AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ทำไม ลูกไม่อยากไปโรงเรียน หรือ “ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน” ที่พ่อแม่ต้องช่วยหาทางแก้

ลูกไม่อยากไปโรงเรียน

ลูกไม่อยากไปโรงเรียน อาจเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงแรก ๆ ของการเปิดเทอม ที่เด็ก ๆ อาจจะมีความรู้สึกยังไม่พร้อมที่จะไปโรงเรียน แต่ถ้าเด็กมีอาการรุนแรง มีการแสดงออกเป็นพฤติกรรมได้หลายรูปแบบ ทั้งอาการทางกาย พฤติกรรม ด้านความคิดและอารมณ์ อาจเป็นสัญญาณของ “ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน” ที่พ่อแม่ต้องช่วยกันหาทางแก้กันค่ะ

ลูกไม่อยากไปโรงเรียน ผิดปกติไหม?

ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในเด็กทุกวัยทั้งเด็กเล็กจนถึงเด็กโต สำหรับเจ้าตัวเล็กที่ต้องเริ่มเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจจะต้องเจอกับอาการร้องไห้ งอแง ที่ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน ซึ่งถือเป็นอาการปกติของเด็กเล็กในช่วงอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง ถึง 3 ขวบ ที่จะต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งความกังวลนี้จะลดลงเมื่อลูกโตขึ้น มีความมั่นคงทางอารมณ์และเข้าใจว่าเมื่อถึงเวลาเลิกเรียนก็จะได้พบกับคุณพ่อคุณแม่อีกครั้ง แต่สำหรับเด็กที่โตพ้นวัยนี้ขึ้นมาหรือเด็กประถม ที่พบว่าการ “ไม่อยากโรงเรียน” ของลูกในช่วงเช้าทั้งที่สามารถไปโรงเรียนได้ มีสาเหตุอื่นที่แตกต่างไป อาทิเช่น

เด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียนจะมีอาการที่แสดงออกมากน้อยแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักขอต่อรองในช่วงก่อนนอนที่จะไม่ไปโรงเรียนตอนเช้า หรือในตอนเช้าในวันที่ต้องไปโรงเรียน ในเด็กบางคนอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่กุมขมับน้อยหน่อย พอรับมือไหว และเมื่อลูกอยู่ที่โรงเรียนแล้วก็จะสงบลง เล่นกับเพื่อน และเรียนได้ตามปกติ แต่พอเช้ามาก็จะเป็นใหม่ แต่สำหรับเด็กบางคนจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน ออกอาการอาละวาด ที่ไม่อยากไปโรงเรียนเสียให้ได้ ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ต้องหนักใจ ซึ่งลักษณะนี้อาจเป็นไปได้ว่าลูกกำลังตกอยู่ใน “ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน” หรือ School Refusal

“ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน” ที่พ่อแม่ต้องช่วยหาทางแก้โดยด่วน!

ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน คือ การแสดงออกเป็นพฤติกรรมในหลากหลายรูปแบบทั้งทางกาย พฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ ที่ทำให้รู้ว่าเด็กไม่เต็มใจที่จะไปโรงเรียน ภาวะนี้มักพบได้บ่อยในเด็กทีที่มีช่วงอายุ 5-­6 ปี และช่วงอายุ 10-­11 ปี ซึ่งมีที่มาจากความวิตกกังกวลในใจ เช่น กลัวการเข้าสังคม กลัวเพื่อนว่า กลัวครูดุ กลัวพ่อแม่ดุ ฯลฯ ถือว่าเป็นภาวะเร่งด่วนทางจิตเวชเด็ก เพราะหากลูกตกอยู่ในภาวะนี้การนำเด็กกลับไปโรงเรียนจะยิ่งยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่หยุดเรียน ซึ่งก็จะกระทบกับการเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างคุณครูและเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน รวมถึงกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นอย่างมากด้วย โดยอาการที่แสดงออกของ “ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน” นั้นอาจไม่ใช่การแสดงหรือแกล้งทำก็เป็นได้

สังเกตอย่างไรเมื่อลูกตกอยู่ในภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน

ในเด็กบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการเหล่านี้ได้ตลอดทั้งวัน และจะยิ่งเป็นมากขึ้นเมื่อถูกบังคับหรือโดนดุด่าให้ไปโรงเรียน แต่หากคุณพ่อคุณแม่ยอมให้หยุดเรียน หรือไปรับกลับบ้านระหว่างวัน อาการต่าง ๆ ก็จะหายไป และจะเป็นปกติทั่วไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในวันที่ไม่ต้องไปโรงเรียน

เมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน พ่อแม่ช่วยได้อย่างไร

สำหรับเล็กในวัยอนุบาลที่มีความกังวลในการแยกจากพ่อแม่ตามพัฒนาการปกติ คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มพูดให้เห็นประโยชน์ของการไปโรงเรียนได้ตั้งแต่ก่อนลูกถึงวัยเข้าเรียน เพื่อให้ลูกน้อยซึมซับและอยากไปโรงเรียน พูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลและความสนุกสนาน เมื่อส่งไปโรงเรียนคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงความวิตกกังวล กล่าวบอกลาด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน และควรออกมาทันทีหลังส่งลูกถึงมือครูเรียบร้อย เพราะถ้าหากเจ้าตัวน้อยเห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่ก็จะแสดงความกลัวที่จะจากพ่อแม่ เมื่อทำแบบนี้ซ้ำ ๆ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าการแยกจากเป็นเรื่องธรรมชาติ อาการวิตกกังวล งอแงก็จะหายไป และมีความมั่นคงทางอารมณ์เพิ่มมากขึ้น

สำหรับเด็กวัยประถมที่มักพบภาวะปฏิเสธการไปโรงเรียน กลัวการที่จะไปโรงเรียน การบังคับขู่เข็ญให้ลูกได้ไปโรงเรียนไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง กลับยิ่งทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนมากขึ้น และการยินยอมให้ลูกไม่ใปโรงเรียนก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเช่นกัน เพราะเมื่อใช้วิธีนี้แล้วลูกอาจไม่สามารถกลับไปโรงเรียนได้อีกเลย

11 เคล็ดลับช่วยให้ลูกอยากไปโรงเรียน

1.เมื่อลูกแสดงอาการไม่อยากไปโรงเรียน คุณพ่อคุณควรพูดคุยหาสาเหตุ และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้ลูกได้กลับไปเรียนหนังสือโดยเร็วที่สุด สอบถามด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน และทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังเหตุผลของลูกด้วยความใจเย็น ไม่ควรดุด่าว่ากล่าวหรือทำโทษลูก และไม่เพิกเฉยต่อความกังวลของลูก

2.ในช่วงแรก ๆ ของการเปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่ควรไปส่งลูกที่โรงเรียน เพื่อลดความกังวลต่อการแยกจาก และควรไปรับลูกให้ตรงเวลาหลังเลิกเรียน ไม่ควรทิ้งให้รอนาน ๆ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกวิตกกังวลได้

3.พูดถึงประโยชน์และสิ่งดี ๆ ของการไปโรงเรียน เช่น กิจกรรมที่น่าสนุกหลากหลาย ได้เรียนวิชาที่ชอบ ได้เจอเพื่อนสนิท เป็นต้น

4.หากลูกมีปัญหาในการเข้ากับเพื่อนที่โรงเรียน หรือโดนเพื่อนรังแก ควรปรึกษาครูประจำชั้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข และพยายามพาลูกได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ลูกสนุกและเรียนรู้กับการเข้าสังคมได้ดียิ่งขึ้น

5.หลีกเลี่ยงหรือยินยอมให้ลูกหยุดอยู่บ้านเมื่อลูกไม่งอแงไม่อยากไปโรงเรียน เพราะหากให้ลูกหยุดก็จะยิ่งทำให้เด็กปฏิเสธการไปโรงเรียนได้ง่ายขึ้น และถ้าหยุดนานก็จะส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งด้านการเรียน ทำให้ลูกยิ่งปรับตัวยากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาต่อทั้งตัวเด็กและครอบครัวมากขึ้นเรื่อย ๆ

6.กำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนของลูกให้เป็นเวลาทุกวัน ทั้งวันไปโรงเรียนและในวันหยุด เพื่อเป็นการฝึกวินัยที่ดี ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานของการฝึกวินัยเรื่องอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตด้วย

7.ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัยอย่างเหมาะสม เพราะเมื่ออยู่ที่โรงเรียนลูกจะมีความมั่นใจสามารถดูแลตัวเองได้ เช่น การรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

8.แสดงความรักต่อลูกก่อนเดินทางไปโรงเรียน เช่น การกอด หอมแก้ม เพื่อให้ลูกรับรู้ถึงความรักของพ่อแม่ สร้างความมั่นคงทางอารมณ์และความปลอดภัยให้กับลูก

9.ให้ลูกจัดเตรียมกระเป๋า จัดตารางสอน ชุดนักเรียนก่อนเข้านอน เพื่อสร้างความกระตุ้นให้ลูกมีความอยากไปโรงเรียนมากขึ้น

10.ให้รางวัลเมื่อลูกยอมไปโรงเรียนบ้างแล้ว เช่น พูดชมเชย การให้ดาว สติ๊กเกอร๋สะสมแต้มความดี เพื่อเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของเด็ก

11.หากลูกตกอยู่ในภาวะปฏิเสธไปโรงเรียน และอาการไม่ดีขึ้น เรื่องนี้จัดเป็นภาวะทางจิตเวชเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยาเด็ก หรือนักจิตวิทยาโรงเรียน เพื่อช่วยเหลือให้ลูกพ้นจากภาวะไม่อยากไปโรงเรียน และได้กลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้อย่างมีความสุข

จะเห็นได้ว่าการที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียนนั้น ต้องการทางออกด้วยแรงสนับสนุนจากพ่อแม่เป็นสำคัญ และความช่วยเหลือจากคุณครูหรือผู้เชี่ยวชาญ ที่จะทำให้เด็ก ๆ อยากไปโรงเรียนและเรียนหนังสือได้เหมือนเดิม อยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข เพื่อลดการเกิดภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนในเด็กลงได้.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.aboutmom.cowww.teen.mthai.comwww.cumentalhealth.com

อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:

9 เคล็ดไม่ลับ ปลุกลูก ขี้เซา ให้ตื่นเช้าไปโรงเรียนแบบสดใส พร้อมเรียนรู้อย่างมีความสุข

การเรียนลูก เป็นเพียงเรื่องของครู จบที่โรงเรียนจริงหรือ?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids