ลูกเริ่มไป โรงเรียนอนุบาล แล้วช่วงแรก ๆ แฮปปี้ดี อยากไปโรงเรียนทุกวัน แต่ผ่านไปไม่กี่วัน พฤติกรรมลูกเปลี่ยน “งอแง” ร้องลั่นบ้านไม่อยากไปโรงเรียน บ้านไหนเจอสถานการณ์แบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ถึงกับกุมขมับ ลูกไม่อยากไปโรงเรียน ทำไงดี Amarin Baby & Kids อ
พ่อแม่รู้ไหม บางครั้งลูกอาจเจอสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาอย่างไรดี ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายใจ เช่น ทะเลาะกับเพื่อน หรือถูกเพื่อนแกล้งแล้วไม่รู้วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมจน ลูกไม่อยากไปโรงเรียน ทำยังไงดี สถานการณ์เช่นนี้ “การเล่นสมมติ” เป็นอีกหนึ่งวิธีให้คุณแม่ค้นหาสาเหตุความกังวลของลูก สอนลูกให้รียนรู้ รวมถึงหาวิธีในการจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ดีขึ้น
ลูกไม่อยากไปโรงเรียน ทำไงดี ต้องหาสาเหตุให้เจอก่อน
ลูกไม่อยากไปโรงเรียนมักเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น รู้สึกกังวลที่ต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ (Separation Anxiety) มีปัญหาที่โรงเรียน เช่น ทะเลาะกับเพื่อน ยังไม่ไว้วางใจคุณครู ไม่กล้าบอกความต้องการของตัวเอง ไม่กล้าแสดงออก ทำให้การอยู่โรงเรียนไม่มีความสุข ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ควรถามสาเหตุกับเด็ก แต่ถ้าเขาไม่บอกตรง ๆ “การเล่นบทบาทสมมติ” เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งช่วยให้ลูกเปิดเผยความลับในใจออกมาโดยไม่รู้ตัว เพราะการเล่นเป็นภาษาของเด็ก ๆ ทำให้ลูกรู้สึกสนุก ผ่อนคลาย บรรยากาศรอบตัวก็เปลี่ยนไปด้วย ไม่นานลูกจะกล้าพูดคุยถึงปัญหาของตนเองออกมา
MUST READ :เข้าใจหัวอกแม่ ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน ทำยังไงดี?
ชวนลูกเล่นสมมติอย่างไรให้รู้ทำไมลูกไม่อยากไปโรงเรียน
- ถึงแม่อยากรู้ใจจะขาดว่า ลูกไม่อยากไปโรงเรียน ทำไงดี แต่การถามตรงๆอาจไม่ได้คำตอบ คุณแม่ชวนลูกมาเล่นสมมติ โดยสร้างสถานการณ์เกี่ยวกับการไปโรงเรียน ผ่านการเล่นใช้ตุ๊กตา หุ่นมือ ของเล่นชิ้นโปรด หรือสมมติว่าตัวลูกและคุณแม่เองกำลังอยู่ที่โรงเรียนก็ได้ เช่น สมมติให้ตุ๊กตาหมีตัวโปรดเป็นนักเรียนที่ไม่อยากไปโรงเรียน ส่วนลูก และตัวคุณพ่อคุณแม่สวมบทบ่ทเป็นเด็กในห้องเดียวกับคุณหมี จากนั้นลองพูดคุยถึงเรื่องราวของคุณหมีที่ไม่อยากมาโรงเรียน เช่น การถามขึ้นมาว่า “วันนี้คุณหมีไม่มาโรงเรียน เป็นเพราะอะไรกันนะ เราไปคุยกับคุณหมีกันดีไหม”
- ในบทสนทนาระหว่างพูดคุย ควรมุ่งไปที่การหาสาเหตุและช่วยกันหาวิธีแก้ไขปัญหา เช่น “ถ้าคุณหมีไม่อยากมาโรงเรียนเพราะคิดถึงแม่ คุณหมีจะทำยังไงดีนะ” เราอาจให้ลูกพยายามคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองดูก่อน ถ้าลูกคิดไม่ออก คุณพ่อคุณแม่ช่วยเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาได้ เช่น เวลาคิดถึงคุณแม่ให้ไปหาคุณครูและให้คุณครูช่วยปลอบ หรือชวนคุณหมีไปเล่นของเล่นสนุก ๆ คิดเสียว่าเดี๋ยวไม่นานแม่ก็มารับแล้ว เป็นต้น การะดมสมองช่วยกันคิดหาวิธีแก้ปัญหา จะช่วยให้ลูกมีทางเลือกดี ๆ เพื่อนำไปใช้ได้หลาย ๆ สถานการณ์
- เล่นสมมติเพื่อให้ลูกฝึกซ้อมวิธีแก้ปัญหา เช่น “ถ้าเลือกวิธีไปบอกคุณครูให้ช่วยปลอบ จะพูดกับคุณครูว่าอย่างไรดี เราลองมาฝึกซ้อมวิธีการพูดกับคุณครูกันเถอะ” หลังจากได้ลองฝึกซ้อมเช่นนี้ จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจมากขึ้น และพร้อมรับมือกับปัญหาตรงหน้าได้ดีขึ้น รู้สึกว่ามีคนที่เข้าใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือ ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและคุณพ่อคุณแม่ได้ดี รวมทั้งช่วยพัฒนาอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของลูก
ถ้าลูกมีปัญหากับเพื่อน “เล่นสมมติ” ช่วยแก้ปัญหาได้
ในบางครั้งลูกอาจมีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนแล้วไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี ไม่ว่าจะเป็น ลูกไม่มีเพื่อนเล่น ทะเลาะกับเพื่อน เรามาดูวิธีการเล่นสมมติในสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้กันค่ะ
สถานการณ์ที่ 1 : อยากเล่นกับเพื่อน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี
- จำลองเหตุการณ์สมมติให้ลูกลองคิดว่า “ถ้าคุณหมีอยากเล่นกับเพื่อนหมีตัวอื่น ๆ ต้องทำอย่างไรดี” จากนั้นคุณพ่อคุณแม่รอให้ลูกค่อยๆคิด และอธิบายความคิดเห็นของตัวเองออกมา ไม่ต้องเร่งรีบ หลังจากลูกคิดออกแล้ว ให้ลองฝึกพูดและฝึกทำ เช่น การเดินเข้าไปหาเพื่อนหมีตัวอื่น ๆ มองหน้าสบตาเพื่อน แล้วพูดเสียงดังฟังชัดว่า “เราขอเล่นด้วยคนนะ”
- อย่าลืมฝึกเล่นสมมติในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เพราะโลกนอกบ้านไม่ได้เป็นอย่างใจลูกทุกอย่าง เขาจะเริ่มเรียนรู้ว่าต้องอดทน วิธีการเจรจา หว่านล้อม การแบ่งปัน การแก้ปัญหาระหว่างเด็กด้วยกันเอง เช่น ถ้าเพื่อนไม่ยอมให้เล่นด้วย ลูกควรแก้ปัญหาอย่างไรดี การฝึกเล่นสมมติเช่นนี้ จะช่วยให้เด็ก ๆ เผื่อใจรับความผิดหวัง และหาทางแก้ปัญหาได้เก่งขึ้น
สถานการณ์ที่ 2 :ลูกโดนเพื่อนแกล้ง
- ในรั้วโรงเรียนที่ลูกต้องใช้ชีัวิตกับคนอื่น ไม่ใช่แค่คนในครอบครัวเหมือนก่อนเข้าโรงเรียน ก็มีโอกาสที่ลูกจะโดนเพื่อนแกล้ง นอกจากคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเหตพฤติกรรมของลูกแล้ว การเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ช่วยให้เข้าไปแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที แต่การให้ลูกเล่าซ้ำถึงเหตุการณ์เลวร้าย อาจทำร้ายจิตใจได้ การเล่นสมมติให้เป็นสถานการณ์อื่น ใช้ตุ๊กตา หรือตัวการ์ตูนแทนตัวลูก จะทำให้รู้สึกปลอดภัย และกล้าจะเล่าความจริงได้ง่ายกว่า เช่น “คุณหมีควรจะทำอย่างไรดีนะ มาช่วยกันคิดหาทางออกให้คุณหมีกัน”
- ระหว่างเล่นสมมติคุณพ่อคุณแม่ควรฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ฟังด้วยความเข้าใจม่ด่วนชี้นำหรือตัดสินถูกผิด และเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน แสดงความเชื่อมั่นในตัวเด็กว่าเขาจะสามารถจัดการกับปัญหาได้ในที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของการเล่นที่ทำให้เด็กมีความสุขและช่วยพัฒนาเด็กได้เป็นอย่างดี แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกไม่สบายใจ และอยากเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้ลูกแค่ไหน แต่การฝึกให้เด็กสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกเมื่อโตขึ้น อีกทั้งยังปลูกฝังความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองให้เกิดขึ้นด้วย
MUST READ :ลูกโดนรังแก บ่อยควรสอนให้สู้ไม่ถอย หรือหนีเอาตัวรอดเป็น
ข้อดีจากการเล่นสมมติโดยใช้วิธีการดังกล่าว คือ ช่วยพัฒนาอารมณ์ทางบวก เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รัก มีความสำคัญ มีคนเข้าใจ ช่วยพัฒนาความคิดและการตัดสินใจ เด็กจะได้ฝึกซ้อมวิธีการแก้ปัญหา ทำให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น และเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น นอกจากนี้เรายังสามารถนำการเล่นสมมติมาปรับใช้กับปัญหาในสถานการณ์อื่น ๆ ของเด็กได้ตามความเหมาะสมด้วยนะคะ
บทความโดย
ฉันทิดา สนิทนราทร เวชมงคลกร นักเล่นบำบัดและนักจิตวิทยาพัฒนาการ โรงพยาบาลมนารมย์
จากนิตยสาร Amarin Baby & Kids
บทความน่าสนใจเพิ่มเติม