ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว สำนักพิมพ์ประสานมิตร ผู้สร้างสรรค์ตำราเรียนคุณภาพที่อยู่คู่กับวงการศึกษาไทย มายาวนาน ได้ก่อตั้งโรงเรียนประสานมิตรขึ้น โดย คุณวรพร ทรัพย์ทวีพร และคณาจารย์นักวิชาการ ด้านคุรุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ จนถึงวันนี้ผู้บริหารรุ่นที่สองอย่างครูตุ๊ก พัชรี เวชยันต์วิวัฒน์ ลูกสาวของคุณวรพร ยังคงยึดมั่นเจตนารมณ์ของคุณแม่ไว้อย่างแน่วแน่ด้วยการมอบความรู้และความรักให้แก่นักเรียนด้วยดีเสมอมา แต่เธอไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ ยังคงปรับตัวและหาวิธีการสอนให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยเฉพาะหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาสมองเอ็นแอลพี ที่เริ่มต้นใช้ครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2557 แค่ชื่อก็น่าสนใจแล้ว เราไปทำความรู้จักกับโรงเรียนประสานมิตรและหลักสูตรภาษาสมองกันดีกว่าค่ะ
หลักสูตรภาษาสมอง NPL
ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบัน ที่หลายคนบอกว่า “อยู่ยาก” ครูตุ๊กเล็งเห็นถึงปัญหาและนำไปสู่การศึกษาเพื่อหาวิธีพัฒนาการเรียนการสอน โดยมีจุดมุ่งหมายให้เด็กๆ มีสภาพจิตใจที่แข็งแรง เข้าใจสภาพแวดล้อม สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และมอบความรักความเข้าใจให้แก่คนรอบตัวได้ “ครูตุ๊กเคยเข้าเรียนคอร์สของครูอ้อย ฐิตินาถ ณ พัทลุง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนความคิดและมุมมองในหลายๆเรื่อง รู้สึกเข้าใจตัวเองมากขึ้น และนำมาปรับใช้ในชีวิตในครอบครัว ทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นมาก จึงสนใจวิธีการนี้จริงจังและนำมาปรับใช้ในโรงเรียน ซึ่งหลักสูตร NPL (Neuro Linguistic Programming) จะช่วยให้เด็กมีแนวคิดเชิงบวกทุกมิติ พัฒนาอัจฉริยภาพ และครอบคลุมถึงการฟังพูดอ่านเขียน ทำให้เด็กอ่านหนังสือแล้วเข้าใจมากขึ้น โดยจะมีเทคนิคที่ช่วยให้เด็กลบบางอย่างทิ้ง และทำให้เด็กจำได้แม่นขึ้น ซึ่งที่ต่างประเทศก็มีการสอนรูปแบบนี้อยู่ แต่สำหรับประเทศไทยเราเป็นโรงเรียนแรกที่เริ่มใช้”
ค้นหาศักยภาพด้วยนวัตกรรมนำสมัย
ครูตุ๊กเล่าให้เราฟังว่า นอกจากหลักสูตรภาษาสมองแล้ว ทางโรงเรียนยังร่วมมือกับสถาบันพัฒนาศักยภาพปัญญธารา (P-Pac) ในเครือบริษัทซีพีฯ นำนวัตกรรมการวิเคราะห์ลายผิว (Finger Scan) มาใช้กับเด็กๆในโรงเรียนเพื่อค้นหาศักยภาพที่โดดเด่นของเด็กแต่ละคนตามทฤษฎีพหุปัญญา “โครงการ P-Pac in Education มีค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป โดยจะวิเคราะห์เกี่ยวกับผลด้านการศึกษา ซึ่งผลสแกนจะทำให้ทราบถึงศักยภาพ ลักษณะนิสัย วิธีการเรียนรู้ บุคลิกภาพและความสามารถเฉพาะของเด็ก เช่น เด็กบางคนรับข้อมูลแล้วต้องใช้เวลากลั่นกรองนาน หรือบางคนรับแล้วพูดออกมาเลย การวิเคราะห์ P-Pac จะช่วยให้ครูผู้สอนมีแนวทางในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กคนนั้นๆ รวมถึงหาวิธีกระตุ้นการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กแต่ละคนด้วย ซึ่งจากที่ผ่านมาเราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กที่ร่วมโครงการอย่างชัดเจน”
สุดท้ายถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ P-Pac จะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีสิ่งสำคัญที่ครูตุ๊กอยากฝากไว้ “ถึงแม้ว่าการสแกนจะทำให้เรารู้ว่าเด็กมีศักยภาพมากแค่ไหน โรงเรียนสามารถส่งเสริมได้ถูกที่ถูกทาง แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือครอบครัว การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นก็ต้องอาศัยแรงของพ่อแม่ที่ช่วยส่งเสริมลูกเช่นกันค่ะ”
โรงเรียนประสานมิตร เปิดสอนระดับเตรียมอนุบาล – ประถมศึกษาตอนปลาย
เลขที่ 59/573 หมู่บ้านพรร่มเย็น ถนนเสมาฟ้าคราม-ลำลูกกา คลอง 2 จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร. 0-2987-6601-2 เวบไซต์ www.psm.ac.th
บทความโดย กองบรรณาธิการเรียลพาเรนติ้ง