรือไม่”
อีกคำถามที่ควรมีคือ หลังโรงเรียนเลิกควรมีอะไร
ที่ช่วยให้นักเรียนยังจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้และพร้อมจะเรียนเพิ่มเติม มากกว่า
เพราะงานวิจัยตลอดหลายทศวรรษบอกว่า การบ้านก็ยังมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่กับทุกระดับชั้น และปริมาณการบ้านก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด
วัยประถม – อ่านอย่างเดียวก็พอ >> การบ้านอาจทำให้เสียเวลา เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่มีทักษะการเรียนพอที่จะได้รับประโยชน์เต็มที่ สำหรับวัยนี้จึงควรเน้นฝึกให้รักการเรียนรู้ และการบ้านก็อาจเป็นศัตรูตัวฉกาจ
การบ้านที่เข้ากัน : อ่านหนังสือตอนค่ำกับพ่อแม่เป็นกิจกรรมที่เหมาะที่สุด เพราะยิ่งเด็กๆ อ่านออกช้าเท่าไหร่ โอกาสจบมัธยมก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย
วัยมัธยมต้น – มีได้แต่อย่าเยอะ >> เมื่อเริ่มโตและค้นข้อมูลเป็นแล้ว การบ้านจึงช่วยให้จำสิ่งที่เรียนได้ แต่ก็ไม่ควรมีมากเกินไปเพราะผลวิจัยปี 2015 พบว่าเด็กวัยนี้ที่ต้องทำการบ้านวันละ 90-100 นาทีมีโอกาสเรียนแย่ลงเพราะหมดแรงจูงใจและความสนใจ
การบ้านที่เข้ากัน : นักวิจัยหลายคนแนะนำว่า การบ้านควรท้าทายความสามารถแค่ระดับหนึ่ง ไม่ต้องยากเกินไปจนทำให้เด็กๆ หมดกำลังใจและความพยายาม
มัธยมปลาย – มีประโยชน์มากแต่ความเสี่ยงสูง >> การบ้านช่วยเรื่องการเรียนในวัยนี้ได้มาก ตราบเท่าที่ไม่เกินคืนละสองชั่วโมงหรือกัดกินเวลาพักผ่อน รวมถึงเวลาที่ใช้กับครอบครัวและเพื่อน งานวิจัยปี 2013 พบว่านักเรียนมัธยมปลายที่มีระดับความเครียดสูงเพราะทำการบ้านจนนอนไม่พอจะมีปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและใจอย่างหนัก
การบ้านที่เข้ากัน : เมื่อถึงโรงเรียน พวกเขาควรได้เรียนรู้อย่างอิสระ การบ้านจึงควรเชื่อมโยงกับบทเรียนและทำได้เองโดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือ เน้นคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ ผลการตรวจจากครูก็ควรเปิดเผยและชัดเจน
ทั้งนี้หลักสูตร “ไม่มีการบ้าน” (No Homework) ที่ฟินแลนด์ ในความเป็นจริงก็ใช่ว่าไม่มีการบ้านเลยซะทีเดียว แต่ การบ้านของนักเรียน คือ การออกไปเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่ตัวเองได้พบเจอนั่นเอง โดยส่วนใหญ่เด็ก ๆ ที่ฟินแลนด์ จะใช้เวลาทำการบ้านเพียง 5 – 20 นาทีเท่านั้น และให้ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนครอบครัว เล่นกีฬา หรือให้ฝึกฝนความรู้ด้านศิลปะมากขึ้น เช่น การเล่นดนตรี วาดรูป เย็บปัก หรือแม้กระทั่งการเขียนบทกวี ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าไร้สาระ และควรเอาเวลาไปตั้งใจเรียนในสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า แต่ทั้งหมดนี้แหละคือสิ่งที่กลับช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจจริง ๆ แถมได้แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ระหว่างกันอีกด้วย
ดังนั้น สุดท้ายแล้วจาการประกาศนโยบาย ของ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ว่าจะเป็น “โรงเรียนปลอดการบ้าน” ซึ่งแท้จริง การบ้าน นั้นอาจไม่ใช่ยาขมที่คุณครูหยิบยื่นให้เด็กๆ เสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับว่าการบ้านที่คุณครูสั่งนั้นช่วยจุดประกายให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และนำทักษะจากห้องเรียนไปต่อยอดสู่ชีวิตจริงได้หรือไม่นั่นเอง
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- สพฐ. สั่ง ครูทั่วประเทศ ลดการบ้าน เด็กนักเรียน ทันที!
- ต่างกันอย่างไรระหว่าง ลอกการบ้าน เพื่อนกับให้เพื่อนลอก
- ทำการบ้านแทนลูก เตือน! ส่งผลกระทบต่อลูก
- สอนทำการบ้านวันหยุด แบบไหน ไม่ยืดเยื้อ
ขอบคุณข้อมูลจาก : thepotential.org , www.globish.co.th และอ้างอิงที่มาข่าวจาก : www.thaipost.net , เพจ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ (Wat Bowonniwet School) , ภาพจากเพจ BN Photo Gallery
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่