AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Family Trip เที่ยวอ่างขาง โครงการหลวง

ปลูกต้นกล้า ตามหาดอกไม้ ในป่าหนาว ณ ดอยอ่างขาง

ยังคงขอตามติดทริปของ Bath&Bloom แบรนด์หอมๆสัญชาติไทย อย่างต่อเนื่อง คราวนี้ชวนเราสวมลุคใหม่กลายร่างเป็นนักอนุรักษ์ ไปปลูกป่ากันไกลถึง ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ แต่ก่อนจะเปลี่ยนรองเท้าบูท แบกเสียม ถือบัวรดน้ำ ขึ้นดอยไปปลูกป่า ขอพาไปเดินเที่ยวดอยอ่างขางกันก่อน ถ้าใครพร้อมแล้ว เกาะตัวหนังสือเที่ยวไปพร้อมกับเราเลยค่ะ

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินผ่านบริเวณนี้ ได้ทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ปลูกฝิ่น และมีฐานะยากจน จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 ทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”


เที่ยวอะไร ในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
เราสามารถเดินทางภายในนี้ได้ 3 รูปแบบ ขี่จักรยาน ขี่ฬ้อ หรือ เดินก็ได้ สำหรับทริปที่ไปครั้งนี้ เราเดินตามกันไปค่ะ โดยมีคุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา (ผู้แทนพิเศษอาวุโสสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) คอยให้ความรู้ และบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละจุด ให้เราฟังกัน จุดแรกเริ่มต้นกันที่
สวน 80 (ครบรอบอายุ 80 ปี ของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี) ด้านฝั่งตรงข้าม เต็มไปด้วยดอกพิทูเนียหลากสี และดอกไม้สายพันธุ์อื่นอีกมากมาย หนึ่งในนั้นมีดอกที่เราประทับใจเป็นพิเศษ นั่นคือ ดอกไม้จีน ที่เรากินในแกงจืดนั่นแหละค่ะ สีส้มสดใส ผิดจากที่เคยเห็นมาเลย

สวนกุหลาบอังกฤษ มีกุหลาบหลากสายพันธุ์ให้เลือกชม สวยเสียจนเรียกเสียงชัตเตอร์ได้รัวๆ

แปลงไม้ผล ระยะทางยาวทั้งสองข้างทาง มีให้เลือกชมไม่ว่าจะเป็นสตรอเบอรี่พันธุ์โอซาก้า จากญี่ปุ่น พันธุ์ 80 ที่ได้รับพระราชทานมา และพันธุ์ 329 ที่เน้นปลูกส่งไปยังโรงงานหลวงเพื่อแปรรูป อบแห้ง กีวี บลูเบอรี่ และไม้เมืองหนาวอื่นๆอีกมากมาย

แปลงบ๊วย คุณพงศ์ เล่าให้ฟังว่า “ ตรงนี้มีอีกชื่อ ที่คนอื่นเรียกๆกันว่า สวนณเดช ตามรอยละครที่มาถ่ายทำกัน บ๊วยเหล่านี้ต้นสัญชาติไทย แต่เอาพันธุ์ฝรั่งมาตัดต่อกิ่ง แล้วใช้ฮั่ม หรือ เบียน มาช่วยผสมเกสร ถ้ามาช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ดอกบ๊วยจะเริ่มออก สวยงามมาก “
โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก จัดสวนด้วยผักทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคะน้า ฟักแม้ว ต้นหอม โหระพา มีที่นั่งพักเอาแรงกันก่อนจะเดินต่อไปยังจุดเกือบสุดท้าย ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก
สวนไม้ดอกกลางแจ้ง ไม่ต้องบินไปไกลที่ไหน ก็มีทุ่งลาเวนเดอร์ให้ดู แม้ไม่ใหญ่โตมาก แต่ก็เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย ส่วนด้านหลังมีร้านขายผลิตภัณฑ์จากดอยคำ และเครื่องดื่มเย็นๆไว้แก้เหนื่อยด้วย

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)
จุดนี้อยู่ลงมาจากสถานีเกษตรฯประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเขาด้านบนหลังพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ปลูกต้นไม้ของเรา ต้นไม้ที่เราปลูกกันในวันนี้ เป็นพวกไม้เนื้อแข็งอย่าง สัก เต็ง และ รัง พอปลูกเสร็จก็ถึงเวลาเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Bath&Bloom Aromasia Elements of the East ภายใต้อาคารของโรงงานหลวงฯ ต้องบอกว่าคอลเลคชั่นนี้ ฉีกแนวเดิมที่ Bath&Bloom เคยทำมาเลยทีเดียว ดูหรู และเลอค่ามาก มีให้เลือกทั้งหมด 3 กลิ่น Essence of Vitality, Advent of Harmony และ Serenity of Relaxation ภายในเซ็ทประกอบด้วย ชาวเวอร์เจล บอดี้โลชั่น มาสสาจ ออยล์ แชมพู และแฮร์ นูริชเมนท์ (สอบถามราคาได้ที่เคาน์เตอร์ Bath&Bloom ทุกสาขา)

จากงานอีเวนท์เราเปลี่ยนบรรยากาศ ชมพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) เพื่อเรียนรู้แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ยิ่งได้สัมผัส จากที่เคยรักพระองค์ท่านมากอยู่แล้ว ยิ่งรักมากขึ้นไปอีก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพทุกด้านจริงๆ
อาคารนิทรรศการ ทำให้เรามองเห็นภาพการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แบบบูรณาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ชัดขึ้น เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ 8.30-16.30 น. (ปิดประจำปี 15-30 กันยายน) ใกล้ๆกันเป็นช็อปจำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการหลวง และร้านกาแฟน่ารักๆ
โรงงานหลวงฯ ต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กับผลิตภัณฑ์ “ ดอยคำ “ จันทร์-เสาร์ 8.00-17.00 น.
ชุมชนบ้านยาง ห้ามพลาดกิจกรรมเดินชมเมืองเล็กๆทว่าน่ารักแห่งนี้เชียว แล้วจะรู้สึกทึ่ง อยากยกตำแหน่งชุมชนตัวอย่างให้จริง ถนนหนทางสะอาดสะอ้านมาก น้ำในลำธาร รวมไปถึงน้ำในท่อระบายน้ำใสแจ๋ว ถ้าจ้องดีๆมีปลาตัวเล็กอาศัยอยู่ด้วย ตามประวัติที่นี่อดีตเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวยาง (กะเหรี่ยง) แต่ถูกชาวจีนยูนนานอพยพหนีภัยสงครามมาจากจีน มาลงหลักปักฐาน จึงไม่แปลกที่เห็นภาษาจีนติดอยู่เต็มไปหมด

พักที่ไหน กินอะไรใน ดอยอ่างขาง
– บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สำรองที่พัก โทร. 053-450107-9 ต่อ 113 / 114
– รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขาง Ang khang Nature Resort อยู่ด้านล่างไม่ไกลจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สำรองที่พัก โทร. 053 450 110
– ร้านอาหารสโมสรอ่างขาง แนะนำ ข้าวซอยไก่ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ขาหมู หมั่นโถวทอด และอื่นๆอีกเพียบ ส่วนใครอยากจิบกาแฟ มีที่นี่ และที่ร้านจำหน่ายของที่ระลึกบริเวณสวนไม้ดอกกลางแจ้ง

-บ้านดินเล่าจาง ลองลิ้มรสอาหารจีนยูนนาน กับ สุกี้ยูนนาน หม่าล่าโฮ่โก เต้าหู้ทอดโซดา หมูพันชั้น ยำโอซุ่น ตั้งอยู่ชุมชนบ้านยาง แถวโรงงานหลวง รับประกันความเยอะ และอร่อยค่ะ
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : Bath & Bloom