คุณแม่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า สายสะดือ มีความสำคัญต่อการตั้งครรภ์มาก หากไม่มีสายสะดือแล้ว ทารกน้อยในครรภ์คงไม่สามารถเติบโตได้ เรามาทำความรู้จักกันค่ะว่า สายสะดือคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และหน้าที่ของสายสะดือมีอะไรบ้าง
สายสะดือ คืออะไร
สายสะดือ คือ สายที่เชื่อมต่อระหว่างทารกในครรภ์และรกที่ติดกับผนังมดลูก สายสะดือนี้จะลำเลียงสารอาหารและเลือดดีจากรกไปสู่ทารกในครรภ์ และจะรับเลือดเสีย และของเสียต่างๆ จากทารกไปสู่รก ระหว่างที่อยู่ในครรภ์ทารกจะหายใจผ่านสายสะดือ เมื่อลูกน้อยของคุณแม่ลืมตาออกมาสู่โลกภายนอก สายสะดือก็จะถูกตัดออกไปและหมดหน้าที่ลง ลูกน้อยของคุณแม่จะเริ่มหายใจเอง ไม่หายใจผ่านสายสะดืออีกต่อไปค่ะ
ลักษณะและหน้าที่ของสายสะดือ
สายสะดือ จะเริ่มสร้างขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์และเมื่อครบกำหนดคลอดจะยาวขึ้นเรื่อยๆ อาจจะถึง 20 นิ้ว สายสะดือนั้นมีลักษณะเหนียวแข็งแรง มีอยู่ด้วยกัน 2 ชั้น ชั้นภายนอกจะเป็นกล้ามเนื้อเรียบ และชั้นภายในจะมีของเหลวลักษณะคล้ายวุ้น ที่เรียกว่า Wharton’s jelly ในสายสะดือ จะมีเส้นเลือดอยู่ด้วยกัน 3 เส้น คือ เส้นเลือดดำ 1 เส้น และเส้นเลือดแดง 2 เส้น เส้นเลือดดำมีหน้าที่ลำเลียงเลือดที่อุดมไปด้วยสารอาหารและออกซิเจนจากรกไปสู่ทารกในครรภ์ ในขณะที่เส้นเลือดแดงจะลำเลียงของเสียออกจากตัวทารกน้อย
ช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ รกจะส่งผ่านสารแอนติบอดี้ของคุณแม่สู่ลูกน้อยผ่านสายสะดือด้วย ซึ่งเจ้าสารนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยของคุณแม่ห่างไกลจากการติดเชื้อในช่วง 3 เดือนแรกเกิดค่ะ
คุณหมอจัดการกับสายสะดือหลังคลอดอย่างไร
เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว คุณหมอจะหนีบสายสะดือ 2 ที่ คือบริเวณที่ห่างกับสะดือ 3-4 ซม. และบริเวณปลายสายสะดือที่ใกล้กับรก จากนั้นคุณหมอตัดสายสะดือที่อยู่ระหว่างที่หนีบ 2 ที่นี้ และจะเหลือตอสั้นๆ ไว้ ซึ่งระหว่างที่ตัดสายสะดือ ทารกน้อยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด เนื่องจากที่สายสะดือไม่มีเส้นประสาทอยู่ค่ะ
บทความแนะนำ 6 ข้อ ห้ามทำกับสะดือทารกแรกเกิด
บทความแนะนำ วิธีดูแลและทำความสะอาดสะดือลูกน้อย
หลังลูกน้อยของคุณแม่เกิดประมาณ 5-15 วัน ตอสายสะดือนี้จะค่อยๆ แห้ง เปลี่ยนเป็นสีดำและหลุดออกมาในที่สุด และอาจจะต้องใช้เวลาอีก 7-10 วัน แผลที่สะดือจึงหายสนิทค่ะ ระหว่างที่รอให้สายสะดือหลุดและแผลแห้งสนิท คุณแม่ต้องรักษาความสะอาดบริเวณสะดือของลูกน้อยและอย่าปล่อยให้ชื้นนะคะ ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดการติดเชื้อได้ หากคุณแม่สังเกตเห็นว่ามีเลือดออกหรือกลิ่นเหม็นบริเวณสะดือของทารกน้อย ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ปัญหาสายสะดือที่พบบ่อยระหว่างตั้งครรภ์ คลิกหน้า 2
ปัญหาสายสะดือที่พบบ่อยระหว่างตั้งครรภ์
สายสะดือย้อย
สายสะดือย้อย คือ การที่สายสะดือลงมาอยู่บริเวณที่ปากมดลูกเปิดระหว่างช่วงรอคลอดและช่วงทำคลอด ดังนั้นสายสะดือจึงลงไปต่ำกว่าหัวของทารกที่จะออกมา ทำให้เกิดอันตรายระหว่างทำคลอด เพราะเมื่อมดลูกบีบตัว สายสะดือจะถูกบีบด้วย ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดีและทารกอาจจะขาดออกซิเจนได้ค่ะ
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดสายสะดือย้อย ได้แก่
- การคลอดท่าก้น
- การคลอดก่อนกำหนด
- มีน้ำคร่ำมากเกินไป
- สายสะดือยาวผิดปกติ
หากคุณหมอตรวจไม่พบอาการสะดือย้อยและคุณแม่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทารกในครรภ์อาจจะขาดออกซิเจนและจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น มีปัญหาด้านการเรียนรู้ในระยะยาว สมองพิการ หรือในกรณีที่ร้ายแรงขาดถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ปัญหาสายสะดือพันคอ คลิกหน้า 3
สายสะดือพันคอ
สายสะดือพันคอ คือ การที่สายสะดือพันรอบคอทารกในครรภ์ ซึ่งสามารถพบได้ถึง 30% ของการตั้งครรภ์ ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดของสายสะดือพันคอ แต่ปัจจัยดังต่อไปนี้อาจจะทำให้เกิดสายสะดือพันคอได้ค่ะ
- การตั้งครรภ์แฝด
- ทารกในครรภ์มีตัวใหญ่
- การคลอดท่าก้นหรือท่าไหล่
- มีน้ำคร่ำมากเกินไป
แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วสายสะดือที่พันคอทารกจะคลายตัวก่อนถึงเวลาคลอด แต่หากถึงเวลาคลอดแล้วและสายสะดือยังพันคอทารกอยู่ อาจจะเกิดความเสี่ยงต่อไปนี้ค่ะ
- การไหลเวียนของเลือดช้าลง
- ปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลง
- ทารกในครรภ์มีพัฒนาการช้า
- ทารกในครรภ์มีจังหวะหัวใจผิดปกติ
การป้องกันและรักษาความผิดปกติของสายสะดือ
แม้ว่าปัญหาที่เกี่ยวกับสายสะดือจะถูกมองว่าไม่สามารถป้องกันได้ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ หากคุณแม่ได้รับตรวจและอยู่ในการดูแลของคุณหมออย่างเหมาะสม เช่น มีการตรวจอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ ปัญหาสายสะดือผิดปกติบางอย่างอาจจะตรวจพบได้ก่อนการคลอดค่ะ ถ้าตรวจพบปัญหาสายสะดือผิดปกติช่วงใกล้ครบกำหนดคลอด(อายุครรภ์สัปดาห์ 35 ขึ้นไป) การผ่าคลอดก็อาจจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่อาจจะลดปัญหาการเสียชีวิตของทารกและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ค่ะ
เรียกได้ว่าสายสะดือมีบทบาทสำคัญในการตั้งครรภ์ของคุณแม่มากเลยทีเดียว ทางทีมงานหวังว่าเมื่อคุณแม่อ่านบทความนี้จบแล้ว คุณแม่จะรู้จักกับสายสะดือมากขึ้นนะคะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ คลิก
สายสะดือพันคอทารก ในครรภ์แม่จะรู้ได้อย่างไร?
ภาวะปกติ VS ไม่ปกติของ สะดือเด็กแรกเกิด
ที่มา: study.com, nhs.uk, birthinjuryguide.org
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่