เคล็ดลับการ เลือกโรงเรียนให้ลูก ให้เหมาะสมตามวัย โดย พญ.มัณฑนา ชลานันต์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รพ.กรุงเทพ และ นพ.นิธิ หล่อเลิศรัตน์ กุมารแพทย์ รพ.กรุงเทพ
หมอชี้! หลักการ เลือกโรงเรียนให้ลูก โรงเรียนที่ดีต้องมี 3 ข้อนี้
สำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้วการ เลือกโรงเรียนให้ลูก ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะลูกจะต้องห่างอกคุณพ่อคุณแม่ไปใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนแทบทั้งวัน และยังต้องไปปรับตัวในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอีกหลายคน แถมสมัยนี้ ยังมีโรงเรียนในหลาย ๆ แนวให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแนวบูรณาการ หรือ แนววิชาการ แล้วโรงเรียนแนวไหนล่ะที่เหมาะกับลูกเรา? และจะดูได้อย่างไรว่าโรงเรียนที่จะให้ลูกเข้าไปเรียนนั้นเป็นโรงเรียนที่ดี ลูกเรียนแล้วจะมีความสุข มีสังคมที่มีคุณภาพ? ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงขอนำบทสัมภาษณ์จาก พญ.มัณฑนา ชลานันต์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รพ.กรุงเทพ และ นพ.นิธิ หล่อเลิศรัตน์ กุมารแพทย์ รพ.กรุงเทพ ถึงวิธีการเลือกโรงเรียนให้เหมาะสมกับลูก ดังนี้
การเลือกโรงเรียนอย่างเหมาะสมตามวัยของลูกนั้น ควรพิจารณาตามช่วงอายุ โดยแบ่งเด็กออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรก คือ กลุ่มอายุก่อนเข้าวัยเรียนหรือวัยอนุบาล (Pre-School Age) และช่วงที่สอง คือกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียน (School Age) ซึ่งหมายถึงเด็กที่เรียนชั้นป.1 ขึ้นไป สำหรับเด็กที่อยู่ในวัยอนุบาลนั้นจะเรียนรู้ได้ดีผ่านกิจกรรมการเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น นอกจากนี้งานวิจัยพบว่า หากเด็กกลุ่มนี้ได้รับประสบการณ์เข้าเรียนในโรงเรียนหรือสถาบันที่มีคุณภาพ (High Quality Day Care) จะทำให้เด็กมีทักษะทางด้านความคิด ภาษา และสังคมดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับประสบการณ์ดังกล่าว ซึ่งการพิจารณาว่าโรงเรียนหรือสถาบันใดมีคุณภาพนั้นมีหลักการอยู่ 3 ข้อ คือ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ หลักในการ เลือกโรงเรียนให้ลูก โรงเรียนไหนมีคุณภาพดูได้จาก 3 ข้อนี้
หลักในการ เลือกโรงเรียนให้ลูก โรงเรียนไหนมีคุณภาพดูได้จาก 3 ข้อนี้
-
ครูผู้สอน
- โดยพิจารณาได้จากสัดส่วนของครู 1 คน ต่อเด็กกี่คน ในเด็กอายุประมาณ 2-3 ขวบ สัดส่วนคุณครู 1 คน ควรดูแลเด็ก 4-5 คน โดยขนาดกลุ่มไม่ควรเกิน 10 คน เด็กวัย 3-4 ขวบ ควรมีคุณครู 1 คนต่อเด็ก 6-7 คน และเด็กในกลุ่มไม่ควรเกิน 14 คน เป็นต้น การดูแลเด็กในสัดส่วนที่พอเหมาะ จะทำให้ครูสามารถดูแลเด็กได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง
- วุฒิการศึกษาของคุณครู การที่ครูผู้สอนเรียนจบด้านเด็กปฐมวัยมาโดยตรง และหากมีการอัพเดทความรู้เกี่ยวกับการสอนเด็กอย่างต่อเนื่อง ก็จะเพิ่มคุณภาพในการสอนมากยิ่งขึ้น
- ทัศนคติเชิงบวกต่อเด็กของคุณครู และการไม่เปลี่ยนครูผู้สอนบ่อย ๆ ก็จะทำให้คุณครูคุ้นเคยและเข้าใจเด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กแต่ละคนได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
-
ความสะอาดในโรงเรียน
ความสะอาดในโรงเรียน การป้องกันการติดเชื้อ และการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก นั้นมีความสำคัญ หากโรงเรียนเอาใจใส่กับสิ่งเหล่านี้ ก็จะทำให้เด็กที่อยู่ในโรงเรียนมีสุขภาพร่างกายที่ดี มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้น้อย หลักในการดูว่าโรงเรียนมีนโยบายเหล่านี้หรือไม่ ดูได้ดังนี้
- มีการทำความสะอาดของเล่นอยู่เป็นประจำ
- สอนให้เด็กล้างมือก่อน/หลังการรับประทานอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำเสร็จทุกครั้ง
- มีการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของของเล่นที่นำมาให้เด็กเล่น
- บริเวณที่เด็กเล่นควรมีความอ่อนนุ่มเหมาะสมต่อการรองรับหากเกิดการพลัดตกหกล้มระหว่างที่เด็กเล่น
- ควรมีแผนรองรับหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่น มีเจ้าหน้าที่สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและมีขั้นตอนในการนำส่งโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ
- มีการฉีดวัคซีนให้กับคุณครูอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากเด็กที่ป่วยไปสู่เด็กอื่น ๆ
3.กิจกรรมหรือหลักสูตรของโรงเรียน
ควรมีความเหมาะสมต่อการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามช่วงวัย ซึ่งประกอบด้วย
- ด้านที่ 1 คือ ทักษะความสมบูรณ์ของร่างกาย ควรมีกิจกรรมให้เด็กได้ออกกำลังกายเพื่อเสริมให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มีความยืดหยุ่นและฝึกการทรงตัว รวมทั้งมีการจัดการด้านโภชนาการที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเด็กควบคู่กันไปด้วย
- ด้านที่ 2 คือ การเสริมสร้างพัฒนาการ ควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และทักษะด้านสังคม เช่น การวางแผน การทำตามกฎ การแบ่งปัน รวมทั้งการเล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เลือกโรงเรียนให้ลูก ให้ลูกเรียนแนวไหนดี?
เลือกโรงเรียนให้ลูก ให้ลูกเรียนแนวไหนดี?
นพ.นิธิ หล่อเลิศรัตน์ กุมารแพทย์ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า การศึกษาปฐมวัยในไทยจะมีแนวทางใหญ่ ๆ อยู่ 2 แนว ได้แก่ แนววิชาการ และ แนวบูรณาการ โดยแนววิชาการจะมุ่งเน้นเนื้อหาสาระต่างๆ เพื่อเตรียมเด็กสำหรับสอบเข้าในร.ร.ที่มีชื่อเสียงในชั้นประถม 1 ที่พ่อแม่ต้องการได้ แต่สำหรับโรงเรียนแนวบูรณาการนั้นจะมีแนวทางการเรียนการสอนหลายรูปแบบ ดังนี้
-
แนวมอนเตสซอรี่(Montessori)
เป็นโรงเรียนที่จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งในเรื่องสถานที่และอุปกรณ์ จะได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ มอสเตสซอรี่จะเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก และเห็นว่าการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ครูไม่ได้เป็นผู้ที่สร้างให้เกิดการเรียนรู้ แต่ครูเป็นผู้เกื้อหนุนและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก คอนเซ็ปต์ของการจัดการเรียนแบบมอนเตสซอรี่เป็นแบบ Organized life คือ การจัดวางระบบระเบียบในชีวิต มอนเตสซอรี่ไม่เน้นเรื่องการฝึกเล่นมากนัก แต่ว่าจะมีการใช้อุปกรณ์ที่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่เบี่ยงเบนไปทางอื่น เหมือนจิ๊กซอว์ที่ต้องใส่ตามร่องตามมุมให้ถูกที่ ถ้าใส่ไม่ถูกที่ก็จะไม่ออกมาเป็นจิ๊กซอว์ที่สมบูรณ์ได้ นอกจากนี้ยังเน้นการสอนในรูปแบบที่ให้เด็กพึ่งพาช่วยเหลือตนเองได้ในชีวิตจริง เช่น การล้างมือ การรับประทานอาหาร ฯลฯ โดยโรงเรียนในแนวนี้จะจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการพึ่งพาตนเองของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นอ่างล้างมือหรือโต๊ะอาหารที่มีขนาดและความสูงพอเหมาะกับเด็กเล็ก
มอนเตสซอรี่ที่แท้จริงจะมีการจัดคลาสให้เด็กหลายช่วงอายุอยู่ในห้องเรียนเดียวกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เด็กโตจะมีความเป็นผู้นำคอยช่วยเหลือน้อง เด็กเล็กเองก็จะมีการเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากพี่ที่โตกว่า ซึ่งพบว่าบ่อยครั้งที่เด็กจะเรียนรู้จากเด็กด้วยกันเองได้ดีกว่าเรียนรู้จากผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ
2. แนววอลดอร์ฟ (Waldorf)
โรงเรียนแนวนี้มีแนวคิดมาจากมนุษย์ปรัชญา วิธีการจัดการศึกษาจะเน้นในเรื่องความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ผู้คน สังคม เพื่อให้รู้จักจุดยืนที่สมดุลของตนในโลกนี้ และเน้นเรื่องการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงในตัวตน โดยจะไม่อ้างอิงค่านิยมของสังคมหรือการตลาดมากนัก เด็กในระดับก่อนประถมวัยจะเน้นกิจกรรมเกี่ยวกับการเล่นโดยมีคุณครูเป็นผู้ดูแล ส่วนการศึกษาด้านวิชาการจะเริ่มในเด็กระดับประถมศึกษาขึ้นไป
3. แนวเรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia)
เป็นแนวทางการเรียนรู้แบบ Co-constructivism ที่เชื่อว่าเด็กเรียนรู้โดยผ่านการลงมือทำ ได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ภายใต้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่ม จนนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวที่สนใจ แล้วมีการนำเสนอความคิดและสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านทางสื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวาด ปั้น ดัดลวด ระบายสี ภาพถ่าย แม้กระทั่งดนตรี เพลง และการเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ จุดเด่นคือ แนวการเรียนจะไม่มีการวางหลักสูตรเนื้อหาที่ตายตัว แต่ขึ้นกับว่าเด็กมีความสนใจในเรื่องใด แล้วครูจะเป็นผู้ร่วมค้นหาคำตอบด้วยกันกับเด็ก เสมือนหนึ่งเป็นผู้ร่วมทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยกัน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ให้ศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ที่ผู้เรียนนั่นเอง
จากประสบการณ์ที่แม่พริมาที่ได้ เลือกโรงเรียนให้ลูก นั้น เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านคงจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลือกไม่ถูก เพราะโรงเรียนนี้ก็ดีในจุดนี้ อีกโรงเรียนก็ดีในอีกจุดหนึ่ง แม่พริมาจึงมีเคล็ดลับเล็ก ๆ มาฝากค่ะ อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองพาลูกไปดูที่โรงเรียนด้วยตัวเองอีกครั้ง ให้ลูกได้สัมผัสบรรยากาศของโรงเรียน ได้พูดคุยกับครูผู้สอน และพบเจอเพื่อน ๆ ด้วยตนเอง แล้วลองฟังลูกตัดสินใจดูค่ะ เมื่อลูกได้เลือกโรงเรียนที่ตัวเองชอบแล้ว เชื่อได้ว่าลูกจะมีความสุขกับการเรียนแน่นอนค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เตรียมความพร้อม“ลูกไปโรงเรียนวันแรก” ไม่ร้องงอแง แต่มีความสุข
อัพเดท ค่าเทอมโรงเรียนอนุบาล 2561 รวม 30 โรงเรียนในกรุงเทพฯ
เมื่อลูกต้อง “ย้ายโรงเรียน” ปัญหาใหม่ที่แม่ต้องเจอ
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.mgronline.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่