คลอดลูกในน้ำ ถือเป็นวิธีการคลอดโดยธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมาก ๆ ในต่างประเทศ และกำลังเข้ามาในประเทศไทย สำหรับการคลอดโดยวิธีนี้นั้นก็เพียงแค่เปลี่ยนจากการคลอดบนเตียง มาเป็นคลอดในน้ำแทน ซึ่งว่ากันว่าจะช่วยลดความเจ็บปวดของคุณแม่ระหว่างคลอดได้
การคลอดลูกในน้ำ ก็เพื่อลดความทรมานของคุณแม่ขณะเจ็บท้องด้วยการให้คุณแม่ลงไปแช่อยู่ในอ่างน้ำอุ่นขนาดใหญ่ คุณแม่จะรู้สึกสบายขึ้น คลอดได้ดีขึ้น ไม่ต้องให้ยาแก้ปวดหรือสารละลายทางเส้นเลือด จุดเด่นอีกอย่างของการคลอดในน้ำคือ หลังจากหัวเด็กโผล่พ้นช่องคลอดของแม่ ก็จะลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งน้ำจะช่วยรับแรงกระแทกที่อาจทำอันตรายแก่ทารก
คุณแม่ที่จะคลอดในน้ำจะต้องเป็นคุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เพราะการคลอดในน้ำจะไม่มีการใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจลูก ดังนั้นถ้าคุณแม่สงสัยว่าจะมีน้ำคร่ำน้อย รกเสื่อม สายสะดือพันคอเด็ก หรืออาจจะมีการขาดออกซิเจนได้ ก็ไม่ควรทำการคลอดในน้ำ … แต่ทั้งนี้หลาย ๆ คนก็มีความกังวลว่าการคลอดด้วยวิธีนี้นั้นจะปลอดภัยหรือไม่ เราจึงมีข้อมูลสำหรับบรรดาคุณแม่ที่อยากคลอดลูกในน้ำมาฝากกันค่ะ
ขั้นตอนการคลอดลูกในน้ำ
การคลอดในน้ำ เป็นการคลอดตามธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง โดยคุณแม่จะลงไปคลอดลูกในอ่างน้ำอุ่นที่มีการควบคุมอุณหภูมิไว้ประมาณ 35-37 องศาเซลเซียส โดยเน้นให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดมาเอง ซึ่งปากมดลูกจะนิ่ม และเปิดได้เอง ซึ่งการคลอดในน้ำเช่นนี้ไม่ใช้ยาเร่งคลอดกับคุณแม่ และไม่ใช้เครื่องมือใดๆ ช่วยในการคลอด แต่จะใช้วิธีธรรมชาติบำบัด เช่น แช่น้ำอุ่นในอ่างทำคลอดช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และทำให้สารความสุขหลั่งออกมา ซึ่งโดยธรรมชาติจะมีการหลั่งสารลดความเจ็บปวดในการเบ่งคลอดอยู่แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับความอดทนได้ของคุณแม่ในแต่ละคน… นอกจากนั้น ยังมีการนวด เปิดเสียงเพลง และกลิ่นอโรมา เพื่อช่วยในแง่ของความรู้สึกเกิดความผ่อนคลาย จนทำให้คุณแม่ทนอยู่กับอาการเจ็บปวดระหว่างการเบ่งคลอดได้ ซึ่งก็ต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมอผู้ทำคลอดอย่างใกล้ชิด
อ่านต่อ >> “ข้อควรระวังและข้อดีสำหรับการคลอดในน้ำ” คลิกหน้า 2
ข้อควรระวังและข้อดีสำหรับการ คลอดลูกในน้ำ
- สำหรับการคลอดโดยวิธีนี้คุณแม่จะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ แต่ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยเพราะเมื่อศีรษะของทารกพ้นจากช่องคลอดแล้ว ก็จะลอยตัวอยู่ในน้ำได้ ซึ่งน้ำจะช่วยรองรับแรงกระแทก และป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย
- เป็นการคลอดที่พ่อ แม่ ลูก จะได้อยู่ใกล้ชิดกันมาก ๆ อีกทั้งไม่ต้องคอยกังวล เพราะจะมีสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา
- คุณแม่จะรู้สึกสบายตัว และเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และน้ำอุ่นจะช่วยให้กล้ามเนื้อเชิงกรานขยายตัวและช่องคลอดเปิดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การฉีกขาดของช่องคลอดก็จะน้อยกว่าการคลอดด้วยวิธีธรรมดา ทำให้คุณแม่เจ็บน้อยลง ระยะเวลาคลอดสั้นลง อีกทั้งยังฟื้นตัวได้เร็วกว่าคลอดด้วยวิธีธรรมดาอีกด้วย
- ช่วยให้เจ็บน้อยกว่าการคลอดแบบอื่น เพราะการอยู่ใต้น้ำจะทำให้คุณแม่รู้สึกว่าเบาสบาย ไม่อึดอัดเหมือนอยู่ในห้องคลอด สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ น้ำอุ่นช่วยคลายกล้ามเนื้อส่วนเชิงกรานและทำให้ช่องคลอดขยายเปิดให้ทารกออกมาได้ง่าย ลดการฉีกขาดของช่องคลอด
- ลดความกังวลเมื่อคุณแม่เจ็บน้อยลง ความกลัว ความกังวลต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลง ความดันโลหิตก็จะคงที่ แรงหดรัดตัวของมดลูกก็น้อยตามลงไปด้วย แรงต้านหรือแรงลอยตัวในน้ำช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณมดลูกได้ออกซิเจน เลือดไหลเวียนดี ทำให้ระยะเวลาในการคลอดสั้นลง
- ไม่ต้องพักฟื้นนาน เหมือนการผ่าตัดคลอด คุณแม่จะได้ใช้เวลาแห่งความสุขกับเจ้าตัวน้อย โดยไม่ต้องทรมานบาดแผลผ่าตัด และยังตักตวงความภูมิใจที่ได้เป็นแม่ตามธรรมชาติโดยสมบูรณ์เมื่อเสร็จสิ้นวิธีการคลอดลูกแล้ว ทารกจะถูกกระตุ้นการดูดนมแม่ และแพทย์จะทำการตัดสายสะดือ จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการคลอดรกบนเตียง โดยเลือดจะออกหลังจากคลอดรกออกไปแล้ว คุณแม่มือใหม่จึงลดความกังวลในเรื่องของการติดเชื้อและเบาใจได้
- ส่วนคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่เกรงว่าการคลอดลูกในน้ำจะทำให้ทารกจมน้ำนั้นไม่เป็นความจริง เมื่อทารกคลอดออกจากท้องแม่และอยู่ในน้ำอุ่นยังคงได้รับออกซิเจนผ่านทางสายสะดือ อีกทั้งน้ำอุ่นนั้นมีอุณหภูมิเหมือนในน้ำคร่ำทำให้ทารกรู้สึกปลอดภัยเหมือนยังอยู่ในท้องแม่ แรงดันในน้ำยังช่วยพยุงตัวของทารกเอาไว้ให้ลอย เมื่อคุณแม่อุ้มขึ้นมาจากผิวน้ำทารกจึงจะเริ่มหายใจ นอกจากนี้แล้วน้ำยังช่วยล้างเมือกและคราบน้ำคร่ำที่ติดตัวทารกในเบื้องต้นอีกด้วยค่ะ
ชมคลิป >> วินาทีที่คุณแม่กุ๊บกิ๊บคลอดน้องเป่าเปา โดยการคลอดแบบธรรมชาติ คลิกหน้า 3
กรณีไหนที่คุณแม่ไม่ควรใช้วิธีคลอดลูกในน้ำ
การคลอดลูกในน้ำ คุณแม่จะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ รวมถึงจะต้องไม่เป็นโรคติดต่อ เช่น เริม งูสวัด ที่ผิวหนังหรืออวัยวะเพศ เนื่องจากเชื้อจะสามารถกระจายได้ง่ายในน้ำ ทำให้เป็นอันตรายกับทารก นอกจากนี้กรณีที่ไม่ควรใช้วิธีคลอดลูกในน้ำอีก ได้แก่ ทารกมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ครรภ์เป็นพิษ ท้องแฝด เด็กทารกไม่กลับหัว คุณแม่มีเลือดออกมาก หรือมีอาการเจ็บท้องต้องคลอดก่อนกำหนดประมาณ 2 สัปดาห์หรือมากกว่า เป็นต้น
สำหรับการคลอดลูกในน้ำปัจจุบันนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในประเทศไทยเท่าไรนัก และโรงพยาบาลที่ให้บริการคลอดในน้ำนั้นมีอยู่น้อย อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการคลอดก็ค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเทียบกับการคลอดด้วยวิธีปกติ ซึ่งหากคุณแม่คนไหนที่กำลังชั่งใจอยู่ว่าจะใช้วิธีคลอดในน้ำดีหรือไม่ หรือไม่ว่าคุณแม่จะคลอดวิธีไหนก็ตาม ที่สำคัญควรฟังคำแนะนำจากสูติแพทย์ที่คุณแม่ฝากท้องไว้ดีกว่า เพราะสิ่งที่แพทย์จะคำนึงอย่างแรกในการทำคลอดคือ ทำอย่างไรให้เด็กที่เกิดมารอด และแม่ต้องปลอดภัย
บทความน่าสนใจ
>> ชมภาพ วินาทีสำคัญ!! คลอดลูกแฝดในอ่างอาบน้ำที่บ้าน คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : baby.kapook.com ,www.manyum.com ,www.manager.co.th , love.imeaw.com
เครดิตภาพจาก IG: gubgibbie, gggubgib36, bie_kpn, jaae_111, bankhun, paopaoofficiall
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : โอ้ เบบี้! (Oh Baby!) | EXCLUSIVE | เบบี้ออกมาแล้ว!!