รู้หรือไม่!? การให้ ลูกเรียนดนตรี ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องในการช่วยให้ลูกเป็นอัจฉริยะได้ แล้วจะมีวิธีใดบ้างที่จะทำให้ลูกมีความสามารถเป็นอัจฉริยะด้านดนตรี Amarin Baby & Kids มีเทคนิคดีๆ มาฝากค่ะ
เมื่อพูดถึงความฉลาดทางด้านดนตรี คุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยมักเลือกให้เป็นหนึ่งในการเรียนเสริมของลูกๆ เรามาลองดูกันว่าลูกน้อยของคุณมีความเป็นอัจฉริยะทางด้านดนตรีมากน้อยแค่ไหน
เทคนิคส่งเสริมความสามารถให้ ลูกเรียนดนตรี ง่ายๆ
(ตั้งแต่ในท้อง-12ปี)
ดร.ฮาร์เวิร์ด การ์ดเนอร์ ได้กล่าวถึงความฉลาดทางด้านดนตรี (Musical Intelligence) ว่า “เด็กที่มีความสามารถทางด้านดนตรี จะมีความไวเกี่ยวกับเสียงที่สูงต่ำ ทำนองเพลง จังหวะดนตรี และน้ำเสียงได้ดี ตัวอย่างของบุคคลที่เป็นเลิศทางด้านดนตรีที่รู้จักกันดี ได้แก่ คุณบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรชาวไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลกนั่นเอง”
Good you know : คุณบัณฑิตเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันขันมาเซล – วิลาร์ (Maazel Vilar International Conducting Competition) ซึ่งเป็นการแข่งขันอำนวยเพลงรายการใหญ่และมีเกียรติสูงสุด ที่คาร์เนกีฮอลล์ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2545 คุณบัณฑิตมีความหลงใหลในดนตรีมาตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มเรียนกีตาร์คลาสสิกเมื่ออายุ 13 ปี และมีโอกาสไปชมคอนเสิร์ตของวงนิวยอร์กฟิลฮาร์โมนิกออร์เคสตรา วงดนตรีที่มีชื่อเสียงหนึ่งในห้าของโลกซึ่งมาเล่นในประเทศไทย ได้เห็นสุบิน เมธาร์ ผู้อำนวยเพลงชาวอินเดียที่ได้รับการยกย่องเป็นวาทยกรระดับโลก จึงเกิดแรงดลใจว่า คนไทยก็น่าจะไปถึงระดับนี้ได้ นับแต่นั้นมา คุณบัณฑิตก็หันเข็มชีวิตจากธุรกิจส่วนตัวมาสู่วงการดนตรีเต็มตัว ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจฝ่าฟันอุปสรรคจนประสบความสำเร็จในที่สุด
วิธีการวัดแววความฉลาดทางด้านดนตรีของลูก
นี่เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างที่ผมอยากนำเสนอเรื่องราวของคนที่มีความเป็นเลิศทางด้านดนตรีนะครับ ทีนี้เรามาลองดูวิธีการวัดแววความฉลาดทางด้านดนตรีว่าลูกน้อยของคุณมีประกายหรือมีแววในข้อใดบ้างหรือไม่
- ลูกของคุณมีความสุข สนุกสนานกับการฟังเพลงจากวิทยุ เทป ซีดี
- ชอบเคาะมือ เคาะเท้าเป็นจังหวะ หรือผิวปาก ฮัมเพลง ในขณะทำกิจวัตรประจำวัน
- รู้จักท่วงทำนอง จังหวะ และลีลาของเพลงต่างๆ มากมาย
- ร้องเพลงได้ไพเราะ หรือเล่นดนตรีต่างๆ ได้เก่ง
- มีท่วงที จังหวะ และลีลาในการพูดหรือเคลื่อนไหวที่แสดงออกทางดนตรีได้อย่างชัดเจน
- ชอบร้องเพลงคลอตามขณะเปิดเพลง ชอบการแสดงดนตรี (Concert) ชอบเล่นเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ
- ชอบสะสมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับดนตรี เช่น เทปเพลง เนื้อเพลง ซีดี วิดีโอเพลง เครื่องดนตรีต่างๆ เป็นต้น
- สนใจฟังเสียงดนตรีหรือเสียงอื่นๆ รอบๆ ตัว และพยายามหาโอกาสในการฟัง สามารถคิดประกอบเสียงดนตรีหรือเสียงธรรมชาติอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว
- สามารถฟังและตอบรับเสียงต่างๆ รอบตัวแล้วเรียบเรียงเสียงประสานให้อยู่ในรูปแบบที่มีความหมายได้
- สามารถพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการร้องเพลงหรือเล่นดนตรีได้ดี ทั้งการร้องเดี่ยวหรือกับคนอื่นๆ ได้
อ่านต่อ >> “เทคนิคส่งเสริมความสามารถด้านดนตรีให้ลูก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ – วัยประถม” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
(ต่อ) วิธีการวัดแววความฉลาดทางด้านดนตรีของลูก
- สามารถบอกได้ว่าโน้ตดนตรีผิดคีย์
- ชอบใช้เวลาอยู่คนเดียวกับเครื่องดนตรีง่ายๆ สักชิ้น
- มีความสนใจอาชีพที่เกี่ยวกับดนตรี เช่น นักร้อง นักดนตรี ครูสอนดนตรี คนทำเครื่องดนตรี ดีเจ นักแต่งเพลง ผู้อำนวยเพลง เป็นต้น
- สามารถจดจำเสียงที่เคยได้ยินแม้เพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งได้
- มักจะได้ยินเสียงเพลงจากภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือวิทยุก้องอยู่ในหูตลอดเวลา
หากสำรวจพบคุณสมบัติเหล่านี้ตั้งแต่ 12 ข้อขึ้นไป แสดงว่า เด็กคนนี้มีความฉลาดและถนัดทางด้านดนตรีครับ
ส่วนวิธีการที่จะฝึกทักษะทางด้านนี้ เช่น การแสดงบนเวที การร้องเพลง หัดให้เล่นดนตรี การใช้เครื่องดนตรี การรู้จังหวะดนตรี แต่งเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ ร้องเพลงประสานเสียง เล่นดนตรีเครื่องสาย เล่นดนตรีสากล 2 – 4 ชิ้น การทำจังหวะ การเต้นตามจังหวะเพลง การอ่านเพลงสวด การสวดมนต์ การอ่านทำนองเสนาะ หรือใช้การร้องเพลงเข้ามาประกอบในบทเรียน
เทคนิคส่งเสริมความสามารถด้านดนตรีให้ลูก
เพราะการสร้างความสามารถด้านดนตรี จำเป็นจะต้องส่งเสริมกันตั้งแต่ยังเล็ก หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกมีความสามารถด้านดนตรี ลองมาดูเทคนิคการส่งเสริมความสามารถให้ลูกด้านนี้ จาก เล็ก ส่วนลูกน้อยวัยไหน ควรจะส่งเสริมอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ
** ตั้งแต่ในครรภ์
1.รักษาและปกป้องหูไม่ให้ถูกกระทบกระเทือน
ควรระวังไม่ให้ทารกในครรภ์ถูกกระทบกระเทือนจากเสียงที่ดังเกินไป โดยไม่สร้างมลภาวะทางเสียงให้รบกวนทารกในครรภ์ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง คุณแม่ที่ทำงานในโรงงาน ในสนามบิน สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่บันเทิง เสียงที่ดังมากๆจากเครื่องขยายเสียงในโรงภาพยนตร์ หรือไมค์และลำโพงที่ใกล้เกินไปอาจทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการได้ยิน ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการที่ทารกมีน้ำหนักน้อย หรือคลอดก่อนกำหนดได้
2.ให้ประสบการณ์ดนตรีที่ผสมผสานในการเลี้ยงดู และปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นธรรมชาติ
ทารกในครรภ์ มีพัฒนาการและการสร้างหูชั้นในและหูชั้นกลางชัดเจนตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 4 เดือน และสามารถตอบสนองด้วย การเคลื่อนไหวร่างกาย และมีการเต้นของหัวใจที่สอดคล้องกับ เสียงจังหวะของดนตรี มีการวิจัยพบว่าทารกสามารถจำเสียงที่เคยได้ยินเมื่อตอนอยู่ในครรภ์มารดาและจะแสดงความสนใจด้วยการหันมองทางเสียงที่ตนเองคุ้นเคย นอกจากนี้ ทารกในครรภ์ยังสามารถรับรู้ถึงเสียงต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวจากหูและความรู้สึกสั่นสะเทือนของน้ำคร่ำที่มาสัมผัสกับผิวหนังได้ การที่คุณแม่ร้องเพลง ฟังเพลง พูดคุยกับน้องในครรภ์เป็นการสร้างประสบการณ์ดนตรีที่เหมาะสม
ใช้เสียงของแม่ให้สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ เนื่องจากเสียงที่ทารกในครรภ์ได้ยินชัดเจนที่สุด คือ
1.เสียงของแม่ ไม่ว่าเสียงพูด เสียงร้องเพลง
2. เสียงหัวใจแม่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเต้นช้าๆ อย่างสงบราบรื่น หรือเสียงกระชั้น กระตุก ดัง
3. เสียงน้ำในตัวคุณแม่
4.เสียงทุ้มและต่ำจากภายนอก เช่นเสียงของคุณพ่อ
ทารกแรกคลอดสามารถจดจำเสียงของมารดา รวมถึงเสียงที่คุ้นเคยอื่นๆที่เคยได้ยินมาระหว่างที่อยู่ในครรภ์ เมื่อเริ่มเดือนที่ 4 ทารกจะได้ยินเสียงที่แม่พูด เสียงเพลงที่แม่ร้อง หากทารกได้ยินแต่คำพูดที่สุภาพ เสียงเพลงที่ไพเราะ เพลงที่แสดงความรัก ความเอื้ออาทร และความห่วงใย จากคุณแม่ตลอด 9 เดือน ดนตรีเหล่านี้ก็จะมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมความสามารถในการรับรู้ และเรียนรู้ต่อไป
อ่านต่อ >> “เทคนิคส่งเสริมความสามารถด้านดนตรีให้ลูก ตั้งแต่วัยอนุบาล – วัยประถม” คลิกหน้า 3
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- รวม 12 เพลงสําหรับคนท้อง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ได้
- แม่ท้องฟังเพลง คลาสสิค-โมสาร์ท ช่วยให้ทารกฉลาดขึ้นจริงหรือ?
- เพลงกล่อมเด็ก แบบไทยๆ ช่วยพัฒนาสมองและให้ลูกน้อยหลับสบาย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
** วัยอนุบาล
1. สร้างและสนับสนุนกิจกรรมดนตรีที่หลากหลาย เช่น ฟัง ร้อง เล่น เคลื่อนไหว โดยสามารถเลือกใช้บทเพลงสั้นๆ หรือ เลือกบทร้องต่างๆที่ใช้ในวัฒนธรรมไทยเช่น โยกเยกเอย จ้ำจี้ ก็ได้
2. เลือกคุณภาพ และความหลากหลายของบทเพลง การเลือกกิจกรรมทางดนตรีสำหรับเด็ก อาจเข้าทำนองการบริโภคอาหารอย่างถูกต้อง คือบริโภคอาหารให้ได้สารอาหารหลากหลายครบทั้ง5 หมู่ ทางดนตรีก็เช่นกัน การฟังเพลง หรือร้องเพลง ควรคำนึงถึงปัจจัยในด้านต่างๆ ดังนี้
- ด้านคุณภาพ ถ้าเป็นบทเพลงบรรเลงให้เลือกบทเพลงที่มีความประณีต ไพเราะ มีเสียงชัดเจน ไม่ดังเกินไป ถ้าเป็นบทเพลงร้องให้มีคำร้องที่สุภาพ มีความคล้องจอง และสัมผัสในบทร้องถือเป็นคุณภาพทางภาษาที่ดี
- ด้านความหลากหลาย ให้คำนึงถึงเพลงไทย ทำนองไทย เพลงสากล เพลงบรรเลง หมอลำ ลำตัด ลูกทุ่งและเพลงประเภทต่างๆที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม
3. เรียนดนตรีด้วยความสุข โดยให้ดนตรีอยู่ในชีวิตประจำวัน การฟังเพลง ร้องเพลง เล่นดนตรี เคลื่อนไหวไปกันดนตรี เป็นกิจกรรมดนตรีที่เหมาะสมซึ่งในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก (2-3 ขวบ) และระดับอนุบาล (3-5ขวบ) คุณครูจะสอดแทรกกิจกรรมดนตรีดังกล่าวระหว่างเวลาเรียนอยู่แล้ว ดังนั้นให้คุณพ่อคุณแม่ ลองสอบถาม หรือสังเกตว่าลูกร้องเพลง ฮัมเพลง หรือเต้นรำอะไร ในเวลาที่เขาเพลินๆ จากนั้นสนับสนุน ชื่นชม สิ่งที่เด็กๆทำได้เพื่อสร้างกำลังใจ และสิ่งแวดล้อมทางดนตรีที่ดี
** วัยประถม
ก่อนอื่น ขออธิบายว่าความสามารถที่หลายคนกำลังพูดถึงและให้ความสนใจนั้น บางครั้งมักจะพลาดโดยความหมายแคบๆคือ “ความสามารถทางดนตรีเท่ากับความสามารถในการบรรเลงดนตรี” ซึ่งหลายครั้งได้หมายความถึงความเก่งด้านการเล่น หรือทักษะด้านการบรรเลงเครื่องดนตรีเท่านั้น แต่ในครั้งนี้ขอแนะนำให้ใช้ความหมายที่กว้างกว่าของความสามารถทางดนตรี เนื่องจากว่าทั้ง3 ส่วนนี้สอดประสานกันและควรคำนึงถึงในการระบุความสามารถของเด็กในการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นด้านต่างๆ วิชาต่างๆ ดังนี้
- ความสามารถด้านสติปัญญา (Cognitive Domain) การคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล การคิดคำนวณหาคำตอบ ความเก่งดนตรีจึงเกี่ยวข้องกับ การเข้าใจจังหวะ ทำนอง เสียงประสาน หรือ องค์ประกอบดนตรีด้านอื่นๆ สามารถจำเนื้อ จำโน้ตเพลงได้ สังเกตความเหมือนความต่างในดนตรีประเภทต่างๆได้
- ความสนใจและเจตคติ (Affective Domain) มีแรงจูงใจใฝ่รู้ความรักดนตรี เกี่ยวข้องกับ ความรู้สึก สนุก ชอบ ผูกพัน เป็นธรรมชาติ
- ความคล่องแคล่วในการใช้ร่างกาย (Psychomotor Domain) และการสอดประสานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็กในการปฏิบัติทักษะการบรรเลงเครื่องดนตรี
ดังนั้นการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถทางดนตรีสำหรับเด็กประถม จึงควรคำนึงถึงการพัฒนาความสามารถทางสติปัญญาความคิด ความสนใจและเจตคติต่อดนตรี รวมถึงความคล่องแคล่วในการใช้ร่างกายในการปฏิบัติทักษะการบรรเลงเครื่องดนตรี การเปิดโอกาสให้เด็กโตได้เลือกทำกิจกรรมทางดนตรีไม่ว่าจะการรวมวงดนตรีกับเพื่อน การเลือกฟังเพลงต่างๆ ร้องเพลงที่ตนเองชอบจะช่วยสามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านดนตรีโดยองค์รวม
คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างรากฐานแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ดังเช่นคำพูดที่ว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” เพราะในช่วงแรกของชีวิตเป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เด็กที่ได้รับการเตรียมพร้อมโดยพ่อแม่ก่อนเข้าโรงเรียนย่อมได้เปรียบกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่ทำกิจกรรมที่บ้าน เช่น ดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การเรียนดนตรีก็เช่นเดียวกันครับ คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากที่เข้าใจว่า เมื่อส่งลูกเข้าเรียนพิเศษในโรงเรียนสอนดนตรีก็หวังจะให้ลูกน้อยประสบความสำเร็จทางด้านดนตรี แต่ไม่ได้สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ดนตรีที่บ้าน เช่น เปิดเพลงให้ฟัง พาเด็กไปชมการแสดงดนตรี ก็คงจะเป็นไปได้ยาก
ที่สำคัญ ดนตรีที่ส่งเสริมความคิดที่ดีนั้นต้องเป็นดนตรีที่กลั่นกรองมาดี เช่น ดนตรีคลาสสิกหรือดนตรีพื้นบ้าน หมายความว่าเป็นดนตรีที่ไม่ได้รับการปรุงแต่งด้วยเทคโนโลยีจนผิดธรรมชาติ และวิธีช่วยลูกให้มีความฉลาดด้านต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับการจัดสิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูที่ถูกต้อง การสังเกต ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข และความเข้าใจที่มีให้ จะสร้างลูกให้เป็นทั้งคนดีและคนฉลาดได้ไม่ยากเลย
อ่านต่อ “บทความดีๆ น่าสนใจ” คลิก!
- 10 ข้อดี ดนตรีเสริมพัฒนาการลูก ให้รอบรู้ในหลาย ๆ ด้าน
- ฝึกภาษาลูก ให้ดีได้ด้วยเพลงชาติไทย
- รวม 9 เพลงเด็ก แบบภาษาอังกฤษ สำหรับเต้นสนุก ฝึกทักษะ เสริมพัฒนาการ
- สิ่งประดิษฐ์แนวใหม่ ให้ลูกในท้องฟังเพลงผ่านช่องคลอด!
ขอบคุณข้อมูลจาก : นายแพทย์อนันต์ โลหะพัฒนบำรุง กุมารแพทย์ บทความโดยนิตยสาร Amarin Baby & Kids